6 มิ.ย. 2022 เวลา 00:07
“Bandai” หนึ่งในบริษัทที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จักการกลับมาของญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม ด้วยเป็นหนึ่งในสินค้า “เมดอินเจแปน” ที่ออกไปบุกตลาดโลก
และในวันนี้ก็คือบริษัทเก่าแก่ของญี่ปุ่น 1 ใน 3 แถวหน้าของผู้ผลิตของเล่นบนดาวโลก แต่การอยู่ได้อย่างมั่นคงแบบนี้ ความล้มเหลว-ผิดพลาดก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ใหญ่แค่ไหนก็จำต้องเจอ?
“Bandai” เล่นให้ลั่นโลก
บทความจากคอลัมน์ "The Good Old Brand" บนแอป 2read
ในช่วงหลังสงครามโลก ด้วยสภาวะของธุรกิจเสื้อผ้าของพี่เขยที่ตัวเองทำงานอยู่ กำลังทำท่าจะไปไม่รอด การรู้จักฟังคำแนะนำของคนอื่น
ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งแก่ชายหนุ่มอย่าง ยามาชินะ นาโอฮารุ
เพราะหลังจากได้ยินเพื่อนบ้านมาบอกถึงการค้าขายสินค้าใหม่ๆ
อย่างของเล่นเด็ก กำลังเป็นธุรกิจน่าลอง
นาโอฮารุจึงชวนภรรยาไปโตเกียว
เพื่อไปดูให้เห็นกับตาและทำการศึกษาหาข้อมูล ในปี 2490 ในวัย 29 ปี
เขาก็ตัดสินใจเริ่มใช้ร้านขายเสื้อผ้าของพี่เขยมาขายของเล่น
และหลังจากนั้นอีก 3 ปี นาโอฮารุก็ทำการยึดกิจการของพี่เขย แล้วตั้งโรงงานผลิตของเล่นของตัวเองขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า “บันไดยะ” (Bandai-Ya) หรือ “บันได” ในเวลาต่อมา ซึ่งมีความหมายตามภาษาจีนว่า “ทุกวัย” และ “สิ่งที่เป็นนิรันดร์”
ของเล่นชิ้นแรกๆ ของบันไดที่ผลิตออกมาก็คือลูกบอลที่มีกระดิ่งอยู่ข้างใน รวมทั้งห่วงยาง แต่ก็ยังไปได้ไม่ดีนัก จนเริ่มนำเครื่องบินอย่างบี 26 ไนท์เพลน และรถยนต์มาเปลี่ยนเป็นของเล่น ธุรกิจก็เริ่มไปได้สวย จนบันไดเริ่มคิดการใหญ่ ส่งออกของเล่นไปนอกประเทศ รวมทั้งอเมริกา จากนั้นอีก 2 ปี นาโอฮารุก็ขยายโกดังกับตั้งบริษัทจัดจำหน่าย รวมทั้งสร้างทีมการตลาด แผนกวิเคราะห์ และขนส่งของเล่นขึ้นมาพร้อมกัน
แล้วคำว่า “เมดอินเจแปน” ที่ปรากฏอยู่บนของเล่นบันไดในหลายประเทศขณะนั้น ก็คือหนึ่งในสินค้าของญี่ปุ่นที่ติดตาผู้คนยุคหลังสงคราม
มันจึงเป็นราวคำประกาศกับชาวโลกว่า “ญี่ปุ่นกำลังกลับมาแล้ว”
อยู่ในทีด้วยเหมือนกัน
และหลังจากผ่านไปแค่ 10 ปีที่โดนถล่มด้วยระเบิดปรมาณู 2 ลูกแรกของโลก รถเหล็กจำลองที่มีโตโยเป็ตคราวน์เป็นต้นแบบของบันได ก็ได้รับการรับรองคุณภาพในระดับมาตรฐานสากลเป็นชิ้นแรก จากนั้นบันไดก็นำรถดังๆ มาจำลองเป็นของเล่นอีกหลายคัน และขายดี กระทั่งในทศวรรษที่ 2500 บันไดก็สามารถไปตั้งสำนักงานในนิวยอร์กได้
แต่กุญแจที่จัดว่าทำให้บันไดเป็นบันไดอย่างที่เราคุ้นเคยในวันนี้ คือการมาถึงของอนิเมะ โดยมี “เจ้าหนูปรมาณู” หนังการ์ตูนทีวีญี่ปุ่นเรื่องแรกที่ออกอากาศในปี 2506 ตามด้วยซีรีส์ไลฟ์-แอ็กชันแนวแฟนตาซี-ซูเปอร์ฮีโร่อย่าง “อุลตราแมน” ในปี 2509 จนมาถึงในทศวรรษต่อมากับ “หุ่นยนต์ Z” อนิเมะตัวพ่อ-ต้นตระกูลหุ่นอภิหารทั้งหลาย บันไดก็ไปโลดด้วยของเล่นแบบต่างๆ จากซีรีส์ฮิตทางทีวีเหล่านี้
เป็นการค้นพบขุมทรัพย์ “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างที่เรียกกัน และเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” หรือ ไอพี (Intellectual Property) ที่บันไดใช้เป็นต้นแบบผลิตของเล่นออกมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ก็ใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับผู้ผลิตของเล่นในอเมริกาทำกับซีรีส์ทางทีวีของที่นั่น คือเข้าไปเป็นสปอนเซอร์แล้วยิงแอดของเล่นจากซีรีส์เรื่องนั้นขณะออกอากาศไปพร้อมกันเลย
แต่บันไดก็ไม่ได้พึ่งพิงแต่ไอพีจากหนังทีวีหรืออนิเมะเท่านั้น
ความพยายามในการผลิตสินค้าใหม่ๆ จากความคิดของตัวเองยังมีอยู่ตลอดมาที่สะเทือนเลื่อนลั่นจนเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในบ้านเรามาแล้ว
ต้องยกให้ “ทามาก็อตจิ” เมื่อปี 2539 ที่ได้ไอเดียมาจากอดีตแม่บ้านชื่อ
เอกิ ไมตะ
ในช่วงเวลานั้นดูเหมือนใครๆ ก็อยากเลี้ยงสัตว์ดิจิทัลที่อยู่ในพวงกูญแจรูปไข่ของบันได แม้แต่ในตลาดมืดยังทำราคากันได้ถึงกว่า 600 เหรียญ
และด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่มีแนวทางการทำธุรกิจแบบตะวันตก
เมื่อ ยามาชินะ มาโกโตะ บุตรชายของนาโอฮารุเข้ามาดูแลบันไดตั้งแต่ปี 2523
ต่อจากบิดาที่ถอยไปเป็นที่ปรึกษา เขาก็มีความพยายามที่ไม่ใช่แค่สะสมไอพี
และทามาก็อตจิก็คือตัวอย่าง
นอกจากนั้น การผลิตรถที่สามารถแปลงเป็นหุ่นยนต์หรือ “โกบ็อตส์” ออกมาเมื่อปี 2527 ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามแบบนั้น แต่โชคร้าย โดน “ทรานส์ฟอร์เมอร์ส” ของแฮสโบรที่เหมือนกันแทบทุกอย่าง ยกเว้นแต่รถแปลงร่างอเมริกันมีให้เด็กดูทั้งในทีวีและเห็นบนชั้นในแผนกของเล่นไปพร้อมกัน เลยฉกโอกาสบุกตลาดอเมริกาของบันไดในครั้งนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
ในเวลาต่อมา เมื่อคิดจะส่ง “ขบวนการเซนไต” จากญี่ปุ่นมาตีตลาดอเมริกาอีกครั้งด้วย “พาวเวอร์เรนเจอร์ส” บันไดจึงผลิตทั้งหนังทีวีที่นำ “ขบวนการจูเรนเจอร์” ของญี่ปุ่นมาปรับเป็นเวอร์ชันอเมริกัน และออกอากาศไปพร้อมกับขายของเล่น แล้วคราวนี้ก็ได้ผล ทั้งซีรีส์และของเล่น ฮิตและขายดิบขายดีด้วยไอพีของบันไดเอง
ส่วนเป้าหมายธุรกิจอย่างวิดีโอเกมที่ในวันนี้มีมูลค่ามหาศาลอย่างที่รู้กัน คืออีกหนทางที่มาโกโตะมองเห็นเป็นอนาคตในธุรกิจของเล่นมาโดยตลอด และบันไดก็พยายามจะเป็นส่วนหนึ่งในตลาดนี้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส แต่มันก็มาพร้อมกับความเสียหายครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งที่บันไดเคยเจอด้วยเหมือนกัน
ในปี 2540 เซกา ผู้ผลิตวิดีโอเกมของญี่ปุ่น ประกาศควบรวมกิจการกับบันได
ด้วยดีลมูลค่า 1 พันล้านเหรียญ เพื่อก่อตั้ง “เซกา บันได”
โดยผู้นำจากสองบริษัทฝันจะสร้างบริษัทเกม
บวกกับของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมา
ทั้งคู่จะร่วมกันรุกไปในธุรกิจมัลติมีเดียกับความบันเทิง ซึ่งจะมีทั้งสร้างทีมพาร์ก ผลิตตุ๊กตาเซเลอร์มูน ไปจนถึงศูนย์เกมอาเขต ฯลฯ บันไดกับเซกาจะสร้างอาณาจักรความหฤหรรษ์แบบดิสนีย์ในเวอร์ชันใหม่ และคาดว่าจะทำกำไรได้ถึง 6 พันล้านเหรียญ
แต่นักวิเคราะห์ไม่ได้มองผลเลิศขนาดนั้น ตั้งแต่การควบรวมที่หาไม่ได้ง่ายกับบริษัทญี่ปุ่น ส่วนภาวะการณ์ของสองบริษัทในขณะนั้นก็ไม่ได้ดีเยี่ยม แม้เซกาจะทำเงินได้มาก แต่ก็ยังเป็นรองทั้งนินเทนโดและโซนีที่มีเพลย์สเตชันยึดตลาดไปแล้ว ด้านบันไดเอง แม้จะมีทามาก็อตจิเป็นสินค้าขายดี แต่ยอดขายของเล่นจากพาวเวอร์แรนเจอร์สก็กำลังลดลง
ที่สำคัญ เครื่องเล่นวิดีโอเกม “ปินปิน” ที่บันไดร่วมกับแอปเปิล นำระบบแมคอินทอชของฝ่ายหลังมาทำเครื่องเล่นที่ต่อบราวเซอร์ในเน็ตได้ และวางขายในญี่ปุ่น แคนาดา และอเมริกา เกิดเจ๊ง-ขายไม่ออก จนต้องเลิกผลิตไปในช่วงกลางปี 2540 ทำให้บันไดต้องสูญเงินทันทีถึง 9 พันล้านเยน
และภายหลังประกาศ-ดำเนินงานร่วมกันแค่เพียง 5 เดือน ปลายพฤษภาคม 2540 บันไดก็ขอยกเลิกการควบรวม ด้วยเหตุผลที่บอร์ดของบันไดแจ้งกับสาธารณะชนว่าวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานต่างกัน
ว่ากันว่าที่เป็นแบบนั้น เพราะจากการควบรวมที่ให้สิทธิ์เซกาเข้ามาดูแลพนักงานของบันไดคือปัญหาใหญ่ เพราะเซกามีระบบการทำงานแบบกดปุ่มจากบนลงล่าง เป็นระบบที่มีขั้นตอนตายตัว
เมื่อมาเจอกับระบบยืดหยุ่น หรือสไตล์ครอบครัวของบันได ที่แม้แต่มาโกโตะเองก็ยังเคยโดนต่อต้านมาแล้ว เมื่อคราวไปปลดพนักงานเก่าแก่ทั้งหลายออก แล้วเอาแต่คนหนุ่มวัยใกล้กันมาทำงานแทน เพราะวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่นมักดูแลพนักงานขององค์กรไปจนแก่เฒ่า
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ผู้บริหารระดับรองลงไปของบันไดจึงไม่พอใจ ถึงขนาดมีการเขียนจดหมายร้องเรียน นอกจากนั้นพวกเขายังก็เชื่อว่าจากความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของทามาก็อตจิ สิ่งที่เซกาจะได้รับ น่าจะมากกว่าบันไดจะได้คืนมา
และด้วยดีลที่ผิดพลาดกับความเสียหายจากเครื่องเล่นวิดีโอเกมที่เวียนเอามาขาย-เปลี่ยนชื่อใหม่ในญี่ปุ่น ก็ยังทำยอดไม่ได้ ในที่สุด ยามาชินะ มาโกโตะ ก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และในปีเดียวกันนั้น นาโอฮารุ บิดาของเขาก็จากไปในวัย 79 ปี
แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่งในบทเรียนทางธุรกิจ
ทุกวันนี้แม้ตลาด 80 เปอร์เซนต์ยังมาจากภายในประเทศ
บันไดยังคงเป็นผู้ผลิตของเล่นแถวหน้า 1 ใน 3 ของโลก
(อีก 2 แห่งคือ แฮสโบรและแมทเทล)
อะนิเมะใหม่ๆ ตัวละครล่าสุด ยังเกิดขึ้นโดยตลอด และไม่ว่าเรื่องใดฮิต ตัวละครทั้งพระเอกหรือผู้ร้าย ไปจนถึงซีรีส์คลาสสิก หรือซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน ล้วนแต่อยู่ในลิสต์ของบันไดที่ใช้ผลิตของเล่นออกมาหลากหลายรูปแบบ ภายใต้สโลแกน “ทะลุออกมาจากกล่อง” เพราะผลิตภัณฑ์ของบันไดทุกวันนี้ ดูจะไปไกลกว่าแค่ของเด็กเล่น แต่เป็นทั้งของสะสม รวมถึงฮอบบี้ของคนทุกเพศวัย
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังคงใช้ชื่อบันได แต่ก็ไม่ใช่องค์กรแบบเดิมที่เป็นมาตั้งแต่ต้น ทุกวันนี้บันไดกลายเป็นบริษัทผลิตของเล่นเป็นหลัก และมีฐานะเป็นหนึ่งในบริษัทลูกจากอีกหลายบริษัทของ “บันได นัมโก โฮลดิงส์”
แม้การควบรวมกับบริษัทวิดีโอเกมจะเคยล้มโชว์โลกมาแล้ว แต่แผนสำหรับอนาคตในความสุขของผู้คนจากของเล่น ยังเป็นภาพเดิมของบันได ในปี 2548 จึงมีการควบรวมอีกครั้ง แต่กับ “นัมโก” บริษัทเจ้าของ “แพ็คแมน” ที่เกิดหลังบันไดแค่ 5 ปี คว่ำหวอดในแวดวงวิดีโอเกมและเกมอาเขตมานมนาน คล้ายกันกับดีลที่บันไดเคยหวังจากเซกา แต่ผลลัพธ์ของการควบรวมจนกลายเป็น บันได นัมโก โฮลดิงส์ จนถึงวันนี้ถือว่าต่างกันลิบ
ส่วนจะไปถึงอนาคตใกล้กับ “นิรันดร์” ตามความหมายของคำว่าบันไดด้วยหรือไม่
อนาคตอีกนั่นแหละที่จะรู้
เรื่องและภาพ : สืบสกุล แสงสุวรรณ
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ 👍
โฆษณา