6 มิ.ย. 2022 เวลา 10:07 • ท่องเที่ยว
โบสถ์วิหารหลายแห่งที่เป็นฉากหลังอันสวยงามของประเทศจอร์เจียคือหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว และการลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ของจอร์เจียเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี บทความนี้จึงเปรียบเสมือน “โพย” ที่ควรพกไว้เมื่อไปจอร์เจียเพื่อเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวของทุกคน
ทิวทัศน์มุมสูงของกรุงทบิลิซี
🟡พกโพยประวัติศาสตร์ไปจอร์เจีย
บทความจากคอลัมน์ "ทัศนศึกษา Sight & See ไปกับครูพี่ต้นคูน"
บนแอป 2read
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้เล่าถึงเรื่องราวของจอร์เจียในฐานะดินแดนต้นกำเนิดไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่สร้างความสนใจให้แก่นักท่องเที่ยวคนแล้วคนเล่าตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาคอเคซัสแห่งนี้
แต่นอกเหนือจากไวน์รสเลิศแล้ว ประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนั้นบ่งชี้ว่าชนชาติจอร์เจียเป็นหนึ่งในชนชาติที่เก่าแก่ของโลก ดินแดนจอร์เจียนั้นผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ผูกพันกับคริสต์ศาสนาและวัฒนธรรมของตนเองอย่างเข้มข้น จนกระทั่งถึงวันนี้ที่จอร์เจียได้กลายเป็นประเทศเอกราช เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และกำลังเร่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว
โบสถ์วิหารหลายแห่งที่เป็นฉากหลังอันสวยงามของประเทศจอร์เจียคือหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว แต่เนื่องจากเส้นทางท่องเที่ยวในประเทศจอร์เจียมักครอบคลุมพื้นที่หลายเมืองจากทางทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก แต่ละเมืองมีลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกันและสลับกันไปมา เพื่อให้สามารถลำดับความเป็นมาของเหตุการณ์ต่าง ๆ และสถานที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวได้
ผมคิดว่าการลำดับเวลาทางประวัติศาสตร์ของจอร์เจียได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับการท่องเที่ยวของเราได้เป็นอย่างดี
🟡มิตสเคตา – ทบิลิซี : นครรัฐตั้งต้นของจอร์เจีย
(5 ศตวรรษก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษที่ 11)
วิหารจวารี
ความเป็นมาของแผ่นดินจอร์เจียนั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เหมือนกับหลายประเทศในโลกนี้
ในสมัยแรกๆ นั้นชาวจอร์เจียนับถือจิตวิญญาณตามธรรมชาติ ไม่มีศาสนา ชาวจอร์เจียได้เปลี่ยนจากการนับถือวิญญาณตามธรรมชาติซึ่งเป็นลัทธิดั้งเดิมมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 โดยนักบุญนีโนผู้จาริกบุญมาจากดินแดนอิสราเอลพร้อมกับพระภูษาสีขาวซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระภูษาที่พระเยซูเจ้าทรง (ใส่)
ในช่วงนั้นเมืองหลวงของชนชาติจอร์เจียอยู่ที่เมืองมิตสเคตา (Mtskheta) ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยชนเผ่าเมสเคียน (Meschian)และพระภูษานั้นสันนิษฐานว่าประดิษฐานอยู่ที่ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของมหาวิหารสเวติสโคเวลี (Svetitskhoveli Cathedral) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 ส่วนวิหารที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ที่นักบุญนีโนได้สร้างไม้กางเขนอันแรกขึ้นมาในแผ่นดินจอร์เจียคือวิหารจวารี (Jvari Maonastery)
ภายนอกของมหาวิหารสเวติสโคเวลี
ภาพวาดของนักบุญนีโน
ต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลวงมายังทบิลิซี (Tbilisi) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจอร์เจียมาจนถึงทุกวันนี้เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมต่อการตั้งรับข้าศึก มีชัยภูมิอยู่ติดแม่น้ำ เป็นแหล่งน้ำพุร้อนและทรัพยากรธรรมชาติมากมายให้เป็นที่มั่นของชาวจอร์เจีย
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถาปนาทบิลิซีให้เป็นศูนย์กลางอำนาจของชนชาติจอร์เจียคือกษัตริย์วาคตัง กอร์กาซาลี (Vakhtang Gorgasali) ซึ่งปีครองราชย์สมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ยังเป็นที่สับสนอยู่ และทบิลิซีก็ได้กลายเป็นเมืองหลวงของจอร์เจียมานับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
โรงสปาในกรุงทบิลิซี
ทุกวันนี้ความรื่นรมย์ของทบิลิซีก็ยังคงปรากฏแก่สายตาของนักท่องเที่ยว เราจะเห็นลำธารสายน้อยใหญ่ไหลผ่านเมืองทบิลิซี และยังสามารถเห็นสถานบริการสปาในเขตเมืองเก่าของทบิลิซีซึ่งเราสามารถเข้าไปใช้บริการได้ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าทบิลิซีอุดมไปด้วยแหล่งพลังงานใต้พิภพ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เมืองหลวงแห่งใหม่มีนามว่าทบิลิซี อันหมายถึง เมืองแห่งความอบอุ่น
🟡ราชอาณาจักรจอร์เจีย (คริสต์ศตวรรษที่ 11 – 19)
พระบรมสาทิสลักษณ์ (ภาพวาด) เฟรสโกของกษัตริย์เดวิดผู้สร้าง
จอร์เจียตั้งอยู่บนชัยภูมิที่รายล้อมไปด้วยจักรวรรดิมหาอำนาจมากมาย จึงทำให้จอร์เจียเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมจากหลายแหล่งเนื่องจากการเคลื่อนที่ของผู้คนในสมัยโบราณไม่ได้นำมาเพียงแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังได้นำพาเอาวัฒนธรรมอันหลากหลายมาหากันด้วย ทั้งแบบยุโรปคลาสสิก รัสเซีย เปอร์เซีย เติร์ก และอื่นๆ
ชาวจอร์เจียจึงค่อนข้างภูมิใจว่าวัฒนธรรมของตนนั้นเป็นวัฒนธรรมผสมผสาน และความผสมผสานนั้นเองก็คือเอกลักษณ์ของจอร์เจีย
หลังจากที่สถาปนาทบิลิซีเป็นเมืองหลวงได้ไม่นาน แผ่นดินจอร์เจียก็ต้องประสบกับความวุ่นวายแตกแยกเป็นหลายนครรัฐ โดยมีเส้นแบ่งอยู่ที่บริเวณตอนกลางของจอร์เจียในปัจจุบันเป็นนครรัฐฝ่ายตะวันตกและนครรัฐฝ่ายตะวันออก ก่อนที่จะรวมเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ภายใต้การปกครองของราชวงศ์บากราติโอนี (Bagrationi Dynasty)
ซึ่งถือเป็นราชวงศ์แรกและราชวงศ์เดียวที่ปกครองราชอาณาจักรจอร์เจีย (Kingdom of Georgia) ให้ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสลมแรงของความผันผวนทางการเมืองในยุคกลางและยุคใหม่ของยุโรป
พระมหากษัตริย์พระองค์ที่โดดเด่นที่สุดคือพระเจ้าเดวิดผู้สร้าง (David the Builder) ซึ่งเป็นรัชกาลที่เปรียบเสมือนยุคทองในช่วงต้นของราชวงศ์ เนื่องจากทรงสถาปนาพระอารามสำคัญในศาสนาคริสต์หลายแห่ง ทรงสนับสนุนการศึกษาและสรรพวิทยาการหลายแขนงในราชอาณาจักรจอร์เจีย
สถานที่ฝังพระศพกษัตริย์เดวิดผู้สร้าง
เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 มีการสถาปนามหาวิหารสเวติสโคเวลีองค์ปัจจุบันขึ้นที่เมืองมิตสเคตา ซึ่งแม้จะเป็นเมืองหลวงเก่า แต่ก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อราชสำนักจอร์เจียอยู่
และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้มีการสร้างมหาวิหารเกลาติ (Gelati Church) ที่มีภาพวาดเฟรสโกสวยงามและใช้เป็นวิทยาลัยเพื่อการศึกษา มหาวิหารเกลาติตั้งอยู่ที่เมืองคูไทซี (Kutaisi) ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับสองของจอร์เจียในปัจจุบัน มีพื้นที่ทางตอนกลางของประเทศ
ภายนอกของมหาวิหารเกลาติ
ภาพเฟรสโกภายในมหาวิหารเกลาติ
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการสถาปนาป้อมอานานูรี (Ananuri)ขึ้นที่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำ Aragvi และ Vedzatkhevi ภายใต้ป้อมปราการมีโบสถ์ หอสังเกตการณ์ กำแพงสำหรับตั้งปืน เส้นทางลับใต้ดิน ระบบชลประทาน และมีชุมชนขนาดใหญ่ล้อมรอบป้อมปราการแห่งนี้อยู่ ปัจจุบันชุมชนเหล่านี้ได้กลายเป็นพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำชินวาลี (Zhinvali)ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญสำหรับชาวกรุงทบิลิซี
ป้อมอานานูรี
ท่อส่งน้ำดินเผาที่พบในวิหารอานานูรี
ภาพจำของนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศจอร์เจียคงหนีไม่พ้นโบสถ์ขนาดเล็กบนยอดเขาที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาขนาดใหญ่ โบสถ์แห่งนี้คือวิหารเกอร์เกติ (Gergeti Church) โบสถ์แห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ Chkheri และตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,170 เมตรจากระดับน้ำทะเล นับได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของประเทศจอร์เจียที่อยู่ในการท่องเที่ยวกระแสหลัก และเป็นความทรงจำที่น่าประทับใจสำหรับนักเดินทางหลายคน
โบสถ์เกอร์เกติ
🟡จอร์เจียใต้เงารัสเซีย (คริสต์ศตวรรษที่ 19 – 20)
รูปปั้นโจเซฟ สตาลิน ที่พิพิธภัณฑ์สตาลิน เมืองโกรี
ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของประวัติศาสตร์นั้น คู่ขัดแย้งตลอดกาลของจอร์เจียก็คือรัสเซีย เมื่อจักรวรรดิรัสเซียยุคใหม่นำโดยราชวงศ์โรมานอฟขยายแสนยานุภาพกว้างขวางมากขึ้น ก็เหลือกำลังที่อาณาจักรเล็ก ๆ อย่างจอร์เจียจะต้านทานได้ไหว
ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 จอร์เจียถูกกดดันจากทุกด้าน กษัตริย์เอเรเคิลที่ 2 (Erekle II) ทรงพยายามอย่างสุดความสามารถในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้กล้าที่จะปกป้องพระราชอาณาจักรและประชาชนชาวจอร์เจียแต่ก็ไม่เป็นผล
ภายหลังการสวรรคตของกษัตริย์เอเรเคิลที่ 2 ในระยะเวลาไม่นาน จอร์เจียต้องตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมานอฟเมื่อ ค.ศ.1803 และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา จากบ้านเมืองที่เคยมีอิสรภาพเป็นของตนเองก็กลับต้องตกอยู่ภายใต้ปกครองของชาวรัสเซียและถูกบีบบังคับจากรัสเซียทุกทาง
ภายในพิพิธภัณฑ์โจเซฟ สตาลิน
ภายนอกของตู้โดยสารรถไฟที่โจเซฟ สตาลินเคยใช้โดยสาร
ผู้นำของอดีตสหภาพโซเวียตที่มีความสัมพันธ์กับจอร์เจียมากที่สุดคือโจเซฟ สตาลิน ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ที่เมืองโกรี (Gori) ปัจจุบันที่เมืองโกรีเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์โจเซฟ สตาลิน ที่บอกเล่าเรื่องราวของอดีตผู้นำคนนี้ แม้ว่าการอยู่ภายใต้อาณัติของโซเวียตไม่ใช่ความทรงจำที่งดงามของชาวจอร์เจีย แต่ทางการจอร์เจียก็ได้เก็บสถานที่สำคัญเกี่ยวกับโจเซฟ สตาลินเอาไว้ในฐานะประวัติศาสตร์ฉากหนึ่งของประเทศ
นอกจากเมืองโกรีแล้ว เมืองอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเมืองตากอากาศของโซเวียตที่สตาลินโปรดปรานคือเมืองสคอลทูโบ (Tskaltubo) ที่ปัจจุบันมีความพยายามฟื้นฟูเมืองแห่งนี้ให้กลับมาเป็นเมืองตากอากาศอีกครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก
Spa Resort ที่เมืองสคอลทูโบ
🟡จอร์เจียเอกราช (ค.ศ.1991 - ปัจจุบัน)
Peace Bridge ในกรุงทบิลิซี สร้างขึ้นหลังสงครามระหว่างจอร์เจียและรัสเซีย เมื่อ ค.ศ. 2008
จอร์เจียได้เป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่สามสิบปีภายหลังจากได้รับเอกราชของจอร์เจียนั้นไม่ราบรื่น นอกเหนือจากความท้าทายด้านความผันผวนภายในและวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว จอร์เจียยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรัสเซียมาโดยตลอด
ในปีค.ศ. 2001 เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพจอร์เจียและรัสเซียในแคว้นอับคาเซีย (Abkhazia) เนื่องจากรัฐบาลรัสเซียกล่าวหาว่าจอร์เจียอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏในเชชเนีย ตามด้วยสงครามเต็มรูปแบบที่สร้างความสูญเสียมหาศาลใน ค.ศ. 2008
เมื่อจอร์เจียอ้างสิทธิ์เหนือดินแดน South Ossetia แต่รัสเซียไม่ยอม ความสัมพันธ์แทบทุกด้านระหว่างรัสเซียและจอร์เจียหยุดลงจนแทบจะหายไปทั้งหมดสถานการณ์ของทั้งสองประเทศตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด
จนกระทั่งถึงค.ศ. 2010 ความขัดแย้งระหว่างจอร์เจียและรัสเซียเริ่มคลี่คลายลง และค.ศ. 2014 จอร์เจียก็ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
ทว่าจอร์เจียและรัสเซียก็ยังคงคุมเชิงระหว่างกัน และดูเหมือนว่าจอร์เจียก็พร้อมจะร่วมมือกับประชาคมหรือประเทศใด ๆ ก็ตามที่จะต้านทานอำนาจของรัสเซียเอาไว้ให้ได้ รวมถึงเสริมสถานะของความเป็น Eurasian Corridor หรือรอยต่อระหว่างแผ่นดินยุโรปและเอเชียเพื่อความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของจอร์เจียต่อไป
เรื่องและภาพโดย ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ 👍
โฆษณา