Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JINSHENG XIE
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2022 เวลา 12:32 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
รีวิว “4 Kings อาชีวะยุค 90” แบบฉบับ “ล่ามโว้ยยยยยย” ที่เรียนจบเอกญี่ปุ่น แต่อยากเรียนเอกละครกะเอกประวัติศาสตร์มากกว่า แบบ spoiled นะ (ใครยังไม่ได้ดูผมแนะนำให้ข้ามไป #เตือนแล้วนะ ตอนนี้เข้า Netflix แล้วไปดูได้)
อันดับแรกไม่เกี่ยวกับหนัง แต่พึ่งไปเห็นว่ามีคนญี่ปุ่นแปลชื่อหนังเอาไว้ว่า 四天王 (แปลตรงๆ ก็สี่ราชาเทวะ) ก็ตรงดีชอบ
4 kings บุกโอซาก้า คือผมอยากเห็น subtitle ฉบับภาษาญี่ปุ่นเลย ว่าแปลคำว่า "อินโว้ยยยย" "กนกโว้ยยยยย" กับคำว่า "ป้ายหน้าชลโว้ยยย" ยังไง
ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับกระแสตอนที่หนังยังฉายในโรง (ส่วนตัวผมไปดูในตอนที่เมเจอร์นำมาฉายอีกที 1 อาทิตย์ก่อนเข้า Netflix) และไม่เห็นด้วยกับตอนที่เข้ามาใน Netflix แล้วโดนทัวร์ลงกระจาย และจริงๆ ก็เห็นด้วยกับกระแสใน twitter มากกว่าบนเฟซโดยเฉพาะตามกลุ่มต่างๆ ใน Netflix ที่ค่อนข้างวิจารณ์ไปในทางลบ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังที่ทุกท่านจะได้เห็นจากด้านล่างนี้
เอาจริงก็คือใครดูแล้ว หรือไม่คิดจะดู ก็อยากให้อ่าน แล้วมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
"คำ ๆ เดียว ให้โลกคุณสดใส ให้ขมเป็นหวาน มีกำลังใจ คำ ๆ เดียว อาจทำให้คุณร้อง ให้คุณหมดหวัง อยากจะลาตาย"
“คำ ๆ เดียว ให้โลกคุณสดใส ให้ขมเป็นหวาน มีกำลังใจ
คำ ๆ เดียว อาจทำให้คุณร้อง ให้คุณหมดหวัง อยากจะลาตาย”
ผมว่านี่คงเป็นธีมหลักของ “4 Kings: อาชีวะยุค 90” ที่เล่าเรื่อง “ความรัก” ในมุมมองต่าง ๆ ของคนที่มาสัมพันธ์กันโดยเล่าผ่านสายตาของตัวละครที่เป็นเด็กช่างและตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กช่างไม่มิติใดก็มิติหนึ่ง คือถ้าจะดูเอาว่าเด็กช่างใช้ชีวิตยังไง เรื่องนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ไปดู “ถนนนี้หัวใจข้าจอง” (1997) จะตอบโจทย์มากกว่า (อันนี้เพื่อนเด็กช่างกระซิบมา)
แต่ถึงจะไม่ตอบโจทย์เรื่องชีวิตเด็กช่าง จนถึงขั้นออกโรงมาแล้วพร้อมตะโกนกับทุกคนที่กวนบาทาหรือเปรี้ยวบาทาผมมาก ๆ ว่า “ล่ามโว้ยยยยยย” ก็ตาม ในแง่อื่นๆ ผมโอเคมมากนะ อย่างน้อยก็เดินออกมาจากโรงด้วยความคิดว่า ทำไมเราถึงไม่มองคนที่รายล้อมเรา “เป็นมนุษย์” ที่ชีวิตขับเคลื่อนด้วย “ความรัก” คนหนึ่งวะ
4 kings เปิดเรื่องมาด้วยเพลง “พลังรัก” ของหินเหล็กไฟ และเพลงนี้ถูกเอามาเล่นซ้ำในหนังในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งร้องสดบนเวทีคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี เพลงในเทป ตู้เพลง อีกไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งในเรื่อง ถ้าดูเผินๆ ก็คงเป็นเพลงประกอบยุค 90 เพลงฮิตในหมู่เด็กช่าง แต่นี่มันธีมหลักของหนังเลยนะ คือทุกอย่างในเรื่องนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย “ความรัก” เหมือนเนื้อเพลงเลย แต่ก่อนจะไปพูดเรื่องธีม ผมอยากพูดเรื่ององค์ประกอบหนังก่อน
ผมชอบภาพ เฟรม เทคนิค และจังหวะของภาพในหลาย ๆ ฉากมาก สวยมาก เล่นกับอารมณ์ของหนังได้อย่างดี
ในแง่ของเซ็ตติ้ง สิ่งต่าง ๆ ที่ประกอบฉาก ทำให้ผมเชื่อนะว่าทุกอย่างอยู่ในยุค 90 จริงๆ (มันมีรายละเอียดเล็กๆ อยู่สองอันที่มันหลุดออกมา ใครรู้มาแชร์กัน อิอิ เสียดายมาก เหลือแค่สองอันนี้เท่านั้นแหละที่มันหลุดออกมา) ภาพสวย แสงสวย การเล่าเรื่องจากภาพและเทคนิคต่าง ๆ ทำได้ดี รู้สึก ผกก. เลือกการนำเสนอผ่านภาพ เฟรม มุมกล้องต่าง ๆ คือดี ยอมใจในความพยายามเล่าเรื่อง 90 โดยควบคุมรายละเอียดได้ดีมาก ๆ
ที่น่าประหลาดใจ คือ กรุงเทพยุค 2022 ก็ยังหาพร็อพยุค 1995 ได้อย่างง่ายดายในชีวิตประจำวัน
ในแง่ของการแสดงของนักแสดง ผมชอบการแสดงของ “จ๋าย ไททศมิตร” ในบทของ “บิลลี่ อินทร” ในหลาย ๆ ฉาก ที่ทำให้ผมเชื่อและรู้สึกสะเทือนใจไปกับ “บิลลี่” จริง ๆ ผมเชื่อในน้ำตานั้นของบิลลี่ และความเจ็บปวดในชีวิตฉิบหาย
ขอบคุณ "จ๋าย ไททศมิตร" ที่ทำให้เราเชื่อในน้ำตาทุกหยดของ "บิลลี่"
การแสดงของ “บิ๊ก ดี เจอร์ราด” ก็เยี่ยวราดมาก คือผมก็ไม่รู้ว่าที่บิ๊กต้องเล่นจนหลุดขนาดนี้เพราะภูมิหลังอะไรของตัวละคร หรือจะสื่อว่าประสาทเสียเพราะเล่นยาหรือเป็นสันดานก็ไม่รู้ แต่หลุดโลกแบบฉิบหาย และผมก็เชื่อในความหลุดโลกนั้นจริง ๆ
บิ๊ก ดีเจอร์ราด ในบาท "ยาท" ที่แบบหลุดโลกแบบหลุดฉิบหาย
แล้วก็ชอบแม่ “สุกัญญา มิเกล” ด้วยในบทของแม่ดา อินทร โดยเฉพาะฉากที่กอด “แอม” หลานของตัวเอง ตอนที่บิลลี่มาเยี่ยม หลังจากที่ดาลูกของตัวเองตายเพราะเข้าไปช่วยเพื่อนแล้วถูกยิงสวน “แม่ดา” กอดหลานคนเดียวของตัวเองที่ต้องมาเลี้ยงเดี่ยวด้วยตัวเองตามลำพังด้วยความรักอย่างเปี่ยมล้นและน้ำตา
แม่สุกัญญา มิเกล ที่ผมเชื่อว่าเป็นแม่ของ "ดา" จริง ๆ
คือแค่ฉากกอดฉากเดียวนี่คือเห็นอารมณ์และความรู้สึกทุกอย่างไปจนถึงความขมขื่นในชีวิตแทบจะทุกแง่มุมจากการกอดสั้น ๆ ในฉากนั้นที่ไม่มีแม้แต่คำพูดด้วยซ้ำ (คือสมควรแล้วที่เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำกับนักแสดงสมทบ)
จริง ๆ อีกตัวที่ชอบมาก ๆ ก็คือ “ดา” ที่เป้ อารักษ์ เล่น แม้อาจจะไม่ได้ชอบเท่ากับสามตัวละครด้านบนนี้ แต่ชอบและเชื่อเหลือเกินในฉากที่ “ดา” ต้องกราบตีน “พ่อตา” อย่างน้อยก็ในทางนิตินัยเพื่อขอชีวิต “ลูก” ของตัวเองที่ยังอยู่ในท้องของอุ๊ ก่อนที่จะถูกพาไปทำแท้ง
"ถึงพวกผมจะไม่มีอนาคต แต่พวกผมก็มีหัวใจนะโว้ยยยยยย"
“มลทินเหี้ยไรพ่อ มลทินเหี้ยไร ที่พ่อจะเอาเด็กออก ที่พ่อทำแท้งให้ลูก มันมลทินที่สุดในโลกแล้ว” “มึงจะให้กูทำยังไง ที่กูไหว้เขาเนี่ย ที่กูกราบเขาเนี่ย กูทำเพื่อลูกกู" อันนี้ผมเชื่อจริง ผมเชื่อว่า “ดา” ที่อยู่ในร่างของเป้ หมายความตามสิ่งที่พูดจริงๆ คือมันบีบหัวใจไปหมด
ขอย้อนกลับมาธีมหนังที่ว่าทุกอย่างในชีวิตคือ “พลังรัก” เห้ย ทุกตัวละครในนี้คือมีความรักเป็นแรงขับเคลื่อนจริงๆ แต่รักอะไร รักในโมเมนต์ไหน รักอะไรที่สุดแค่นั้นเอง
“บิลลี่” ไม่มีครอบครัวให้ยึดเหนี่ยว ดังนั้น “เพื่อนพ้อง” ของกูมาก่อน
“ดา” กูก็ให้เพื่อนก่อน แต่อย่างอื่นกูก็ไม่ทิ้งนะ แต่ first priority แรกกูให้เพื่อนกับสิ่งที่กูกับเพื่อนศรัทธาร่วมกัน กูถึงยอมทิ้งเมียกะลูกไปดูคอนเสิร์ตกับเพื่อน (คือมันก็ไม่ใช่แค่ไปดูคอนเสิร์ตเฉยๆ น่ารักๆ เหมือนไปบิ๊กเม้าเท่นนะ แต่มันคือการวัดลายกันระหว่างสถาบันอาชีวะอื่น ๆ ด้วย อันนี้มันคือศักดิ์ศรีของกูและเพื่อน ๆ กูเลยนะเว่ย) เพื่อเป็นการทิ้งทวนชีวิตปีสุดท้ายของ ปวช. ของตัวเองได้
“โอ๋” แห่ง “ชล” กูก็ให้เพื่อนอะ สถาบันแม่งก็ไม่เท่าเพื่อนที่กูร่วมลำบากมาด้วยกันอะ
"สำหรับกู เพื่อนกับสถาบัน แม่งสำคัญเท่ากัน"
แม้กระทั่งแม่ของบิลลี่ รักลูกแค่ไหนนะ แต่ผัวใหม่กะครอบครัวใหม่มาก่อนว่ะ รักลูกนะ แต่ผัวว่าไงกูยอม ยอมกระทั่งบอกว่าลูกตัวเองหยิบกล้องของผัวใหม่ไป ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกแท้ ๆ ของตัวเองจะโดนอะไรได้บ้าง
“อุ๊” สุดท้ายก็เลือกตัวเอง เพราะมองไม่เห็นว่าตัวเองจะมีอนาคตได้ยังไงที่จะร่วมหัวจมท้ายไปกับผู้ชายที่ยังเรียนไม่จบอนาคตก็ยังมองไม่เห็นอย่าง “ดา”
แม้แต่พ่อของ “อุ๊” ก็ยังเลือกที่จะรักศักดิ์ศรี จนยอมแม้แต่ให้ลูกตัวเองทำแท้งก็ได้ หรือจะรักลูกก็ไม่รู้แหละ แต่ที่แน่ๆ คือกูไม่เอาลูกเขยทรงโจรในความคิดของตำรวจแน่ ๆ
แม้แต่สามเก๋าอินทร บิลลี่ ลูแปง ดา ที่ยอมแม้กระทั่งกราบคนที่เกลียดขี้หน้าฉิบหาย ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำ สำหรับ “ดา” ยอมกราบเพื่อของชีวิตลูกของตัวเองที่กำลังจะโดนทำแท้ง “บิลลี่” และ “ลูแปง” ยอมกราบขอร้องพ่อของเมียเพื่อนที่(กู)อยากตั๊นหน้าแม่งฉิบหาย เพราะยังไงกูก็รักเพื่อนกู
แม้กระทั่งสุดท้าย “บิลลี่” เองก็ยอมทิ้งทุกอย่าง ยอมจมปรักอยู่กับอดีตด้วยความรักเพื่อนที่ตายไปแล้วด้วยการอาสาเลี้ยงลูกสาวของเพื่อน ซึ่งท้ายที่สุดก็ขับเคลื่อนด้วยความรัก แต่เป็นความรักแบบงง ๆ ในแบบที่ “แอม” พูดใส่พ่อตอนจบเลยว่า “พ่อ หนูถามจริง พ่อรักหนู หรือว่าพ่อทำเพราะความรับผิดชอบกันแน่”
สำหรับบิลลี่และดาแล้ว เพื่อนมาก่อน
นี่แหละ “พลังแห่งรัก ใคร่ มันมีพลัง บัญชาให้คุณทำอะไรได้ทุกๆอย่าง” ถ้าเป็นสมัยตอนผมเรียนการแสดงสมัยมหาลัย หรือตอนไปเล่นละครให้เพื่อน แล้วถ้าผมต้องเล่นตัวละครเหล่านี้ ครูก็คงจะสอนว่า ตัวละครตัวเหล่านี้มี motivation สูงสุดคือ “ความรัก” เพียงแต่ “รัก” อะไรมากที่สุด ตัวละครแต่ละตัว นักแสดงแต่ละคนต้องไปตกตะกอนความคิดเอง สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าตัวละครทุกตัวถูกขับเคลื่อนด้วย “ความรักที่มีหลายเฉด”
และความรักแต่ละเฉดก็ทำให้ “ตัวละคร” ทุกตัว หรือ “คน” ทุกคนมีความเป็น “มนุษย์” และมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าเรามองเห็นคนรอบข้างเราเป็น “มนุษย์” มากกว่าวัตถุที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มากกว่าจะมองคนแค่ด้วยความปรามาสว่าเป็นทรงโจร ไร้อนาคต หรือเป็นแค่ “เปลือก” มีอะไรเคลือบอย่างเสื้อช็อป หรือ “สถาบัน”
"ทำตัวเองให้เดือดร้อน คนมองพ่อแม่ไม่สั่งสอน ท่านสอนแต่กูไม่เคยจำ"
ถ้าเรามองคนเป็นมนุษย์มากกว่านี้ รู้ว่าทุกคนมีจิตใจ มีความรัก บางทีปัญหานักเรียนตีกันมันอาจจะหมดไปจากสังคม ทั้งในเชิงของตัวนักเรียนช่างเอง หรืออาจจะในเชิงของสันติบาลก็ได้ถ้าเรามองว่าเด็กช่างเป็นมนุษย์ อย่างในเรื่อง 4 kings เอง ตำรวจก็คงไม่ปล่อยให้มันต่อยกัน (แต่ตำรวจเองก็เสือกโง่ ไม่รู้ว่าโดนหลอก สมน้ำหน้า)
หรือผู้คุมในสถานพินิจก็คงไม่โบยนักโทษเหมือนลืมอัพ iOS ราวกับยังตกอยู่กับยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อว่าการจองจำและทรมานมนุษย์ จะทำให้มนุษย์หลาบจำและเลิกก่อคดี ซึ่งหนังก็อกอยู่นะ ว่าวิธีนี้แก้ไม่ได้หรอก
"คุก" ดัดสันดานมนุษย์ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่าง "วิญญูชน" ได้จริงหรือ
แม้แต่ “ยาท” เด็กบ้าน ที่ดูหลุดโลกตลอดเวลา ถามจริง เด็กบ้านอย่างยาทเนี่ย มันไม่ใช่มนุษย์หรอ? ทำไมมันต้องการจะฟาดใครสักคนในวันที่จับได้ใบแดงล่ะ? ถ้าเรามองแบบมันไม่ใช่มนุษย์ มันก็แค่เดนสังคมคนนึงที่ติดคุกเท่าไหร่ โดนกระทืบเท่าไหร่ก็ไม่จำ แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นมนุษย์ เห้ย จับใบแดงเหมือนติดคุกอีกสองปี มันจะรู้สึกเซ็ง แย่ เหมือนโลกใบนี้จะถล่มลงมา มันก็ไม่แปลกหรือเปล่า
แต่เราจะแก้ปัญหานี้ “อย่างมนุษย์” อย่างไร และ “ได้อย่างไร” ล่ะ นี่คือสิ่งสำคัญ
เอาจริง ผมมองว่า “ความรัก” คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ แต่ในเรื่องนี้เราเห็นเลยว่า “ความรัก” ที่มีต่อทั้งตัวเอง ครอบครัว สถาบัน เพื่อน หรือคนรอบข้าง นี่แหละทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปอย่างไม่รู้ตัว นี่ช่างเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งเสียเหลือเกิน
ทีนี้เราจะแก้ปัญหายังไง ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมองคนเป็นมนุษย์ และพยายามแก้ปัญหาของมนุษย์อย่างเป็นมนุษย์ นี่คงเป็นสิ่งที่ผมตกตะกอนได้ แม้จะไม่รู้ว่าผู้กำกับและคนเขียนบทซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกันได้มองมาจนถึงจุด ๆ นี้ หรือไม่ แต่ผมว่า ถ้าเราพยายามจะแก้ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ ด้วยความเป็นมนุษย์ มันต้องแก้ปัญหาได้แน่ ๆ
"ก็เพราะเรียนอาชีวะเนี่ยแหละ เลยทำให้กูได้เห็นน้ำตาของแม่กู"
ถ้าจะมีอะไรที่ไม่ชอบใน 4 kings ก็คงเป็นบทบางอัน ที่มันดูพยายามยัดคำพูดอะไรที่คนไม่พูดในชีวิตจริงให้อยู่ในบทมากเกินไป ไอ้ประโยคสวยๆ ไม่แปลกนะ แต่บางประโยค ให้ตายเหอะ ไม่คิดว่าคนจะพูดจริง ๆ อย่าง “เตรียมสวดพระอภิธรรมได้เลย” หรือบางบทที่มันดูโบ๊ะบ๊ะเกินไป ถึงจะบอกว่าในกลุ่มเพื่อนมันต้องมีสักคนที่เป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะโบ๊ะบ๊ะแบบไม่ค่อยเป็นธรรมชาติแบบนี้นะ (ไม่ใช่ทุกบท แต่บางบทมันแปลกจริงๆ)
อันนี้ถึงขั้นไปถามเพื่อน “เด็กช่าง” ว่ามีคนพูดไหม เด็กช่างมันยังบอกเลยว่าบางอันแม่งก็ดูเป็นอะนิเมะเกินไป อย่างเช่นฉากที่ “อินทร” โดนล้อมหน้าล้อมหลังโดย “ชล” และ “บู” เนี่ย เพื่อนเด็กช่างผมพูดเลยว่า เป็นกูเนี่ย ใจเต้นตุ้มๆ ต่อมๆ แล้ว ไม่มีทางมาพูดอะไรเท่ๆ คูลๆ แบบอะนิเมะแบบนี้แน่ๆ แต่เข้าใจ ว่านี่มันก็คือภาพยนตร์อะนะ มันก็ต้องคีพคูลไว้บ้าง
ในหนังคงพอ keep look ได้ แต่ถ้าเป็นของจริง เพื่อนบอกหัวใจตุ้มๆ ต่อมๆ
ซึ่งอันนี้จริง ๆ ผมมองว่า ซีนอารมณ์ ซีนครอบครัว บททำหน้าที่ได้ดีนะ ผมเชื่อ ผมซื้อ แต่ซีนตอนเด็กชอาชีวะคุยกันเอง หรือคุยกับกลุ่มเพื่อน บางอันมันไม่ได้เรียลลิสติกขนาดนั้น (อีกอันที่แบบ หืม ยุค 90 พูดคำนี้หรอวะ คือคำว่า “เกม” เออ แม่งเกมว่ะ) ถ้าเข้าใจผิด หรือจริงๆ แล้วเด็กช่างพูด ก็รบกวนช่วยบอกบุญด้วยครับ ผมก็ไม่ทราบจริงๆ ว่าเขาพูดกันจริงไหม
อันต่อมาก็คือความพยายามยัดคอนเทนต์และรายละเอียดที่เป็นยุค 90 มากจนเกินไป ซึ่งบางอันรู้สึกว่า ไม่ต้องใส่มาก็ได้ มันจะดูกลายเป็น “2538 อัลเทอร์มาจีบ” แล้ว ทั้งในแง่ของพร็อพ และบทพูด ขนาดถึงขั้นรายการมวยในโทรทัศน์หรือโปรโมเตอร์ที่แบบเด็ก 90 ต้องรู้จัก (ซึ่งผมที่จริง ๆ แล้วเป็นเด็กที่โตมาในยุค 2000 ก็ยังรู้จัก แปลว่า กูแก่แล้ว หรือไม่ก็คือ กูแก่แดด)
ซึ่งเอาจริงก็ไม่คิดว่าต้องใส่ขนาดนี้ แต่ก็ไม่รู้จะเสนอว่าถ้าไม่ใส่แล้วจะทำยังไงเหมือนกัน โอเค แต่ถ้าอยากให้ละครมีกลิ่นของความ 90 ถ้าเลือกจะใส่ ก็คงต้องมาเวย์นี้แหละ แต่โดยส่วนตัวไม่ชอบเพราะมันเยอะไปหน่อย เสนอไม่ถูกเหมือนกันครับ ว่าจะให้เลือกเวย์ไหน แต่อาจจะลดลงหน่อยก็ได้ ไม่ต้องขั้นแพนกล้องไปเจอพร็อพหรือใช้เวลากับพร็อพเหล่านี้มากขนาดนี้ก็ได้ แล้วแบ่งเวลาไปเล่าเรื่องอื่นอาจจะดีกว่า
ส่วนอีกอัน ไม่รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่รู้สึกว่า ตัวเอกไม่ใช่ “เป้ อารักษ์” แต่คือ “จ๋าย ไททศ” แต่เปิดเรื่องคือเอา “เป้ อารักษ์” ขึ้นชื่อแรกเลยนะ คิดอะไรไม่ได้นอกว่านี่คือการตลาดแหละ (ซึ่งก็เข้าใจได้) แต่เรื่องนี่มันไปโทนของ “จ๋าย” เป็นหลักเลย
ส่วนอีกอัน เราว่าแม่งปูเรื่องมาให้ได้กลิ่นว่า “เป้” ตายแน่ แล้วก็ตายจริงๆ แล้วก็มาเดาได้หลังเป้ตายว่า “จ๋าย” เอาลูกที่อยู่ในท้องของเมีย “เป้” ไปเลี้ยงแน่ๆ แล้วก็เป็นอย่างที่คิดจริง ๆ
อ้อ อีกอันคือ อันนี้ไม่ใช่หนังชีวประวัตินะ ไม่ใช่เรื่องจริง ส่วนใหญ่นี่เป็น fiction ที่อ้างอิงบนตัวละครและเหตุการณ์บางส่วนที่มีอยู่จริง แต่อันนี้ชอบนะ คือแบบกูเชื่อเลยว่าเป็นเรื่องจริง จนกระทั่งเพื่อน “เด็กช่าง” บอกผมว่า "มึง ๆ พี่ดาพึ่งตายเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง”
ผมนี่แบบ เลือดอินทรกูหายไป 70% หลังจากได้ยินประโยคนี้
นั่นแหละ สุดท้ายแม้ดูจบแล้วจะไม่ได้อยากตะโกน “ล่ามโว้ยยยยยย” ทุกครั้งที่ผมเจอคนที่ผมรู้สึกว่ามันเปรี้ยวส้นเท้าผมเหลือเกิน เหมือนก่อนที่ผมเดินเข้าโรงหนังด้วยความคาดหวังว่า ผมออกมาจะต้องไปตะโกนแบบนั้นก่อนเริ่มงานในวันจันทร์ของสัปดาห์ต่อมา แต่ผมก็ได้รู้สึกว่าเออ หนังแม่ง 90 จริงๆ และทำให้เชื่อว่าเป็น 90 และเชื่อในความเป็นเด็กช่าง และทำให้ผมเชื่อว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาอะไร เราต้องมองเขาเป็นมนุษย์ก่อนว่ะ
คุณไม่ต้องยอมรับสิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาเชื่อ แต่อย่างน้อยควรทำความเข้าใจ
มึงไม่ต้องยอมรับสิ่งที่เขาทำหรือสิ่งที่เขาเชื่อก็ได้ แต่คุณต้องพยายามทำความเข้าใจ แล้วปฏิบัติกับเขาว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง มันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะปัญหาเด็กอาชีวะตีกันนะ แต่รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่ในหนังพยายามเล่าด้วย ทั้งเรื่องปัญหาในครอบครัว ปัญหาควยเป็นใหญ่ ฯลฯ รวมถึงปัญหาที่อยู่ในสังคมของเราในทุกวันนี้ด้วย
"แล้วถ้ากูไม่อยู่บู มึงไม่อยู่ชล เรายังจะตีกันรึเปล่าวะ"
เออ ผมว่าเราทุกคนควรดูอะ อินไม่อินอีกเรื่อง แต่ผมคิดว่า 4 kings ถ่ายทอดปัญหาและชี้ปัญหาในสังคมนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาดีในระดับหนึ่ง
ก็ไม่แปลกนะ หนังย่อยง่าย (บทเล่าเรื่องดี ตามตัวละครง่าย ถ้ามีคนบอกว่าจำหน้าตัวละครไม่ได้ หน้าเหมือนกัน ผมจะไล่ให้ไปดู DARK อันนั้นไม่ยิ่งงงกว่าอีกหรอ ใครเป็นใคร เป็นคนบ้านไหน แต่งงานกับใคร) ดูเพลิน ชวนติดตาม ไม่น่าเบื่อ
คือนี่พยายามหาธีมหาแก่นของเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าแกะธีมถูกหรือเปล่า แต่จริง ๆ ไม่ต้องแกะธีมเรื่องให้ออก เด็กวัยรุ่นที่คนแก่ ๆ ในกลุ่มแนะนำ series เขาเป็นห่วงหนักเป็นห่วงหนาว่าจะไป “เบียว” อาชีวะ เอาเป็นเยี่ยงอย่างแล้วยกพวกไปตีกันเนี่ย ก็น่าจะเดาได้แหละว่าหนังเขาจะบอก (เหมือนเพลงประกอบหนัง - นักเลงเก่า ของไททศมิตร) เลยว่า “มึงหยุดคะนอง มึงหยุดตีกันได้แล้ว ไอ้สัส” ก็ไม่แปลกที่จะทำเงินได้ดี
เพราะโดยส่วนตัวก็คิดว่า ผ่านมาสิบปีหลังนี้ มีหนังไทยไม่กี่เรื่องหรอกที่มาได้ถึงขนาดนี้ แล้วเป็นหนังกลางยุคโควิดด้วย ถ่ายทำก็ยาก ถ่ายเสร็จแล้วก็ต้องมาลุ้นอีกว่ามีคนมาดูหรือเปล่า ไม่แย่อะ ไม่แย่เลย
タイ映画「四天王」 めっちゃ面白かった! 今回大阪アジアン映画祭で見た映画の中では一番面白い! "หนังไทย "4 kings" โคตรสนุก! เจ๋งสุดในบรรดาหนังทุกเรื่องที่ได้ดูในเทศกาลหนังเอเชียที่โอซาก้าครั้งนี้!" by Kah Wai Lim
อ้อ แล้วไทม์ไลน์เขาสมจริงนะ มีคนเถียงว่า แอมจะพึ่งเรียน ม.ปลาย ได้ยังไง เรียนซ้ำเป็นสิบปีเลยหรอ ก็ไม่ใช่ไง เหตุการณ์อดีตในเรื่องเกิดในปี 2538 แอมก็น่าจะเกิดต้นปี 2539 ซึ่งถ้าอ้างอิงจากที่ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าจริงๆ แล้ว 4 kings เป็นโปรเจคต์ที่มีแพลนว่าจะทำเป็นหนังจอใหญ่ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว ถ้านับจนถึงปี 2556 แอมก็พึ่งจะมีอายุแค่ 17 ปีเท่านั้นเอง
ก็ไม่แปลกเลยที่แอมจะยังเป็นนักเรียน ม.ปลาย ผูกคอซองอยู่
แล้วในหนังเองก็ไม่ได้มีพร็อพอะไรที่ชี้ว่าฉากในยุคไทม์ไลน์ปัจจุบันตอนเปิดเรื่อง กับตอนปิดเรื่อง คือเหตุการณ์ในปี 2564 – 2565 เลยแม้แต่อย่างเดียวนะ ทั้งตัวรถยนต์ เครื่องเสียงในรถของบิลลี่ จีพีเอสติดรถยนต์ โทรศัพท์สมาร์ตโฟนทั้งของบิลลี่และของแอม รวมถึงจอโทรทัศน์แอลซีดีในบ้านของบิลลี่ ก็คือของที่มีมาตั้งแต่ในยุค 2556 (จริงๆ บางอย่างก็มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว) แล้ว
ไม่ใช่พึ่งจะมามีในช่วงปีสองปีนี้เสียเมื่อไหร่ มือถือของแอมเองก็ไม่ใช่ไอโฟนอย่างที่ในกลุ่มคนวิจารณ์หนังเขาหลอกลวงนะ ไม่ทราบว่ามองยังไงให้เป็นไอโฟนได้จริง ๆ
ถ้าต้องให้ตัดเกรด ขอให้ B ละกัน จริงๆ อยากเห็น “ชีวิต” จริงๆ ของเด็กอาชีวะมากกว่านี้ (เพราะคาดหวังว่า ออกมาจากโรงแล้วผมต้องมีโมเมนต์อยากตะโกนใส่คนที่ผมต้องไปแปลให้ที่ออฟฟิศว่า “ล่ามโว้ยยยยย” บ้าง)
แล้วก็รู้สึกว่าองค์ประกอบบางอย่างมันดูแปลกที่ยัดลงมาในหนังนี้ คิดว่าถ้าตัดออกบ้าง หนังน่าจะกระชับขึ้นได้มากกว่านี้ แต่นี่ก็ไม่แย่หรอก สองชั่วโมงนิด ๆ ดูเพลินๆ ไม่ได้รู้สึกนานอะไร แล้วเนื้อเรื่องก็สนุก ชวนติดตาม อยากดูต่อไปเรื่อย ๆ จนหนังจบ
ถ้าจะทำภาคสอง ก็อยากให้ develop ดีๆ กลัวหนังไม่ดี แง และอยากตบหัวตัวเอง ทำไมมึงพึ่งมาดู ไอ้สัสสสสสส
#4KingsTheMovie #4Kingsอาชีวะยุค90 #4Kings 4kings อาชีวะ ยุค 90
โปสเตอร์ 4 kings ที่กัมพูชา
อันนี้ไม่รู้ใครทำ แฟนอาร์ตหรือเปล่าก็ไม่รู้ สวยมาก
ใครบอกว่าดูแล้วออกนอกโรงไปตีกัน นี่คืองงมาก เขาพูดตั้งแต่โฆษณาหนังแล้ว
หนัง
ภาพยนตร์
4kings
บันทึก
3
2
7
3
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย