7 มิ.ย. 2022 เวลา 09:51 • การศึกษา
ปล่อยปลารักษ์โลกกันเถอะ
.
การปล่อยปลาเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่?
ปล่อยแล้วได้ประโยชน์อะไร?
ปล่อยแล้วมีผลต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่?
ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล
เริ่มต้นมาจากสามเณรรูปหนึ่ง
“สามเณรติสสะ” ต้นแบบทำบุญปล่อยปลา !!
ติสสะสามเณร เป็นลูกศิษย์ “พระสารีบุตร”
พอบวชได้ครบปี วันหนึ่งพระสารีบุตรได้เห็นนิมิตที่ว่า
ติสสะสามเณรจะมีอายุเหลือเพียง 7 วัน
จึงบอกถึงนิมิตที่เห็นและให้สามเณรไปบอกลา
พ่อแม่ญาติพี่น้องได้เป็นเวลา 3 วัน
จากนั้นให้กลับมาหาท่านที่วัดตามเดิม
ระหว่างเดินทางเณรก็ได้พบกับปลาจำนวนหนึ่งดิ้นทุรนทุรายด้วยอาการขาดน้ำและอาหารในบ่อน้ำที่กำลังจะแห้งขอด
เณรติสสะ เกิดความคิดขึ้นว่า "เราจะตายในอีก 7 วัน
แต่ปลาพวกนี้ถ้ายังอยู่ที่นี่คงตายในวันนี้แน่นอน"
จึงนำปลาในสระไปปล่อยลงแม่น้ำ
เมื่อเดินทางต่อไปก็เจอกับเก้งตัวหนึ่ง
กำลังติดกับดักนายพราน
เณรจึงปล่อยมันด้วยความสงสาร
พอไปถึงบ้านเณรติสสะได้บอกข่าวร้ายกับพ่อแม่
ที่ต่างก็กำลังร่ำไห้ด้วยความเศร้าโศก
เมื่อบุตรต้องตายจากไปในเวลาอันใกล้
แต่จนแล้วจนรอด 7 วันผ่านพ้นไปเณรติสสะก็ยังคงมีชีวิต
ด้วยความสงสัยจึงกลับวัด ไปหาพระสารีบุตรถามว่าเหตุใดนิมิตของท่านจึงไม่ตรงกับความจริง พระสารีบุตรตรวจด้วยญาณก็พบว่า ด้วยบุญบวช และผลบุญของการช่วยชีวิตสัตว์ที่กำลังจะตาย ทำให้วิบากกรรมเก่าเบาบาง เณรจึงหลุดพ้นความตายในครั้งนี้
จากเรื่องที่ยกมาเรื่องนี้แหละ ทำให้ชาวพุทธเราในยามต้องภัยได้ทุกข์อะไร ก็มักจะทำบุญปล่อยสัตว์ปล่อยปลาให้ชีวิตสัตว์เป็นอภัยทาน เพราะหวังว่าบุญนี้จะไปตัดรอนกรรมเก่า ไม่ให้มาเบียดเบียนเราให้ต้องได้รับทุกข์
…แล้วการปล่อยปลาที่เราทำ ๆ กันอยู่นี้มันทำให้เราได้บุญจริงหรือ? ลองมาพิจารณาไปพร้อม ๆ กัน…
ปลาส่วนมากที่คนนำไปปล่อยนั้นถ้าไม่ซื้อจากท่าหน้าวัด ก็มักไปซื้อจากตลาดที่วางขายให้คนนำไปฆ่าทำเป็นอาหาร
สมัยก่อนปลาที่วางขายมักจะเป็นปลาที่ชาวประมงจับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันปลาในตลาดจำนวนมากเป็นปลาที่เลี้ยงเพื่อการค้า
บางชนิดเป็นปลาที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อการเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมอาหาร หากมองในมุมของการอนุรักษ์ ก็ต้องบอกว่า ปลาเหล่านี้คือ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ทันทีที่ปล่อยลงคลองก็จะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด เคยพูดถึงผลกระทบของ “ปลาดุก” ที่นับเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ของนิเวศแหล่งน้ำ มีใจความสำคัญว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ปลาหายาก หรือ ปลาท้องถิ่นที่เป็นปลาอนุรักษ์
สรุปง่าย ๆ ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี!!!
แล้วทำไมปลาดุกถึงกลายเป็นตัวร้าย นั่นก็เพราะ พันธุ์ปลาดุกในไทยที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบันเป็นปลาดุกลูกผสมที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมีชื่อเรียกทางการค้าว่า “ปลาดุกบิ๊กอุย” เป็นปลาที่โตเร็ว มีเนื้อเยอะและ “เป็นหมัน”
เมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำก็เหมือน “ฝูงซอมบี้” ที่ไปไล่ล่าปลาท้องถิ่นเดิม
เลยชวนคิดว่า…การปล่อยปลาที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ลงสู่แหล่งน้ำ ยังจะเป็นบุญที่คุ้มบาปหรือเปล่า? เรากำลังช่วยชีวิตนักฆ่าจากหน้าเขียง ให้ไปฆ่าผู้อื่นในระบบนิเวศต่อไปรึเปล่า?
แล้วถ้าอยากปล่อยสัตว์น้ำจริง ๆ ทำไงดี?
เราขอแนะนำ 4 ข้อง่าย ๆ
1.ปลาเล็ก
2.ปลากินพืช
3.ปล่อยครั้งละน้อยๆ
และ 4.เลือกปล่อยปลาท้องถิ่น
หากทำได้ตามนี้ก็จะไม่มีปัญหาตามมา
ปลาอะไรควรปล่อยและปลาอะไรไม่ควรปล่อย ?
1.เราไม่ควรปล่อยสัตว์ต่างถิ่น หรือ เอเลียนสปีชีส์ในปริมาณที่มากจนเกินไป เช่น ปลาดุกอัฟริกันหรือปลาดุกลูกผสม (บิ๊กอุย), กุ้งเครย์ฟิซ, เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง, ปลาหางนกยูง, ปลากดเกราะดำ และปลากดเกราะลาย, ตะพาบไต้หวัน, ปลาทับทิม, ปลานิล และปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น
2.คัดเลือกสถานที่ปล่อยให้เหมาะสมกับชนิดของปลา
ควรปล่อยในแหล่งน้ำตื้นหรือลึกระดับปานกลาง (ระดับเอวถึงหน้าอก)
3.ไม่ปล่อยในแหล่งที่มีน้ำเชี่ยว ควรปล่อยในแหล่งที่มีพืชน้ำเพื่อเป็นที่หลบภัย, อาหาร หรือแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
4.ปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการไหลเวียนของน้ำ หรือที่มีน้ำสะอาด
5.ควรปล่อยปลาพื้นเมืองของไทย เช่น ปลาตะเพียนขาว, ปลาตะเพียนทอง, ปลาแก้มช้ำ, ปลาสร้อยขาว, ปลาหมอไทย, ปลายี่สกไทย, ปลากราย, ปลาโพง และปลาบึก เป็นต้น นอกจากจะทำให้ระบบนิเวศน์ไม่เสียแล้ว ยังสามารถเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สำหรับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำพื้นถิ่นได้อีกด้วย
เล่ากันมาขนาดนี้ หลายคนคงเริ่มคิดว่าการปล่อยปลาให้ได้บุญดูจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ทั้งต้องเลือกพันธุ์ปลาและเลือกแหล่งน้ำ
แท้จริงแล้วการทำบุญปล่อยสัตว์ปล่อยปลาก็ไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้ที่ต้องการทำบุญในลักษณะการช่วยชีวิตจริง ยังมีวิธีทำบุญรูปแบบอื่น เช่น ทำบุญกับโรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลต่าง ๆ หรือสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า เพื่อต่อชีวิตผู้ที่กำลังเจ็บป่วย หรือผู้ที่ขาดโอกาสดำเนินชีวิต
บุญแบบนี้ก็จะเป็นกุศลอีกทางหนึ่งที่จะไปตัดรอนวิบากกรรมที่ทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยได้เช่นกัน
ถ้าการสร้างกุศลจะทำให้เรามีผลกรรมติดตัว การสร้างกุศลนั้นก็ต้องคิดให้ดี คิดให้รอบด้าน ถ้าทำแล้วเกิดโทษตามมากุศลนั้นก็คงไม่เป็นกุศลที่สมบูรณ์
พระพุทธเจ้าสรรเสริญ “การเลือกแล้วให้” เลือกให้ดี ให้ให้ถูก แล้วประโยชน์จะเกิดแก่เราและโลกอย่างสมบูรณ์
ส่วนใครที่ยังอยากปล่อยปลาอยู่ ก็คงต้องเพิ่มความยุ่งยากด้วยการหาปลาที่ถูกชนิดและปล่อยให้ถูกแหล่งน้ำ ถึงจะยุ่งยากแต่ช่วยลดความยุ่งเหยิงในระบบนิเวศน์ได้ไม่น้อยเลยล่ะ.
#วันสิ่งแวดล้อมโลก #BuddhaSpace #ปล่อยปลา
#ปล่อยปลารักษ์โลก
โฆษณา