9 มิ.ย. 2022 เวลา 07:45 • การเมือง
สลากกินแบ่งรัฐบาล โดย ธนินท์ธรณ์
เดิมที่เคยแพลนไว้ ว่าจะมาต่อในเรื่องผู้ว่ากรุงเทพฯ แต่ต้องมาเจอกันในงวดแรกของการขายสลากฯ ออนไลน์เสียก่อน ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ของกองสลากฯ และส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของการค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลไปอย่างสิ้นเชิง
ทันทีที่กองสลากฯ แก้ปัญหาหวยแพงตามนโยบายรัฐบาล โดยการออกขายสลากฯ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยอาศัยแอปพลิเคชั่น"เป๋าตัง" ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายอยู่แล้วจากโครงการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโรคระบาดโควิท 19 ที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2561
ซึ่งในการขายสลากฯ ในช่องทางนี้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาซื้อสลากฯ ในราคาใบละแปดสิบบาทได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องผ่านคนกลางหลายทอดจนกลายเป็นใบละหนึ่งร้อยบาท (ขั้นต่ำ) ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนาน และเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่อาจจะไม่ตรงใจใครหลาย ๆ คน
จนมีการนำไปเปรียบเทียบกับกรณีหวยบนดินในยุครัฐบาลทักษิน ซึ่งได้ถูกศาลตัดสินไปแล้ว ว่ามีความผิด ซึ่งก็มีเสียงค่อนแคะ ว่าในรัฐบาลยุคคนดี ทำอะไรก็ไม่ผิด ก็ขอย้อนไปดูคำตัดสินในกรณีหวยบนดินกันสักหน่อย
คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 มีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
1.การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว (หวยบนดิน) มีลักษณะเป็นสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ที่อาจทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีโอกาสขาดทุน และส่งผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหายได้
มติของคณะรัฐมนตรีที่ให้ออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว (หวยบนดิน) จึงไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 มาตรา 5 และมาตรา 9
โดยตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิ่งหาคม 2546 ถึงงวดวันที่ 16 กันยายน 2549 จะมีรายได้รวมเป็นเงิน 123,339,840,730 บาท แต่ปรากฏว่ามีผลขาดทุนรวม 7 งวด เป็นเงินรวม 1,668,192,060.02 บาท
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขอเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสินในวงเงิน 20,000,000,000 บาท เพื่อเป็นเงินสำรองรับการจ่ายเงินรางวัลสลากพิเศษ แบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว กรณีถูกเงินรางวัลเกินกว่าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดสรรไว้
จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีถึงการอาจเกิดผลขาดทุนดังกล่าว มิฉะนั้นคงไม่มีการดำเนินการขอเบิกเงินเกินบัญชี
..ดังนั้น การจำหน่ายสลากดังกล่าวเป็นการจัดให้มีการเล่นพนัน ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ โดย 'ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ'
2.การใช้จ่ายเงินรายได้ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน และไม่ปรากฏว่าได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในทุกกรณี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการในทุกขั้นตอน
แม้หักค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน เงินสมทบ ค่าบริหารและเงินคืนสู่สังคมแล้ว ก็ยังคงมีเงินรวมประมาณนับ 'แสนล้านบาท' ที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเงินที่ไม่นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนี้ ไม่ปรากฎค่าใช้จ่ายแต่ละรายการ เช่นเดียวกับการเสนอขอใช้งบประมาณแผ่นดินในโครงการอื่น
..การออกสลากดังกล่าวโดยไม่ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายก่อน แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการให้เงินจากการขายสลากดังกล่าวถูกจัดสรรเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน อันจะส่งผลให้การใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามช่องทางปกติตามวิธีการงบประมาณ
*สรุปสั้นๆอีกทีนะครับ หวยบนดินของคุณทักษิณถูกศาลตัดสินว่าผิดเพราะ
1.เป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517
2.ไม่มีการกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินรายได้ให้ชัดเจน และมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ โดยยังคงมีเงินรวมประมาณนับแสนล้าน ที่ไม่ได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ซึ่งดูแล้วคำแก้ตัวของ ทักษิน ก็ไม่ได้ต่างจากกรณีจำนำข้าวของน้องสาว ยิ่งลักษณ์ คือไม่ยอมรับว่าตนเองบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ก่อให้เกิดหนี้สิน สร้างความเสียหายแก่ประเทศ และสุดท้าย เมื่อถูกตัดสินความผิด ก็อ้างคำว่า ถูกยึดอำนาจรัฐประหารอย่างไม่เป็นธรรม
กลับเข้าเรื่องหวยออนไลน์ในยุครัฐบาลนี้กันต่อ
วิธีการก็แสนง่าย คือการเอาสลากฯ เข้าระบบ รัฐบาลจัดให้กองสลากฯ เอาสลากฯ เข้ามาขายในแอปพลิเคชั่น"เป๋าตัง" ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่นิยมใช้กันแพร่หลายทั่วประเทศ ซึ่งสลากฯ ที่ถูกนำเข้ามาขาย มีสลากฯ ทั้งในส่วนของกองสลากเอง และในส่วนของตัวแทนรายย่อย
โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2565
นายลวรณ​ แสงสนิท​ อธิบดีกรมสรรพากร​ ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยความคืบหน้าการขายสลากดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชันเป๋าตังว่า​ นับตั้งแต่สำนักงานสลากฯนำสลากดิจิทัลมาขายผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวในวันที่​ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา​ ล่าสุดเมื่อเวลา​ 20.00​ น.มีประชาชน​เข้าซื้อสลากแล้วจำนวน​ 5 ล้านใบ​ มีจำนวนผู้สลาก​กว่า​ 1.2​ ล้านคน​ ถือว่า​ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก
"ร้านค้าที่นำสลากมาฝากขายหมดแล้ว 429 ร้าน​ ร้านส่วนใหญ่ หรือประมาณ 9.5​ พันร้าน มีสลากเหลือไม่เกิน 20 ใบ​ ส่วนร้านที่มีสลากคงเหลือสูงสุดขณะนี้คือ 29 ใบ"
ทั้งนี้​ ขณะนี้​ ยังเหลือสลากดิจิทัลที่ขายผ่านแอปเป๋าตังอยู่ประมาณ​ 2.7 แสนใบเท่านั้น
ส่วนแนวทางการเพิ่มจำนวนสลากจำหน่าย
ผ่านแพลตฟอร์มนั้น คงต้องพิจารณาความเหมาะสม เพราะสำนักงานสลากฯ เอง ก็ต้องการให้สลากแบบใบสามารถขายควบคู่กันไปได้ ไม่ได้รับผลกระทบ ต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป
โดยวิธีนี้ คือการเอาสลากฯ ในระบบซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งอยู่ในคำจำกัดความ ของคำว่า "สลากกินแบ่ง" มาจัดระเบียบขั้นตอนวิธีการขายใหม่ ต่างจากวิธีการของรัฐบาลทักษิน คือเป็นการขายสลากในรูปแบบ"สลากกินรวบ" ซึ่งเป็นคนละแนวทาง คนละวิธีการ ซึ่งจะไปค่อนแคะว่า เป็นการ copy นโยบายจากรัฐบาลทักษินนั้น ไม่ได้เลย
วิธีการนี้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสลากฯ ในราคาเป็นธรรม คือ ราคาใบละ 80 บาทได้อย่างโปร่งใส แท้จริงอย่างที่สุด จากที่เคยมีการพยายามแก้ใขปัญหาหวยแพงมาตลอดเวลา
ในมุมกลับกัน ในช่วงที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับแอปพลิเคชั่นขายสลากดิจิทัล "มังกรฟ้า" "กองสลากพลัส" ก่อนจะมีการขายสลากฯ ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น"เป๋าตัง" ตัวผมเองเคยเขียนไว้ในเฟสบุคส่วนตัวแล้วว่า
ถ้ารัฐบาลขายสลากฯ ผ่านแอปเป๋าตังจริง ๆ เราจะได้ซื้อสลากฯ ใบละ80 บาท แต่ภาพคนขายหวยตามตลาดนัด เดินตามร้านค้า สถานที่ท่องเที่ยว หน้าธนาคาร ที่เราคุ้นชินนั้น จะหายไป
ทำไมพวกเขาต้องหายไป
ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกจำหน่ายไม่เกิน 100 ล้านฉบับต่องวด โดยนับจากปี 2558 ทางสำนักงานสลากฯได้มีการรื้อระบบโควตาจัดสรรสลากใหม่ แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
1.ระบบตัวแทนจำหน่าย จำนวน 31 ล้านฉบับ โดยจัดสรรให้กับตัวแทนจำหน่าย 3 ประเภท ได้แก่
-สมาคม/องค์กร/มูลนิธิ
-บุคคลทั่วไปรายย่อย
-คนพิการ
2. ระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ไม่เกิน 69 ล้านฉบับ แบ่งเป็น
- สลากซื้อ จำนวน 40,000 เล่ม
- สลากจอง จำนวน 650,000 เล่ม
ทั้งนี้ สำหรับตัวแทนจำหน่ายนั้น แบ่งเป็น
-ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยส่วนกลาง จำนวน 4,719 ราย
-ตัวแทนจำหน่ายรายย่อยส่วนภูมิภาค จำนวน 21,340 ราย
-ตัวแทนจำหน่ายที่เป็นสมาคม องค์กร มูลนิธิ จำนวน 891 ราย
-ผู้ที่ทำรายการสั่งซื้อ หรือสั่งจองได้ จำนวน 128,752 ราย
(ข้อมูล ณ งวดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564)
อย่างไรก็ดี หลังจากที่พบว่า สลากที่ขายในตลาดนั้น ส่วนใหญ่มีราคาเกิน 80 บาทต่อใบ ดังนั้น สำนักงานสลากฯจึงพยายามหาแนวทางแก้ไข โดยหนึ่งในแนวทางคือ การจัดระเบียบโควตาของระบบซื้อ-จองล่วงหน้า เพื่อคัดกรองผู้ค้ารายย่อยที่ขายสลากไม่เกิน 80 บาทต่อใบตัวจริง
ปัจจุบันมีผู้ได้รับการจัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้าอยู่แล้วประมาณ 1.3 แสนราย ทางสำนักงานสลากฯ มีแผนจะเพิ่มจำนวนโควตาผู้ซื้อ-จองเป็น 2 แสนราย ที่ผ่านมา เปิดรับสมัครแล้วมีผู้มาสมัครนับล้านราย ทางสำนักงานสลากฯ อยู่ระหว่างการคัดกรองเพื่อหาผู้ขายสลากในราคาไม่เกิน 80 บาทตัวจริง โดยขอร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ
ขณะเดียวกัน สำนักงานสลากฯ ยังมีแผนที่จะเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสลากให้กับผู้ค้ารายย่อยทั่วไป โดยผู้ค้าสลากสามารถนำสลากที่ได้รับรายละไม่เกิน 5 เล่ม มาลงขายผ่านแพลตฟอร์มจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ต้องขายในราคาไม่เกิน 80 บาทต่อใบ และสามารถลดราคาในการขาย เพื่อเร่งยอดขายได้ด้วย ทั้งนี้ การซื้อขายจะทำผ่านแอพลิเคชันเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย
นอกจากนี้ สำนักงานสลากฯ จะจัดจุดจำหน่ายสลากที่มีราคาไม่เกิน 80 บาท ภายใต้ชื่อโครงการสลาก ซึ่งในเฟสแรกมี 77 จุด ขณะนี้ ได้มีการคัดเลือกตัวแทนจำหน่าย ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคกลาง รวม 151 จุด อยู่ระหว่างการทำสัญญารับสลากไปจำหน่าย เริ่มงวด 2 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะทำให้ยอดรวมของจุดจำหน่ายสลากโครงการ 80 มีทั้งหมด 228 ราย ใน 18 จังหวัด
สำหรับผู้สมัครเข้าร่วมโครงการในจังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการคัดเลือกอย่างต่อเนื่อง
กล่าวคร่าว ๆ คือกองสลากฯ ให้โควต้าผู้ค้ารายย่อย จำนวน 200,000 ราย โดยให้มารับจากกองสลากฯได้คนละ 5 ฉบับ ฉบับละ 100 ใบ โดยมีต้นทุนใบละประมาณ 70.40 บาท
ซึ่งถ้าดูจากความเป็นจริง
ถ้าผมเองลงทะเบียนเป็นผู้ค้ารายย่อย ขายสลากฯ เลี้ยงชีพ ผมต้องมีเงินทุนไปซื้อสลากฯ งวดละ 35,200 บาท โดยคิดจาก ต้นทุนราคาสลากฯ ใบละ 70.40 บาท จำนวน 500 ใบ
นิสัยคนซื้อหวย กว่าจะได้ฤกษงามยามดีในการซื้อ ก็ปาเข้าไปห้าวันสุดท้ายก่อนหวยออก ยกเว้นว่า มีเลขเด่นเลขดังประจำงวดนั้น ๆ
ผมที่เป็นผู้ขายรายย่อย ก็ต้องทนแบกค่าใช้จ่ายส่วนตัวไว้อีกสิบวัน กว่าจะเริ่มขายได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ซึ่ง ถ้าโชคดี ขายหมด ผมจะได้กำไร งวดละ 4,800 บาท เท่ากับเดือนละ 9,600 บาทโดยที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย เช่น การไปรับสลาก ค่าเช่าแผง ค่าเข้าขายในตลาดนัด
และ ยังไม่ได้คิด หากมีสลากฯ ตกค้าง ขายไม่ออก ซึ่ง หลาย ๆ คนคิดว่า อาจจะเหลือถูกรางวัลบ้างละนะ
อย่าต้องให้คนขาย หวังถึงตรงนั้นเลยครับ
ในเมื่อ คิดต้นทุนกับกำไร จะเห็นได้ว่า การเป็นผู้ค้ารายย่อย ชีวิตมันโหดร้ายขนาดไหน
ถ้าถามว่า กองสลากฯ เพิ่มจำนวนสลากฯ ที่ขาย เพิ่มปริมาณให้ผู้ค้ารายย่อยรับเพิ่มมากกว่าห้าฉบับได้ไหม
ข้อดี มันมี แต่ข้อเสีย ก็ตามมา ยิ่งรับได้เยอะ ยิ่งมีค่าใช้จ่ายในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าขายไม่หมดเป็นจำนวนมาก คนที่แสนจะซวย ก็ผู้ค้ารายย่อยนี่แหละ
เรียกได้ว่าผู้ขายสลากฯ สู้ชีวิต แต่อาจจะโดนสลากฯ เหลือ แถมไม่ถูกรางวัลสู้กลับ
คิดไปคิดมา จะไปสู้ชีวิตให้เหนื่อยทำไม ในเมื่อทุกปัญหาย่อมมีทางออก
จากที่รับสลากฯ มาในราคาต้นทุน แล้วกลัวขายไม่ทันกินเพราะกว่านักเล่นจะมาซื้อ กลัวขายไม่หมดแล้วจะเข้าเนื้อ ทั้งที่กำไรก็แสนจะน้อย เมื่อมีกลุ่มทุนขอเข้ามาซื้อสลากฯ ทั้งหมดห้าฉบับในมือ ตั้งแต่วันแรกที่รับสลากฯ ในราคา 80 บาท เป็นใคร ก็ขาย
ส่วนเคสที่เห็นแผงขายสลากฯ ใบละ 80 บาท ซึ่งมีอยู่น่าจะไม่ถึง 100 แผง อาจจะไม่ถึง 50 แผงในประเทศเสียด้วยซ้ำ เพราะเขามีธุรกิจร่วม เช่น ขายของชำ หรือมีหน้าร้านอื่น ๆ เป็นของตัวเองร่วมด้วย
เพราะผมฟันธงเลยว่า ขายสลากฯ อย่างตรงไปตรงมาอย่างเดียวนั้น เอาชีวิตไม่รอด
กลับมาที่เก่า
ในเมื่อมีนายทุนมารับซื้อสลากฯ ในราคาใบละ 80 บาท โดยเหมาทั้งหมด ก็เป็นจุดเริ่มต้นของสลากใบละ 100 ที่เราคุ้นชิน ในการรับต่อมาขาย ก็เกิดกระบวนการ รวมสลากฯ รวมชุด 20 ใบ 15 ใบ 10 ใบ 5 ใบ 3 ใบ 2 ใบ จากรวมชุด ก็รวมเลขเด็ด เลขดังประจำงวด ว่าจะมีวันเกิดใคร ทะเบียนรถใคร เทศกาลหรือ เหตุการณ์สำคัญอะไร รวมถึง เลขสั่งซื้อจากลูกค้าเจ้าประจำ
อย่างที่ว่า สลากฯ ใบละ 70.40 จากกองสลากฯ มันมีต้นทุน ค่าพิมพ์ ค่าจ้างพนักงาน สลากฯ ใบละ 100 ก็มีต้นทุนในการรวมชุดเช่นกัน ซึ่งเลขเดี่ยว หรือเลขชุดดัง ๆ ก็มีราคาสูงกว่าใบละ 100 บาทเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งที่ผมได้กล่าวไว้ว่า ภาพคนขายสลากฯ ตามตลาดนัด หน้าธนาคาร เดินขายตามร้านจะหายไป เป็นเพราะว่า เขาเหล่านั้น ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด ไม่ได้เป็นผู้มีโควต้ารับสลากฯ ตรงจากกองสลากตัวจริง คนเหล่านั้นที่เราเห็น รับสลากมาในราคา 90 บาทกว่าแล้วทั้งนั้น
อาจจะมีบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อย ที่รับตรงมาเอง ใบละ 70.40 บาท และนำมาขายเองใบโดยได้อานิสงค์จากการที่คนเราชินและพร้อมจ่ายกับสลากฯ ใบละ 100 บาท อยู่แล้ว ซึ่งกลโกงสารพัดแบบที่ผู้ขายตรงจะนำมาใช้ เช่นการรวบสลากจากผู้ได้รับโควต้ารายอื่น ซึ่งอาจจะเป็นญาติกัน ซึ่งสุดท้าย สลากฯ ก็ถึงมือผู้ซื้อในราคาใบละ 100 อยู่ดี
และถ้ามีคำถามว่า กองสลากแก้ปัญหาหวยแพงด้วยวิธีการขายผ่านแอปฯ ของรัฐบาล นายทุนจะเข้าไปกว้านซื้อมาขายต่อได้ไหม
เป็นไปได้ครับ แต่ก็จะลำบากขึ้น เพราะคนซื้อ จะต้องใช้ไอดีส่วนตัวเข้าไปซื้อ ซึ่งจะมีการบันทึกไว้ และจะต้องทำภาพสลาก หรือวิธีการได ๆ ก็ตาม ไปขายต่อ ซึ่งไปขายได้ในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาในการที่ผู้ซื้อปลายทางถูกรางวัล และการขึ้นรางวัล นายทุนที่ก๊อปสลากไปขายต่อ จะมีความผิดในการปลอมแปลงเอกสารทางราชการในทันที เรียกได้ว่า ตัดตอนการรวบซื้อสลากไปขายต่อเช่นเดิมได้อย่างน่าพอใจ
อาจจะมีเสียงบ่นออกมา ว่าผู้ขายสลากฯ รายย่อย จะทำมาหากินอย่างไร เพราะในเมื่อตัดตอนการรวบสลากฯ จากนายทุนไปแล้ว สลากฯ ใบละ 100 ก็จะไม่เกิดขึ้น จากเสียงโอดโอยของวงจรเก่า วงจรรวบขายจนสลากแพง ไปจนถึงระดับการเมือง จากผู้มีชื่อเสียง ผู้มีความรู้
ซึ่งก็ต้องถามย้อนไปถึงคนเหล่านี้ว่า ผู้ขายสลากฯ รายย่อย ขายสลากฯ ใบละเท่าไหร่ และคงจะต้องถามกลับไปยังนักบ่นเอาอีกว่า จะเอายังไง ในเมื่อแก้ปัญหาสลากฯ แพงให้แล้ว ไม่ช่วยสร้างสรรค์ยังจ้องจะค่อนแคะไม่รู้จักจบสิ้น
ซึ่งรัฐบาลเอง ก็ยังอยู่ในกรอบของรัฐศาสตร์ กรอบของนักปกครอง ที่ต้องปกครองคนในทุกระดับ
เรียกได้ว่า
อยากซื้อสลากราคาถูก เป็นธรรม ก็ไปซื้อได้ในแอปฯเป๋าตัง
อยากอุดหนุนสลากราคาแพงนอกระบบ วงจรเก่า ๆ ก็ไปซื้อกับผู้ร่วมก่อปัญหาที่เดินขายตามสถานที่ที่เคยซื้อ ซึ่ง ผอ.กองสลากฯ ก็ยังเอื้อให้มาโดยตลอด
เพราะแกก็ยังยืนยัน ว่ายังไม่เจอแผงไหน ขายสลากฯ เกินราคา
โฆษณา