5 มิ.ย. 2022 เวลา 07:40 • ประวัติศาสตร์
#HistoryInBrief ธงสีรุ้งเคยโบกสะบัดในไทยครั้งแรกเมื่อไร ทราบหรือไม่ว่าก่อนใช้ธงสีรุ้ง เคยมีการใช้ธงสามเหลี่ยนสีชมพูของนาซีแทนความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
วันนี้ 5 มิถุนายน 2565 ธงสีรุ้งจะโบกสะบัดตลอดถนนสีลมกับงาน Bangkok Naruemit Pride 2022 หรือ บางกอกนฤมิตไพรด์ เริ่มต้นเดินขบวนที่วัดแขก ถนนสีลมในเวลา 16.00 น. โดยแบ่งเรื่องเล่าที่สะท้อนเรื่องราวของความแตกต่างหลากหลายทางเพศผ่านรูปขบวนสีรุ้งทั้ง 6 สีที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างหลากหลาย
ครั้งนี้ถือเป็นขบวนไพรด์พาเหรดอย่างเต็มรูปแบบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่ พ.ศ.2542 ที่ธงสีรุ้งเคยถูกใช้ในงาน Bangkok Gay Festival เพื่อเฉลิมฉลองและเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกันในรูปแบบใกล้เคียงกับงาน Pride ถือเป็นงาน Pride ครั้งแรกในประเทศไทย
งานจัดขึ้นวันเดียวคือวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2542 แต่จุดประสงค์หลักของงานเพื่อรณรงค์การป้องกันโรคเอดส์ สนับสนุนการเปิดเผยตัวตน และสนับสนุนการท่องเที่ยวย่านบันเทิงในกรุงเทพฯ
การแสวงหาสัญลักษณ์ประจำเพศสภาพเพศวิถีเป็นผลผลิตวัฒนธรรมสมัยใหม่ครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่แบ่งเพศสภาพเพศวิถีเป็นชาย-หญิงอย่างชัดเจนโดยวาทกรรมทางการแพทย์ ตามลักษณะทางกายภาพของร่างกายมนุษย์ แต่ธงสีรุ้งนั้นเพิ่งถูกใช้ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ.1978 เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ สิทธิเท่าเทียม และการเฉลิมฉลองของชุมชนความหลากหลายเพศในงาน San Francisco Gay Freedom Day Parade หรืองาน Gay Pride
ซึ่งเป็นการเรียกร้องที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นเหตุจลาจลที่รุนแรงครั้งหนึ่ง มีการจับกุมกลุ่มคนที่มาเที่ยวในบาร์ดังกล่าวที่แต่งตัวไม่ตรงตามเพศเกิดขึ้น จนนำมาสู่เหตุจราจลครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดธงสีรุ้งและการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
มิถุนายน ค.ศ. 1994 ธงสีรุ้ง กลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนหลากหลายเพศที่ได้การยอมรับไปทั่วโลกมากขึ้น เมื่อ กิลเบิร์ต เบเกอร์ ทำธงสีรุ้ง (6 สี) ขนาดมหึมาความยาวเป็นไมล์ ในวาระครบรอบ 25 ปี ของเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งตรงกับคืนวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ตรงกับยุคที่อเมริกามีกฎหมายห้ามแต่งกายข้ามเพศ
อันที่จริงหากย้อนไปช่วงปี ค.ศ. 1969 เคยมีการใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีชมพู (Pink Triangle) แทนความหลากหลายทางเพศ แต่ด้วยสัญลักษณ์นี้เป็นมรดกจักรวรรดินาซี เพราะเคยใช้เป็นเครื่องหมายติดอกบนชุดนักโทษรักเพศเดียวกันในค่ายกักกัน
แม้ธงนี้จะได้รับการตีความใหม่ในเชิงบวกแทนการเรียกร้องความหลากหลายทางเพศ แต่ก็มีหลายคนที่รู้สึกไม่สบายใจที่จะใช้เพราะหวนให้นึกถึงความเลวร้ายที่คนรักเพศเดียวกันถูกกระทำในค่ายกักกันครั้งนั้น
ธงสีรุ้ง ต้นฉบับมี 8 สี ได้แก่ สีชมพูสด สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ สีคราม และ สีม่วงดอกไวโอเลต แต่ต่อมาเนื่องจากปัญหาในการผลิต จึงลดลงเหลือ 6 สีที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับสีที่ถูกถอดคือ สีชมพูสด และสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ ส่วนสีครามก็ถูกแทนที่ด้วย สีน้ำเงิน นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2017 มีการเพิ่มสีน้ำตาลและสีดำลงไปในธงสีรุ้งและถูกใช้ครั้งแรกที่เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา แต่ธงสีรุ้ง 8 เฉดก็ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าธงสีรุ้ง 6 เฉดสี
สำหรับความหมายของธงสีรุ้งนั้น กิลเบิร์ต เบเกอร์ ผู้ออกแบบได้ให้ความหมายในสีต่างๆ ของ Rainbow LGBT Pride Flag ตั้งแต่ต้นแบบ 8 เฉดสี ดังนี้
สีชมพูสด: เรื่องเพศ (Sex) ภายหลังถูกตัดออก เพราะปัญหาในการผลิต
สีแดง : ชีวิต (Life) เป็นสีแรกแถบบนสุดของธงสีรุ้งยุคปัจจุบัน ตามสีของรุ้งในธรรมชาติ
สีส้ม : การเยียวยา (Healing)
สีเหลือง : แสงตะวัน (Sunlight)
สีเขียว : ธรรมชาติ (Nature)
สีฟ้าเทอร์ควอยซ์ : ศิลปะความสามารถ (Art) ภายหลังถูกตัดออก เพราะปัญหาในการผลิต
สีคราม : ความปรองดอง ราบรื่น แจ่มใส (Harmony) ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น สีน้ำเงิน
สีม่วงดอกไวโอเลต : จิตวิญญาณ (Spirit)
โฆษณา