Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mahidol University
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2022 เวลา 04:45 • สุขภาพ
ม.มหิดล จัดตั้ง "Asean Primary Healthcare Research & Information Center" ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญสุขภาวะอาเซียน สู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs สหประชาชาติภายในปีพ.ศ.2573
ปราการแรกสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) คือ SDGs (Sustainable Development Goals) ข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาวะ Good Health & Well-being ที่มุ่งหมายกันว่าจะสามารถนำพาสู่การบรรลุเป้าหมายจนครบ 17 ข้อให้ได้ภายในปีพ.ศ.2573 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า
ในยุคสมัยของการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่น COVID-19 ที่นับวันจะกลายพันธุ์ และขยายขอบเขตออกไปเรื่อย ๆ ทำให้ทุกคนยังคงต้องรักษาระยะห่างอยู่กับตัวเองและครอบครัวเช่นปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ในการดูแลตัวเองและครอบครัว เพื่อการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน
ทำให้ศาสตร์แห่ง "การสาธารณสุขมูลฐาน" (Primary Health Care - PHC) ยังคงมีความสำคัญในโลกยุคปัจจุบันโดยพบว่าเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของแพทย์พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมที่จะต้องร่วมใส่ใจดูแล
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงนิยามของ PHC ว่า เป็นแนวคิด หลักการและกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพของทุกประเทศทั่วโลกในการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)
ซึ่งสถาบันฯ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการประสานเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ และองค์ความรู้ในการนำหลักการ PHC สู่การปฏิบัติ และขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล
"ขณะนี้เรามีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เกี่ยวกับการประเมินนโยบายคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยมีการเสนอเพื่อการจัดตั้งคณะกรรมการคุณภาพชีวิตระดับจังหวัด(พชจ.) เพื่อเป็นกลไกเสริมหนุนการขับเคลื่อน พชอ. เพื่อให้เกิดผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับชุมชนต่อไป นอกจากนี้ มีงานวิจัยเพื่อพัฒนาบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญแห่งการบรรลุเป้าหมาย SDGs ต่อไป ซึ่งจะทำให้ อสม. มีการเคลื่อนย้ายบทบาทจากการเป็นผู้ช่วยแพทย์ มาเน้นการให้ความรู้ด้านสุขภาวะแก่ประชาชน และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมและสร้างนโยบายสุขภาวะเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเน้นการ "สร้าง" ก่อน "ซ่อม" สุขภาพ"
"ตัวอย่างเทศกาลสงกรานต์ของไทยซึ่งมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในอัตราสูงทุกปี ไม่เพียงแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้นที่จะต้องคอยไป standby ในจุดเสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ควรเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะต้องมาร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์การขับขี่ปลอดภัย และการมีท้องถนนที่ปลอดภัย ตลอดจนการใช้ท้องถนนกันอย่างไม่ประมาท"
"ซึ่งเป้าหมายของสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็นสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นเสาหลักของระบบสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทย แต่ได้ขยายขอบเขตสู่ภูมิภาค โดยมีการจัดตั้ง "Asean Primary Healthcare Research & Information Center" ที่รวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะของภูมิภาคอาเซียน
มาร่วมทำงานวิชาการเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย"สุขภาพดีถ้วนหน้า" (Health for All) ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) บรรลุครบ 17 ข้อให้ได้ภายในปีพ.ศ.2573 ได้ต่อไป"
"เราจะทำให้เรื่องของการมีสุขภาพดีอย่างถ้วนหน้า และการบรรลุเป้าหมาย SDGs เป็นเรื่องของทุกคน ไม่มีใครรู้ว่าเราต้องการอะไร เท่ากับที่ตัวของเรารู้ และไม่มีใครสามารถดูแลเราได้ดีเท่ากับตัวของเราเอง เพราะฉะนั้นการจะดูแลอย่างไรให้ตัวของเราเองและสังคมอยู่รอดปลอดภัยอย่างยั่งยืน จึงเป็นความรับผิดชอบของทุกคน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (AIHD) มหาวิทยาลัยมหิดล
พร้อมทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อมอบองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงบทบาทของตนเองในการดูแลและพัฒนาสุขภาพของตนเองและครอบครัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานสู่สังคมสุขภาวะที่ยั่งยืนตลอดไป" รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูล: งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย