8 มิ.ย. 2022 เวลา 10:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
ลุงพร ช่างทองโบราณ
อีกมือที่สืบสาน สร้างตำนาน ทองโบราณเพชรบุรี
เรื่อง สุมาลี วาทีหวาน ภาพ จักรกริช อมศิริ
ภาพ: CreativeMatters
“มาเลย เข้ามาเลย”
เสียงเชื้อเชิญของลุงพร สิทธิพร นพคุณ ดังแว่วมาแต่ไกล พร้อมเปิดประตูเรือนไม้ที่ตั้งใจก่อสร้างให้เป็นศูนย์การเรียนรู้การทำทองโบราณสกุลช่างเพชรบุรีบนพื้นที่ผืนใหม่ ในตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งรายล้อมด้วยสวนผลไม้ ที่คุณลุงหมายจะให้เป็นที่พักพิงให้ผู้แวะเวียนจากแดนใกล้-ไกล ได้เอนกายนั่งนอนให้สบาย ภายใต้ร่มไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่น รอบบริเวณ
ภาพ: CreativeMatters
ก่อนเริ่มทำความรู้จัก “ลุงพร” จานมะม่วงสุก-ดิบ พร้อมเสียงเชิญชวนให้หยิบลิ้ม ชิมรสผลผลิตผลแรกของฤดูกาล สะท้อนถึงน้ำใจที่หาได้ในชทบท และยังมิเหือดแห้งหายไป รวมทั้งยังได้สื่อถึงคุณลักษณะนิสัยของลุงพร ที่มักรับรองแขกแปลกหน้าผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิตอยู่เป็นนิตย์
ภาพ: CreativeMatters
ภูมิปัญญาในการทำทองโบราณเพชรบุรี ว่ากันว่าสามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนหลังไปได้ไกล แม้หลักฐานต่างๆ จะปรากฏชัดในสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยว่าครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เหล่าบรรดาช่างหลวงในสำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งรวมถึงช่างทองหลวงเข้ามาที่เมืองเพชรบุรี เพื่อก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) (ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ, 2561)
แต่จากรูปแบบ ลวดลาย อันวิจิตรบรรจงของทองโบราณเพชรบุรี เชื่อว่ามีการพัฒนาต่อยอดมาจากองค์ความรู้จากภูมิปัญญาช่างทองชั้นบรมครูในสมัยอยุธยา จนเกิดเป็นลวดลายเปี่ยมเอกลักษณ์ เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกมะลิ และรูปทรงดอกบัว (ปัญจมาญา, 2553: 49)
แลความบรรจงงดงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ปรากฏชัดเป็นลวดลายใหม่หลากหลายในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีคำกล่าวขานว่า “มีค่าควรเมือง” เป็นที่ต้องตา ต้องใจของผู้คนที่ชื่นชอบงานเครื่องประดับทองเป็นยิ่งนักโดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ “เครื่องทองโบราณสกุลช่างเมืองเพชร” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552
ภาพ: CreativeMatters
โดยส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงช่างทองเมืองเพชร แม้แต่ “คนเพชร” ก็จะนึกถึงเหล่าช่างทองเมืองเพชรในอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ทั้งสกุลตาลวันนา ทองสัมฤทธิ์ สุวรรณช่าง และชูบดินทร์ รวมถึงช่างทองโบราณอย่างป้าเนื่อง แฝงสีคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประณีตศิลป์ พ.ศ. 2555 หรือป้าฉิว บุญศิริ ลูกศิษย์ร่วมครูเดียวกับป้าเนื่อง เป็นต้น
หากแต่ในวันนี้ “ลุงพร ทองโบราณ” ได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้นในระยะ 10 ปีให้หลังมานี้ โดยพันโทสิทธิพร นพคุณ ในวัย 78 ปี ข้าราชการทหารผู้เกษียณอายุจากกองดุริยางค์ทหารบก พื้นเพเป็นลูกหลานช่างทำกำไลทองเหลือง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ลุงพร ทองโบราณ” ว่าเกิดจากการส่งลูกชาย นายจารุเวส นพคุณ ให้เข้าไปศึกษาสาขาวิชาช่างทองหลวงในโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย รุ่นที่ 1 ที่ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538
ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ร่วมเฉลิมฉลองในปีมหามงคลแห่งการเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (อุดมเดช เกตุแก้ว, 2563)
ภาพ: CreativeMatters
ก่อนจะจบการศึกษา คุณจารุเวสได้มาขอฝึกงานการทำทองโบราณกับช่างอ้วน นายกิตติพร นาใจดี ช่างทองที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองเพชรบุรี
โดยระหว่างฝึกและเรียนรู้วิชาช่าง ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ จากการร่ำเรียนในโรงเรียนช่าง กับทักษะ เทคนิคเฉพาะที่ช่างอ้วนได้สะสม ตั้งใจถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลาน ยกบ้านให้เป็นสำนักตักศิลา รวบรวมลูกศิษย์ลูกหา ที่มากินอยู่หลับนอนเรียนรู้วิชากับครูอ้วน
จนเมื่อสำเร็จการศึกษาคุณจารุเวสไม่ประสงค์รับราชการอยู่ในเมืองกรุง หันเหกลับเพชรบุรีมาสืบสานตำนานช่างทองเมืองเพชร โดยรวบรวมจับกลุ่มกับช่างทองร่วมสำนักผลิตงานทองโบราณร่วมกันมา แต่น่าเสียดาย ในวัยที่กำลังเป็นกำลังสำคัญ คุณจารุเวสประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ในปี พ.ศ. 2555
แต่ด้วยยังมีช่างที่พร้อมทำงาน บวกกับความรู้ที่ได้สั่งสมจากการเป็นคู่คิด ให้ความเห็น เป็นที่ปรึกษา และร่วมออกแบบ เพิ่มเติมลวดลายใหม่เคียงข้างลูกชายมานับ 10 ปี อีกทั้งลุงพรเองยังมีสายเลือดของความเป็นช่างที่ได้ลงมือลงแรงเป็นลูกมือช่างทองเหลือง เรียนรู้อยู่กับบิดามาตั้งแต่เยาว์วัย จึงสืบสานดำเนินการงานช่างทองต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ความเป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของทองเพชรบุรี ความละเอียดละออ ประณีต สะท้อนฝีมือฝีไม้ของทีมช่างทอง ปรากฏเป็นชิ้นงามวิจิตรบรรจง บวกความพิถีพิถันในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงานที่ลูกค้าสั่งทำทุกชิ้นด้วยตนเอง
ทำให้ชื่อเสียงของ “ลุงพร ทองโบราณ” บอกกล่าวเล่ากันในกลุ่มลูกค้าแบบปากต่อปาก ทำให้มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งสูงวัย เรื่อยไปถึงวัยทำงาน และยังผลิตผลงานต่อเนื่องเรื่อยมา
ภาพ: CreativeMatters
ครั้นเมื่อเอ่ยถามถึงจำนวนลวดลายทั้งหมด ได้รับคำตอบจากลุงพรว่า “มีเยอะ เป็นสิบๆ ลายเลย” พร้อมหยิบเครื่องประดับหลากหลายทั้งแหวน สร้อยคอ สร้อยคอมือ กำไล ตุ้มหู ทับทรวง มาเรียงรายให้ชื่นชม พร้อมเปิดสมุดที่ได้บันทึกประวัติการทำทอง แสดงให้เห็นถึงลวดลายโบราณดั้งเดิม และลวดลายใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานตามรูปแบบความต้องการของลูกค้าจนเกิดเป็นชิ้นงาน สวยงามโดดเด่น เฉพาะคน
1
ส่วนที่มาของแต่ละลวดลายโบราณเหล่านี้ เกิดจากการประยุกต์นำเอาสิ่งรายล้อมรอบตัวที่ช่างนำมารังสรรค์ เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกบัวสัตตบงกช ลายกระดุม ลูกสน ปะวะหล่ำ (เต็งลั้ง) หรือโคมไฟจีน สื่อถึงแสงสว่าง โชติช่วง ลายดอกพิกุล ซึ่งเป็นไม้ดอกที่นิยมปลูกในวัด แสดงถึงความผูกพันระหว่าง คน (บ้าน) กับวัด ช่างจึงนำมาทำเป็นลวดลายของเครื่องประดับเพื่อเป็นมงคลกับชีวิต
อย่างลายดอกพิกุลซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋ว กว่าจะร้อยเรียงแต่ละดอกๆ ให้เป็นชิ้นงานขึ้นมาสักชิ้น ไม่ว่าจะเป็นกำไล สร้อยข้อมือ ต้องอาศัยเวลาในการทำ และความอดทนเป็นอย่างมาก บางชิ้นใช้เวลาในการทำนานนับเดือน
ภาพ: CreativeMatters
กลัวไม่มีใครทำ กลัวจะสูญหายไป มันเป็นงานฝีมือ อัตลักษณ์ของคนเพชรบุรีโดยแท้ ไม่มีช่างใหม่มาทำ ขาดการสืบสานต่อยอด
ลุงพร สิทธิพร นพคุณ ช่างทองโบราณเมืองเพชร
แววตาที่ย่อแสงแวววาวลง เมื่อบอกถึงความเป็นห่วงที่มีต่ออนาคตช่างทองโบราณเพชรบุรี
ใช้เวลานานกว่าจะชำนาญ เขาไม่ทำกัน ไปทำอย่างอื่น งานช่างฝีมือระดับชาติ ทำแบบดั้งเดิมที่ทำกันมาเป็นร้อยปี ไม่มีเทคโนโลยีอะไรมาช่วย ทำด้วยมือเองในทุกขั้นตอน กว่าจะตัดทองให้ได้ตามน้ำหนัก เอาไฟเป่า หลอม เอาใส่ราง รีด ให้เป็นเส้นเล็กๆ มองแทบไม่เห็น ขนาดเท่าเส้นด้ายก็มี
ลุงพร สิทธิพร นพคุณ ช่างทองโบราณเมืองเพชร
คำบอกเล่าเป็นขั้นตอนการทำทองอย่างคร่าวๆ แต่คนฟังถึงกับถอนหายใจยาว เพราะกว่าจะได้ ไม่ง่ายเลยสักนิด ทั้งทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ทำให้อดรู้สึกนับถือและยกย่องอยู่ในใจถึงความมีน้ำอดน้ำทนอันยิ่งยวด ของเหล่าช่างทองมิได้
ภาพ: CreativeMatters
“34 คนได้อยู่นะ” ลุงพรบอกถึงจำนวนสมาชิกช่างทองเพชรบุรีของ “ชมรมช่างทองโบราณเมืองเพชร” ตัวเลขจากการรวบรวมเหล่าช่างทองเพชรบุรีที่รวมตัวจัดตั้งเพื่อช่วยกันสืบสานและร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม
มีกิจกรรมประชุมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำทองและแลกเปลี่ยนเทคนิคเชิงช่าง ทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับจังหวัด สถานศึกษา ในการจัดงานเชิงอนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ เป็นเจ้าบ้านในการต้อนรับทั้งนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไปให้เข้ามาหาความรู้ในศูนย์การเรียนรู้ของลุงเอง
ภาพ : www.facebook.com/ลุงพร-ทองโบราณ-1422074921214297/
ภาพ : www.facebook.com/ลุงพร-ทองโบราณ-1422074921214297/ ก่อนจบบทสนทนา เสียงลุงพรยังย้ำถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่
“อะไรเป็นสิ่งดีของจังหวัดเพชรบุรี ก็อยากอนุรักษ์ไว้”
ลุงพร สิทธิพร นพคุณ ช่างทองโบราณเมืองเพชร
ร่วมอนุรักษ์ ชื่นชม และภาคภูมิใจกับงานทองโบราณสกุลช่างเมืองเพชร พร้อมชมผลงานทองโบราณของลุงพรได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ลุงพร ทองโบราณ หรือสอบถามข้อมูล โทร 089-8953484
ภาพ: CreativeMatters
แหล่งข้อมูล
ปัญจมาญา. (2553). หอเครื่องทองไทย ... ทอประกาย สะท้อนอารยธรรม “สุวรรณภูมิ”. Living Thai”. (1), 49.
สิทธิพร นพคุณ. (การสื่อสารส่วนบุคคล, 30 เมษายน 2565)
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ. (1 กุมภาพันธ์ 2561). เครื่องทองโบราณแห่งเมืองเพชรบุรี. https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.622.1.0.html
อุดมเดช เกตุแก้ว ( 2 พฤษภาคม 2563). “ลุงพร ทองโบราณ” สืบสานงานทองสกุลช่างเมืองเพชร. เพชรภูมิ. 6
#CreativeMatters
#Culture
#ArtsandCulture
#ลุงพรทองโบราณ
#ช่างทองโบราณเพชรบุรี
#ทองโบราณเพชรบุรี
โฆษณา