Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ในมุ้งการเมือง
•
ติดตาม
7 มิ.ย. 2022 เวลา 15:44 • การเมือง
ประเทศไทยไม่เคยเสียดินแดน : กัมพล จิตตะนัง
cr.dailynews
(1)
ประเทศไม่ใช่ประชาชน
(2)
ฟังมาว่า ประเทศไทยเสียดินแดนไปมากมายให้กับจักรวรรดินักล่าอาณานิคมและเพื่อนบ้านใกล้เคียง นั่นนับได้ 14 ครั้งและแต่ละครั้งคือความเจ็บปวดของคนไทย ทุก ๆ ครั้งคือความจำใจไร้ทางเลือก เพื่อรักษาแผ่นดินส่วนใหญ่เอาไว้ ประเทศไทยจึงเป็นอิสระอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ (จริงเหรอ)
ครั้งที่1 สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ 11 สิงหาคม 2329 สยามยกเกาะหมาก(ปีนัง)ให้กับราชอาณาจักรอังกฤษ (เจ้าเมืองไทรบุรีให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก โดยหวังให้รอดจากอำนาจของกรุงรัตนโกสินทร์ที่พยายามควบรวมแผ่นดินบนแหลมมลายู)
ครั้งที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2336 สยามยกมะริด ทวาย ตะนาวศรีให้กับราชอาณาจักรพม่า (รัชกาลที่ ๑ ไม่สามารถตีคืนจากพม่าได้ ชาวทวายไม่พอใจที่ถูกข่มเหงรังแก จึงร่วมมือกับพม่ารักษาแผ่นดินเอาไว้และกลายเป็นส่วนหนึ่งของพม่าหลังจากราชอาณาจักรอังกฤษเข้าไปปกครอง)
ครั้งที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพ.ศ.2353 สยามยกบันทายมาศ(ฮาเตียน)ให้กับราชอาณาจักรฝรั่งเศส (เมืองบันทายมาสหรือเมืองพุทไธมาศเป็นเมืองท่าการค้าปากแม่น้ำบนแผ่นดินเขมรแต่ตั้งอยู่แนวรอยต่ออำนาจทางการทหารของ 3 อาณาจักร สยาม เวียดนามและเขมรในยุคนั้น แต่สุดท้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามในปัจจุบัน)
ครั้งที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อพ.ศ.2368 สยามยกแสนหวี เมืองพง เชียงตุงให้กับราชอาณาจักรพม่า เดิมทีแผ่นดินนี้ได้มาในสมัยรัชกาลที่ ๑ และตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ประมาณ 20 ปี
ครั้งที่ 5 สมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ พ.ศ.2369 กรุงรัตนโกสินทร์ยกเปรัคให้ราชอาณาจักรอังกฤษ (เปรัคหรือเประก์เป็นรัฐที่มีอาณาเขตต่อเนื่องกับรัฐปัตตานี(ปัจจุบันคือพื้นที่ชายแดนจังหวัดยะลา) เป็นรัฐขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย)
ครั้งที่ 6 สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม 2393 สยามยกรัฐสิบสองปันนาให้กับประเทศจีน (รัฐสิบสองปันนาเป็นรัฐอิสระในยูนานตอนใต้ แม้จะได้เป็นอิสระจากกรุงรัตนโกสินทร์แต่ก็ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของจีนและปัจจุบันเป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเองของจีน)
ครั้งที่ 7 สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2410 สยามยกขมรและเกาะ ๖ เกาะ ให้กับราชอาณาจักรฝรั่งเศส (เขมรทำสัญญาความร่วมมือกับฝรั่งเศสให้จัดการเรื่องเขตแดน เดิมทีแนวเขตแดนประเทศไม่เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้แบ่งกันชัดเจน สยามไม่มีคนที่มีความรู้ ฝรั่งเศสเป็นคนจัดการเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรสยามก็ยอมรับอำนาจของฝรั่งเศส)
