Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Spaceth.co
•
ติดตาม
8 มิ.ย. 2022 เวลา 11:38 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราพิสูจน์ว่าบิ๊กแบงเคยเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ไม่ใช่ทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นมามั่ว ๆ - ตอนที่ 2 ตำนานการสร้างโลกที่บอกเล่าโดยวิทยาศาสตร์
1
ลำแสงที่สำคัญที่สุดในจักรวาล
เมื่อมองจากพื้นโลก มนุษย์อย่างเราก็อาจคิดว่าดวงดาวสุกสกาวยามค่ำคืนนั้น เป็นสิ่งที่คงอยู่ค้ำฟ้า ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วดาวฤกษ์ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากมนุษย์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยที่ไม่อาจต้านทานกระแสเวลาที่ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร้ปราณีได้ สักวันหนึ่งดวงอาทิตย์ของเราเอง ก็ต้องจบชีวิตลงเช่นกัน
4
และถ้าหากย้อนกลับไปในขณะที่กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลกำลังประจำการอยู่บนวงโคจรของโลกเมื่อช่วงต้นปี 2018 มันก็ได้จับจ้องไปยังกาแล็กซี่แสนห่างไกลกว่า 70 ล้านปีแสง เพื่อสังเกตการณ์สิ่งที่เราเรียกว่า “ดาวแคระขาว” หรือเศษซากของดวงดาวที่ตายไปแล้ว
2
ซึ่งเป็นแกนกลางของดาวฤกษ์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากการระเบิดครั้งใหญ่เมื่อสิ้นอายุขัย โดยนักดาราศาสตร์บนโลกก็ต่างรู้ดีว่าเหตุการณ์บางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงจุดกำเนิดของเอกภพได้
ซิริอุส บี (จุดเล็ก ๆ บริเวณล่างซ้าย) ดาวแคระขาวที่ใกล้โลกมากที่สุด ซึ่งโคจรเคียงคู่ไปกับดาวซิริอุสดวงหลัก ที่มา ESA/Hubble
ครั้งหนึ่งในอดีตดาวแคระขาวก็เคยมีมวลมากกว่าโลกเป็นล้านเท่า แต่ก็กลับถูกบีบอัดด้วยแรงดันมหาศาลจนมีขนาดไม่ต่างจากโลกมากนัก ซึ่งการกำเนิดใหม่จากความตายที่แปลกประหลาดของดาวแคระขาวนี้ ก็ต้องแลกมากับความสมดุลอันแสนเปราะบาง ระหว่างแรงดันภายใน (Electron Degeneracy Pressure)
1
กับแรงโน้มถ่วงภายนอกที่พยายามต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลา ทำให้ดาวแคระขาวไม่ต่างอะไรจากระเบิดเวลา ที่รอโชคชะตาเล่นตลกนำพาดาวแคระขาวไปสู่เส้นทางแห่งการทำลายล้างอันทรงพลังอย่างไม่มีวันหวนคืน
1
เมื่อมีดาวฤกษ์ดวงอื่นเคลื่อนที่ล้ำเข้ามาในอาณาเขตของดาวแคระขาวมากจนเกินไป ดาวแคระขาวก็จะเริ่มดูดกลืนมวลสารของดาวฤกษ์ผู้โชคร้ายเข้าไปอย่างรวดเร็ว คล้ายกับหลุมดำอย่างไรอย่างนั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับระบบดาวคู่เป็นส่วนใหญ่
4
กรณีที่ดาวฤกษ์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลายเป็นดาวแคระขาวไปเสียก่อน และถ้าเกิดว่ามีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์เหล่านั้น สิ่งมีชีวิตใด ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาก็ไม่อาจสามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป
2
จนกระทั่งทันทีที่ดาวแคระขาวมีมวลเพิ่มขึ้นราว 1.44 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งได้ผ่านพ้นจุดวิกฤตทางกลศาสตร์ควอนตัม ที่นักฟิสิกส์เรียกว่า ขีดจำกัดจันทรสิกขา (Chandrasekhar limit) ออกไป ความสมดุลของดาวแคระขาวก็ได้ถูกทำลายลง และแล้วหนึ่งในปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นที่รุนแรงที่สุดในเอกภพจึงได้เริ่มจุดชนวนขึ้นมา
3
ซึ่งใครจะไปคิดว่าในอีก 70 ล้านปีต่อมา ลำแสงจากการระเบิดครั้งนั้นจะตกลงมาบนเซนเซอร์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่มีชื่อว่า ฮับเบิล
ดวงดาวที่มีขนาดพอ ๆ กับโลก ได้จบชีวิตลงเป็นครั้งที่สองด้วยการระเบิดครั้งมโหฬาร ซึ่งได้ส่องแสงสว่างลุกวาบยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงหนึ่งพันล้านเท่า ถึงขนาดที่ว่าแสงจากใจกลางดาราจักรบ้านเกิดของมันก็ไม่สามารถเอาชนะความสว่างนี้ได้ ทำให้กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลสามารถบันทึกเหตุการณ์นี้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ปีด้วยกัน
5
แม้ว่าเกิดขึ้นห่างจากเราไปกว่า 70 ล้านปีแสงก็ตามที นักดาราศาสตร์จึงเรียกการระเบิดในลักษณะนี้ว่า “ซุปเปอร์โนวาประเภท 1a” (Type la Supernova) แสงสว่างที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของเอกภพอย่างแท้จริง
1
โดยซุปเปอร์โนวาประเภท 1a มีความพิเศษอยู่ที่ว่า มันจะปลดปล่อยคลื่นแสงที่มีเอกลักษณ์ พร้อมกับพลังงานและความสว่างออกมาในระดับที่ใกล้เคียงกันอยู่เสมอ เนื่องจากผลของ ขีดจำกัดจันทรสิกขา (Chandrasekhar limit) ที่เป็นคุณสมบัติทางกลศาสตร์ควอนตัมได้ระบุไว้ว่า ปฏิกริยาแบบระเบิดนิวเคลียร์ฟิวชั่นจะเริ่มเกิดขึ้นทันทีเมื่อดาวแคระขาวมีมวลเพิ่มขึ้นไปแตะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.44 เท่าของมวลดวงอาทิตย์
1
ภาพถ่ายแสงสว่างจากซุปเปอร์โนวาประเภท Ia จากกาแล็กซี่ NGC 4526 ที่มา NASA/ESA/Hubble/High-Z Supernova Search Team
ดังนั้นเราจึงสามารถใช้แสงจากซุปเปอร์โนวาประเภท 1a เป็นประโยชน์ในการคำนวณระยะทางของกาแล็กซี่ที่เกิดการระเบิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ผ่านการสังเกตความสว่างที่แปรผันตามระยะทาง หรือก็คือถ้าแสงสว่างจ้ามาก ก็แสดงว่าการระเบิดนั้นอยู่ใกล้โลก ในขณะที่แสงสลัวก็หมายความว่าอยู่ไกลกว่านั่นเอง
อีกทั้งการระเบิดของดาวแคระขาวนั้นก็ส่องสว่างเสียจนเราสามารถเห็นแสงออกได้ไกลเป็นหมื่นล้านปีแสงไปจนถึงขอบของเอกภพที่เราสังเกตได้ แถมยังเกิดขึ้นบ่อยทั่วจักรวาลเพียงพอที่จะช่วยให้เราเรียงลำดับการวิวัฒนาการของเอกภพได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ทว่ามันก็ยังมีข้อมูลบางอย่างอีกชุดหนึ่ง ซุกซ่อนอยู่ภายใต้แสงของซุปเปอร์โนวาประเภท 1a นี้เอาไว้
1
เมื่อนักดาราศาสตร์สังเกตการระเบิดในกาแล็กซี่ห่างไกลนอกกลุ่มดาราจักรเพื่อนบ้านของเราออกไป พวกเราก็พบว่าแสงมีสีแดงมากขึ้นอย่างแปลกประหลาด ราวกับว่ายิ่งต้นกำเนิดของซุปเปอร์โนวาประเภท Ia อยู่ห่างจากโลกมากเท่าใด แสงก็ยิ่งแดงมากขึ้นเป็นทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น เราจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เรดชิฟท์” (Red Shift)
1
ซึ่งแสงนั้นก็มีช่วงคลื่น หากเป็นคลื่นสั้นก็จะเป็นสีโทนน้ำเงินม่วง และคลื่นยาวก็จะไปทางสีแดง ดังนั้นจึงหมายความว่าคลื่นแสงที่เดินทางมาหาเราจากกาแล็กซี่ห่างไกลกำลังถูกอะไรบางอย่างถ่างออก ซึ่งก็คงไม่มีคำอธิบายไหนดีไปกว่า พื้นที่ของกาลอวกาศเองกำลังยืดตัวมันออกอยู่ตลอดเวลา หรือก็คือทั้งจักรวาลของเรากำลังขยายตัวอยู่ และยังขยายตัวเร็วมากขึ้นกว่าเดิมในทุก ๆ วันอีกด้วย
ปรากฏการณ์ เรดชิฟ ของแสงจากซุปเปอร์โนวาประเภท 1a ที่มา ESO
นี่จึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดในภารกิจค้นหาจุดกำเนิดของจักรวาลเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากในวันรุ่งขึ้นทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเคลื่อนที่ออกจากกัน ไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ แล้วล่ะก็ เราก็สามารถตีความได้ว่าเมื่อวานกับวันก่อน ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องเคยอยู่ใกล้กันมากกว่านี้
1
หรือชิดเชื้อกันยิ่งกว่าเดิมในปีก่อน ๆ หน้า ใกล้กันมากขึ้น และมากขึ้นในทุก ๆ ครั้งที่เราย้อนกลับไปหาอดีต ก่อนหน้าที่โลกและระบบสุริยะของเราจะถือกำเนิดขึ้นมา ในยุคสมัยที่จะไม่มีกาแล็กซี่ใด ๆ ส่องแสงสว่างให้แก่จักรวาล จนกระทั่งเราเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของเอกภพ ณ จุดเริ่มต้นของกาลเวลาและสรรพสิ่งที่เราเคยรู้จัก
ทฤษฎีบิ๊กแบง
ภาพถ่ายดาวแคระขาวหรือเศษซากที่หลงเหลืออยู่จากการระเบิดของดาวฤกษ์ในช่วงคลื่นแสงย่านใกล้อินฟราเรด ที่มา ESO
จักรวาลของเราช่างเป็นสถานที่ที่สวยงามและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางสสารอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นกาแล็กซี่สุดตระการตา หรือดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ที่กำลังส่องแสงสว่างโชติช่วงชัชวาล ไปจนถึงดาวเคราะห์อีกนับล้านดวง ที่ยังคงรอคอยการค้นพบของเราอยู่อย่างมากมาย แต่มีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำให้จักรวาลเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่าอันไร้ที่สิ้นสุด
1
ซึ่งก็คือสิ่งชีวิต ที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาชื่นชมความงดงามของเอกภพนี้ได้ มันจึงเป็ฯเรื่องยากเสียเหลือเกินที่เราจะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นในจักรวาลนี้ เคยถูกอัดแน่นไว้อยู่ภายในจุด ๆ เดียวกันมาก่อน ภายในพื้นที่ที่เล็กมาก ๆ อย่างมหาศาล เกินกว่ากว่าที่สมองของมนุษย์จะจินตนาการได้
2
อีกทั้งเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า บิ๊กแบง คือจุดเริ่มต้นของจักรวาลจริง ๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ เหตุการณ์นั้นก็ได้เกิดขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการวิวัฒนาการของเอกภพตลอดมาจนถึงปัจจุบัน เพราะบิ๊กแบงได้คอยกำกับทุก ๆ กาแล็กซี่ ดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ หรือแม้แต่กระทั่งชีวิตของเราเองว่าจะถือกำเนิดมาได้อย่างไรกันแน่
