Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
NEZ Legal Translation
•
ติดตาม
4 มิ.ย. 2022 เวลา 06:28 • ธุรกิจ
โพสต์ที่แล้วอธิบายความรู้ทั่วไปเพื่อปูพื้น โพสต์นี้จะมาอธิบายเพื่อตอบคำถามว่าการถ่ายรูปในที่สาธารณะแล้วติดหน้าคนอื่นมาเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย PDPA ของไทยหรือไม่พร้อมแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่จำเป็นครับ
1. เราสามารถถ่ายรูปติดหน้าคนอื่นได้หรือไม่
อาจตอบได้ 2 ทางขึ้นอยู่กับลักษณะข้อเท็จจริง คือ
1) หากรูปใบหน้าที่ติดมานั้นไม่ชัด เลือน หรืออยู่ไกลจุดโฟกัสของรูปมากเกินไป “จนระบุไม่ได้เลยว่าบุคคลในภาพเป็นใคร” รูปใบหน้านั้นก็ไม่ถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ดังนั้น เราจึงเอารูปนี้ไปใช้หรือเผยแพร่ลงโซเชียลได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมคนที่ถ่ายติดในรูป
2) หากถ่ายติดใบหน้าคนอื่นและรูปนั้น “ชัดพอจะระบุได้ว่าเป็นใคร” รูปนั้นถือ “เป็น” ข้อมูลส่วนบุคคล หากจะเอาไป “โพสต์” หรือ “เผยแพร่” ก็ต้องดูว่าเข้า “ข้อยกเว้น” ที่กฎหมายให้ทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมหรือไม่
ข้อยกเว้นที่แนะนำและใกล้มือที่สุดคือข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “มาตรา 4” ซึ่งบัญญัติไว้สองเรื่องที่ใกล้เคียงคือ
ก) ข้อยกเว้นเรื่องการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล “เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” (purely personal) หรือ “เพื่อกิจกรรมในครอบครัว” (household activities) ของบุคคลนั้น หรือ
ข) เพื่อกิจการ “สื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม” อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
หากข้อยกเว้นข้อ ก) หรือ ข) เราไม่ต้องขอความยินยอมก่อนเอารูปไปโพสต์หรือเผยแพร่ครับ
เช่น ไปเที่ยวทะเลแล้วจะถ่ายรูปตรงชายหาด พอดีดันมีรูปชายคนนึงนอนแอ้งแม้งบนชายหาดติดเข้ามาด้วย หากเราเอารูปที่ถ่ายนี้ไปดูเล่นส่วนตัว หรือเอาไปโพสต์เผยแพร่โดยตั้งค่าให้เห็นเฉพาะ “เพื่อน” หรือ “คนในครอบครัว” เราดู เราก็ไม่ผิดกฎหมาย PDPA เพราะเราเอาไว้ดูส่วนตัวหรือเผยแพร่ให้เฉพาะคนที่รู้จักดูเท่านั้น
แต่หากรูปชายที่นอนแอ้งแม้งบนชายหาดอยู่ในท่าไม่พึงประสงค์ เช่น นอนอ้าปากหวอพุงพลุ้ย และภาพที่ถ่ายติดใบหน้าเขาก็ชัดมาก ตรงนี้ ควรพิจารณาความเหมาะสมด้วยว่าควรเอาไปโพสต์มั้ย เพราะหากเอาไปโพสต์แล้วเผอิญชายคนนั้นดันมาเห็นรูปเข้าไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ชายคนนั้นก็อาจอับอายและรู้สึกถูกล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ยิ่งมีคนมาคอมเมนต์ล้อเลียนด้วย ก็ยิ่งทำให้ชายคนนั้นเสียหายเพิ่ม
ดังนี้ แม้จะอ้างว่าเอาไปโพสต์ส่วนตัว ไม่ได้เอาไปขายหากำไร ก็คงไม่พ้นเรื่องการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นอันเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่เขาจะเห็นว่าไม่เสียหายอะไรก็โพสต์ไปเถอะ
อีกวิธีหนึ่งที่อาจทำให้เรานำรูปหรือวิดีโอที่ถ่ายติดหน้าคนอื่นไปโพสต์เผยแพร่ได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของใบหน้าก็คือการอ้างว่าเรา "มีประโยชน์อันชอบธรรม" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า legitimate interest ที่จะโพสต์รูปได้โดยไม่ขัดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของใบหน้าจนเกินไป
เช่น เราไปวัดแล้วถ่ายรูปตอนมีคนมาไหว้พระเยอะ ๆ เราสามารถโพสต์รูปนั้นโดยอ้าง legitimate interest ได้ว่า 1) เป็นธรรมดาที่คนมาไหว้พระก็อยากจะถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก 2) คนทั่วไปย่อม "คาดหมาย" ได้อยู่แล้วว่าเมื่อมาวัดก็อยากถ่ายภาพเก็บเป็นที่ระลึกโดยอาจติดใบหน้าคนอื่นมาบ้าง และ 3) การเอารูปนั้นไปโพสต์ไม่ขัดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของใบหน้าจนเกินไป เช่น ไม่ได้โพสต์หน้าเขาตอนทำท่าประหลาด ๆ เป็นต้น
คดีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลฯ มีทั้งส่วนที่เป็นคดีแพ่ง และคดีอาญา ในส่วนคดีอาญา เป็นคดีอัน "ยอมความได้" หมายความว่า คู่กรณีตกลงไม่เอาเรื่องกันทีหลังได้ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นศาลครับ
ส่วนที่เป็นคดีอาญานี้กฎหมายเอาผิดเฉพาะเรื่องแรง ๆ คือ การเอาข้อมูลที่อ่อนไหว เช่น ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อ ความคิดเห็นทางการเมืองหรือศาสนา เป็นต้น ไปเผยแพร่โดยไม่ขอความยินยอม "และ" ไม่ปฏิบัติตามวิธีการอื่นที่กฎหมายกำหนด หากการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ "ในลักษณะที่น่าจะ" ทำให้ผู้อื่นถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เสียชื่อเสียง หรือเสียหาย ก็เป็นความผิดสำเร็จ แต่ยอมความกันได้ครับ
นอกจากนี้ยังมีฐานความผิดทางอาญาฐานอื่นอีกแต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้ครับเพราะจะยาว
2. ถ่ายรูปเด็กต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก
เด็กหรือ “ผู้เยาว์” ในที่นี้แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ เด็กอายุกว่า 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี กับเด็กที่อายุไม่เกิน 10 ปี
การถ่ายรูปเด็กเป็นการ “เก็บรวบรวม” ข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยหากจะถ่ายรูปเด็กอายุกว่า 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี ต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็ก คือ พ่อหรือแม่เด็ก ก่อน เว้นแต่เด็กจะจดทะเบียนสมรสแล้วหรือพ่อแม่อนุญาตให้ทำงานหรือค้าขายอย่างผู้ใหญ่ได้ ก็ขอความยินยอมเด็กนั้นได้เลยโดยตรง ทั้งนี้ตามมาตรา 20 (1)
ส่วนการถ่ายรูปเด็กอายุไม่เกิน 10 ปีต้องขอความยินยอมผู้ใช้อำนาจปกครอง (พ่อหรือแม่เด็ก) เสมอไม่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้ตามมาตรา 20 (2)
3. สรุป
หากรูปหน้าคนอื่นที่ติดมาเบลอหรือไกล “จนระบุตัวตนคนในรูปไม่ได้” ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เราโพสต์รูปนั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องขอความยินยอม
แต่หากรูปหน้าชัด “จนระบุตัวตนคนในรูปได้” หากเราใช้หรือโพสต์รูป “เพื่อประโยชน์ส่วนตัว” หรือ “เอาไว้ดูเฉพาะในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง” ก็เข้า “ข้อยกเว้น” ที่ไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของใบหน้า
ส่วนการถ่ายรูปเด็กต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครองเด็กก่อน
ป.ล.
1) บทความนี้เป็นข้อแนะนำเท่านั้นครับ ไม่ใช่ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ควรเอาไปอ้างอิงในทางคดีกับใครครับ
2) กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายใหม่ ตัวบทต่าง ๆ ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังเปิดทางให้มีการตีความได้ ควรรอดูต่อไปว่าศาลและเจ้าหน้าที่ของไทยจะมีแนวทางการตีความประเด็นและตัวบทอื่น ๆ อย่างใด
3) หากสนใจงานแปลด้านกฎหมาย ทักมาถามได้นะครับ
ขอบคุณครับ
พุทธพจน์ นนตรี (เนส)
ทนายความและนักแปลเอกสารทางกฎหมาย
#รับแปลงานกฎหมาย #รับแปลเอกสารกฎหมาย #รับแปลภาษา #NEZLegalTranstion
พัฒนาตัวเอง
pdpa
แปลภาษา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย