5 มิ.ย. 2022 เวลา 12:40 • ท่องเที่ยว
เถาไฟ
ชื่อท้องถิ่น : ชิงโคย่าน(ภาคใต้) ; โยทะกา(กทม.) ; ปอลิง(สุราษฎร์ธานี) ; ชงโคย่าน , ย่านชงโค(ตรัง) ; เล็บควายใหญ่(ปัตตานี , ยะลา) ; ดาโอะ(นราธิวาส) ; กุกูกูด้อ , กุกูกูบา(มลายู-ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phanera integrifolia (Roxb.) Benth.
วงศ์ : Fabaceae
ไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีมือเกาะเป็นเส้นม้วนงอ ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปไข่กว้างเกือบกลม ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่นและแยกแขนงตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ช่อละ 15-30 ดอก ขนาดดอก 3-4 ซม. ดอกสีเหลืองอมส้ม ก่อนเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนพฤษภาคม
พืชสกุลนี้เดิมอยู่ในสกุล Bauhinia ทั่วโลกพบสกุลนี้ 95 ชนิด ในไทยพบอย่างน้อย 20 ชนิด สำหรับชนิดนี้พบขึ้นตามชายป่าดิบที่มีความสูงจากระดับทะเลฯไม่เกิน 900 เมตร เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น โดยพบครั้งแรกในประเทศฯบนเขาพับผ้า จ.พัทลุง
แพร่กระจายในฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ชื่อสกุล Phanera มาจากภาษากรีกคำว่า phaneros แปลว่า ชัดเจน ความหมายก็คือ“มีลักษณะดอกที่ค่อนข้างใหญ่ เห็นได้ชัดเจน”
โฆษณา