2 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
คิดมากไปก็ปวดหัว! รวม 7 เทคนิค “หยุดคิดมาก” เมื่อสมองคิดแต่เรื่องเดิมซ้ำ ๆ
1
‘เพื่อนร่วมงานจะไม่ชอบในสิ่งที่เราพูดหรือเปล่านะ’
‘ทำไมคนคุยถึงตอบสั้นจัง เขาไม่อยากคุยแน่เลย..’
1
ไม่แปลกหากเราจะเคยมีความคิดเช่นนี้ บางครั้งมนุษย์เราก็ “คิดมาก” เป็นเรื่องปกติ แม้แต่การกระทำเล็กๆ หรือสีหน้าของคนอื่น ก็กลายมาเป็นคำถามใหญ่ให้เราครุ่นคิดได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่าการคิดมากจนเกินไปนั้น อาจส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ที่ดีและก่อปัญหาสุขภาพจิตได้
3
รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่จะให้เลิกคิดมากนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย!
“ก็ไม่ต้องไปคิดถึงมันสิ” นี่อาจเป็นคำตอบที่คุณได้จากการปรึกษาเพื่อน ซึ่งฟังดูง่าย แต่จริงๆ แล้วทำยากมากๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อ่อนไหวเป็นพิเศษ (Highly Sensitive People) เพราะการไม่คิดนั้นยากพอๆ กับการห้ามไม่ให้พวกเขากะพริบตาเลย
2
เพราะคนเราต่างกัน วิธีที่ได้ผลจึงต่างกันไป วันนี้ Mission To The Moon จึงได้รวบรวมสารพัดวิธีหยุดคิดมากมาฝาก เรามาลองดูดีกว่าว่านอกจากการพยายามไม่คิด จะมีวิธีอะไรอีกบ้าง
1) #สำรวจความคิดและเขียนระบายออกมา
หลายคนมี “Automated Negative Thoughts” (ANTs) หรือความคิดลบในการตอบสนองโดยอัตโนมัติ ราวกับระบบประสาทที่ทำให้เข่าของเราเด้ง เมื่อถูกคุณหมอเคาะ
1
แต่แทนที่จะหมกมุ่นกับความคิดลบๆ และจินตนาการถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น (หรือที่เรียกกันว่า Worst-case Scenario นั่นเอง) ลองถอยออกมาและสำรวจตัวเองก่อนว่า วิธีที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์เป็นอย่างไร
เรารู้สึกอย่างไรและตอบสนองอย่างไร? ลองจดความคิดและความรู้สึกของตัวเองลงในกระดาษ วิธีการนี้เองเรียกว่า “Brain Dump” ซึ่งเป็นการย้ายความคิดอันยุ่งเหยิงในหัวไปใส่กระดาษ และให้สมองของเรามีพื้นที่ในการจัดการสิ่งที่ต้องทำในปัจจุบัน
1
การตระหนักรู้ฟังดูเป็นเรื่องเล็ก แต่สิ่งนี้เองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการรับมือให้แก่เรา
2) #หาอะไรมาดึงความสนใจและลงมือทำทันที!
เคยทำอะไรที่เราอินมากๆ แล้วรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วไหม? อย่างการเล่นเกม ทำอาหาร ออกกำลังกาย หรือออกไปพบปะเพื่อน ลองหันมาทำกิจกรรมที่ชอบเหล่านี้ดู แม้จะรู้สึกว่าตัวเองหยุดคิดไม่ได้แน่ๆ แต่ก็ลองทำสัก 30 นาทีก่อน บางทีมันอาจจะกลายเป็น 1-2 ชั่วโมงโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะ
หรืออาจเป็นการล้างจาน ทำงานบ้าน และทำความสะอาดโต๊ะทำงานก็ได้ ลองถามตัวเองว่า มีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เราลงมือทำได้ทันทีตอนนี้บ้าง? จากนั้นก็เริ่มลงมือเลย!
3) #มองภาพใหญ่
ถามตัวเองว่า “ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปตลอด 5-10 ปีเลยหรือเปล่า”
และ “มันจะยังสำคัญกับเราอยู่ไหมถ้าเวลาผ่านไปขนาดนั้น” ในการหาคำตอบ หลายคนอาจจะพบว่าอีก 5-10 เรื่องนี้คงกลายเป็นเรื่องเล็ก หรือไม่ก็ป่านนั้นเราคงแก้ปัญหาได้แล้ว
2
4) #เตือนตัวเองว่าเรารับมือไหว!
เพราะอยู่ในโลกที่คนโพสต์ถึงความสำเร็จของตัวเองตลอดเวลา เราจึงรู้สึกด้อยค่ากว่าอย่างช่วยไม่ได้ แน่นอน ความรู้สึกนี้ช่วยให้เราอยากพัฒนาตนเอง แต่ถ้าหากมากไป ‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ นี้อาจเป็นสาเหตุให้เราคิดมากบ่อยๆ
เราจะสัมภาษณ์งานผ่านหรือเปล่า? หรือเดตครั้งนี้จะประทับใจอีกฝ่ายไหม? ความคิดเหล่านี้วนในหัวไม่หยุด
3
อีกวิธีนอกจากการเขียนระบายที่แนะนำไปในข้อ 1 ลองเขียนถึง ‘ข้อดี’ และ ‘ความสำเร็จ’ ที่ผ่านมาของตัวเองดู บางทีสิ่งที่เราต้องการอาจเป็นการย้ำเตือนว่า ฉันเองก็เก่งและมีความสามารถไม่แพ้ใคร ดังนั้นทุกอย่างอาจจะเป็นไปด้วยดีก็ได้นะ (หรือถ้าหากออกมาไม่ดี เราก็หาทางแก้ไขได้แน่ๆ)
1
5) #ช่วยเหลือคนอื่น
เคยไหม? บางทีก็สนใจแต่เรื่องคนอื่นจนเกินจำเป็น ถ้าเคยเป็นบ่อยๆ ทำไมไม่ใช้ประโยชน์จากมันเสียเลย!
การช่วยแก้ปัญหาให้คนรอบตัวก็เป็นการดึงความสนใจจากเรื่องของเราเอง ให้ไปโฟกัสเรื่องของคนอื่นชั่วคราว เราสามารถใช้สมอง สมาธิ หรือแรงกายในการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องเครียดมากจนปวดหัว เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความท้าทายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของเราเอง
ยิ่งไปกว่านั้น การได้ยื่นมือไปช่วยผู้อื่น แม้จะสำเร็จมากหรือน้อย ก็ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองได้เหมือนกันนะ
6) #นั่งสมาธิ
เราอาจเบื่อเพราะได้ยินคนบอกเช่นนี้บ่อยครั้ง แต่ว่าการนั่งสมาธิเป็นวิธีที่ได้ผลจริงๆ! ลองหาเวลาสัก 5-10 นาที พักสมองตัวเองจากความคิดวุ่นวาย และโฟกัสว่าร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ขณะที่สูดลมหายใจเข้า-ออก
7) #มีSupportSystemคอยรองรับ
คนในครอบครัวหรือเพื่อนคนไหนบ้าง ที่ปลอบโยนเราได้ดีเวลาเกิดปัญหา? ใครบ้างที่เราสบายใจหากต้องระบายแม้แต่ปัญหาเล็กๆ ประจำวันให้ฟัง? ลองบอกเล่าและขอความช่วยเหลือจากคนเหล่านี้ดู
แม้ในบางครั้งพวกเขาอาจแก้ปัญหาให้ไม่ได้ แต่ในระหว่างที่สมองเรา ‘เรียบเรียง’ เพื่อเล่าออกมา เราอาจได้มองเรื่องราวจาก ‘แง่มุมใหม่’ และนึกได้ว่ามันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดนะ
อาการคิดมาก แม้จะจัดการยากแต่เราก็ทำให้มันเบาบางลงได้ ดังนั้นแทนที่จะปล่อยให้ตัวเองคิดมากไปเรื่อยๆ จนเสียสุขภาพจิต ลองจัดการกับมันด้วยวิธีเหล่านี้ดู หรือถ้าหากคุณผู้อ่านมี “วิธีหยุดคิดมาก” ที่ตัวเองทำแล้วได้ผล ลองแบ่งปันกันมาในคอมเมนต์ได้เลย
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา