13 มิ.ย. 2022 เวลา 03:32 • คริปโทเคอร์เรนซี
Cryptocurrency โอกาสและความท้าทายของไทย ตอนที่ ๑
สวัสดี KUB หลังจากที่เราเคยได้ทำความรู้จักกับ Web3 และอนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลกันมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ (https://www.blockdit.com/posts/622b0d84746ad93364b7a745) วันนี้ผมอยากจะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ “คุณท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศริโสภา” ผู้ก่อตั้งบริษัท Bitkub แพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลสัญชาติไทย บริษัท Startup ระดับยูนิคอร์นที่พร้อมเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับตลาดการเงินดิจิทัลระดับโลก
โดยรายการ Spokesman Live!!! ครั้งนี้ เราจะร่วมพูดคุยกับคุณท็อป ในหัวข้อ “Cryptocurrency โอกาสและความท้าทายของไทย” ท่านสามารถรับชมเทปบันทึกการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้ที่ (https://youtu.be/7gxTDOGQ52s)
ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบกีฬาฟุตบอลเป็นทุนเดิม คุณท็อปได้นำความเชี่ยวชาญในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลของตนมาช่วยร่วมส่งเสริมวงการฟุตบอลไทย โดย Bitkub ได้เข้ามาเป็นตัวกลางและหุ้นส่วนสำคัญให้กับเหล่านักเตะทีมชาติไทย
รวมถึงการแข่งขันฟุตบอล Thai League ลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของประเทศไทย ด้วยการนำโมเม้นสำคัญต่าง ๆ ตลอดการแข่งขันมาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของเหรียญดิจิทัล (Tokenization) หรือในรูปแบบของ NFT เพื่อให้เหล่าแฟนช้างศึกได้เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของกัน
นอกจากนี้ คุณท็อปยังมีส่วนสำคัญในการจัดฟุตบอลนัดแดงเดือดระหว่างสโมสรลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม นี้ ที่กรุงเทพมหานคร โดยฟุตบอลนัดนี้ถือเป็น Mega Event งานใหญ่ระดับประเทศที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยหลังจากการผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-๑๙ ซึ่งจะดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และน่าจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศไทย
ที่มา : Bitkub
คุณท็อปแสดงความเห็นว่า หากประเทศไทยต้องการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งอาเซียน ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนานาในอีกหลาย ๆ ด้าน
อันดับแรก ประเทศไทยควรลดการพึ่งพาการหารายได้เข้าประเทศจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนพื้นที่ทางกายภาพลง (Physical Economy) โดยควรหันมาให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการบนพื้นที่ออนไลน์ (Digital Economy) เนื่องจากเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนที่ไม่ถูกจำกัดด้วยขอบเขตของเวลาและสถานที่
นอกจากนี้ ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการลงทุนแห่งอนาคต จากข้อมูลในปี ๒๕๖๐ เศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนกว่าร้อยละ ๑๗ ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งใกล้เคียงกับภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ ๒๐ ของ GDP
และนอกจาก GDP แล้ว GNP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น โดย GDP กับ GNP นั้นแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ‘GDP’ หมายถึงผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ และเป็นการนับรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดขึ้นจากบุคคลหรือบริษัทสัญชาติใดก็ตาม
แตกต่างจาก ‘GNP’ ที่จะนับเฉพาะรายได้ที่เกิดจากบริษัทหรือบุคคลสัญชาตินั้น ๆ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะประกอบอาชีพอยู่ ณ มุมใดของโลกก็ตาม โดยภาครัฐอาจตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า GNP เกินร้อยละ ๕๐ ของประเทศไทยควรมาจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัล
ความแตกต่างระหว่าง GDP และ GNP ที่มา : Finnomena
ทว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่ของภาคเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยนั้น กลับเป็นเหล่าบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งกำลังก่อให้เกิดการขาดดุลทางดิจิทัล ซึ่งคุณท็อปเห็นว่า ภาครัฐสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการส่งเสริมให้เหล่านักพัฒนาช่วยกันพัฒนาแอปพลิเคชันสัญชาติไทยขึ้นมา
รวมถึงหากศึกษากรณีตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ ภาครัฐอาจใช้นโยบายทางภาษีมาจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทสัญชาติไทย เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้กับประเทศของเรา
บทสัมภาษณ์คุณท็อป-จิรายุส แห่ง Bitkub ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เรายังมีภาคต่อกันอีกหนึ่งตอน สำหรับตอนหน้า เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องแนวทางการพัฒนาธุรกิจ Startup และบทบาทของการประชุมเอเปคในปีนี้ที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ กับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลบนเวทีโลก
หากท่านไม่อยากพลาดบทสัมภาษณ์คุณท็อปตอนต่อไป ท่านสามารถกดติดตามเพจ Blockdit กระทรวงการต่างประเทศ ...จะได้ไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศ
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา