9 มิ.ย. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Stagflation 1970s ต่างและเหมือนกับสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร?
1
นับตั้งแต่ที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงขึ้นมา ผู้คนก็เริ่มพูดถึงคำว่า “Stagflation” มากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่ง Stagflation หมายถึง สภาวะที่เกิดสิ่งไม่ดีทางเศรษฐกิจ 2 อย่างขึ้นพร้อมๆ กัน ทั้ง “อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง” และ “เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง”
แท้จริง สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1970-1980 เศรษฐกิจโลกของเราเคยเจอกับเหตุการณ์ Stagflation มาก่อน ผลกระทบครั้งนั้นกระจายไปทั้งกับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีสาเหตุตั้งต้นส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานที่แพงเหมือนตอนนี้
1
พอมาตอนนี้ ราคาพลังงานสูงขึ้นมาอย่างมากจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน คนก็เลยตั้งคำถาม “เรากำลังเข้าสู่ Stagflation ครั้งใหม่ไหม?”
2
ซึ่งในรายงาน “Global Economic Prospects June 2022” ที่ออกโดยธนาคารโลก ก็มีส่วนโฟกัสที่พูดเรื่อง Stagflation เอาไว้ โดยมีส่วนหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ “การเปรียบเทียบความเหมือนและต่างของสถานการณ์ตอนช่วง 1970-1980 กับตอนนี้ไว้” เราจึงหยิบประเด็นสำคัญมาสรุปให้ทุกคนกัน
📌 ความเหมือนของสถานการณ์ 1970-1980 กับตอนนี้
ความเหมือนของสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ ประการแรก คือ ราคาพลังงานและราคาอาหารทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างมาก
โดยในช่วงเวลาตั้งแต่ เมษายน 2020 จนถึง มีนาคม 2022 เป็นช่วงเวลา 2 ปี ที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในอัตราที่ “สูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ปี 1970” เป็นรองแค่ตอน Stagflation ช่วงปลายทศวรรษ 1970 เท่านั้น
ส่วนราคาอาหารในช่วงประมาณ 2 ปีนี้ ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 ตั้งแต่ปี 1970 เป็นรองแค่ Stagflation ตอนนั้น และวิกฤติการเงินโลก (Global Financial Crisis) ในปี 2008 เท่านั้น
หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ไม่มีช่วงระยะเวลา 2 ปีไหน ตั้งแต่ปี 1970 ที่ราคาพลังงานและอาหารจะแพงมากขึ้นเท่าตอนนี้ ยกเว้นในวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ของโลกอีกสองครั้งในช่วง 1970s และ ปี 2008
1
ซึ่งนี่ก็เป็นความเหมือนประการแรกระหว่างสถานการณ์ตอนนี้กับ Stagflation ตอนนั้น ที่สร้างความกังวลใจอย่างมากให้หลายคน
ความเหมือนประการที่สอง คือ ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดขึ้นหลังช่วงดอกเบี้ยต่ำยาวนาน และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศอยู่ในภาวะเปราะบางก่อนวิกฤติจะเกิดขึ้น
1
ในช่วงที่ผ่านมา เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการใช้นโยบายทั้งการคลังและการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเป็นระยะเวลานานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมันก็คล้ายกับตอน Stagflation ช่วงปลาย 1970-1980
ในตอนนั้น เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ในปี 1975 ก็มีการปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยที่แท้จริงทั่วโลก อยู่ที่ประมาณ 0.5% ต่อปี ทั้งช่วงปี 1970-1980 และช่วงปี 2010-2021
ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เมื่อดอกเบี้ยต่ำทำให้ประเทศจำนวนมากก่อหนี้มากขึ้นเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งกลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนหนึ่ง ที่ก่อหนี้ค่อนข้างมาก และยังเป็นหนี้ระยะสั้นที่เป็นสกุลเงินต่างชาติด้วย
ยกตัวอย่าง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคละตินอเมริกา ที่ก่อหนี้นอกประเทศเพิ่มขึ้น 12% ของ GDP ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หรือกลุ่มประเทศแอฟริกาซับซาฮาราที่ก่อหนี้นอกประเทศเพิ่มขึ้น 18% ของ GDP
ในตอนที่ดอกเบี้ยต่ำอยู่ ประเทศเหล่านี้ก็อาจจะยังสามารถชำระหนี้ได้อยู่ แต่พอเข้าสู่ช่วงที่ธนาคารหลักของโลก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็แพงขึ้น ค่าเงินสกุลท้องถิ่นก็อ่อนค่าลง เมื่อต้องไปแลกเพื่อชำระเป็นสกุลต่างประเทศ ก็ต้องใช้เงินมากขึ้นไปอีก
จึงทำให้มีโอกาสเกิด “วิกฤติหนี้ในประเทศกำลังพัฒนา” ซ้ำรอยกับหลายประเทศในตอน Stagflation ครั้งก่อน
📌 ความต่างของสถานการณ์ 1970-1980 กับตอนนี้
ความแตกต่างสำคัญที่สุดของตอนนั้นกับตอนนี้ คือ ความเข้าใจทางด้านกรอบนโยบายการเงินที่ดีขึ้นอย่างมาก
1
ในตอนนั้น ธนาคารกลางทั่วโลกยังมองวิธีการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอย่างไม่ทะลุเท่ากับตอนนี้ ประเด็นที่เข้าใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ บางครั้งภาวะเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจชะลอตัวสามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้ จากเมื่อก่อนคิดว่า 2 สิ่งนี้ เราสามารถเสียสละอย่างหนึ่ง เพื่อให้บรรลุอีกเป้าหมายหนึ่งได้ตลอด เช่น ยอมให้เงินเฟ้อสูงแลกกับเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น
ปัจจุบัน แนวคิดทางการเงินของธนาคารกลางจำนวนมากเปลี่ยนไป กล่าวคือ เมื่อระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างมาก และมีแนวโน้มจะทำให้คนเริ่มเชื่อว่า เงินเฟ้อในระยะกลางและยาวจะสูงขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่จะสื่อสารและใช้เครื่องมือที่มี เพื่อจัดการให้เงินเฟ้อปรับลงมา
1
พอสื่อสารและทำตามมาตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปี ก็ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกจำนวนมากได้รับความเชื่อถือว่า จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อเมื่อถึงคราวจำเป็น
การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวในประเทศพัฒนาแล้ว จากที่เคยอยู่ระดับเฉลี่ยประมาณ 4% ในช่วงต้น 1990 ในปัจจุบันก็ลงมาอยู่ระดับประมาณ 2%
สำหรับการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวในประเทศกำลังพัฒนา จากที่เคยอยู่ระดับเฉลี่ยประมาณ 6% ในช่วงต้น 1995 ในปัจจุบันก็ลงมาเหลือต่ำกว่า 4%
หรือถ้าเจาะลึกไปที่ประเทศอเมริกาก็จะเห็นได้ชัดเจน ในตอนวิกฤติครั้งนั้น ทั้งการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้น (1 ปี) และระยะกลาง-ยาว (5-10 ปี) ก็ต่างขึ้นไปอยู่ระดับเกือบ 10% ด้วยกันทั้งคู่
ส่วนในตอนนี้นั้นแม้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นจะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 5% แต่ในระยะยาวก็ยังอยู่ที่ระดับ 3% ต่ำกว่าตอนเกิด Stagflation ครั้งก่อนมาก
นัยยะของมัน คือ เมื่อคนมีความเชื่อว่า เงินเฟ้อในระยะยาวจะลงมาสู่ระดับปกติแล้ว ก็จะตั้งราคาหรือค่าจ้างต่างๆ แบบไม่สูงจนเกินไป ทำให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากอย่างที่เคยทำในอดีตแล้ว หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้วยการลงมือจัดการเงินเฟ้ออย่างรวดเร็ว เมื่อเห็นสัญญาณด้านราคาอย่างชัดเจน
ดังนั้น ต้นทุนทางดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศก็อาจจะไม่ได้สูงเท่ากับตอนเกิดวิกฤติครั้งก่อน ก็มีโอกาสจะทำให้เกิดสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เรียกว่า “Soft Landing” หรือการลงจอดแบบนิ่มๆ ผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบินเศรษฐกิจก็ไม่บาดเจ็บ
1
แต่ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการสภาวะขาดแคลนด้านอุปทาน ที่ทั่วโลกต้องหาทางออกร่วมกันทั้งด้านสินค้าพลังงานและอาหาร และปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องจัดการอย่างรวดเร็วและเหมาะสม มิเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นอีกครั้งที่หน้าประวัติศาสตร์ต้องฉายภาพซ้ำปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว...
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
2
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ : H. Armstrong Roberts/ClassicStock / Getty Images
โฆษณา