7 มิ.ย. 2022 เวลา 05:50 • หนังสือ
The subtle art of not giving a fuck โดย Mark Manson
เคยเห็นคนถือเล่มนี้ เขาบอกว่าดี แนะนำให้อ่าน ยังจำได้ว่าตอนนั้นฉันถามไปว่า มันไม่ bullshit ใช่ไหม ซึ่งคุณคนแนะนำก็บอกว่า ไม่ใช่นะ มันอีกแนวนึง ก็มาสิคะ ไหนดูซิว่าจะไม่ bullshit จริงไหม
ก่อนอื่นต้องออกตัวว่าช่วงหลังๆ ไม่ค่อยหยิบหนังสือแนว self-help มาอ่านเท่าไร (สมัยก่อนแฟนคลับเลย) แต่เมื่อสุขภาพจิตอ่อนแอบางทีเราก็อยากอ่านอะไรแบบนี้บ้าง อะมา เริ่ม
เริ่มที่โทนโดยรวมของเล่ม เป็นฟีลเพื่อนให้คำปรึกษาเพื่อน เปรียบง่ายๆคือเราไประบายปัญหาชีวิตให้เพื่อนฟังแล้วมันบอกว่าเออ ช่างแม่งเหอะวะ ถ้าใครหวังจะได้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยรองรับเล่มนี้อาจไม่ได้ตอบโจทย์คุณเท่าไร
และเมื่อเป็นเพื่อนให้คำปรึกษาเพื่อน ภาษาในเล่มก็จะสบายๆ มีคำหยาบบ้าง ติดตลกบ้าง เนื้อหาเป็น self-help ที่ต่างจากเล่มอื่น เพราะ self-help ส่วนใหญ่ที่เราเคยอ่านจะสอนให้ใช้ชีวิตราวกับมีทุ่งลาเวนเดอร์รายล้อม แต่เล่มนี้จะบอกว่า ชีวิตแกมันไม่เจอลาเวนเดอร์ได้ตลอดทางหรอก ตรงไหนที่มันเป็นถนนลูกรัง แกก็ยอมรับแล้วค่อยๆ เดินหน่อยแล้วกัน
ดิฉันผู้ไม่ค่อยอินกับหนังสือ self-help อ่านเล่มนี้แล้วก็ไม่ได้รู้สึกขัดใจเท่าไร มีพยักหน้าตามได้เรื่อยๆ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างเนื้อหาที่ชอบก็เช่น การที่คนเขียนบอกว่า
อย่าไปแปะป้ายให้ตัวเองมาก ยิ่งแปะป้ายไว้ ก็ยิ่งกดดันตัวเอง ยิ่งมีตัวชี้วัดแปลกๆ มาวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตัวเอง เช่น ถ้าแปะป้ายตัวเองไว้ว่าเป็นคนฉลาด พอทำงานพลาดแค่อย่างเดียวโลกพังครืนเลย เพราะเรามองว่าเราล้มเหลว “ฉันเป็นคนฉลาดนะ ฉันพลาดเรื่องนี้ได้ไงวะ” กลับกัน ถ้าเราเป็น nobody ก็ไม่มีอะไรจะเสีย ถูกมะ เราจะกล้าพลาดมากขึ้น และนั่นแหละที่จะทำให้เราพัฒนาได้
มีเนื้อหาอีกหลายๆ ส่วนในเล่มนี้ที่เราคิดว่าดี เช่นในประเด็นเรื่อง social media เรื่องการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เรื่องการมีตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมือนๆ กันไปหมดเพราะเราเห็นคนอื่นเป็นแบบนั้น เลยคิดว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวเป็นเรื่องสำเร็จรูป เป็นสิ่งที่เหมือนกันในทุกคน
แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเราต่างก็มีสิ่งที่ให้คุณค่าไม่เหมือนกัน คิดว่าถ้าใครได้อ่านก็คงคิดเหมือนกันว่ามันกระตุกความคิดได้ประมาณนึง
ความคิดเห็นส่วนตัวและความรู้สึกตอนอ่าน
ส่วนแรกๆ ของเล่มคนเขียนใช้คำว่า fuck เยอะมาก จนรู้สึกว่าฉันเข้าใจสิ่งนี้แล้วจ้า ชื่อหนังสือเธอก็บอกแล้ว ฉันเลยคิดว่าคนเขียนดูเป็นคนดิบๆเถื่อนๆแหละ แต่พออ่านไปเรื่อยๆ อ้าวทำไมโทนมันเปลี่ยน คุณคนเขียนดิบๆ เถื่อนๆ หายไป กลายเป็นคุณคนเขียนที่ค่อนข้างจริงจังแต่พยายามสอดแทรกมุกตลก (ซึ่งบางทีก็รู้สึกฝืนๆอยู่) ตัวดิฉันเองสนุกกับส่วนแรกๆของหนังสือนะ แต่พอสักครึ่งหลังรู้สึกว่าเริ่มเนือย
ไม่แน่ใจว่าที่เล่มนี้ดังมากอาจจะเป็นเพราะการ not giving a fuck ของฝรั่งมังค่ามันจะเป็นความรู้สึกในเชิงลบหรือเปล่า เหมือนคนที่ไม่เอาไหน ไม่แคร์ชีวิต
แต่ของคนไทย เราค่อนข้างคุ้นเคยกับ concept นี้อยู่แล้ว เพราะเรามีคำพูดติดปากว่า “ช่างแม่ง” และมันไม่ได้สื่อถึงการเป็นคนไม่เอาไหน แต่มันคือการปล่อยวางในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งถ้าเป็นคนที่คุ้นเคยกับคำสอนในศาสนาพุทธก็จะยิ่งรู้สึกว่า “ใครๆก็รู้ป่ะวะ” ซึ่งนั่นแหละ เราว่าทุกคนรู้ และรู้ว่ามันไม่ได้ทำง่าย มันเป็นเรื่องที่ต้องฝึกด้วยซ้ำ
พอเราอ่านเล่มนี้จบ เรารู้สึกกับหลายๆ เรื่องว่าแค่รอดมาได้ถึงวันนี้ก็เก่งแล้ว อะไรไม่สำคัญก็ “ช่างแม่ง” กันเหอะแก
โฆษณา