4 มิ.ย. 2022 เวลา 09:27 • ประวัติศาสตร์
ประเพณีปาลูกพลัมในเทศกาลบ๊ะจ่างที่เลือนหายไปในวัฒนธรรมจีน
3
เพิ่งจะผ่านการฉลองเทศกาลบ๊ะจ่างไปหมาดๆ ก็เลยอยากเขียนบทความที่เกี่ยวกับเทศกาลบ๊ะจ่างสักหน่อย
แต่หากจะเขียนถึงประวัติของเทศกาลนี้ หลายๆที่ก็คงจะแนะนำกันไปหมดเสียแล้ว
วันนี้แอดเลยนำเรื่องที่เคยอ่านเจอในหนังสือของท่าน 流沙河 Liu Shahe เกี่ยวกับประเพณีในเทศกาลบ๊ะจ่างที่ได้ถูกแบนไปนับหลายสิบกว่าปีแล้ว
หากกล่าวถึงเทศกาลบ๊ะจ่าง ใครหลายคนก็คงนึกถึงประเพณีการรับประทานบ๊ะจ่าง หรือที่ในภาษาจีนเรียกว่า 粽子 zongzi อีกทั้งยังมีเทศกาลแข่งเรือมังกร 赛龙舟 เป็นต้น
ภาพจาก : https://www.cosmopolitan.com/tw/lifestyle/food-and-drink/g39810612/zongzi-20220425/
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1895 ณ เวลานั้นประเทศจีนยังอยู่ในภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง ซึ่งตอนนั้นเมื่อถึงเทศกาลบ๊ะจ่าง นอกจากการรับประทานบ๊ะจ่าง แข่งเรือมังกร ยังมีอีกประเพณีนึงที่ผู้คนนิยมอย่างยิ่ง นั้นก็คือ ประเพณีปาลูกพลัม ภาษาจีนเรียกว่า 打李子 หรือ 撒李子 นับว่าเป็นประเพณีนี้นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่นช่วงนั้น
ภาพจาก : https://zhuanlan.zhihu.com/p/68277923
หากให้เปรียบประเพณีนี้ก็คงเหมือนการปั้นหิมะปาใส่กันในช่วงฤดูหนาว ช่างเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและสนุกสนานเสียจริง ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าถึงประเพณีการปาลูกพลัมกันเสียก่อน
ประเพณีปาลูกพลัมคืออะไร ?
คำตอบ : ประเพณีการปาลูกพลัม เป็นประเพณีที่วัยรุ่นชาวจีนแสดงถึงความรักของตนที่มีให้กับคนรัก กล่าวคือ หากเราชอบใคร เราก็จะปาลูกพลัมใส่คนที่เราชอบ ซึ่งต่างจากเทศกาลวันวาเลนไทน์ในปัจจุบันไปมาก ปัจจุบันหากเรารักใครชอบใครก็คงไม่พ้นดอกกุหลาบสักช่อมอบให้กับคนรัก
ซึ่งประเพณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดวัฒนธรรมจีน เพราะในคัมภีร์ซือจิง 《诗经》 กวีเล่มแรกของจีนที่มีอายุราวสองพันกว่าปี ก็ได้มีการจดบันทึกถึงประเพณีการปาผลไม้ใส่คนรักเช่นกัน
《诗经·周南·摽有梅》ได้พรรณาถึงหญิงสาวในฤดูร้อนยามผลไม้สุกงอม พวกหล่อนได้เก็บมันจากต้น เพื่อนำมาปาใส่คนที่ตนแอบชอบมานาน
ภาพจาก : https://read01.com/mEBNL7M.html#.Ypsi4C96FQI
หรือแม้กระทั่งในราชวงศ์เหนือใต้ 南北朝时期 ก็ได้มีหนุ่มรูปงามนามว่า พานเยว่ 潘岳 เป็นที่หมายปองของเหล่าบรรดาหญิงสาวในยุคนั้น เมื่อพานเยว่ออกเดินทางมาที่ถนน หญิงสาวเห็นเข้าก็พากันปาผลไม้ใส่จนรถใส่สเบียงของพานเยว่เต็มไปด้วยผลไม้หลายกิโล
แล้วเหตุใดประเพณีนี้จึงถูกแบนในวัฒนธรรมจีนได้กัน
ในวันที่28 เดือนพฤษภาคม ปี 1895 เมื่อเทศกาลบ๊ะจ่างมาถึง ผู้คนในเมืองเฉิงตูก็ได้ออกมาจัดกิจกรรมการปาลูกพลัมบนท้องถนนตามเช่นเคย เราต่างรู้ดีว่าในช่วงเวลานั้นต่างชาติหรือบาทหลวงได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่จีนเป็นจำนวนมาก ต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศจีนมากขึ้น
ภาพจาก : https://zhuanlan.zhihu.com/p/68277923
ในขณะที่ผู้คนกำลังสนุกสนานไปกับการปาลูกพลัมอยู่นั้น ก็ได้มีบาทหลวงและลูกของเขาที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ก็ได้ผ่านมาที่ถนนที่ผู้คนกำลังครึกครื้นไปกับเทศกาลบ๊ะจ่าง และกำลังกระหน่ำปาลูกพลัมใส่หญิงสาว หรือชาวหนุ่มที่หมายปองอยู่
อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า เวลาที่เราเจอต่างชาติ เนื่องจากสีผม สีตา หรือสีผิวแตกต่างจากเรา ก็จะกลายเป็นจุดสนใจทันที
และบาทหลวงกับลูกของเขาก็กำลังกลายเป็นจุดสนใจในหมู่คนจีนที่กำลังฉลองเทศกาลอยู่ตามท้องถนน คนจีนหลายคนได้เริ่มหยุดและจับจ้องไปที่บาทหลวงกับลูก จนคนจีนมากมายเริ่มมายืนออกันเรื่อยๆ ทำให้บาทหลวงรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก
เพราะย้อนไปก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ได้เกิดเหตุการณ์บาทหลวงท่านนึงได้รักษาหญิงสาวชาวจีน แต่เนื่องจากไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ทำให้คนจีนจำนวนมากไม่พอใจบาทหลวงท่านนั้น จึงได้นำพวกไปรวมตัวกันที่บริเวณประตูหน้าโบสถ์ นั้นทำให้บาทหลวงไม่พอใจอย่างมาก จึงได้นำปืนออกมายิ่งขู่คนจีนที่มารวมประท้วงกันบริเวณหน้าประตู
พฤติกรรมของบาทหลวงท่านนี้ถูกกระจายข่าวออกไปเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองเฉิงตูไม่พอใจอย่างมาก จึงได้เข้ารุกรานตามสถานที่ต่างๆ ลามไปมากกว่า17อำเภอ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โบสถ์ หรือสถานที่พักของบาทหลวง ซึ่งเหตุการณ์นี้คนจีนเรียกว่า “1895成都教案”
ภาพจาก : https://zhuanlan.zhihu.com/p/68277923
หลังจากนั้นไม่นาน ทางฝั่งอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกาได้ทราบเรื่องเข้า ก็ส่งเรือทั้งหมดแปดลำเข้าร่องตามแม่น้ำแยงซีเกียงเพื่อทำการข่มขู่ทางฝั่งจีน และกดดันรัฐบาลชิงให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของชาวจีน แต่แล้วทางรัฐบาลชิงก็ไม่สามารถรับความกดดันได้ไหว จึงได้จำยอมทำการชดใช้ค่าเสียหายให้กับทั้งสามประเทศไป และได้ตัดสินประหารชาวจีนอีกทั้ง6คนด้วยกัน
นอกจากนี้ ทางรัฐบาลชิงได้ตัดสินใจยกเลิกประเพณีการปาลูกพลัมที่มักจะจัดขึ้นบนท้องถนน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันระหว่างชาวจีนและต่างชาติในภายหลังอีกด้วย นับตั้งแต่นั้นมา 打李子 หรือประเพณีปาลูกพลัมก็ถูกกลืนหายไปจากวัฒนธรรมจีน
โฆษณา