Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Rabbitbellus Stories
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2022 เวลา 02:51 • สัตว์เลี้ยง
🐰 กระต่ายเด็กน่ารักแล้วน่าเลี้ยงไหม?
การทำความรู้จักกระต่ายเด็ก หรือการศึกษาก่อนรับเลี้ยงจริง จะช่วยให้กระต่ายมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และมีชีวิตอยู่กับเราไปได้นานกว่าที่เคย แรกพบสบตา กระต่ายอาจดูมีหน้าตาและท่าทางที่แตกต่างกันไป บางตัวหน้าตาอาจดูสงบนิ่ง บางตัวดูน่ารักน่าฟัด
บางตัวอาจดูเคร่งขรึม รักสันโดษ หรือบางตัวดูจะระแวง รู้สึกเหมือนไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ แต่เชื่อเถอะว่า “เด็กหูยาวเหล่านี้มีอะไรซ่อนอยู่อีกมากมายเลยนะคะ โดยเฉพาะความน่ารัก”
กระต่ายวัย 2 เดือน จะมีขนาดตัวที่ยังค่อนเล็กมาก
ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ก็เริ่มขึ้นที่วัยนี้เช่นกัน กระต่ายไม่ต่างจากเด็ก 1 ขวบเลย เค้าชอบที่จะเล่น เหนื่อยก็นอนพัก หิวก็นั่งมองหน้า หรือชะเง้อตามอาการความหิวมาก หิวน้อย แต่ส่วนใหญ่จะหิวกันตลอดเวลาเลยค่ะ 😄
กระต่ายเด็กควรต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกว่าช่วงวัยที่โตเต็มที่แล้ว เพราะกระต่ายเด็กจะยังมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นที่ตั้ง ชอบสำรวจกับสิ่งรอบตัวที่รับรู้ได้ บางตัวเรียนรู้ที่จะกระโดดตั้งแต่ยังเด็ก เพราะฉะนั้นอุบัติเหตุเป็นสื่งที่ไม่คาดคิดและอาจเกิดขึ้นได้กับกระต่ายเด็กนะคะ
กระต่ายเด็กจะชอบการเรียนรู้ อยากลอง
ถ้าหากพูดถึงภาพรวมของกระต่ายเด็กแน่นอนว่า น่ารักมาก ทุกอย่างดูจิ้มลิ้มไปซะหมด เท้าน้อยๆ ปากน้อยๆ ฟันเหยินน้อยๆ 2 ซี่ ทำให้ทุกอย่างดูเข้ากันไปซะหมด และดูเหมือนจะเลี้ยงง่าย แถมยังเป็นจุดสนใจของคนที่พบเห็น หรือแม้แต่เจ้าของที่รับเลี้ยงเองอีกด้วย
แรกๆ อาจจะดูเหมือนตุ๊กตา ที่กอดได้ หอมได้ คลอเคลียได้ อุ้มได้สบายๆ แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดไว้นะคะ
🐰 ทำความรู้จักกระต่ายก่อนรับเลี้ยงกันหน่อย
หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีกับภาพกระต่ายหางปุยสุดน่ารัก ตัวกลม หูยาว ขนปุยทั้งตัว แต่รู้หรือไม่ว่ามีอีกหลายอย่างที่เราควรต้องศึกษาก่อนรับเลี้ยงกระต่ายอย่างจริงจัง
การเลี้ยงกระต่ายทำให้เราได้อะไรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความสุข มีเรื่องตลก มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่ระหว่างการเลี้ยงกระต่ายก็มีอุบัติเหตุที่ทาสอย่างเราควรต้องระวังมากๆ อีกด้วยค่ะ
จากประสบการณ์การเลี้ยงกระต่ายที่ผ่านมา ได้พบเจอหลายเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลกระต่าย เลยอยากขอแชร์ประสบการณ์เหล่านี้สำหรับคนที่กำลังจะตัดสินใจเลี้ยงกระต่าย อย่างน้อยเพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะรับเจ้าหางปุยเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตนะคะ
แต่ก่อนตัดสินใจเลี้ยงเจ้าตัวแสบ คิดว่าสิ่งที่กำลังจะแชร์ต่อจากนี้ จะช่วยให้ความรู้ ความสนุกและรู้จักกับเจ้าหางปุยสุดน่ารักกันมากขึ้น
🐇 “กระต่ายเด็ก” คือกระต่ายที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุไม่เกิน 12 เดือน เป็นช่วงอายุตามตำราที่ถูกต้องนะคะ ซึ่งได้มีการจัดช่วงอายุไว้ว่า….
🍼 แรกเกิด - 3 เดือน (เป็นช่วงที่ต้องประคับประคองกันอย่างจริงจังมาก ที่สำคัญต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเลยทีเดียว)
🍭 วัยซน ➡️ อายุ 3 - 6 เดือน (เริ่มฉายแววแห่งความซุกซน วัยแห่งความอยากรู้อยากเห็นเป็นที่สุด)
⭐️ วัยว้าวุ่น ➡️ อายุ 6 - 12 เดือน (เริ่มรู้จักชีวิตมากขึ้น สามารถใช้ชีวิตจากแบบแผนที่สร้างได้เอง)
ในระหว่างช่วงอายุไม่เกิน 12 เดือนนี้ กระต่ายจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการกิน การเล่น การเรียนรู้ รวมถึงการนอน บอกได้เลยว่าทาสจะเหนื่อยกว่าที่เคยแน่นอน
แต่ในมุมกลับกัน ทาสอย่างเราจะได้รับความสุขมากๆ เป็นการตอบแทน เพราะกระต่ายก็ไม่ต่างจากเด็กเล็ก ที่มักจะชอบการเรียนรู้ ช่างสำรวจ ในขณะเดียวกัน ก็มักจะแสดงพฤติกรรมที่น่ารักหรือทะเล้นแตกต่างกันไป ในช่วงวัยเด็กนี้ แนะนำว่าทาสทั้งหลายควรเก็บเกี่ยวภาพความน่ารักของหางปุยเอาไว้ให้เยอะๆ นะคะ เพราะแววตาที่สดใส บวกกับความน่ารักและความซุกซน ก็มักจะทำให้เรายิ้มได้ทั้งวันแบบไม่รู้ตัวกันเลยค่ะ
🐇 กระต่าย ”วัยซุกซน” จนถึง “วัยว้าวุ่น”
เป็นช่วงวัยที่เริ่มกล้าแสดงออกสู่โลกกว้างแล้วนะคะ เค้าจะชอบสำรวจ ขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
วัยนี้นอกจากนิสัยที่จะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดแล้ว รูปร่างหน้าตา รวมถึงขนชุดแรกก็จะเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
กระต่ายจะมีช่วง “ผลัดขน” ชุดแรก หลังจากที่ลืมตาดูโลกแล้ว เมื่อก้าวเข้าสู่วัยซุกซน โดยธรรมชาติทำให้สีขนที่ผลัดเปลี่ยนไปนั้น จะมีสีที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขนแน่นและสวยงามมากขึ้น แต่ไม่ใช่แค่ขนที่เปลี่ยนไป หน้าตาและรูปร่าง ก็ยังเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นโครงหน้าส่วนหัว ช่วงตัวที่จะมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น ขนที่แน่นมากขึ้นกว่าเดิม รูปร่างที่ดูแข็งแรงเตรียมพร้อมสู่การใช้พลังนั่นเอง
❤️ ช่วงวัยนี้เองที่ยิ่งทำให้ทาสหลงรักหนักหน่วงเข้าไปอีก ❤️
🐰 รับกระต่ายมาวันแรก ต้องทำยังไงบ้าง?
กฏเหล็กที่ควรทำความเข้าใจ “กระต่ายถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ถูกล่า” แน่นอนว่าจะมีความกลัว ระวังภัยรอบตัว ดังนั้นการรับกระต่ายเข้ามาในบ้านวันแรก สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ ให้เด็กหางปุยอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ อาจจะเป็นกรง หรือ คอกไม้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่นั้นก่อนสัก 2-3 วัน โดยไม่ถูกรบกวนจากสิ่งรอบข้าง หรือแม้แต่เจ้าของที่รับมานะคะ
“กระต่ายเด็กช่วงวัย 2 เดือนขึ้นไป เค้าจะต้องการพื้นที่ปลอดภัย บางตัวต้องการพื้นที่เล่นซน เพราะการเล่นซน คือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด อีกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในจุดที่ปลอดภัยแน่นอนแล้ว” แต่ก็จะมีกระต่ายบางตัว ชอบที่จะอยู่แบบเงียบๆ เฝ้าระวัง เก็บตัวด้วยการอยู่นิ่งๆ เป็นที่มาของคำว่า “เข้ามุม” นั่นเอง
แล้วกระต่ายที่ชอบอยู่กับเจ้าของล่ะ แปลว่าอะไรนะ? …
กระต่ายที่คุ้นเคยสถานที่ และคุ้นเคยกับกลิ่นของที่อยู่รอบตัวแล้ว จะมีอาการผ่อนคลายมากขึ้น เป็นมิตรกับพื้นที่นั้นมากขึ้น ทำให้กระต่ายเกิดความคุ้นชินกับกลิ่นเจ้าของ กลิ่นสถานที่รอบตัว
กระต่ายจะสามารถเริ่มใช้ชีวิตแบบปกติตามนิสัยส่วนตัวได้มากขึ้น ซึ่งบางตัวเลือกที่จะมาอยู่ใกล้เจ้าของ อาจเป็นการนอนเบียด นั่งหันหน้าซุกแขน ขึ้นมานั่งบนตัก หรือบางตัวใช้วิธี ฉี่จองกันไปเลยก็มี [เหตุการณ์นี้พบเจอมากับตัว .... จนต้องรีบบอกลูกว่า แม่รู้แล้วว่าหนูรักแม่ แต่ไม่ต้องฉี่จองแม่ขนาดนี้ก็ได้นะ 😂 วันนั้นแม่ก็เลยไปทำงานสายเพราะต้องไปอาบน้ำเปลี่ยนชุดใหม่เลย]
กระต่ายเด็กไม่ใช่ทุกตัวที่จะเข้ามุมหรือมีอาการกลัวและหวาดระแวงนะคะ ซึ่งบางตัวก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สามารถกินง่าย อยู่ง่าย ให้อุ้ม กล้าออกไปเผชิญโลกกว้าง ซึ่งอาจทำให้ทาสอย่างเราแอบดีใจเล็กน้อยว่าเจ้าหูยาวของเราน่าจะต้องเลี้ยงง่ายแน่ๆ เลย ..อันนี้ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป รอดูกันต่อไปยาวๆ ก่อนนะคะ…
“อย่างไรก็ดี การรับกระต่ายเด็กมาเลี้ยง แน่นอนว่าควรต้องดูให้แน่ใจว่ากระต่ายอายุ 2 เดือนและหย่านมแล้ว จะปลอดภัยที่สุด เพราะนมแม่กระต่าย จะเป็นภูมิคุ้มกันให้กระต่ายเด็กได้เป็นอย่างดีในเรื่องของการเจ็บป่วยในอนาคต ไม่มีโรคแทรกซ้อนง่าย ไม่ป่วยง่าย ... แนะนำว่าควรต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก... เพราะในสังคมปัจจุบัน จะมีกระต่ายเด็กที่ถูกโกงอายุกันเยอะมาก หากรับกระต่ายเด็กมาในช่วงอายุที่ยังไม่หย่านม แน่นอนว่าจะมีผลเสียเรื่องของสุขภาพหลายๆ อย่างตามมาแน่นอน”
🐰 อาหารของกระต่ายมีอะไรบ้างมาดูกัน
กระต่ายมีอาหารหลักคือ “หญ้า” และ “อาหารเม็ด” โดยหญ้าจะแบ่งตามช่วงวัยเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและโครงสร้างของร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงตามช่วงวัย
กระต่ายเด็ก อยู่ในวัยที่ต้องการสารอาหารเพื่อปรับโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อ
🌿 หญ้าอัลฟาฟ่า [Alfalfa Hay]
🫘 อาหารเม็ดกระต่ายวัยเด็ก [Young Rabbit Food]
🥛 น้ำสะอาด
กระต่ายโตเต็มวัย สามารถเริ่มรับอาหารได้หลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นหญ้าเสริมหรือขนมของว่างระหว่างวัน
🌿 หญ้าทิมโมธี [Timothy Hay] และหญ้าเสริมอื่นๆ
🫘 อาหารเม็ดกระต่ายโตเต็มวัย [Adult Rabbit Food]
🥛 น้ำสะอาด
กระต่ายวัยชรา อยู่ในวัยที่ต้องรักษาสมดุลเรื่องของอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน
🌿 หญ้าทิโมธีผสมหญ้าอัลฟาฟ่า [Alfalfa Hay & Timothy Hay] และหญ้าเสริมอื่นๆ
🫘 อาหารเม็ดและวิตามินเสริมกระต่ายวัยชรา [Sensitive Rabbit Food]
🥛 น้ำสะอาด
และแน่นอนว่าตอนนี้ก็มีผู้นำเข้าอาหารกระต่ายจากต่างประเทศพร้อมให้บริการเจ้านายหูยาวเพิ่มมากขึ้น ทำให้คนเลี้ยงกระต่ายสมัยนี้ สะดวกสบายในการซื้ออาหารหรืออุปกรณ์จำเป็น ไม่ว่าจะไปเลือกซื้อถึงที่ร้าน หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ก็ทำให้ทาสอย่างเราสะดวกสบายมากจริงๆ ค่ะ
และถ้าเลี้ยงกระต่ายด้วยการให้อาหารที่ถูกหลักโภชนาการสำหรับกระต่าย ก็จะยิ่งช่วยให้กระต่ายที่เรารักอยู่กับเราได้นานมากขึ้น มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีอายุยืนยาวมากขึ้นด้วยนะคะ
🐰 กระต่ายกินแครอทกับผักบุ้งใช่ไหมนะ
เห็นบ่อยๆ ว่ากระต่ายกินแครอทกับผักบุ้ง จริงๆ แล้วกินได้ไหมนะ?
หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพกระต่ายกินแครอทและผักบุ้งกันตั้งแต่เด็กๆ จากการ์ตูนหลายๆ เรื่อง ซึ่งนั้นไม่ได้แปลว่าเข้าใจผิดนะคะ
เพียงแต่กระต่ายช่วงวัยที่จะสามารถกินแครอทกับผักบุ้งได้นั้น ต้องเป็นกระต่ายโตเต็มวัยแล้ว แต่ทำความเข้าใจกันก่อนว่า
“แครอทและผักบุ้ง ไม่ใช่ อาหารหลักของกระต่าย”
แต่เป็นเหมือนอาหารว่างที่กินได้แต่ไม่ควรกินบ่อย เพราะแครอทและผักบุ้งเป็นของสดที่ไม่ส่งผลดีต่อระบบย่อยของกระต่ายสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุที่ในผักบุ้ง จะมียางสีขาว ที่อาจก่อผลเสียต่อระบบย่อย และระบบทางเดินอาหารของกระต่ายให้ผิดปกติได้นะคะ
“แล้วกระต่ายกินผักและผลไม้ได้ไหม?”
กินได้ค่ะ แต่จะให้ดีแนะนำว่าควรเป็นผักหรือผลไม้อบแห้งไม่ปรุงรสใดๆ ไม่มีเกลือหรือน้ำตาลจะดีที่สุดนะคะ เพราะผักผลไม้ปรุงรส จะทำให้เสียสมดุลในร่างกายและระบบทางเดินอาหารได้ค่ะ
“ผักผลไม้อบแห้งสำหรับกระต่ายมีไหม?”
เดี๋ยวนี้อาหารกระต่ายนอกจากจะหาซื้อง่ายขึ้นแล้ว ยังมีให้เลือกเยอะแยะมากมาย และผลไม้ที่กระต่ายกินได้นั้น มีหลายชนิดแต่ย้ำว่า ทุกชนิดแนะนำเป็นแบบอบแห้งสำหรับสัตว์ชนิดนั้นๆ และไม่ปรุงรสใดๆ แปลว่าผักผลไม้อบแห้งของคน ไม่เหมือนกับผักผลไม้อบแห้งของสัตว์ อย่าลืมระวังในข้อนี้กันด้วยนะคะ
กระต่ายไม่ได้ชอบกินผักผลไม้อบแห้งทุกตัว บางตัวไม่สนใจเลย แม้แต่ได้ดมหรือวางไว้ให้เผื่อจะเปลี่ยนใจ ก็ไม่สนใจ แต่บางตัว ชอบทุกอย่างที่เป็นผลไม้อบแห้ง บางตัวถึงกับเมินหญ้าแห้งไปเลยก็มี ตรงนี้ต้องรักษาสมดุลการกินจะดีมากๆ เลยนะคะ
🐰 กระต่ายควรเลี้ยงไว้ในกรงหรือเลี้ยงปล่อยดีกว่ากัน
พื้นที่สำหรับการเลี้ยงกระต่าย ควรต้องเป็นแบบไหนดี?
ปัจจุบันอุปกรณ์สำหรับการเลี้ยงกระต่ายมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นกรงเดี่ยว กรง 2 ชั้น บ้านไม้ หรือคอกไม้ล้อมสวยงาม แต่ไม่ว่าการเลี้ยงแบบไหนก็มักจะมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่คนนิยมเลี้ยงให้อยู่กรง เพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ให้กระต่ายเรียนรู้ถึงขอบเขตหรือพื้นที่ส่วนตัวของกระต่ายเอง
แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มหันมาเลี้ยงแบบคอก หรือแบบเลี้ยงปล่อยภายในบ้านเพื่อให้กระต่ายได้มีอิสระมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะกระต่ายเค้าจะเรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัวที่เป็นอยู่ และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เช่น ปรับเปลี่ยนมุมกรง ย้ายจุดอาหาร หรือห้องน้ำ เจ้าหูยาวก็จะเรียนรู้ไปพร้อมกับการปรับเปลี่ยนของเราด้วยนะคะ
ลองมาดูข้อดีและข้อเสียของการเลี้ยงทั้ง 3 แบบกัน
จากประสบการณ์เลี้ยงนานกว่า 10 ปี ผ่านการเลี้ยงแบบกรง และแบบคอก รวมถึงแบบเลี้ยงปล่อยภายในบ้าน มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน
⛺️ แบบกรง ด้วยพื้นที่จำกัดอย่างต่ำควรมีขนาด 40x60 เซนติเมตร เพื่อให้กระต่ายสามารถขยับตัวได้ง่ายและมีพื้นที่ให้เดินภายในกรง
ข้อดี
✅ พื้นที่จำกัด สร้างความเป็นส่วนตัว
✅ ดูแลง่าย เพราะใช้พื้นที่น้อย
✅ มีพื้นที่ในการเข้าห้องน้ำ หรือกินน้ำ ชัดเจนเป็นสัดส่วน
✅ ปลอดภัยต่อสิ่งรบกวนภายนอก เช่น การปีนป่าย การกระโดด
✅ วัสดุแข็งแรงทนทานต่อการใช้งาน
ข้อเสีย
🚫 ขนาดพอเหมาะเกินไป ไม่มีที่ให้ออกกำลังกาย
🚫 พื้นที่แคบ อาจทำให้กระต่ายเกิดความเครียดได้ง่าย
🪵 แบบคอก [คอกไม้ , คอกเหล็ก , คอกพลาสติก , คอกพ่นสี] ตามท้องตลาดเริ่มวางขายกันตั้งแต่ขนาดความสูง 40 เซนติเมตร ไปจนถึง 80 เซนติเมตรกันเลย ซึ่งคอกจะเป็นลักษณะแผ่นมีซี่กรงความยาวต่อแผ่นราวๆ 50 เซนติเมตร ประกอบกันรวม 6 แผ่น ซึ่งก็มีความกว้างกว่ากรงมากขึ้น แต่มีข้อดีข้อเสียยังไงบ้าง
ข้อดี
✅ พื้นที่โล่งกว้างมากขึ้น
✅ พื้นที่ของกระต่ายเป็นอิสระมากขึ้น
✅ ย้ายคอกเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนมุมได้
✅ จัดเก็บง่าย
✅ แข็งแรงทนทานเหมือนกรง
✅ ติดตามพฤติกรรมได้ง่าย เนื่องจากคอกจะมีแค่ซี่เหล็กกั้นเท่านั้น
ข้อเสีย
🚫 วัสดุของคอกบางชนิดอาจมีผลเสียต่อกระต่าย เช่น คอกพ่นสี ซึ่งเวลานานไป สีอาจหลุดกร่อนได้
🚫 ต้องทำความสะอาดบ่อย ด้วยพื้นที่กว้างและโปร่ง เศษหญ้าปลิวได้ง่าย
🚫 คอกเป็นอุปกรณ์เลี้ยงกระต่ายแบบลอยตัว ดังนั้นถ้ากระต่ายวิ่งเล่นอาจทำให้ชนคอกและเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่งเล่นได้
🚫 อุปกรณ์ชามอาหารหรือขวดน้ำ ส่วนใหญ่จะต้องใช้แบบลอยตัวทั้งหมด เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายและทำความสะอาด ซึ่งถ้าหากบางบ้านไม่ค่อยมีเวลาทำความสะอาดก็จะไม่ค่อยชอบเลี้ยงแบบคอกสักเท่าไหร่
🛖 แบบบ้านไม้ นับได้ว่าเป็นที่นิยมสำหรับคนปัจจุบันเป็นอย่างมากในตอนนี้ เพราะบ้านไม้ที่ว่านี้ สามารถสั่งทำได้ตามแบบที่เราต้องการ อาทิ บ้านเดี่ยวมีหน้าต่าง ติดแอร์ หรือกล้องวงจรปิดได้ มีพื้นที่ระเบียงหน้าบ้าน หรือต้องการหลังใหญ่ที่สามารถเพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับของเล่นอย่างสะพานไม้ ท่อผ้าสำหรับมุด หรือโมบายไว้สำหรับแขวนหญ้า เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้เจ้าหางปุย
ข้อดี
✅ บ้านไม้สั่งทำได้ตามใจ รูปแบบทันสมัยสวยงาม
✅ เพิ่มของเล่น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกได้มากขึ้น
✅ วัสดุปลอดภัยต่อกระต่าย
✅ ช่วยให้กระต่ายคลายเครียดได้ดีมากขึ้น
ข้อเสีย
🚫 พื้นที่กว้าง ทำให้ต้องทำความสะอาดเยอะมากขึ้น
🚫 กระต่ายอาจต้องฝึกการใช้ห้องน้ำใหม่
🚫 มีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งบ้านไม้เพิ่มขึ้น
จากการเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียคร่าวๆ หลายคนอาจจะมองภาพกว้างๆ ออกแล้วว่าถ้ารับเจ้าหางปุยมาแล้ว จะจัดพื้นที่แบบไหนดี แต่ยังไงก็ขอยืนยันว่ากระต่ายยังต้องมีพื้นที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นกรง คอก หรือบ้านไม้ ก็สามารถเป็นพื้นที่จำเป็นได้ทั้งหมดนะคะ
🐰 กระต่ายต้องมีของเล่นด้วยไหม?
“ของเล่นแบบไหนที่ปลอดภัยสำหรับกระต่าย”
ปัจจุบันจะเห็นว่าอาหารและอุปกรณ์สำหรับกระต่ายมีวางจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปและบนช่องทางออนไลน์มากมาย และแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่อาหารและอุปกรณ์ แต่ทุกวันนี้ยังมีของเล่นสำหรับกระต่ายวางจำหน่ายอยู่เกือบทุกร้านที่จำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยก่อนเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วมากๆ
ของเล่นสำหรับกระต่ายจะมีหลายวัสดุให้เลือกใช้ ซึ่งจะมีทั้งแบบพลาสติก แบบเหล็ก และแบบไม้ แต่ละวัสดุก็จะมีข้อดีและข้อเสียต่างกันไปตามความชอบของผู้เลี้ยง แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงมากๆ นั่นคือผู้ใช้งานเป็นกระต่าย ที่ชอบกัดแทะสิ่งของ ดังนั้นการเลือกของเล่นให้กระต่ายก็เช่นเดียวกัน หากเลือกวัสดุที่เป็นพลาสติกหรือเหล็ก อาจจะไม่ปลอดภัยต่อกระต่ายสักเท่าไหร่ เนื่องจากถ้ากระต่ายกัดแทะ เศษวัสดุเหล่านี้อาจหลุดรอดเข้าไปในระบบทางเดินอาหารได้อันตรายมากๆ เลยค่ะ
ของเล่นสำหรับกระต่ายจะมีผู้ผลิตหลายรายเลือกใช้วัสดุที่เป็นไม้ เพราะไม้จะให้ความรู้สึกถึงความ Minimal และมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเล่นหรือของสวยงาม อย่าง ป้ายชื่อ คอกไม้ สะพานไม้ อุโมงค์มุด หรือแม้แต่บันไดเพื่อใช้เชื่อมต่อทางเดินระหว่างคอกหรือกรง
ส่วนบ้านนี้บอกเลยว่า “เลือกแบบไม้” ให้หางปุย เพราะนอกจากแทะได้ ยังปลอดภัยต่อกระต่ายอีกด้วย
💡รู้หรือไม่ “กระต่ายถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์นักบำบัด”
แต่จะว่าไป นักบำบัดตัวน้อยขนปุยนี้ก็มีชีวิต เค้าก็จะมีความเครียดไม่ต่างจากมนุษย์เลย เพราะฉะนั้นต้องดูแลกันและกัน ช่วยกันคลายเครียดให้กันเป็นวิธีที่ดีที่สุดจริงๆ นะคะ
อย่างที่บอกไปเมื่อตอนต้นว่าการเลี้ยงกระต่ายดูจากภาพรวมแล้วน่าจะเลี้ยงง่าย ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจแบบนั้นหลังจากที่ได้สัมผัสกับเจ้าหูยาวแล้ว แต่การดูแลกระต่ายถ้าหากเลี้ยงในพื้นที่แคบ หรือเลี้ยงในกรง อาจจะเกิดความเครียดได้ ซึ่งในแต่ละวัน ควรต้องพากระต่ายได้ออกมารับอากาศ หรือได้ออกมาวิ่งเล่นนอกบริเวณกรงบ้าง ซึ่งกิจกรรมนี้ควรทำทุกวันไหม แนะนำว่าทำทุกวันจะดีนะคะ เพราะนอกจากช่วยลดความเครียดแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ใช้ร่วมกัน สรุปว่าคลายเครียดทั้งทาสทั้งเจ้านายกันเลย
ความเครียดของกระต่ายส่งผลเสียกับสุขภาพไหม?
แน่นอนว่าความเครียดมีผลต่อสภาวะร่างกายของกระต่าย เพราะการที่กระต่ายถูกขังอยู่ในกรง หรืออยู่ในพื้นที่แคบเป็นเวลานานๆ มักจะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย และหากเกิดความเครียดก็จะทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติโดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร
“ความเครียดมีส่วนทำให้เกิดภาวะลำไส้แปรปรวนและเกิดแก๊สในท้อง ภาวะนี้อันตรายมาก”
ความเครียดเป็นเหตุที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร มีส่วนทำให้เกิดภาวะไม่ขับถ่ายได้
“กระต่ายขับถ่ายออกมาเป็นรูปแบบของ “หญ้าอัดเม็ดกลม” โดยจะขับถ่ายออกมาวันละ 100 เม็ดขึ้นไป เท่ากับว่า กระต่ายจะขับถ่ายออกมาตลอดทั้งวัน ครั้งละประมาณ 10 เม็ด และเม็ดหญ้ากลมๆ นี้ต้องมีรูปแบบที่กลมสวย และมีขนาดเท่ากันทุกเม็ดด้วยนะคะ….”
🐰 พื้นที่ธรรมชาติสำคัญกับกระต่ายแค่ไหน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของกระต่ายก่อนว่าแท้ที่จริงแล้ว กระต่ายมักชอบอยู่ในโพรงต้นไม้ หรือขุดอุโมงค์อยู่ใต้ดิน เพื่อความปลอดภัยจากการถูกล่า ดังนั้นการขุดหลุมหรือโพรงอยู่ใต้ดิน จะช่วยพรางตัวได้ดี
แต่สำหรับกระต่ายเลี้ยงแบบที่เห็นกันทั่วไป จะเป็นการเลี้ยงในกรง หรือในคอก กระต่ายจะไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ หรือต้นไม้ใบหญ้าเลย ดังนั้นทำให้พื้นที่ธรรมชาติอย่างเช่น สนามหญ้า ก็มีความสำคัญกับกระต่ายเลี้ยงในบ้านเช่นกัน
ธรรมชาติของกระต่ายคือการได้เคลื่อนไหว ได้วิ่ง ได้ดมกลิ่น ได้สำรวจ และสิ่งสำคัญสำหรับกระต่ายมากๆ เลยคือการหาที่พักผ่อนหย่อนใจไม่ว่าจะนอนเล่นรับลมท่ามกลางสวนสวย หรือแอบตามมุมเพื่อนอนเงียบๆ ในโพรงหรือใต้สิ่งของที่สามารถเป็นร่มเงาให้รู้สึกปลอดภัยนั่นเอง
การพากระต่ายวิ่งบนหญ้า หรือ สวนสาธารณะต้องระวังอะไรบ้าง?
สนามหญ้ากว้างๆ เป็นสถานที่โปรดปรานของเหล่าสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว และกระต่ายหางปุย แต่เวลาที่พาหางปุยลงวิ่งสนามหญ้า หลายคนมักลืมคิดว่าไปว่า สิ่งที่ต้องระวังถ้าหากวิ่งเล่นสนามหญ้า มีอะไรกันบ้าง
สนามหญ้าสาธารณะ หรือ สนามหญ้าหน้าบ้าน มีโอกาสที่จะปนเปื้อนเชื้อโรคจากสัตว์อื่นๆ ได้เช่นกัน อาทิ ฉี่น้องแมว น้องหมา มูลนกที่บินผ่าน ดังนั้นข้อควรรู้สำหรับการพากระต่ายลงวิ่งสวนสาธารณะทุกครั้งคือ ควรพากระต่ายไปหยดยาก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์อื่นนะคะ
สาเหตุที่กระต่ายอาจติดเชื้อจากสวนสาธารณะ...
ในส่วนนี้หลายคนลืมไปเลยว่า กระต่ายมีสภาพโครงสร้างคือ ขาสั้น ส่วนหางปุยจะค่อนข้างชิดกับพื้นเสมอ ประกอบกับกระต่ายมีขนที่ฟูทั้งตัว ดังนั้นไม่แปลกเลยถ้าหากพื้นหญ้าในสวนสาธารณะจะเต็มไปด้วยเชื้อโรคจากภายนอก ซึ่งถ้าหากกระต่ายนั่งตรงจุดที่มีเชื้อโรค ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อจากจุดนั้นได้ง่ายมาก
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย แนะนำให้พากระต่ายตรวจสุขภาพ พบคุณหมอทุก 3 เดือน และหยดยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสวนหญ้าหรือสถานที่ภายนอกนะคะ
“การเจ็บป่วยของกระต่ายไม่ส่งผลดีแน่ๆ เพราะนอกจากเด็กหางปุยจะเจ็บป่วยแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลกระต่ายและพบหมอมีมูลค่าค่อนข้างสูงเช่นกัน .....เพราะฉะนั้น การดูแลเด็กหายปุยให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยดีที่สุดนะคะ”
🔘 ขอบคุณแหล่งอ้างอิงข้อมูลโภชนาการ:
www.oxbowthailand.com
🔘 บทความและรูปภาพโดย : Rabbitbellus
กระต่าย
สัตว์เลี้ยง
1 บันทึก
8
6
11
1
8
6
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย