9 มิ.ย. 2022 เวลา 13:58 • การตลาด
ถอดบทเรียน “คลังพลาซ่า ”
ทำไมห้างภูธรถึงพ่ายสงครามค้าปลีกโคราช
กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโคราชกับการประกาศปิดตัวเองพร้อมยุติการให้บริการของห้างคลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ถือเป็นการยุติบทบาทของผู้ประกอบการที่เป็น 1 ในตำนานของห้างสรรพสินค้าภูธรที่อยู่ในตลาดมายาวนานกว่า 40 ปี
เหตุผลของการปิดตัวเองที่ผู้บริหารของคลังพลาซ่าให้ไว้นั้น มาจาก ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยมีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก ประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโร นา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความยากลําบากมากขึ้น จากสงครามและมาตรการคว่ำบาตรซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้
2
จากภาวะดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกและศูนย์การค้าเป็นอย่างมาก บริษัท คลังพลาซ่า จํากัดได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะประคับประคองสถานการณ์ แต่จากระยะเวลาที่ยาวนาน บริษัทฯ ประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
1
ปัจจุบันสถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤต ขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดําเนินธุรกิจ คณะผู้บริหารได้พิจารณาเห็นว่ามีความจําเป็นต้องปิดการให้บริการห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า และเลิกจ้างพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ เป็นสาขาที่ 2 ที่ถูกปิดตัวลง ก่อนหน้านั้นในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ก็ได้ประกาศปิดบริการคลังพลาซ่าจอมสุรางค์ ซึ่งเป็นสาขาขนาดใหญ่ของคลังพลาซ่า โดยเปลี่ยนรูปแบบกิจการ “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” เป็น “ARPAYA” หรือจากช้อปปิ้งมอลล์ สู่ มัลติส์ยูส “อาภาญา” โครงการที่รวมอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ทั้งอาคารสำนักงานและศูนย์การค้า รวมทั้งแหล่งเรียนรู้การศึกษา
เช่นเดียวกับคลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์ ที่จะปิดตัวลงในสิ้นเดือนกรกฎาคมนั้น ก็พร้อมที่จะปรับรูปแบบเปลี่ยนมาให้เช่าพื้นที่ หากมีผู้ประกอบการค้าปลีกรายใดต้องการเข้ามาเช่าเพื่อเปิดสาขา
“คลังพลาซ่า” ถือเป็นตำนานห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ก่อตั้งโดยนายไพศาล มานะศิลป์ โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านขายเครื่องเขียนในนามคลังวิทยา ก่อนที่จะขยายมาทำเป็นห้างสรรพสินค้า ในปี 2519 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกที่มีบันไดเลื่อนของภาคอีสาน และเป็น 1 ในผู้บุกเบิกของห้างสรรพสินค้าภูธรที่เคยรุ่งเรืองอย่างมากในยุคก่อนปี 2530
3
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของคลังพลาซ่า สาขาแรก ที่เป็นผลพวงมาจากในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมามีการขายตัวค่อนข้างดี จึงมีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มบริเวณตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนารามา เยื้องลานย่าโม ริม ถนนจอมสุรางค์ยาตร เป็นห้างสรรพสินค้า ”คลังพลาซ่า สาขาอัษฏางค์”
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้น การขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องของคลังพลาซ่า ทำให้มีการเปิดสาขาใหม่คือ คลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์ รวมถึง โปรเจ็กต์ใหม่ “คลังสเตชั่น” หนองไผ่ล้อม ที่เช่าที่จากการรถไฟระยะเวลา 30 ปี แต่ต้องหยุดก่อสร้างชั่วคราว
1
หากมองย้อนไปร่วมทศวรรษที่แล้ว ห้างสรรพสินค้าภูธร มีบทบาท เพราะห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัด จะเป็นช่องทางขายสมัยใหม่ในช่วงนั้นที่เข้ามาเกี่ยวพันกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนต่างจังหวัด ทั้งสินค้าในส่วนที่เป็นเสื้อผ้า แฟชั่น ของใช้ส่วนตัว และสินค้าในแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต
2
ห้างภูธรเหล่านั้น กลายเป็นสัญลักษณ์คู่กับจังหวัดแต่ละจังหวัดไปแล้วในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่แล้ว โดยในช่วงเวลานั้น เส้นแบ่งระหว่างห้างสรรพสินค้าภูธร กับห้างในส่วนกลาง มีออกมาอย่างชัดเจน ผ่านไลฟ์สไตล์หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม ที่มีความแตกต่างเป็นตัวแบ่ง และห้างในต่างจังหวัดที่เรารู้จักจึงมีออกมาในลักษณะของการเป็นห้างของคนท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็น ห้างตันตราภัณฑ์ แห่งเชียงใหม่ เจริญศรี พลาซ่า จังหวัดอุดรธานี ห้างคลังพลาซ่า โคราช ห้างไดอานา หาดใหญ่ หรือยิ่งยง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
การมีบทบาทสำคัญของห้างภูธร ทำให้มีการรวมตัวกันตั้งเป็นชมรมห้างสรรพสินค้าภูธร หรือพีดีเอส ที่รวบรวมเอานายห้างที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ๆ ในช่วงเวลานั้น เข้ามาอยู่ในชมรม เพื่อทำกิจกรรมพร้อมกับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของแนวคิดการทำค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ
แต่เมื่อต่างจังหวัด มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผู้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากผลผลิตทางการเกษตร ราคาที่ดิน ทำให้เกิดคนชั้นกลาง ที่มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสังคมเมืองทั่วไป ทำให้มุมมองของกลุ่มทุนค้าปลีกจากส่วนกลาง ที่มีต่อคนต่างจังหวัดเปลี่ยนไป
ยิ่งความเป็น Urbanization หรือความเป็นอยู่แบบสังคมเมือง แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นตัวที่เข้ามากวักมือเรียกให้ยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ เร่งขยายการลงทุนเข้าไป เพื่อรองรับกับการเติบโตดังกล่าว
ที่เห็นภาพชัดเจนสุดก็มีกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีการขยายสาขาของตัวเองออกไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันครั้งใหญ่ จากเดิมที่ห้างภูธรเหล่านั้นจะแข่งขันกันเอง หรือไม่ก็แข่งกับผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้าปลีกรูปแบบเดิมที่อยู่ในพื้นที่
1
ก่อนปี 2540 ภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นนั้น ทำให้ห้างภูธรหลายรายมีการเร่งการเติบโตผ่าน Financial Forceโดยใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศมาขยายการลงทุนของตัวเองให้เป็นห้างขนาดใหญ่แบบวัน สต็อป ช้อปปิ้ง ที่มีทั้งตัวห้างสรรพสินค้า และช้อปปิ้งพลาซ่า
ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะหลังค่าเงินบาทลอยตัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ต้นทุนเงินกู้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เข้ามาทำให้ห้างภูธรบางห้างต้องหายไปจากตลาด
ตัวอย่างห้างดังที่ปิดตัวเองลงในช่วงเวลานั้นก็คือ ห้างสรรพสินค้าตันตราภัณฑ์ ห้างสีสวนพลาซ่า และห้าง ส.การค้า ซึ่งเป็น 3 ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่
ผลกระทบที่ตามมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ก็คือ เป็นช่วงเวลาที่เกิด “โมเดิร์นเทรด เอฟเฟกต์” เพราะการเร่งขยายสาขาของยักษ์โมเดิร์นเทรดอย่างบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส เข้ามาส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการดำเนินธุรกิจของห้างภูธร เพราะมีบางส่วนที่ต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่เหล่านั้น โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต
ทำให้เราได้เห็น การปรับตัวของห้างภูธรหลายๆ ห้างที่รอดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ไล่ตั้งแต่
1.การโฟกัสไปที่จุดแข็งของความเป็นห้างสรรพสินค้าของตัวเอง ที่ขายสินค้ามีแบรนด์ แตกต่างจากไฮเปอร์มาร์เก็ต
2.ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เร่งสร้างความต่างด้วยสินค้าประเภทอาหารสดที่มีคุณภาพเหนือกว่า ในราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
3.มีบางราย อาทิ แฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ แฟรี่ พลาซ่า ขอนแก่น และไดอาน่า หาดใหญ่ ที่มีมุมมองแตกต่างออกไป โดยแทนที่จะแข่งขัน ก็ดึงมาเช่าพื้นที่ในห้างของตัวเองเสียเลย ซึ่งยักษ์ใหญ่เหล่านั้นต้องการอยู่แล้ว เพราะโลเกชั่นของห้างภูธรแต่ละรายส่วนใหญ่จะอยู่ในใจกลางเมือง
1
แต่ผลกระทบในระลอกที่ 3 ถือว่ารุนแรงสุด เพราะการเติบโตของต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ของบ้านเราพากันขยายการลงทุนในรูปแบบของการสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่มีครบทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ด้วยสเกลการลงทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงกับห้างสรรพสินค้าภูธรหลายรายที่ยักษ์ใหญ่จากส่วนกลางขยายการลงทุนเข้าไป
ขณะที่ เมื่อมองมาที่เทรนด์ของตลาดค้าปลีกแล้ว พบว่า ค้าปลีกในเซ็กเม้นต์ห้างสรรพสินค้าที่คลังพลาซ่า ทำตลาดอยู่นั้น มีเทรนด์ที่ถดถอย และได้รับความนิยมลดลงตามไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงการช้อปได้ทุกที่ ทุกเวลา จากช่องทางขายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
ยิ่งภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะกับช่วงของการเกิดการระบาดของโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง ก็ยิ่งทำให้ยอดขายที่เคยมีเข้ามาบ้างต้องหายไป ซึ่งนั่นยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการตัดสินใจยุติธุรกิจของตัวเองลง
ไม่เพียงแค่คลังพลาซ่า ที่ต้องเลิกกิจการ ก่อนหน้านั้น ยังมีห้างลัคกี้ แห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็น 1 ใน 2 ของห้างท้องถิ่นในจังหวัด (อีกรายคือห้างสหไทย) ที่ประกาศปิดตัวเองลง
ทิ้งไว้แต่ความเป็นตำนานของห้างสรรพสินค้าภูธร.....
#BrandAgeOnline #คลังพลาซ่า
ติดตามเทรนด์ การตลาดที่น่าสนใจได้ทาง
โฆษณา