3 มิ.ย. 2022 เวลา 14:00 • ประวัติศาสตร์
ปี 1966 เด็กเกิดใหม่ที่ญี่ปุ่นลดลงแบบฮวบฮาบเกี่ยวอะไรกับเรื่องเล่าโบราณ โดย “ล่ามโว้ยยยยยย” ที่เรียนจบเอกญี่ปุ่น แต่อยากเรียนเอกละครกะเอกประวัติศาสตร์มากกว่า
ผมเคยได้ทุนจากมหาวิทยาลัยย่านสามย่านไปแลกเปลี่ยนที่ #มหาวิทยาลัยริวโคขุน ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เมืองที่ผมรักที่สุดในโลก เป็นเวลาหนึ่งปี เป็นหนึ่งปีที่สนุกมากสำหรับผม เพราะผมได้ทำทุกอย่างที่ผมอยากทำ ได้เรียนอะไรแปลก ๆ ที่ผมไม่เคยเรียน และได้เปิดโลกกับวิชาเรียนแปลก ๆ เยอะ โดยเฉพาะโลกของภาษาญี่ปุ่น ที่เจอทั้งในคลาส และนอกห้องเรียน ทั้งตอนเจอกับเพื่อน ผู้ใหญ่ที่ผมบังเอิญได้รู้จัก และที่ทำงานพิเศษ
โอชิจิ ลูกสาวร้านขายผัก หลากเวอร์ชั่น
มีเรื่องหนึ่งที่ยังจำได้ และประทับใจจนถึงทุกวันนี้เรื่องนึงที่มีความเป็นวิชาการบ้าง นั่นก็คือในคาบวิชาการฟังภาษาญี่ปุ่นคลาสหนึ่ง มีบทความหนึ่งที่เรียนฟังพูดถึงเรื่องจำนวนประชากรญี่ปุ่นที่เกิดลดลงในช่วงสั้น ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี คือปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509)
ซึ่งจริง ๆ แล้วมันฟังดูตลกเพราะยุคนั้นญี่ปุ่นกำลังบูมด้านเศรษฐกิจมาก มีเบบี้บูมเมอร์เกิดขึ้นในยุคนี้มากมาย มันไม่ควรจะมีช่วงไหนที่จู่ ๆ จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ก็ลดลงเอาเสียดื้อ ๆ แล้วพอผ่านปีนั้นปี ก็กลับขึ้นมาเยอะเหมือนเดิมอีกครั้ง
จากกราฟจะเห็นว่า มีช่วงหนึ่งระหว่างปี 1960 - 1970 จะมีอยู่ปีหนึ่งที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ ลดลงจากประมาณเกือบสองล้าน (รวมชายหญิง) มาเหลือไม่น่าเกินล้านห้าในเวลาเพียงปีเดียว แบบกราฟตกหัวแหลมแล้ว แล้วกลับมาเพิ่มขึ้นแบบจึ้งเกือบสองล้านอีกรอบแต่มากกว่าเดิมในปีต่อมา ซึ่งน่าประหลาดอย่างยิ่งสำหรับยุคเศรษฐกิจบูมแบบบูมเวอร์
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ “วงรอบนักษัตร” ที่คนญี่ปุ่นเองก็รับความเชื่อนี้ไปจากจีน ซึ่งวงรอบนี้คนไทยเองก็เชื่อเหมือนกันนะครับ เห็นได้จากเรื่องของ “ปีชง” แล้วก็ “แซยิด” ที่เรายังพอจะเห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ที่จริง ๆ ก็รับมาจากคนจีนอีกทีนั่นแหละ
ความเชื่อเรื่องรอบวงนักษัตรทั้ง 12 ที่มีความสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5 (ดิน ไฟ ทอง น้ำ และไม้) ซึ่งคูณกันก็ได้จะ 60 ปีพอดี
ปี 1966 นั้นเอง ที่ญี่ปุ่นตรงกับรอบวงนักษัตรปีหนึ่ง ซึ่งมีครั้งเดียวในรอบ 60 ปี ในปีนั้นคือปีที่เรียกว่า 丙午 “ฮิโนะเอะอุมะ” แปลเป็นภาษาไทยได้อย่างง่าย ๆ ว่า “ปีม้าไฟ”
คนโบราณเชื่อว่า ผู้หญิงที่เกิดในปีนี้ จะเป็นอันตราย คือกินผู้ชาย (อาจารย์ใช้คำนี้) คนไทยก็มีคำคล้าย ๆ กันคือ “ดวงกินผัว” ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้หญิงที่มีดวงกินผัวเกิดขึ้นมา ในปีนั้นคนก็เลยพากั้นอั้น ไม่สร้างประชากรใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าเด็กจะเกิดมาเป็นหญิงหรือชาย จะได้มีจำนวน “ผู้หญิงที่มีดวงกินผัว” ลดลงไปบ้าง
ผมเปล่าเหยียดนะ ความเชื่อโบราณเขาว่าผู้หญิงเกิดปี "ฮิโนะเอะอุมะ" หรือปีม้าไฟ ก็คือผู้หญิงที่มีดวงกินผัว แต่อาจารย์ผมน่ารัก ท่านใช้คำว่าดวงกินผู้ชาย
ดังนั้น ในปี 1966 จะเห็นได้ว่ามีเด็กเกิดใหม่น้อยมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และปีหลังจากนั้น
(ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่า เราจะไม่รวมถึงกรณีหลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นบูมถึงขีดสุดแล้ว เพราะหลังจากนั้น สังคมญี่ปุ่นเริ่มมีความอิ่มตัวทางประชากร เด็กเริ่มเกิดน้อยลง คนแก่เยอะขึ้น ตามโครงสร้างประชากรแบบสังคมสูงวัย เหมือนตามอย่างประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย และในที่สุดประชากรญี่ปุ่นก็ลดลดครั้งแรกในปี ค.ศ. 2008 จากที่เคยมีประชากรในระดับเดียวกันแทบทุกปีนับตั้งแต่เศรษฐกิจบูมสุดๆ นั่นคือ ประมาณ 125 ล้านคน)
แต่คือถ้าเป็นแค่ความเชื่อโบราณแต่ดั้งแต่เดิมแต่จารีต มันคงไม่เท่าไหร่ บังเอิญว่ามันมีนิทานและเรื่องเล่าของคนญี่ปุ่นในช่วงไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้าจะถึงญี่ปุ่นในยุค 1966 ด้วยเรื่องหนึ่ง นั่นคือเรื่อง 八百屋のお七 (ยาโอยะโนะโอชิจิ) แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “โอชิจิ ลูกสาวร้านขายผัก” ที่ได้รับการนำมาเป็นนวนิยายในสมัยใหม่และบทละครโจรุริ (หุ่นกระบอกญี่ปุ่น) หลายครั้ง
八百屋のお七 ยาโอยะโนะโอชิจิ = โอชิจิ ลูกสาวร้านขายผัก
เรื่องนี้เล่าเอาไว้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเมืองเอโดะ (โตเกียวในยุคปัจจุบัน) เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ ทุกคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด และคนที่รอดก็ต้องหนีขึ้นไปอยู่อาศัยกันบนวัดที่ตั้งอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง ครอบครัวของโอชิจิเองก็หนีขึ้นเขาไปด้วย ทำให้โอชิจิได้เจอกับเด็กวัดคนหนึ่ง และเธอก็ตกหลุมรักเขาเข้า
เธอหลงใหลในรูปกายอันแสนงามของเด็กหนุ่มคนนั้นมากเสียจนกระทั่งเมื่อเธอและครอบครัวกลับไปตั้งบ้านเรือนในเมืองเอโดะตามเดิมแล้ว เธอก็ยังเฝ้าใฝ่ฝันถึงเด็กวัดคนดีคนเดิมของเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เมื่อครั้นเธอกลับลงมาอยู่ในเมืองเธอก็มิอาจได้เจอกับชายหนุ่มที่เธอรัก
เธอจะทำอย่างไรเล่าให้เธอได้กลับไปเจอหนุ่มที่เธอเฝ้าใฝ่ปองอีกครั้ง เธอก็คิดออกจนได้ นั่นคือ “วางเพลิงเอโดะซะ!” เธอจะได้หนีไฟไหม้ และกลับไปเจอเด็กวัดคนนั้นอีกครั้งหนึ่ง
แต่อนิจจา โทษของการวางเพลิงในยุคนั้นคือการประหารชีวิตสถานเดียว แต่ที่อนิจจากว่านั้นก็คือ โอชิจิ กลับตายในกองเพลิงที่เธอเป็นคนก่อขึ้นมา เธอตายด้วยความรุ่มร้อนในความของรักของเธอเสียเอง
จะเป็นภาพอุกิโยเอะกี่เวอร์ชั่นก็คือภาพที่นางโอชิจิปีนขึ้นไปบนหอระฆังแล้วหันลงมามองเมืองเอโดะที่วอดวายด้วยกองเพลิงที่เธอเป็นคนก่อขึ้น
ฉากคลาสสิคในละครทั้งหลายก็คือฉากที่เธอเผาเมืองแล้วปีนขึ้นไปบนหอระฆังเพื่อตีสัญญาณแจ้งชาวเมืองว่าไฟไหม้เมืองแล้ว เธอปีนขึ้นไปบนหอระฆังด้วยความยากลำบากจากความเทอะทะของกิโมโน กว่าจะขึ้นไปถึงหอระฆังก็หมดแรงแล้ว เคาะระฆังไปก็เฝ้าใฝ่หาถึงหนุ่มที่เธอใฝ่ปองไป จนเธอโดนไฟครอกตายคาหอระฆังนั้น บางฉบับก็ว่ากิโมโนที่เธอใส่นั่นแหละคือเชื้อเพลิงที่คร่าเมืองและฆ่าชีวิตของเธอเอง
ว่ากันว่า “โอชิจิ” หญิงผู้มีพิษรักร้อนแรงเช่นนี้เกิดปี “ม้าไฟ” ที่คนญี่ปุ่นกลัวหนักกลัวหนานี่เอง
ด้วยความเชื่อแต่โบราณนานมา แลเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ว่ากันว่าเป็นผลมาจาก “โอชิจิ ปีม้าไฟ” แลความเชื่อที่ว่าไฟไหม้ครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งในญี่ปุ่นก็ล้วนแต่เกิดในปีม้าไฟนี้ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือไม่ก็ตาม ทำให้คนญี่ปุ่นก็เชื่อในความเชื่อนี้อย่างมากเสียจนไม่อยากจะคลอดลูกออกมาในปีนี้
อย่างน้อยก็เชื่อมาจนถึงปี 1966 หลังญี่ปุ่นจัดโตเกียวโอลิมปิกได้ 2 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่ ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ ที่ความเชื่อปรัมปราก็ไม่น่าจะมีอิทธิพลเหนือชาวญี่ปุ่นยุคโมเดิร์นแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็ลดลงแบบฮวบฮาบอย่างที่ได้เล่าไป
แบบมังกะยุคปัจจุบันหน่อยก็มีนะ
ทีนี้มันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมอยากรู้มาตลอดเหมือนกัน และอยากเฝ้าตารอดูอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในปี 2026 (พ.ศ. 2569) นี้ ซึ่งจะครบรอบปีม้าไฟอีกรอบในรอบ 60 ปี คนญี่ปุ่นในยุค 2020’s นี้ ยังจะมีความเชื่อในเรื่อง “ฮิโนะเอะอุมะ” อีกหรือไม่ จำนวนประชากรที่ลดแล้วลดอีกนี้ จะยิ่งลดในอีก 4 ปีข้างหน้านี้หรือไม่
ประเทศไทยเองเมื่อปี พ.ศ. 2509 ประชากรเกิดใหม่ก็ลดลงแบบญี่ปุ่นหรือเปล่า หรือแม้แต่ในจีน เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ที่รับวัฒนธรรมจารีตของจีนอย่างเข้มข้น หรือแม้แต่สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีคนจีนอยู่เยอะเหมือนไทย ในยุคนั้นเด็กเกิดใหม่น้อยแบบญี่ปุ่นหรือเปล่า และในอีก 4 ปีข้างหน้า จะมีลักษณะการลดของประชากรที่เกิดใหม่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อ 60 ปีที่แล้วอีกหรือไม่
สำหรับผม ผมว่านี่เป็นประเด็นที่น่าศึกษาต่อไป
ที่ผมจำเรื่องนี้ได้ ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะตอนนั้นอาจารย์ถามว่าใครรู้จักเรื่องของ “โอะชิจิ” บ้าง ในบรรดานักเรียนต่างชาติในห้อง มีผมคนเดียวที่รู้จัก และเล่าให้เพื่อนชาวต่างชาติฟังได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเก่งหรืออะไรนะ ผมเคยเจอในเรื่อง “หน้ากากแก้ว” ที่รู้สึกพลาดก็คือตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นยังกากอยู่ เล่าเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ตะกุกตะกักมาก กว่าจะเล่าจบก็กระท่อนกระแท่นเอาเรื่อง
ผ่านมากี่ปีก็ยังรู้สึกว่าภาษาญี่ปุ่นนี่ยากดีแท้
โอชิจิ ลูกสาวร้านขายผักที่โผล่มาในเรื่องหน้ากากแก้ว ในระหว่างที่ "มายะ" กับ "อายูมิ" กำลังฝึกฝนเรียนรู้จากธาตุทั้ง 4 ธาตุ "ลม ไฟ น้ำ ดิน" (นับแบบญี่ปุ่น) เพื่อจะได้แสดงเป็น "นางฟ้าสีแดง" ต่อไป อาจารย์สึกิคาเงะถึงกับตกใจว่าทำไมมายะถึงใช้ "โอชิจิ" เล่าเรื่อง "ไฟ" เหมือนกับที่เธอเคยทำตอนสมัยยังสาวก่อนที่เธอจะเป็นนางฟ้าสีแดงในตำนานที่จนป่านนี้ก็ยังหาทายาทนางฟ้าสีแดงไม่ได้สักที
โฆษณา