6 มิ.ย. 2022 เวลา 06:00 • ธุรกิจ
รับ pride month ชวนดู "สีรุ้ง" บนถุง "อิเกีย" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด
เบื้องหลังดีไซน์ “สีรุ้ง” ทั้งบนถุงช้อปปิ้ง และเสื้อยืดจาก “อิเกีย” ต้อนรับเทศกาล "Pride Month" ที่ไม่ใช่แค่ Seasonal Marketing เอาใจ "LGBTQ+" แต่กำลังขับเคลื่อนองค์กรบนความหลากหลาย ความแตกต่างอย่างเท่าเทียม
รับ pride month ชวนดู "สีรุ้ง" บนถุง "อิเกีย" สะท้อนค่านิยม ที่มากกว่าการตลาด
"สีรุ้ง" ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างของคนในสังคม เหมือนสีที่มีหลากหลายและสวยงามในแบบของตัวเอง โดยสีรุ้งเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศในสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสื่อสารเพื่อแสดงพลังและสนับสนุนการยอมรับความหลากหลายเหล่านี้ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน ที่ถูกยกให้เป็น "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ
สีรุ้ง กับ Seasonal Marketing
เมื่อเข้าเดือนมิถุนายนทีไร เราก็มักจะเห็นหลายแบรนด์จับกระแส Pride Month บ้างก็เปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้งเพื่อแสดงจุดยืน จัดแคมเปญ ทำโปรโมชั่นต่างๆ รวมไปถึงออกผลิตภัณฑ์ที่สื่อสารว่าแบรนด์มีส่วนร่วมในการสนุนความหลากหลายในสังคม
ในปีนี้ หนึ่งในนั้นคือ "อิเกีย" ที่เปิดตัวถุงช้อปปิ้งรุ่นพิเศษ STORSTOMMA/สตอร์สต็อมม่า "ถุงหิ้วสีรุ้ง" ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธงสีรุ้งของกิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียม ถึงแม้จะเรียกกันติดปากว่าสีรุ้ง แต่ธงสีรุ้งของกิลเบิร์ตนั้นมีแค่ 6 สี ไม่ใช่ 7 อย่างที่เราคุ้นเคย ซึ่งรุ้งแต่ละสีสะท้อนความหมายที่แตกต่างกันอออกไป
สีแดงคือชีวิต สีส้มคือการรักษา สีเหลืองคือดวงอาทิตย์ สีเขียวคือธรรมชาติ สีครามคือความสงบ และสีม่วงคือจิตวิญญาณ
พร้อม "เสื้อคอลเลคชั่นพิเศษ Make the World Everyone's Home" รายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 17 พ.ค. 65 - 14 มิ.ย. 65 มอบให้ "สมาคมฟ้าสีรุ้ง" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตรถคลินิกเคลื่อนที่เพื่อบริการตรวจสุขภาพและให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ ที่จำเป็น
เบื้องหลังอิเกีย คือพลังจากความหลากหลาย
แม้ในระยะหลัง เมื่อได้เห็นการทำการตลาดหรือแคมเปญรับเทศกาล โดยเฉพาะเพื่อการรณรงค์ผ่านแคมเปญต่างๆ สังคมเริ่มมีการตั้งคำถามถึง "ความจริงใจ" ของแบรนด์ ว่ามีความตั้งใจจริง หรือเพียงแค่อยากเกาะกระแสเท่านั้น?
แต่สำหรับอิเกีย การออกสินค้าข้างต้น ก็ไม่ได้เป็นแค่ Seasonal Marketing ทั่วๆ ไปที่หวังแค่ยอดขาย หรือเพื่อภาพลักษณ์ หรือการรับรู้ของแบรนด์เท่านั้น
สิ่งที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าและเสื้อ คือ "ค่านิยม" ของอิเกีย ที่สะท้อนให้สังคมและองค์กรเห็นความสำคัญของความหลากหลาย แล้วก็ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่แทรกอยู่ในค่านิยมของอิเกียที่ "เชื่อว่าทุกคนมีดี" มานานแล้ว
หนึ่งในปัญหาที่หลายคนเคยเจอ ในบริบทของการ "ทำงาน" หรือ "สมัครงาน" ความแตกต่างหลากหลายถูกจำกัดกรอบตั้งแต่ประกาศรับสมัคร กำหนดรับเพศ ชาย หรือหญิง และปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้สมัครงานอาจถูกปัดตกง่ายๆ ถ้าพฤติกรรมทางเพศไม่ตรงกับเพศสภาพอย่างที่กำหนด
ทว่า อิเกีย (IKEA) เห็นพลังของความแตกต่างนี้จนเรียกได้ว่า "อิเกียมีวัฒนธรรมองค์กรแห่งความเท่าเทียม สร้างโลกให้เป็นบ้านที่ต้อนรับทุกความแตกต่าง" โดยเน้นให้ความสำคัญกับ "ศักยภาพ" ของพนักงาน ไปจนถึงผู้บริหาร ที่เลือกที่จะเป็นและแสดงของได้ในแบบของตัวเอง
โฆษณา