แล้วเราพิสูจน์ได้อย่างไรกันเล่า ว่าปรากฏการณ์บิ๊กแบงเคยเกิดขึ้นจริง เมื่อ 13,800 ล้านปีก่อน ไม่ได้เป็นการสรุปที่ไม่ได้เกิดจากการคาดเดาอย่างผิวเผินจากข้อเท็จจริงที่ว่าเอกภพกำลังขยายตัวอยู่ตลอดเวลาเพียงเท่านั้น ซึ่งคำตอบก็คือเราเคยเห็นมัน เราเคยเห็นเศษซากฟอสซิลที่หลงเหลืออยู่จากบิ๊กแบง
จรวดอารีอานเน่ 5 ในเที่ยวบิน V-188 ที่มา ESA
ณ ศูนย์อวกาศเฟรนช์เกียน่า ในปี 2009 หนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติก็ได้เริ่มต้นขึ้น ด้วยการปล่อยจรวดอารีอานเน่ 5 ที่ทรงพลังที่สุดขององค์กรอวกาศสหภาพยุโรปไปยังห้วงอวกาศ สำหรับการปลดปล่อยกล้องโทรทรรศน์ที่มีชื่อว่า “พลังค์” ออกมาให้ไปประจำการอยู่ที่จุดลากรางจ์ที่ 2 ในระยะราว 1,500,000 กิโลเมตรห่างจากโลก ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ โคจรอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศพลังค์ เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว มันก็ได้ทำการแสกนจักรวาลรอบตัวมันตลอดทั้ง 360 องศา เพื่อเก็บเกี่ยวแสงสว่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่มันจะทำได้ แต่แสงที่กล้องโทรทรรศน์พลังค์กำลังหาอยู่นั้น ไม่ใช่แสงสว่างจากแล็กซี่หรือดวงดารา แต่เป็นแสงจากจุดเริ่มต้นของกาลเวลาต่างหาก
ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์อวกาศพลังค์ ที่มา BBC/TheUniverse
ภาพด้านล่างนี้คือภาพรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพ (CMBR) แสงเรืองค้างส่องสลัวที่กระจายตัวไปทั่วจักรวาล ซึ่งได้ถูกยืดออกไปจากย่านคลื่นแสงที่สายตาเรามองเห็นได้อยู่มาก และมักจะปรากฏได้ชัดในย่านไมโครเวฟเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 1965 แล้วว่าคลื่นไมโครเวฟไม่ได้เดินทางมาจากภายในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราอย่างแน่นอน
อีกทั้งยังมีต้นกำเนิดก่อนหน้าที่ดวงดาวและกาแล็กซี่ใด ๆ จะถือกำเนิดขึ้นมาอีกด้วย ทฤษฎีที่ว่าครั้งหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพเคยถูกบีบอัดในสถานที่ที่เล็กมาก ๆ ก่อนที่จะมีการขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว หรือทฤษฎีบิ๊กแบง จึงสามารถอธิบายการมีอยู่ของรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพได้อย่างชัดเจนที่สุด
รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพโดยกล้องโทรทรรศน์พลังค์ ที่มา ESA
โดยภาพจากกล้องโทรทรรศน์พลังค์ที่ได้ถ่ายมาให้เราเห็นในปี 2012 นั้น เป็นภาพรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพที่มีความละเอียดมากที่สุดที่เราเคยถ่ายมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์รังสีไมโครเวฟนี้ได้ละเอียดเพียงพอจนสามารถคำนวณได้ว่ารังสีนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 370,000 ปีหลังจากบิ๊กแบง ในช่วงที่เอกภพมีอุณหภูมิเริ่มต่ำลง จึงทำให้โฟตอนของแสงสามารถเดินทางได้อย่างอิสระไปในทุกทิศทาง
แถมเรายังรู้อีกด้วยว่าในช่วงนั้น เอกภพของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยแทบจะเท่ากันทั้งหมดในทุกบริเวณที่ประมาณ 3,000 องศาเคลวิน (2,726 องศาเซลเซียส) ซึ่งได้ช่วยสนับสนุนทฤษฎีบิ๊กแบงไปอีกขั้น ว่าทุกอย่างเคยอยู่ใกล้ชิดติดกันมาก่อน มิฉะนั้นอุณหภูมิก็จะไม่สามารถกระจายอย่างเท่า ๆ กันได้ ก่อนที่จะลดต่ำลงมาเหลือเฉลี่ยราว 2.725 องศาเคลวิน หรือประมาณ – 270 องศาเซลเซียสในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเอกภพ
และถ้าหากเราย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้าในยุคสมัยที่พวกเรายังคงจ้องหน้าจอโทรทัศน์อะนาล็อกรูปทรงอ้วนนูนกันอยู่ รังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพก็ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุประมาณร้อยละ 1 ที่ส่งผลให้เกิดภาพจุดสีขาวดำพร้อมกับเสียงซู่ซ่า (noise) เป็นฉากหลังปรากฏขึ้นมาในช่วงที่สัญญาณจากสถานีขาดหายไป หรือแม้แต่เสียงซ่าบนวิทยุของเราในปัจจุบันก็เช่นกัน
มิหนำซ้ำเซนเซอร์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศพลังค์ยังทรงพลังเพียงพอที่เราจะสามารถแยกความต่างของอุณหภูมิในช่วงเริ่มแรกของเอกภพได้อย่างชัดเจน ผ่านสีสันหลากหลายที่ปรากฏอยู่บนภาพ แม้ในแต่ละพื้นที่จะมีความต่างห่างกันเพียงแค่ไม่ถึง 1 องศาเคลวินก็ตาม
โดยส่วนสีส้มที่ร้อนกว่านั้นก็คือส่วนที่สสารอยู่เยอะซึ่งจะมารวมตัวกันเป็นดาราจักร ในขณะที่ส่วนสีน้ำเงินที่เย็นกว่าเพียงเล็กน้อยก็จะกลายมาเป็นพื้นที่มืดมิดว่างเปล่าระหว่างกลุ่มกระจุกกาแล็กซี่
ดังนั้นในทรรศนะของผู้เขียนแล้วภาพรังสีไมโครเวฟพื้นหลังของเอกภพจึงเป็นภาพที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เพราะถ้าหากเอกภพปราศจากความผันผวนเพียงเล็กน้อยนี้แม้แต่เพียงนิดเดียว กาแล็กซี่และดวงดาวต่าง ๆ ก็จะไม่ถือกำเนิดขึ้นมาหรือก็คือเราก็จะไม่สามารถลืมตาตื่นขึ้นมาในจักรวาลนี้ได้เลย
1
จนกระทั่งในที่สุดเราก็สามารถตอบคำถามที่บรรพบุรุษของเราไขว่คว้ามาเป็นระยะเวลายาวนานหลายชั่วอายุคนได้เสียที ว่าจักรวาลนี้กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไรกันแน่ ซึ่งสิ่งที่เราจะได้อ่านกันต่อไปนี้ก็คือ “ตำนานการสร้างโลกที่บอกเล่าโดยวิทยาศาสตร์”
ภาพ Hubble eXtreme Deep Field (XDF) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่มา ESA/Hubble
ตำนานการสร้างโลกที่บอกเล่าโดยวิทยาศาสตร์
ในปฐมกาล เข็มนาฬิกาของเอกภพก็เริ่มกระดิกขึ้น พร้อมกับพื้นที่ปริภูมิเวลาที่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและเริ่มขยายตัวออกมาจากความเปล่า หลังจากนั้นก็มีกลไกลึกลับบางอย่างทำให้เอกภพเกิดพองตัวอย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่าความเร็วแสงภายในระยะเวลาเพียงแค่เศษ 1 ใน 1 พันล้าน ล้าน ล้าน ล้าน ล้าน ส่วนของวินาที จากระยะทางระดับอนุภาคยืดออกกลายเป็นระยะทางระดับกาแล็กซี่
1
การพองตัวในช่วงจุดกำเนิดอันร้อนแรงของเอกภพหรือ Inflation นี้ทำให้อุณหภูมิพื้นหลังของอวกาศลดต่ำลง และให้กำเนิดอนุภาคมูลฐานในเวลาต่อมา จนกระทั่งในอีก 250 ล้านปีให้หลัง พื้นที่ที่เต็มไปด้วยกลุ่มแก๊สมหาศาลก็เริ่มที่จะยุบตัวลง ก็กำเนิดเป็นดาวฤกษ์สุกสกาวสีฟ้าดวงแรกที่ส่องแสงสว่างและมอบความอบอุ่นให้แก่จักรวาล
ต่อมาเมื่อดวงดาวเริ่มมีจำนวนมากขึ้น พลังของแรงโน้มถ่วงก็ได้ดึงดูดกระจุกดาวเข้ามาไว้ด้วยกัน กลายเป็นอาณาจักรแห่งดวงดารา ทำให้กาแล็กซี่ยุคแรกเริ่มอย่าง GN-z11 ก็ได้เฉิดฉายอย่างยิ่งใหญ่จากการรวมตัวกันของดาวฤกษ์นับล้านดวง และในอีก 13,000 ล้านปีให้หลังก็ได้มีดาวฤกษ์ดวงหนึ่งจุดประกายขึ้นมาเป็นครั้งแรก ณ ชายขอบของทางช้างเผือก
1
ซึ่งก็คือดวงอาทิตย์ของเรา ไม่นานหลังจากนั้นก็ได้มีดาวเคราะห์อีก 8 ดวงเข้าร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันของดวงอาทิตย์ ซึ่งก็รวมไปถึงเคราะห์สีน้ำเงินดวงเล็ก ๆ ดวงหนึ่ง ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากความบังเอิญของเหตุการณ์ทั้งหมดนี้
การวิวัฒนาการของเอกภพ ออกแบบโดย Payut Utsawaloetsaengdee
บทส่งท้าย
มนุษย์อย่างเรานั้นช่างเป็นเผ่าพันธุ์ที่ช่างสงสัยและพยายามหาคำตอบในเรื่องต่าง ๆ เสมอมา แม้แต่เรื่องจุดกำเนิดของเอกภพ เราก็ได้ตั้งสมมติฐานด้วยทฤษฎีมากมาย จนกระทั่งเรามีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งยานอวกาศจำนวนมากมายออกไปสังเกตการณ์ ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์
และพิสูจน์ทฤษฎีว่าบิ๊กแบงเป็นหนึ่งในกระบวนการวิวัฒนาการของเอกภพ อย่างแน่นอน ซึ่งการที่เรายืนยันได้ว่าบิ๊กแบงเคยเกิดขึ้นจริงก็ได้นำพาเราไปสู่ปริศนาที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการหาสาเหตุของการบิ๊กแบง หรือก่อนหน้าบิ๊กแบงมีอะไรอยู่กันแน่ก็ตามที
ถึงแม้ในท้ายที่สุดแล้ว เราจะไม่ได้มีความสำคัญอะไรต่อจักรวาลที่กว้างใหญ่นี้ อีกทั้งร่างกายของเราก็เป็นเพียงแค่กลุ่มอะตอมธรรมดากลุ่มหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมาจากผลพวงของเหตุการณ์เมื่อ 13,800 ล้านปีที่แล้ว แต่ทว่าอะตอมในร่างกายของเรานั้น ก็ได้เรียงตัวกันได้อย่างน่ามหัศจรรย์เกินกว่าสิ่งอื่นใดในจักรวาล จากแสงสว่างโชติช่วงกลายเป็นชีวิตบนจุดสีน้ำเงินซีดจางนี้
1
มันคงไม่มีสวรรค์หรือชีวิตหลังความตายอะไรทั้งนั้น พวกเราต่างมีเพียงชีวิตเดียว ที่จะได้ชื่นชมการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ของจักรวาล และผมก็ปลาบปลื้มยินดีกับเรื่องนี้
สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง
8
อ้างอิง
-
https://www.amnh.org/learn-teach/curriculum-collections/cosmic-horizons-book/ole-roemer-speed-of-light#:~:text=Part%20of%20the%20Cosmic%20Horizons%20Curriculum%20Collection.&text=In%201676%2C%20the%20Danish%20astronomer,eclipses%20of%20Jupiter's%20moon%20Io
.
2
-
https://www.nasa.gov/content/about-facts-hubble-fast-facts
-
https://esahubble.org/science/deep_fields/
-
https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_Science/Herschel/Cosmic_Microwave_Background_CMB_radiation
104 บันทึก
37
2
49
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เราพิสูจน์ว่าบิ๊กแบงเคยเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร ไม่ใช่ทฤษฎีที่คิดค้นขึ้นมามั่ว ๆ
104
37
2
49
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย