10 มิ.ย. 2022 เวลา 00:07
จุฬาฯ ผู้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ดินพระราชทาน 1,151 ไร่
ที่กลายเป็นไข่แดงกลางกรุง
ความท้าทายการวางสมดุลระหว่างศูนย์กลางวิชาการเพื่อมวลชน ดูแลสังคม
พร้อมก้าวทันความเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ดินทำเลทอง
การพัฒนาต้องตอบโจทย์การอยู่อาศัย 25,000 คน
รองรับการบริการ 8 หมื่นคนต่อวัน พร้อมกับการใกล้ชิดธรรมชาติ
แผนแม่บท 30 ปี ข้างหน้าจึงแบ่งเนื้อที่ศักยภาพ 291 ไร่ เป็น 5 โซน
พร้อมกันกับ 7 ด้านความเป็นเมืองอัจฉริยะ
ภาพจาก www.shutterstock.com
จุฬาฯ ผ่าพื้นที่ไข่แดงกลางกรุง พลวัฒน์วิชาการกลางย่านธุรกิจ
บทความจากคอลัมน์ "City for Life" บนแอป 2read
จุฬาลงกรณ์ นอกจากชื่อเสียงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับต้นๆ
ที่คนในต่างใฝ่ฝันเข้าศึกษา
และภาคภูมิใจที่ได้เรียนในรั้วจามจุรี จนได้รับการยอมรับด้านศูนย์กลางทางวิชาการ และสถาบันการศึกษาแห่งนี้ยังเป็นเจ้าของพื้นที่ไข่แดงใจกลางกรุงบนเนื้อที่ทั้งหมด 1,151 ไร่ ซึ่งได้รับมรดกพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการศึกษาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482
จากที่ดินเพื่อการศึกษาจนผ่านหลายยุคหลายสมัยมากว่า 83 ปี ที่ดินผืนนี้กลายเป็นทำเลทองผืนงามที่มีศักยภาพใจกลางกรุง ซึ่งจุฬาฯ มีกรรมสิทธิ์ครอบครอง พร้อมกันกับต้องทำหน้าที่พัฒนาให้เกิดมูลค่าควบคู่กันกับการเป็นสถาบันพัฒนาด้านวิชาการให้แก่ประเทศ
หลายยุคของการพัฒนามีความท้าทายที่จะต้องหาจุดสมดุลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้คุ้มค่ากับศักยภาพกับโอกาสทางธุรกิจจาก “ไข่แดงใจกลางกรุง” รวมทั้งสิ้น 291 ไร่
แต่ขณะเดียวกันจะต้องคงรักษาเจตนารมณ์ของการเป็นสถาบันทางวิชาการที่มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางสร้างคุณค่า ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมรอบข้าง รวมไปถึงการคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงจะถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ด้วยความที่จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและตั้งอยู่ในย่านธุรกิจ (CBD -Central Business District) จึงมีผู้คนมากมายเดินทางเข้ามาใช้พื้นที่ ในช่วงเปิดเทอม เราจึงเห็นช่วงเช้าคนทยอยพาลูกมาส่งเข้าโรงเรียนตั้งแต่มัธยม ยันระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงคณะบุคลากรเดินทางมาทำงานในย่านที่ให้บริการการศึกษาแห่งนี้ โดยรวมทั้งสิ้นมีผู้คนเดินทางมาใช้พื้นที่ในช่วงกลางวันถึงวันละ 8 หมื่นคน
นึกภาพตามถึงปัญหาความแออัดในการเดินทางต่างคนต่างเดินทางทั้งรถยนต์ส่วนตัวและระบบขนส่งมวลชน พบว่า การเข้าถึงพื้นที่ด้วยการเดินเท้าจากรถขนส่งมวลชนที่มีอยู่มีความยากลำบาก และยังไม่สามารถเดินทางเท้าเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟใต้ดิน (MRT) ได้ในระยะ 500 เมตร
อีกทั้งพื้นที่สีเขียวยังไม่เพียงพอเมื่อเกิดจำนวนคนเข้ามาอยู่อาศัยหนาแน่นขึ้น และที่สำคัญเป็นโจทย์การพัฒนาที่ยากและท้าทายหากต้องพัฒนาทุกอย่างในย่านธุรกิจ ทั้งการเดินทางและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
แต่จุฬาฯ เป็นแหล่งรวมนักวิชาการระดับหัวกะทิ จึงมีทั้งคณะบริหารร่วมกันพัฒนาแผนการพัฒนาจุฬาฯ ร่วมกันออกแบบพื้นที่ให้เป็นการใช้ประโยชน์ผสมผสานสอดคล้องกับความต้องการของทุกคน ให้เป็นเมืองแหล่งพลวัฒน์ทางวิชาการ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รองรับไลฟ์ไสตล์ ทั้งธุรกิจ ที่พักอาศัย กิจกรรมบันเทิง และศูนย์วิชาการ
สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่จุฬาฯ เพื่อรองรับการคนอยู่อาศัยราว 25,000 คน ในตอนกลางคืน เทียบเท่าได้รับเทศบาลขนาดใหญ่หนึ่งเทศบาล และมีคนเดินทางราว 80,000 คนในช่วงกลางวัน บนเนื้อที่ศักยภาพ 291 ไร่ จากแผนแม่บทการพัฒนาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2580 มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชยกรรม ทั้งพื้นที่สยามสแควร์และบริเวณสวนหลวง-สามย่าน โดยแบ่งโซนเป็น 5 โซน ประกอบด้วย
โซน A สามย่านเมืองแห่งธุรกิจในอนาคต (Future Siam Business Corridor) ออกแบบภาพของสามย่านในอนาคตจะเป็นย่านธุรกิจที่มีศักยภาพ ใกล้รถไฟฟ้า มีการพัฒนาผสมผสานหลากหลาย ทั้งพื้นที่พาณิชยกรรม สำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรม และการจัดกิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ และสร้างประสบการณ์ด้านนวัตกรรม อาคารสีเขียว และพื้นที่นอกอาคารสีเขียว เต็มไปด้วยร้านค้าจากย่านเก่า และยังมีที่พักอาศัย
โซน B ศูนย์การแสดงสินค้าและจุดนัดพบแห่งพระราม 4 (Rama-Four Meeting Place and Sapan-Lueang Exhibition Corner) บริเวณ จุดตัดผ่านย่านพระราม 4 สะพานเหลืองเข้าสู่พื้นที่สีเขียว จะเป็นพื้นที่ต้นแบบการใช้ชีวิตคนเมือง มีพื้นที่การจัดประชุม ผสมผสานย่านธุรกิจ ที่พักอาศัย กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ย่านกินดื่มหลังเลิกงาน ที่ให้ความสนุกสนานบันเทิงตลอด 24 ชั่วโมง
โซน C พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อยู่อาศัย และแหล่งแสดงนวัตกรรมชั้นดี
(CU 2nd Centennial Showcase and Experience) เป็นพื้นที่สำนักงานทรัพย์สิน พื้นที่เปลี่ยนผ่านและยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาพื้นที่ด้านพาณิชยกรรม
ประกอบด้วย ที่พักอาศัยคุณภาพดีสำหรับบุคลากร และบุคคลทั่วไป มีการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อเป็นต้นแบบ รายล้อมไปด้วยพื้นที่ 29 ไร่ ของอุทยานร้อยปี ที่จะสร้างระบบนิเวศใหม่ สำหรับการเรียนรู้ และต้นแบบธุรกิจสังคมที่อยู่ร่วมกันระหว่างพื้นที่ทางนวัตกรรมจากองค์กรนวัตกรรมต่างๆ และพื้นที่ร้านค้าจากย่านเก่าของสวนหลวงสามย่าน ภายในรอบรั้วจามจุรี
โซน D ศูนย์กลางอำนวยความสะดวกต่อวิถีชีวิตของวัยเรียนและประชาชนโดยรอบ (Service District and Campus Life Residence Zone) ประกอบด้วย พื้นที่พักอาศัยสำหรับนิสิต นักศึกษา และบุคลากรราคาย่อมเยา เป็นพื้นที่สำหรับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ ตั้งมาเพื่อให้บริการประชาชนให้พื้นที่ได้อย่างสะดวก
โซน E ศูนย์กลางการส่งเสริมด้านสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์
(Rama 1 Landmark and Physical welfare Amenities)
บริเวณต้นถนนพระราม 1 ถือเป็นประตูแห่งใหม่เปิดพื้นที่สู่สวนหลวงสามย่าน
เชื่อมต่อจากสยาม มาบุญครอง พื้นที่มีศักยภาพเพราะติดถนนขนาดใหญ่ และมีพื้นที่เปิดโล่งติดกับสนามกีฬาแห่งชาติ และยังติดกับสถานีรถไฟฟ้า
และย่านที่พักอาศัยสำหรับนักท่องเที่ยว ควรมีอาคารสูงที่เป็นจุดหมายตา ที่พร้อมรองรับการใช้งานผสมผสาน ทั้งห้างสรรพสินค้า พื้นที่กิจกรรม โรงแรม พื้นที่สำนักงาน อาคารพักอาศัยความหนาแน่นสูง และยังเป็นพื้นที่ใช้งานผสมผสานระหว่างจุฬาฯ และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคนกรุงเทพฯ มีพื้นที่ออกกำลังกาย และมีพื้นที่กิจกรรมสอดรับกับด้านวิชาการต่างๆ
นี่คือแผนแม่บทภายใน 30 ปี ข้างหน้าของจุฬาฯ ขณะที่ด้านความเป็นเมืองอัจฉริยะ ถูกออกแบบการพัฒนาให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานความเป็นเมืองต้นแบบอัจฉริยะใน 7 ด้าน ประกอบด้วย
1. Smart Environment (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ)
พัฒนาเมืองให้เป็น “Green & Clean City” ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวและเพิ่มจำนวนไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ (Big Tree) ในพื้นที่ให้มีมากยิ่งขึ้น
เป้าหมายให้มีพื้นที่สีเขียวสัดส่วน 1 คนต่อ 19.8 ตารางเมตร (ตร.ม.) ถือว่ามากกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ที่กำหนดไว้ที่อัตรา 1 คนต่อ 9 ตร.ม.
จึงสวนอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ที่ตั้งใจให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของคนกรุงฯ ได้มาใช้พื้นที่ดูดซับธรรมชาติ และทำกิจกรรม
ประกอบกับมีการส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการขยะแยกขยะเพื่อฝังกลบให้น้อยที่สุด และนำบางส่วนมาใช้น้ำ และรีไซเคิล มีระบบบำบัดน้ำเสียจากอาคารมาใช้ประโยชน์รดน้ำต้นไม้ ติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV) และยังมีระบบตรวจวัดสภาพอากาศ
2. Smart Mobility (การเดินทางอัจฉริยะ)
มีการเชื่อมต่อระบบขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ด้วยทางเลือกการเดินทางที่หลากหลายภายในพื้นที่ (Seamless Transportation) ผ่านระบบแบ่งปันกันใช้ทั้งรถยนต์ รถตุ๊กตุ๊ก รถบัส รถสกูตเตอร์ และจักรยาน
ในอนาคตจะพัฒนารถไฟมวลเบาเชื่อมสถานีบีทีเอสสยามกับสถานีรถไฟฟ้าสยามย่านผ่านจุฬาฯ และมีระบบการพัฒนาการเรียกสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน เพิ่มความสะดวกด้วยการใช้งาน และติดตามตำแหน่งของรถ ที่สำคัญในทุกทางเลือกการเดินทางเป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด
3. Smart Energy (พลังงานอัจฉริยะ)
มีการปรับปรุงระบบจ่ายไฟฟ้าบนสถานีไฟฟ้าย่อย 2 สถานี ผ่านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยได้เริ่มนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้วเพื่อเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยด้านพลังงาน มีการปรับปรุงทัศนียภาพภายในพื้นที่โดยการนำสายไฟฟ้าลงดิน และพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) พร้อมทั้งมีแผนการทดลองติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ในพื้นที่อีกด้วย
4. Smart Living (การอยู่อาศัยอัจฉริยะ)
ผู้ที่มาพักอาศัยในพื้นที่แห่งนี้มีหลากหลายระดับที่พัก ตั้งแต่ ราคาระดับล้านจนถึงหลักสิบล้าน แต่จะถูกแบ่งเป็นโซน
ดังนั้นจุฬาฯ จึงวางแผนการพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์คนทุกระดับ มีทั้งกลุ่มบุคลากรผู้ให้บริการ พนักงานในมหาวิทยาลัย นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ จนถึงนักธุรกิจระดับเริ่มต้นจนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ รวมถึงพนักงานที่ทำงานในสำนักงาน จะต้องได้รับสิทธิเข้าถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ด้วยการมีการส่งเสริมสุขอนามัย สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ สามารถเดินเท้าได้ (Walkable City7)
มีพื้นที่บริการสาธารณในโครงการ เช่น สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง สถานีพยาบาล ทำให้ไว้วางใจได้ว่ามีความปลอดภัยจากอาชญากรรมและอุบัติเหตุ มีสิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมรองรับทุกความต้องการ ย่านบันเทิง แหล่งช้อปปิ้ง สันทนาการ ออกกำลังกาย ออกแบบพื้นที่เพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) เพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกๆ กลุ่ม ทั้งคนปกติ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก
5. Smart Economy (เศรษฐกิจอัจฉริยะ)
พื้นที่แห่งโอกาสที่มีการสร้างสภาพแวดล้อม หรือ Eco-system ให้รองรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรม สร้างการเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ รองรับอนาคตสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในร้านค้า ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่
6. Smart People (คนอัจฉริยะ)
สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) เพื่อให้คนในชุมชนมีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญให้มีความพร้อมในการเป็นกำลังขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองต่อไป จึงสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ
7. Smart Governance (การบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ)
มีระบบการพัฒนาแบบสร้างการมีส่วนร่วม ผ่านการรับฟังความเห็นของชุมชน โดยสามารถร้องเรียน หรือแสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code ที่ติดไว้ตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งจะส่งตรงถึงผู้บริหารอย่างแน่นอน ถือเป็นการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของทุกคนเพื่อร่วมออกแบบและตัดสินใจ ตลอดจนร่วมตรวจสอบ ผู้ที่มาใช้พื้นที่จึงรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ เพราะมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ อีกทั้งสร้างระบบการทำงานโปร่งใส
โดยการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ (Open Data) ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าถึงได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและสตาร์ทอัพสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงแก้ไขพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ทำงานร่วมกัน
เป้าหมายคือการถูกยกย่องให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Livable City)พื้นที่รอบข้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และยังเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ ขณะเดียวกันยังได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ที่สำคัญคือมีการเดินทางสะดวก ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม วาดฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีครบจบทุกด้านในแห่งเดียว ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของและยินยอมจ่ายในราคาสูง
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก้าวข้ามความท้าทายที่ทำให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงที่พักอาศัยราคาถูกและเข้าไปใช้พื้นที่ได้เช่นเดียวกันกับผู้ที่ยอมจ่ายเงินในราคาสูง จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม สร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนเข้าถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ไข่แดงใจกลางกรุง รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจได้คุ้มค่าคืนประโยชน์สุขสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน
เรื่องโดย ประกายดาว
ข้อมูลและภาพจาก
เติมอาหารสมองและพลังใจด้วยคอนเทนต์สาระจาก 2read
กดถูกใจ กดติดตามเพจ กดไลค์โพสต์นี้ให้เราด้วยนะคะ 👍
โฆษณา