ครั้งที่ 8 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2431 สยามยกสิบสองจุไทย (เมืองไล เมืองเชียงค้อ) ให้กับราชอาณาจักรฝรั่งเศส (เดิมทีฮ่อก่อกบฏ สยามยกทัพไปปราบ และฝรั่งเศสอ้างจะช่วยปราบฮ้อ จึงส่งกำลังทหารเข้าไปเมืองไล จนเสร็จสงครามแต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยกทัพกลับ สยามอ่อนแอจึงยอมยกให้ฝรั่งเศส)
ครั้งที่ 9 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2435 ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน (5 เมืองเงี้ยว และ 13 เมืองกะเหรี่ยง)ให้กับราชอาณาจักรอังกฤษ (อังกฤษมีอำนาจเหนือพม่าและรัฐอิสระต่าง ๆ)
ครั้งที่ 10 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2436 ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว) ให้กับราชอาณาจักรฝรั่งเศส และต้องจ่ายเงินชดใช้การทำสงครามอีก 1 ล้านบาท)
ครั้งที่ 11 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2446 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ดินแดนในทิศตะวันออกจังหวัดน่านคือ เมืองจำปาสัก และเมืองไซยะบูลีหรือไชยบุรี) ให้กับฝรั่งเศส (เพื่อแลกกับจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีแต่ยึดเมืองตราดเอาไว้)
ครั้งที่ 12 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 23 มีค. 2449 ยกมลฑลบูรพา (เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณ) ให้กับราชอาณาจักรฝรั่งเศส (เพื่อแลกกับเมืองตราด เกาะกงและด่านซ้าย แต่เกาะกงฝรั่งเสสยังไม่คืน)
ครั้งที่ 13 สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2451 ยกรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรีและปริส ให้กับราชอาณาจักรอังกฤษ (เพื่อแลกกับการยกเลิกสนธิสัญญาลับปีพ.ศ.2440 กู้เงินมาสร้างทางรถไฟสายใต้ และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
ครั้งที่ 14 สมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ยกเขาพระวิหารให้กับเขมร (ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา จากหลักฐานของฝรั่งเศสที่ทำไว้ให้กับกัมพูชา)
(3)
กลับมามองการเสียดินแดนบนแหลมมลายู สยามไม่ได้เสียดินแดนใด ๆ แต่ดินแดนที่ยกให้อังกฤษคือสินค้าที่ใช้แลกเปลี่ยนกับสนธิสัญญา ค.ศ. 1909 ครานั้นสยามแลกเปลี่ยนอะไรกับราชอาณาจักรอังกฤษ
ข้อ 1 สยามโอนสิทธิ์การปกครองและบังคับบัญชาเหนือรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ โดยอังกฤษรับจะใช้หนี้สินทั้งหมดที่รัฐเหล่านี้มีต่อสยามแทน ส่วนดินแดนมลายูที่ยังคงอยู่กับสยาม ได้แก่ มณฑลปัตตานี ทั้งมณฑลสตูล (แบ่งมาจากไทรบุรี) และตากใบ (แบ่งมาจากกลันตัน)
ข้อ 2 ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในสยามได้
ข้อ 3 ยกเลิกอนุสัญญาลับ ค.ศ. 1897 และ
ข้อ 4 อังกฤษจะให้เงินกู้ 4.63 ล้านปอนด์(ดอกเบี้ยร้อยละ 4) เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
สยามมองดินแดนที่ยกให้กับอังกฤษเป็นสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนและมองว่า ดินแดนเหล่านั้นเป็นเมืองขึ้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสยาม ซึ่งสยามเคยได้ประโยชน์จากต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่เป็นเสมือนเครื่องราชบรรณาการ แต่ประโยชน์ที่ได้ยังน้อยกว่าการเอาดินแดนเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนกับความต้องการของอังกฤษ
(4)
“พระราชอาณาเขตรกรุงสยามมีสองชั้น คือหัวเมืองชั้นในกับชั้นประเทศราช…การตัดพระราชอาณาเขตรแหลมมลายูครั้งนี้ ส่วนที่เป็นของเราแท้กล่าวคือ มณฑลปัตตานีเราจัดการปกครองอย่างหัวเมืองทั้งปวง
ส่วนที่เอามาปกครองไม่ได้เช่นที่ตัดออกไปนี้ ก็นับวันแต่จะเหินห่างจากเราไปทุกที…ในเวลานี้เรายังมีของที่มีราคาอยู่ จึงควรถือเอาราคาอันนี้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น…แลราคาของหัวเมืองแขกก็จะตกต่ำลงไปทุกที จึงเห็นว่าแลกเปลี่ยนกันเสียเวลานี้ดีกว่า…”
สยามอ้างอำนาจเหนือดินแดนที่เคยส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาบรรณาการและอ้างอำนาจเหนือเมืองที่เคยพ่ายแพ้สงคราม และยังมองดินแดนเหล่านั้นเป็นแค่ประเทศราช ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสยาม ไม่ใช่พวกเดียวกันด้วยซ้ำ ทุกดินแดนที่สยามอ้างว่าสูญเสียไปจึงไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะแต่ละดินแดนต่างก็เคยมีเจ้าแผ่นดิน
(5)
ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมานั่งโกรธเกลียดอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน พม่า หรือประเทศอื่นใดที่พยายามเข้ามายึดดินแดนบนแผ่นดินสยาม เพราะสยามเองก็ทำตัวได้แย่ไม่ต่างกัน
อยุธยาและสยามเคยมีอำนาจเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแผ่ขยายอำนาจไปถึงดินแดนไกลรอบข้าง แต่ทุก ๆ ก้าวที่ย่างขยายอาณาเขตได้สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดไว้ให้เจ้าของแผ่นดินดั้งเดิม ไม่ใช่ความดีงามที่จะมายกย่องชมเชย และเมื่อได้ปกครองแล้วก็ใช่ว่าจะปกครองให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และเมื่อเริ่มต้นนับหนึ่งเป็นประเทศ ก็ไม่เคยสูญเสียดินแดนอะไรเลยสักครั้ง การรวมประเทศด้วยอำนาจทหารไม่ใช่ความชอบธรรมแต่ก็ยังเป็นความจริงจนเท่าทุกวันนี้ แต่ก็ไม่เคยถูกตำหนิติเตียนเลยสักครั้ง คนส่วนใหญ่ยอมรับเพราะถูกทำให้เข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ ถูกยุแยงให้เกลียดประเทศเพื่อนบ้านเพราะสงครามของเจ้านายและการบิดเบือนความจริงผ่านปากและปากกาของนักประวัติศาสตร์
(6)
ประเทศไม่เคยใช่ประชาชน ผู้คนมากมายกลายเป็นคนในอาณานิคมของอังกฤษและถูกเรียกเป็นคนกลุ่มน้อยชาวสยามในมาเลเซีย ผู้คนจำนวนมากกลายเป็นคนไทยพลัดถิ่นบนแผ่นดินจังหวัดระนอง พวกเขากลับเข้ามาในไทยไม่ได้และอยู่ในพม่าอย่างปกติสุขก็ไม่ได้ ผู้คนมากมายเป็นสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนกับความมั่นคงของสยามประเทศ แผ่นดินถูกยกให้อังกฤษปกครองและผู้คนก็ถูกพรากไปด้วยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์ไทยพูดถึงแต่ดินแดนมากมายที่สูญเสียไป แต่ไม่เคยพูดถึงผู้คนจำนวนมากมายที่ถูกผลักไสให้ไปเป็นคนบนแผ่นดินอื่น ไม่ใช่แผ่นดินเดิมเพราะไม่มีเอกราชและเสรีภาพ ไม่ใช่แผ่นดินเดิมเพราะเจ้าแผ่นดินเปลี่ยนไปแล้วและไม่เคยได้กลับคืนมา ผู้ปกครองไม่เคยต้องการประชาชน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ปัจจัยที่มีผลต่อการเจรจาในสนธิสัญญา ค.ศ. 1909 ระหว่างสยามกับอังกฤษ (1)”, เสียดินแดนมลายูประวัติศาสตร์ชาติ ฉบับ Plot Twist, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, กุมภาพันธ์ 2562.
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ความรู้รอบตัว
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย