1 มิ.ย. 2022 เวลา 05:03 • ท่องเที่ยว
รถไฟแบบ ธรรมดา เร็ว ด่วน ด่วนพิเศษ ชานเมือง ต่างกันอย่างไร? 🚂🚃🚃🚃
คำถามยอดนิยม l รถไฟแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
มีคำถามจากลูกเพจมากมายว่า
"รถเร็ว กับ รถด่วนต่างกันอย่างไร?"
"รถด่วน กับ รถด่วนพิเศษ ใช้ความเร็วต่างกันไหม?"
"รถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ ใช้ความเร็วเท่ากันไหม?"
ถ้าให้อธิบายกันเป็นตัวอักษร คงจะเข้าใจยาก เราเลยทำเป็นแผนภาพให้เข้าใจง่ายขึ้น ว่ารถแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
การรถไฟมีให้บริการรถไฟอยู่ 7 ประเภท หลักๆ คือ
1. รถด่วนพิเศษ
2. รถด่วน
3. รถเร็ว
4. รถธรรมดา
5. รถชานเมือง
6. รถท้องถิ่น
7. รถพิเศษ
สำหรับแผนภาพนี้ จะปรากฎให้เห็นแค่ 6 ประเภท คือ
1. รถด่วนพิเศษ (แยกเป็น 2 ส่วนคือ รถนอน และ ด่วนพิเศษดีเซลราง)
2. รถด่วน
3. รถเร็ว
4. รถธรรมดา
5. รถชานเมือง
6. รถท้องถิ่น
ขบวนรถไฟแต่ละประเภทนั้น เราจะใช้รถทำการ 2 ชนิดคือ
1. รถลาก (ใช้หัวรถจักรลากรถพ่วง) ใช้ความเร็วสูงสุดที่ 90 กม./ชม.
2. รถดีเซลราง (เป็นรถที่มีกำลังในตัว) ใช้ความเร็วสูงสุดที่ 100 - 120 กม./ชม.
ไล่จากด้านบนสุดลงมานะครับ
รถชานเมือง (รหัส 3xx) สีน้ำตาล
- เป็นขบวนรถที่ให้บริการในระยะ 150 กม. จากเมืองหลวง โดยจะมีสถานีหยุด ทุกๆสถานี (บางขบวนจะไม่หยุดทุกสถานี) เน้นการให้บริการคนจากรอบนอกเมืองหลวง และเป็นรถที่วิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน (Rush Hour)
รถที่ให้บริการ - รถชั้น 3
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 100
รถท้องถิ่น (รหัส 4xx) สีบานเย็น
- เป็นขบวนรถที่ให้บริการในท้องถิ่น เพื่อเชื่อมจังหวัด หรือ อำเภอขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน ซึ่งจะให้บริการในทุกๆสถานี ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
รถที่ให้บริการ - รถชั้น 3
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 90-100 (ขึ้นอยู่กับประเภทของรถดีเซลรางนั้น)
รถธรรมดา (รหัส 2xx) สีแดง
- เป็นขบวนรถที่ให้บริการในระยะ 250 กม. ขึ้นไปจากเมืองหลวง จุดประสงค์เพื่อบริการเชิงสังคมในระยะไกล มีสถานีที่จอดทุกๆ หรือ เกือบทุกสถานี ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด
รถที่ให้บริการ - รถชั้น 3
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 100
รถเร็ว (รหัส 1xx) สีม่วง
- เป็นขบวนรถที่ให้บริการทางไกล มากกว่า 500 กม.ขึ้นไป จุดประสงค์บริการเชิงพาณิชย์ มีสถานีจอดในระดับ ตำบลที่สำคัญ อำเภอ และจังหวัด (ประมาณ 60% ของเส้นทาง) ซึ่งการใ้หบริการนั้นจะเน้นที่รถนั่ง และในบางขบวนที่เดินรถกลางคืนจะมีรถนอนให้บริการด้วย
รถที่ให้บริการ - รถนั่งชั้น 3 / 2 / รถนอนชั้น 2
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 100
รถด่วน (รหัส 51 - 100) สีน้ำเงิน
- เป็นขบวนรถที่ให้บริการในทางไกล เชิงพาณิชย์ รับส่งในจุดที่มีความสำคัญ หรือเป็นจังหวัด และอำเภอที่มีขนาดใหญ่ (ประัมาณ 40-50%ของเส้นทาง) จำนวนผู้ใช้บริการมาก มีความหลากหลายของรถที่ให้บริการ ทั้งรถนั่ง และรถนอน
รถที่ให้บริการ - รถนั่งชั้น 3, 2 / รถนอนชั้น 2, 1
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 100
รถด่วนพิเศษ (รหัส 1 - 50) สีเขียว
- แบ่งประเภทได้หลักๆ 2 ประเภทคือ รถนอน และ รถนั่ง
เป็นขบวนรถที่เน้นการเดินทางในระยะไกล และจอดตามรายทางน้อย (ประมาณ 30-20%ของเส้นทาง)
ความเร็ว : รถที่ใช้รถจักรลาก = 90 / รถดีเซลราง = 100
* รถนั่ง (ด่วนพิเศษดีเซลราง) หรือที่เรียกกันติดปากว่า สปรินเตอร์ เป็นการให้บริการรถนั่งปรับอากาศ มีอาหารให้บริการด้วย โดยสถานีที่หยุดนั้นจะใกล้เคียงกับรถด่วน เนืองจากเน้นการนั่ง และใช้เวลาในการเดินทางน้อย เพราะสามารถใช้ความเร็วได้ถึง 120 กม./ชม.
*รถนอน (ยกเว้นขบวน 37/38 จะมีชั้น 3 บริการด้วย) เป็นรถที่จะมีสถานีหยุดน้อย เนื่องจากในขบวนนั้นจะเป็นรถนอน เน้นการเดินทางแบบต้นทาง - ปลายทาง
จากแผนภาพ ก็น่าจะพอเห็นภาพชัดขึ้นไปอีกในลักษณะประเภทของขบวนรถนะครับ ทีนี้ก็จะไม่งงแล้วว่า รถไฟแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร
เมื่ออ่านมาทั้งหมดจนถึงตรงนี้
#สรุปได้ว่า : รถไฟนั้นใช้ความเร็วเท่ากัน แต่จะใช้เวลาเดินทางมากน้อย อยู่ที่จำนวนสถานีที่หยุดรับส่ง / (ยกเว้นรถดีเซลราง ที่ใช้ความเร็วได้สูงกว่า และคล่องตัวกว่า)
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจเฟสบุ๊ค : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
โฆษณา