Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
2read
•
ติดตาม
5 มิ.ย. 2022 เวลา 02:09 • ท่องเที่ยว
กรุงเทพมหานครกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากผู้ว่าฯ คนเก่า มาสู่ผู้ว่าฯ คนใหม่
วันนี้เลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมสำรวจการพัฒนากรุงโซล
ผ่านโครงการคลองชองเกชอน
เพื่อเรียนรู้และถอดแบบหลักการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน
ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำอะไรสักอย่างเพื่อให้มีผลงาน
แต่เป็นการพัฒนาที่ผ่านการ “คิด” และ “วางแผน”
เพื่อการเป็นเมืองหลวงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คน
และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนในระยะยาวกันค่ะ
ภาพจาก Shutterstock
ผู้ว่าฯ ใหม่ ความหวังใหม่
ถอดบทเรียนจากคลองชองเกชอน สู่กรุงเทพฯ สีเขียวแบบยั่งยืน
บทความจากคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า" บนแอป 2read
เมื่อสัปดาห์ก่อนมีโอกาสได้นั่งดูไลฟ์การลงพื้นที่ของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยวันนั้นผู้ว่าฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี
ได้ลงพื้นที่บริเวณสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี
ซึ่งเป็นผลงานของผู้ว่าฯ คนเก่าที่ได้ทำไว้
พอพูดถึงโครงการนี้ แน่นอนว่า ถ้าได้ตามข่าว
ย่อมทราบดีว่าเป็นโครงการปรับปรุงทัศนียภาพของกทม.ในปีที่แล้ว
ที่ใช้งบประมาณสูงถึง 980 ล้านบาท
และยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ว่างบประมาณที่ใช้ไป คุ้มค่าต่อการใช้งานและตอบโจทย์ชาวกทม.
ได้มากน้อยแค่ไหน ควรค่าแก่การไปต่อ เฟส 2 หรือไม่ อย่างไร
คลองช่องนนทรี
สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี 980 ล้านนี้
เป็นโครงการที่ได้ต้นแบบมาจากคลองชองเกชอน (청계천)
ของกรุงโซลในเกาหลีใต้ค่ะ
ซึ่งตอนนั้น โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์พัฒนาพื้นที่กรุงโซลในปี 2003
ของนายกเทศมนตรีกรุงโซล อี มย็อง-บัก
ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนที่ 10
และแน่นอนว่า ผลงานพัฒนาคลองชองเกชอนนั้น
ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สร้างคะแนนนิยมให้กับ
อี มย็อง-บักอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
ในวาระที่กรุงเทพมหานครกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากผู้ว่าฯ คนเก่า มาสู่ผู้ว่าฯ คนใหม่ วันนี้คอลัมน์ เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า
เลยอยากชวนคุณผู้อ่านมาร่วมสำรวจการพัฒนากรุงโซล
ผ่านโครงการคลองชองเกชอน
เพื่อเรียนรู้และถอดแบบหลักการพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน
ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำอะไรสักอย่างเพื่อให้มีผลงาน
แต่เป็นการพัฒนาที่ผ่านการ “คิด” และ “วางแผน”
เพื่อการเป็นเมืองหลวงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คน
และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนในระยะยาวกัน
🔴จากคลองน้ำเน่าใต้ทางด่วน สู่ลำธารใส หัวใจคือสิ่งแวดล้อม
ชุมชนแออัดบริเวณคลองชองเกชอนปี 1960
คลองชองเกชอนปัจจุบัน
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คลองชองเกชอนที่ใสกิ๊งแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นคลองน้ำเน่ามาก่อน
ถ้าจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของทางน้ำสายนี้
ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยราชวงศ์โชซอน
เพราะคลองนี้เป็นทางน้ำธรรมชาติที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง
แต่เป็นคลองที่มีความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร
ไหลผ่านกรุงโซลจากแนวตะวันตกไปตะวันออก
และไหลลงสู่แม่น้ำฮัน แม่น้ำสายหลักของกรุงโซล
ในอดีตบริเวณนี้จะเป็นพื้นที่ที่แม่บ้านนำผ้ามาซักกัน
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามเกาหลี ผู้คนได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงกันมากขึ้น พื้นที่ริมคลองชองเกชอน เลยกลายสภาพเป็นสลัมแออัดที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล และน้ำในคลองก็กลายสภาพเป็นน้ำเน่า
ชุมชนแออัดบริเวณคลองชองเกชอนปี 1960
ต่อมาในช่วงปีค.ศ. 1958 หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงไม่นาน รัฐบาลเกาหลีที่พยายามจะพัฒนาเมืองให้ทันสมัย และสอดรับกับการขยายตัวของเมืองหลวง จึงได้สร้างถนนคร่อมคลองชองเกชอน และต่อมาในปี 1968 ก็สร้างทางยกระดับระยะทางยาวประมาณ 6 กิโลเมตรขึ้นคร่อมถนนอีกชั้นหนึ่ง
ในปีค.ศ. 2003 อี มย็อง-บัก ผู้ว่าการกรุงโซลในขณะนั้น
ได้ริเริ่มโครงการเพื่อปรับภูมิทัศน์ในกรุงโซลให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ
และฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่หายไปให้กลับคืนมา
คลองชองเกชอน หรือที่บางคนเรียกว่า ลำธารชองเกชอน
จึงได้เกิดขึ้นมาในเวลานั้นเอง
โครงการนี้ในระยะแรก มีหลายฝ่ายคัดค้าน
และมองว่าไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวม
แต่เมื่อเวลาผ่านไป คลองชองเกชอนที่ผ่านการคิดและวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี ก็ได้ทำให้ผู้คนประจักษ์ว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนได้เท่านั้น แต่ยังเป็นที่ท่องเที่ยวที่ใหม่ และสามารถฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบ
ลดอุณหภูมิในบริเวณใกล้เคียงได้ถึง 3.6 องศา
เมื่อเทียบกับพื้นที่บริเวณอื่นในกรุงโซลด้วยกัน
ทางด่วนที่สร้างคร่อมคลองชองแกชอนในปี 1968
🔴รักษาวัฒนธรรมและสิ่งเดิม ไม่ทุบทิ้งทุกอย่าง
สะพานควังทงคโย ในสมัยโชซอน ที่ยังคงเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการปรับปรุงคลองชองเกชอนคือความพยายามในการรักษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ดั้งเดิมให้คงอยู่ ไม่ใช่การทุบทิ้งของเก่าทั้งหมด และไม่เหลืออะไรไว้ให้กับคนรุ่นหลังได้รู้สึกเชื่อมโยงเลย
สะพานควังทงคโย ( 광통교) เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้ว่าการกรุงโซลต้องการจะรักษาไว้ สะพานนี้เป็นสะพานประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นในยุคโชซอน ปีค.ศ. 1410
เดิมเป็นสะพานไม้ แต่ในสมัยพระเจ้าแทจง กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งโชซอน
ได้เปลี่ยนสะพานไม้ให้กลายเป็นสะพานหิน
พระองค์ทรงรับสั่งให้นำหินจากหลุมพระศพพระราชินีชินด็อก
ในกษัตริย์องค์ก่อนทั้งหมด 12 แท่ง มาใช้ซ่อมสะพาน
ปัจจุบันสะพานนี้ถูกย้ายไปตั้งห่างจากจุดเดิมประมาณ 150 เมตร
ถ้าใครได้ไปที่สะพานก็จะยังสามารถเห็นแท่นหินนี้ได้อยู่
ซึ่งด้านข้างของแท่นหินจะมีคิวอาร์โค้ด
ให้ผู้ที่สนใจสแกนอ่านข้อมูลได้ด้วย
สะพานควังทงคโยนี้ ถือเป็นสะพานหินโบราณขนาดใหญ่ที่สุด
ที่ยังคงหลงเหลืออยู่แห่งเดียวในกรุงโซลจนถึงปัจจุบัน
กำแพงภาพวาดขบวนแห่ของกษัตริย์ชองโจ
เสาทางด่วน ที่ยังถูกเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงอดีตก่อนการปรับปรุงคลอง
นอกเหนือจากสะพานโบราณในยุคโชซอนที่ยังเหลือไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแล้ว ชองเกชอน ยังมีจุดจำลองลานซักผ้าของคนในสมัยโบราณ
กำแพงภาพวาดขบวนแห่ของกษัตริย์ชองโจ
รวมถึงเสาทางด่วน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกสร้างไว้ในบริเวณนี้
ก็ยังคงถูกจัดวางไว้เพื่อทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งเก่า
เป็นเหมือนข้อความที่แสดงความเคารพต่อสิ่งเดิม
และการไม่ลืมรากเหง้าของเก่าแก่ ที่ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสียทั้งหมด
เพียงแต่สิ่งเดิมต้องได้รับการปรับเปลี่ยน
เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน
และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมืองเท่านั้น
🔴เชื่อมโยงผู้คนและชุมชน
Wall ofHopes กำแพงแห่งความหวัง ริมคลองชองเกชอน
หนึ่งในหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของการพัฒนาเมือง
คือการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ใช้งานนั้นให้เข้ากับผู้คนและชุมชน
ช่วงหนึ่งของริมทางเดินข้างลำธารชองเกชอน
จะมีแผ่นกระเบื้องขนาด 10x10 เซนติเมตร ที่ถูกประดับไว้ข้างทาง
กำแพงนี้มีชื่อว่า “กำแพงแห่งความหวัง” (Wall of Hopes)
เป็นแผ่นกระเบื้องที่ทางกรุงโซลได้ให้ชาวโซลรวม 20,000 คน
ช่วยกันเขียนข้อความถึงความหวังที่มีต่อเมืองหลวง
และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งริมทางเดินค่ะ
ถือเป็นการให้ความสำคัญกับประชาชน
เหมือนเป็นแมสเสจเล็กๆ ว่าสถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากประชาชน
เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เป็นมุมเล็กๆ ที่น่ารัก
และส่งผลด้านจิตใจต่อผู้ใช้สถานที่มากเลยทีเดียว
🔴เข้าถึงได้ทุกระดับชั้น
คลองชองเกชอน เกาหลีใต้
คลองชองเกชอนคือสถานที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ด้วยทำเลที่ตั้งใจกลางเมืองหลวง การเดินทางที่ไม่ยากลำบาก
รวมถึงตั้งอยู่ไม่ไกลห้างร้าน บริษัทและสถานที่สำคัญหลายแห่ง
ชองเกชอนเลยเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนทุกเพศทุกวัยและทุกสัญชาติ
สามารถเข้าถึงได้
ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พื้นที่ทางเดินริมลำธาร
จะมีการแสดงดนตรีและศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลีด้วย
ผู้คนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคนเกาหลีหรือชาวต่างชาติ
ก็สามารถร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ได้รับทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน และทำให้สถานที่นั้นมีชีวิต
ถือเป็นไอเดียที่ดีมากไอเดียหนึ่งทีเดียวค่ะ
สวนคลองช่องนนทรี
เราในฐานะประชาชนชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่ง
ก็ได้แต่เพียงหวังว่า กรุงเทพมหานครภายใต้การนำของผู้ว่าฯ คนใหม่
ที่มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงในครั้งนี้
จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
เป็นมหานครที่กลับมามีความหวังและสว่างสดใส
ไฉไลกว่าเดิมในอีกไม่ช้านะคะ
เพราะกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วเป็นเหมือนเพชรที่รอการเจียระไน
แบบที่คุณชัชชาติเคยว่าไว้ เพียงแค่รอการปรับแก้
และพัฒนาให้ยั่งยืนอย่างถูกทิศทาง
กรุงเทพฯ ก็ไม่น้อยหน้ากรุงโซลอย่างแน่นอน
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
อ่านเพิ่มเติม
2read.digital
เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า
ผู้ว่าฯ ใหม่ ความหวังใหม่ ถอดบทเรียนคลองชองเกชอน สู่กรุงเทพฯ เขียวยั่งยืน
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ 👍
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย