9 มิ.ย. 2022 เวลา 10:00 • ท่องเที่ยว
แนะนำสถานที่ไหว้พระ ทำบุญ
สวัสดีค่ะ วันนี้ผู้เขียนขอเล่าถึงประวัติหลวงพ่อทองคำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านเกิดของผู้เขียนเอง
ทุ่งฝนแดนอีสาน คู่บ้านวัดโพธิ์ศรีทุ่ง
นุ่งผ้าหมี่ขิด ศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อทองคำ
งามล้ำธรรมชาติหนองแล้ง
หลวงพ่อทองคำ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสีสุกผสมทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระสถูปวัดโพธิ์ศรีทุ่ง บ้านทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
สร้างเมื่อ พ.ศ.1199 รวมเวลาสร้างถึงปัจจุบัน 1350 กว่าปี สร้างเสร็จเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ได้อัญเชิญเพื่อนำไปบรรจุที่วัดพระธาตุพนม พอมาถึงบ้านทุ่งฝน ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จแล้ว และภายในพระธาตุพนมนั้นยังเป็นเจดีย์บรรจุ "พระอุรังคธาตุ" ดังนั้นผู้ที่นำหลวงพ่อทองคำมาจึงสร้างเจดีย์คล้ายพระธาตุพนมและกู่ บรรจุหลวงพ่อทองคำและพระพุทธรูปปางต่างๆไว้ติดกับเจดีย์ใหญ่ ทิศตะวันตกใกล้กับต้นศรีมหาโพธิ์
ตามคำบอกเล่าของพระธรรมราชานุวัตรอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม เล่าว่าบ้านทุ่งฝน ปรากฎอยู่ในตำนานการสร้างพระธาตุพนม ชาวเวียงจันทน์ได้สร้างพระพุทธรูปขัดสมาธิปางมารวิชัยหลายองค์หล่อด้วยทองสีสุก เช่น หลวงพ่อพระสุก หลวงพ่อพระเสริม หลวงพ่อพระใส และหลวงพ่อทองคำ
คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าสมัยก่อนนั้นตรงกรุ ที่ขุดพบพระ เป็นป่าทึบมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างมาก ไม่มีใครกล้าเข้าไป วันหนึ่งนายพราน เห็นหมูป่าวิ่งเข้าไปตรงนั้นเลยชวนกันไปดักซุ่ม นายพรานได้ยิงหมูป่าตัวนั้นแต่ยิงเท่าไรลูกปืนก็ด้านหมด วันต่อมาจึงชวนชาวบ้านเข้าไปดู จึงได้เห็นว่ามีกรุ ที่บรรจุหลวงพ่อทองคำอยู่และเกตุของพระผุดขึ้นมาบนดิน จึงได้ทำการถางป่าบริเวณนั้น และปรับปรุงให้เป็นวัด ชื่อวัดโพธิ์ศรี
ในเวลากลางคืนทุกวันพระ หลวงปู่เพิก นนท์บุไร ได้เล่าว่าจะมีแสงสว่างเป็นดวงไฟออกมาจากเกตุของหลวงพ่อทองคำ ลอยออกจากวัดโพธิ์ศรี ลอยไปรอบๆหมู่บ้านเพื่อไปดูแลปกปักรักษาชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ครั้งหนึ่งมีโจรขโมยเอาหลวงพ่อทองนาคขึ้นเกวียนไปตามถนนบ้านหนองเลียง พอไปถึงกลางทางเกวียนหัก ขโมยจึงได้ยกหลวงพ่อนากลงไว้ข้างถนน ชาวบ้านจึงได้นำกลับมาไว้ที่วัดเหมือนเดิม
วัดโพธิ์ศรีทุ่งสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฎ
แต่ที่มาพบนั้นเป็นวัดร้าง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาอยู่มาก วัดโพธิ์ศรีทุ่งเดิมชื่อ วัดโพธิ์ศรี ซึ่งพ้องกับวัดโพธิ์ศรีที่บ้านเชียง ชาวบ้านจึงได้เพิ่มคำว่า "ทุ่ง" เป็นวัดโพธิ์ศรีทุ่ง ส่วนที่บ้านเชียงเพิ่มคำว่า "ใน" เป็นวัดโพธิ์ศรีใน
โฆษณา