6 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ปันผลเป็นเงินสด กับ ปันผลเป็นหุ้น ต่างกันยังไง ?
เงินปันผลใครก็อยากได้ แต่รู้รึเปล่าว่าบริษัทสามารถจ่ายปันผลในรูปของหุ้นได้ด้วยนะ
ปกติเรามักจะคุ้นเคยกับการจ่ายปันผลเป็นเงินสด
แต่ทำไมบางบริษัทถึงเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้น ?
แล้วถ้าเราได้ปันผลเป็นหุ้น ควรรู้อะไรเอาไว้บ้าง ?
ถ้าพร้อมแล้ว ไปหาคำตอบกันเลย
ปันผลเป็นเงินสด VS ปันผลเป็นหุ้น
เมื่อบริษัทดำเนินธุรกิจตามปกติไปเรื่อย ๆ ในแต่ละปี บริษัทจะมีผลกำไรอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งบริษัทเลือกได้ว่าจะนำเงินไปลงทุนต่อ เพื่อขยายกิจการ หรือจะนำมาจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้น
📌 การจ่ายปันผลจะมี 2 รูปแบบหลัก คือ
1. จ่ายปันผลเป็นเงินสด
2. จ่ายปันผลเป็นหุ้น
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
สมมุติว่า บริษัท ก้าวต่อไป มีจำนวนหุ้น 200 ล้านหุ้น
ราคาพาร์ 10 บาท/หุ้น
ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท (มาจาก 200 ล้านหุ้น x 10 บาทต่อหุ้น)
ตัวอย่างการจ่ายปันผล
ทีนี้ บริษัท ก้าวต่อไป ตัดสินใจนำกำไรมาจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่ยังเลือกไม่ถูกว่าจะจ่ายแบบไหนดี
เลยขอกำหนดตัวอย่างการจ่ายปันผลเป็น 2 กรณี ดังนี้
🔹 กรณี 1 : บริษัท ก้าวต่อไป ประกาศจ่ายปันผลเป็นเงินสดที่ 1 บาทต่อหุ้น
🔹 กรณี 2 : บริษัท ก้าวต่อไป ประกาศจ่ายปันผลเป็นหุ้นที่ 10 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่
งบการเงินก่อนจ่ายปันผล
📌 ทุกครั้งที่บริษัทจ่ายปันผลออกมา สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเสมอจะมีอยู่ 2 อย่าง คือ
1. งบการเงิน
2. ราคาหุ้น
ระหว่างจ่ายปันผลเป็นเงินสด และจ่ายปันผลเป็นหุ้น จะมีผลต่องบการเงินและราคาหุ้นยังไงบ้าง ?
ตามมาดูกันเลยครับ 😉
กรณี 1 : จ่ายปันผลเป็น 'เงินสด'
📌 ผลกระทบของการจ่ายปันผลเป็น ‘เงินสด’ มีอะไรบ้าง ?
🔹 สิ่งที่เกิดขึ้นกับงบการแสดงฐานะการเงิน
ตามปกติการจ่ายปันผลเป็นเงินสด บริษัทจะนำเงินจากกำไรสะสมออกมาจ่าย
ซึ่งถ้าพูดกันตามหลักทางบัญชีแล้ว
“สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนผู้ถือหุ้น”
พอกำไรสะสมที่อยู่ในส่วนผู้ถือหุ้นลดลง ก็จะทำให้เงินสดที่อยู่ในส่วนสินทรัพย์ ลดลงตามในจำนวนที่เท่ากัน
จากโจทย์ บริษัทมีจำนวนหุ้น 200 ล้านหุ้น จ่ายปันผล 1 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่าบริษัทต้องจ่ายเงินปันผลออกมา 200 ล้านบาท (200 ล้านหุ้น x 1 บาทต่อหุ้น)
ดังนั้น จึงทำให้เงินสดและกำไรสะสมลดลง 200 ล้านบาท เท่ากันนั่นเอง
🔹 สิ่งที่เกิดขึ้นกับอัตราส่วนทางการเงิน
เมื่อเรารู้แล้วว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลงจากการจ่ายปันผลเป็นเงินสด
นั่นหมายความว่า
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ⬆
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ⬆
กรณี 2 : จ่ายปันผลเป็น 'หุ้น'
📌 ผลกระทบของการจ่ายปันผลเป็น ‘หุ้น’ มีอะไรบ้าง ?
🔹 สิ่งที่เกิดขึ้นกับงบการแสดงฐานะการเงิน
ผลของการจ่ายปันผลเป็นหุ้นจะคล้ายกันกับ ‘การไม่จ่ายปันผล’ เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนจากกำไรสะสมไปเป็นทุนจดทะเบียนเท่านั้นเอง
ในขณะที่สินทรัพย์รวม และส่วนของผู้ถือหุ้น ไม่ได้ลดลงเหมือนกับการจ่ายปันผลเป็นเงินสด
จากโจทย์ บริษัทจ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 10 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่ ทำให้จำนวนหุ้นทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 220 ล้านหุ้น (200 ล้านหุ้นเดิม + 20 ล้านหุ้นใหม่) ดังนั้นทุนจดทะเบียนชำระแล้วจึงเพิ่มเป็น 2,200 ล้านบาท
🔹 สิ่งที่เกิดขึ้นกับอัตราส่วนทางการเงิน
ในเมื่อผลรวมส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) จึงคงที่
ราคาหุ้นหลังจ่ายปันผล
📌 สรุปผลกระทบของการจ่ายปันผลต่อราคาหุ้น
🔹 กรณี 1 : จ่ายปันผลเป็น ‘เงินสด’ ที่ 1 บาทต่อหุ้น
ราคาตลาดก่อนวัน XD : 22 บาทต่อหุ้น
ราคาตลาด ณ วัน XD : 21 บาทต่อหุ้น
การจ่ายปันผลเป็นเงินสด จะทำให้ราคาหุ้น ณ วัน XD ลดลงตามจำนวนเงินปันผลที่จ่าย
ราคาตลาด ณ วัน XD = ราคาตลาดก่อนวัน XD - เงินจ่ายปันผลต่อหุ้น
📌 ราคาตลาด ณ วัน XD = 22 บาทต่อหุ้น – 1 บาทต่อหุ้น
= 21 บาทต่อหุ้น
🔹 กรณี 2 : จ่ายปันผลเป็น ‘หุ้น’ ด้วยอัตรา 10 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่
ราคาตลาดก่อนวัน XD : 22 บาทต่อหุ้น
ราคาตลาด ณ วัน XD : 20 บาทต่อหุ้น
การจ่ายปันผลเป็นหุ้น จะทำให้ราคาหุ้น ณ วัน XD ลดลงตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นใหม่
ราคาตลาด ณ วัน XD = [ราคาตลาดก่อน XD x จำนวนหุ้นเดิม / (จำนวนหุ้นเดิม + จำนวนหุ้นใหม่)]
📌 ราคาตลาด ณ วัน XD = [22 บาทต่อหุ้น x 200 ล้านหุ้นเดิม / (200 ล้านหุ้นเดิม + 20 ล้านหุ้นใหม่)]
= 20 บาทต่อหุ้น
ทำไมบริษัทถึงเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้น
การเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้นจริงมีหลายเหตุผล แต่ที่สำคัญมีดังนี้
🔹 1. บริษัทต้องการเก็บเงินสดไปลงทุนต่อ หรือใช้หมุนเวียนในบริษัท
สำหรับบริษัทที่กำลังเติบโต อาจจะไม่อยากจ่ายเงินสดออกมา จึงใช้วิธีจ่ายปันผลเป็นหุ้นดีกว่า เพื่อเอาเงินไปขยายกิจการได้ต่อ
🔹 2. การจ่ายปันผลเป็นหุ้น คล้ายกับการไม่จ่ายปันผล
เพราะว่าเป็นแค่การเปลี่ยนกำไรสะสม ให้เป็นทุนจดทะเบียน
🔹 3. รักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio)
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะบางบริษัทที่มีการกู้ยืมเงินจากธนาคารจำนวนมาก มักจะมีสัญญาหรือเงื่อนไขที่ธนาคารเป็นผู้กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้บริษัทมีหนี้มากเกินความจำเป็น
โดยมักจะกำหนดมาจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เช่น บริษัทห้ามมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเกิน 2 เท่า เป็นต้น
ซึ่งการจ่ายปันผลเป็นเงินสด จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงขึ้น สุดท้ายจึงอาจจะไปกระทบกับเงื่อนไขที่สัญญากับธนาคารเอาไว้ได้นั่นเอง
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซนต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา