Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Mission To The Moon
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
10 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • ไลฟ์สไตล์
“ไม่รักกันเหรอ เรื่องแค่นี้ก็ทำให้ไม่ได้?” รู้จัก Guilt Trip เมื่อจู่ๆ กลายเป็นคนผิด เพราะคำพูดของอีกฝ่าย
เคยไหมอยู่ดีๆ เรากลายเป็นคนผิด ด้วยคำพูดหรือการกระทำของอีกฝ่าย ทั้งที่ความจริงเราไม่ได้ทำอะไรผิด หรืออีกฝ่ายเป็นคนผิดด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็ต้องจบด้วยการที่ตัวเราเองต้องเป็นฝ่ายตามง้อ ทำตามคำขอของอีกฝ่ายด้วยความลำบากใจ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “Guilt Trip”
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้เครื่องมือนี้ในการ “กดดัน” ฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้พวกเขาทำตามหรือยอมตามที่ตัวเองต้องการ โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้เต็มใจหรือยินดีที่จะทำตาม แต่กลับทำตามเพียงเพราะรู้สึกผิด
หากทุกคนยังมองไม่ออกว่า “ความรู้สึกผิด” นั้นมีพลังมากขนาดนั้นเลยเหรอ ลองนึกถึงตอนตัวเองทำผิดแล้วรู้สึกผิดขึ้นมา เราก็อยากที่จะยอมทำทุกอย่างให้ฝ่ายตรงข้ามพอใจและหายโกรธใช่ไหมล่ะ แค่ต่างตรง Guilt Trip เราไม่ได้ทำอะไรผิดเท่านั้นเอง
หากลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราคงคุ้นเคยประโยคต่อไปนี้กันดี เช่น
“นานๆ เพื่อนจะนัดเจอกัน ถ้าวันนี้ไม่มาทุกคนคงมองเธอไม่ดีนะ”
“ช่วงนี้เธอไม่มีเวลาให้เราเลย เธอเปลี่ยนไป มีคนอื่นหรือเปล่า?”
“ขอแค่นี้ไม่ได้ ต่อไปมีอะไรก็จะไม่ช่วยแล้ว” และอื่นๆ อีกมากมาย
Guilt Trip มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด สนิทกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นระหว่างคนรักเสมอไป อาจจะเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อน ไปจนถึงครอบครัว และเพราะ “ความสนิท” จึงทำให้เรารู้สึกว่ายิ่งต้องแคร์ความรู้สึกกันและกัน ทำให้เมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการบางอย่าง แต่อีกฝ่ายไม่สามารถตอบสนองได้ ก็มักจะเกิดอาการ ‘งอน’ หรือ “พูดจา” เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด และยอมทำตามในสิ่งที่ต้องการ
2
โดย Guilt Trip นั้นสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. Manipulation การบังคับ
อย่างที่เราพูดกันไปด้านบนว่า จุดประสงค์หลักของการ Guilt Trip แน่นอนว่าเพื่อ ‘หวังผล’ อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วฝ่ายถูกกระทำ มักจะไม่ทำในสิ่งนั้น แต่กลับต้องทำตามจากการบังคับ (ทางอ้อม) ของอีกฝ่ายหนึ่ง
อย่างเช่น การที่นาย A อยากโดดเรียนไปเล่นเกม แต่ไม่อยากไปคนเดียว จึงใช้คำว่าเพื่อน หรือบอกว่า “ตอนนั้นเรายังไปกับนายเลย ทำไมครั้งนี้นายไม่ไปกับเรา” เป็นการกดดันให้นาย B ต้องโดดเรียนตามอย่างไม่เต็มใจ
2. Conflict Avoidance การเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับปัญหา
ในความสัมพันธ์ เมื่อเกิดความคิดที่ไม่ลงรอยกัน มีปากเสียงหรือทะเลาะกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะยกเรื่องอื่นขึ้นมาเพื่อเป็น ‘ข้ออ้าง’ ให้อีกฝ่ายหยุดพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น “อย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้ได้ไหม แค่นี้ก็เหนื่อยจะตายแล้ว” ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความรู้สึกของอีกฝ่ายเช่นกัน
1
3. Moral Education การสั่งสอนทางศีลธรรม
Moral Education เป็นรูปแบบของการพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอีกฝ่ายให้เป็นเหมือนตน โดยบอกว่าสิ่งที่อีกฝ่ายทำนั้น ‘ผิด’ และยกตัวเองให้เป็นสิ่งที่ ‘ถูก’ อย่างเช่น “ถึงจะทำงานเสร็จแล้วเธอก็ไม่ควรกลับบ้านก่อน ฉันก็เสร็จเหมือนกันยังรอกลับพร้อมทุกคนเลย ต้องมีมารยาทหน่อยนะ” ทั้งๆ ที่นโยบายบริษัทก็ไม่ได้กำหนดว่าห้ามใครกลับก่อนใคร
4. Elicit Sympathy การทำให้อีกฝ่ายเห็นอกเห็นใจ
กรณีนี้มักเกิดขึ้นด้วยการกระทำ เช่น ‘ทำร้ายตัวเอง’ เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดว่าตนเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจได้ผลและไม่ได้ผล แต่ที่แน่นอนว่าการกระทำนี้เป็นการสร้างความลำบากใจในความสัมพันธ์ จนกลายเป็น Toxic Relationship ในท้ายที่สุด
1
รู้ทั้งรู้ว่าไม่ได้อยากทำ แต่สุดท้ายทำไมเราถึงยอม?
บ่อยครั้งที่คำพูดหรือการกระทำในลักษณะนี้สามารถกดดันและเอาชนะความรู้สึกของเรา
จนยอมทำตามสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการ สาเหตุก็เกิดจากความต้องการที่จะ “รักษาความสัมพันธ์” เลือกที่จะยอมๆ ไปให้ไม่ผิดใจกัน โดยเก็บความรู้สึกที่แท้จริงไว้ข้างใน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้บ่อยๆ ย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์มากกว่าที่คิด เพราะคงไม่มีใครชอบที่จะถูกงอน หรือใช้คำพูดและการกระทำให้เสียความรู้สึกบ่อยๆ
ในขณะที่ Guilt Trippers ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ในทางกลับกันฝ่ายยอมที่ถูกกระทำซ้ำๆ แน่นอนว่านอกจากจะเสียความรู้สึกแล้ว ยังทำให้เกิดความเครียดสะสม และอาจร้ายแรงไปถึงสุขภาพจิตที่แย่ลงในระยะยาว และอาจทำให้เกิดคำถามในความสัมพันธ์นี้ว่า “อีกฝ่ายเคยแคร์เราบ้างไหม หรืออยากได้แต่สิ่งที่ตัวเองต้องการกันแน่?”
ซึ่งแน่นอนว่าถ้าปล่อยให้อีกฝ่ายทำสิ่งที่เรียกว่า Guilt Trip กับเรานานๆ คงไม่ดีแน่ ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วเราจะรับมืออย่างไร?
หากถูก Guilt Trip เราสามารถทำอย่างไรได้บ้าง?
อันดับแรกอาจเริ่มด้วยการถามตัวเองว่าสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการนั้นหนักหนาสาหัสเกินไปหรือไม่ ถ้าไม่ หากเราตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายแล้วจะมีผลกระทบตามมาหรือเปล่า? และอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำคือการพยายามทำความเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายว่ามีปัญหา หรือเบื้องหลังเป็นอย่างไร ลองพูดคุย พยายามนำเหตุผลเปิดใจเข้าหากัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว และมั่นคงยิ่งขึ้น
เราจะเห็นได้ว่าเราสามารถเจอ Guilt Trip ได้กับแทบทุกความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่มีความ “สนิทสนม” ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อน และโดยเฉพาะคนรัก หากใครกำลังโดน Guilt Trip อยู่ก็อย่าปล่อยให้ปัญหานี้มันลากยาวเกินไป หรือโดนกระทำบ่อยๆ จนสุขภาพจิตของเราเสีย
ถ้าเราอยากรักษาเขาไว้อยู่ในสัมพันธ์ ก็ควรที่จะเปิดใจคุยกัน เพื่อสร้างให้เกิด Healthy Relationship ก่อนที่ความสัมพันธ์ระหว่างกันจะกลายเป็น Toxic Relationship ไปเสียก่อน
พอดแคสต์ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน
- 'Gaslighting' สิ่งน่ากลัวในความสัมพันธ์ เมื่อเธอบอกว่าฉัน 'เข้าใจผิดคิดบ้าไปเอง'
https://bit.ly/3H5BK9J
- บอกลาความสัมพันธ์ Toxic ด้วยรักดีๆ ที่มอบให้ตัวเอง
https://bit.ly/39lSiOi
อ้างอิง
https://bit.ly/3zAuEZt
https://bit.ly/3xobRyK
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
missiontothemoon
ไลฟ์สไตล์
12 บันทึก
8
8
12
8
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย