16 มิ.ย. 2022 เวลา 23:00 • การตลาด
สิงคโปร์มองหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ หลังจากมาเลเซียประกาศจะหยุดส่งออกไก่
2
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Ismail Sabri Yaakob ได้ประกาศว่า มาเลเซียจะหยุดการส่งออกไก่สดทั้งตัว ซึ่งคิดเป็นจำนวน 3.6 ล้านตัวต่อเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไก่ที่สูงขึ้นและการขาดแคลนในประเทศ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จนกว่าภาคการผลิตและราคาไก่ในประเทศจะคงที่
2
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าวมีหลายประการ รวมทั้งสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ดำเนินอยู่ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกอีกด้วย
1
นอกจากนี้ รายงานของ International Grains Council ระบุว่า ปริมาณธัญพืชมีแนวโน้มลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ห้า ประกอบกับค่าขนส่งที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อด้านพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนแรงงาน สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจึงยิ่งผลักดันให้ราคาธัญพืชสูงขึ้น และจะส่งผลให้เกิดความหิวโหยไปถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน
ตารางปริมาณการนำเข้าไก่ของสิงคโปร์ระหว่างปี 2562-2564
สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency : SFA) เปิดเผยข้อมูลว่า ไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่บริโภคกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในสิงคโปร์ ด้วยการบริโภคถึง 36 กิโลกรัมต่อคนในปี 2563 โดยในปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าไก่ทั้งหมดประมาณ 214,000 ตัน แหล่งนำเข้าหลักๆ ประกอบด้วยมาเลเซีย บราซิล และสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สิงคโปร์นำเข้าไก่จากมาเลเซียประมาณ 34% หรือเกือบ 73,000 ตัน โดยไก่ที่สิงคโปร์นำเข้าจากมาเลเซียนั้นเป็นไก่มีชีวิต จากนั้นจึงนำไปฆ่าและชำแหละขายในสิงคโปร์
ทั้งนี้ การรับมือกับมาตรการดังกล่าวของมาเลเซีย SFA ระบุว่า ผู้นำเข้าไก่สิงคโปร์จะพิจารณาแหล่งนำเข้าทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อนำเข้าไก่สดทั้งแช่เย็นและแช่แข็ง เพิ่มการนำเข้าไก่แช่เย็นหรือไก่แช่แข็งจากแหล่งส่งออกปัจจุบันอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาเลเซีย หรือนำสินค้าออกจากคลังสินค้าสัตว์ปีกที่มีอยู่เพิ่มขึ้น
2
นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เช่น บริโภคไก่แช่แข็งแทนไก่สด หรือบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ และผู้บริโภคควรซื้อสินค้าในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนที่เกิดขึ้น
1
ผู้ขายเนื้อไก่ในสิงคโปร์บางรายกล่าวว่า มาตรการของมาเลเซียในการหยุดการส่งออกไก่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของพวกเขา เพราะไก่ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย และอาจจะต้องปิดแผงขายชั่วคราว รวมถึงราคาไก่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-30%
ทำให้จำเป็นต้องขายแพงขึ้น และหวังว่าการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ เช่น จีน หรืออินโดนีเซีย จะช่วยทดแทนปัญหาการขาดแคลนดังกล่าวได้ ในขณะที่ผู้ขายบางรายกลับไม่กังวลต่อสถานการณ์นี้มากนัก
โดยมองว่ามาเลเซียไม่น่าจะหยุดการส่งออกไก่ได้นาน ถึงแม้ว่าไก่สดของที่ร้านจะมาจากมาเลเซียทั้งหมด แต่ทางร้านยังมีไก่แช่แข็งที่มาจากบราซิล ออสเตรเลีย และเดนมาร์ก
1
ในขณะที่ผู้บริโภคยังไม่แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมากนัก เพราะสามารถเปลี่ยนไปซื้อเนื้อสัตว์ชนิดอื่น หรือไก่แช่แข็งที่มาจากประเทศอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และบางรายระบุว่า มีแนวโน้มที่จะซื้อเนื้อไก่ต่อไป หากราคาไม่ขึ้นสูงจนเกินไป
สำหรับความเห็นของผู้ประกอบการร้านอาหารในสิงคโปร์หลายรายนั้น นาย Daniel Tan เจ้าของร้านข้าวมันไก่ OK Chicken Rice 7 สาขาในสิงคโปร์ ได้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
1
เนื่องจากทางร้านใช้ไก่ 6,000 ตัวต่อเดือน ขนาดตัวละ 2.3 กิโลกรัม โดยทั้งหมดนำเข้ามาจากมาเลเซีย และร้านกำลังจะเปิดสาขาที่แปด ซึ่งอาจจะต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์ดังกล่าว
นาย Lem Cheong ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Baoshi F&B Management เจ้าของร้านอาหาร Monga ไก่ทอดจากไต้หวัน กล่าวว่า การตัดสินใจหยุดส่งออกไก่สดของมาเลเซียส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจทางร้านที่มีสามสาขา
1
โดยทั้งสามสาขานำเข้าจากมาเลเซียเท่านั้น พร้อมระบุว่า ปัจจุบันราคาไก่เพิ่มขึ้นทันที และจะเพิ่มขึ้นอีก 1.2 เหรียญสิงคโปร์ต่อกิโลกรัมในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 และคาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นถึงสามเท่าหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยในขณะนี้บริษัทได้รีบดำเนินการหาทางเลือกแหล่งนำเข้าไก่จากที่อื่นๆ
นาย Damian D’Silva เชฟผู้มีประสบการณ์ดูแลร้านอาหาร Rempapa กล่าวว่า บริษัทซัพพลายเออร์ของร้านเริ่มจัดหาไก่สดจากประเทศอื่นแล้ว อย่างไรก็ดี สินค้าไก่สดอาจมีปัญหาในด้านการขนส่งสินค้า
1
ในขณะที่ พ่อค้าแม่ค้าในศูนย์อาหาร 84 Marine Parade Central Market and Food Centre กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากทางร้านใช้ไก่แช่แข็ง แต่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาไก่แช่แข็งอาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นาย Melvin Yong ประธานสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ (The Consumers Association of Singapore :CASE) กล่าวว่า การประกาศอย่างกะทันหันของมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อราคาไก่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสิงคโปร์
1
ผู้บริโภคจึงควรพิจารณาเนื้อไก่ที่มาจากแหล่งผลิตอื่นหรือเนื้อไก่แช่แข็ง ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคควรซื้อบริโภคเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก และมีการนำเข้าอาหารสูงถึง 90% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบจากการหยุดชะงักของประเทศผู้ส่งออกต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
2
รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ใช้กลยุทธ์แบบหลากหลายแนวทาง (Multi-Pronged Strategy) โดยมุ่งเน้นความหลากหลายในการนำเข้า และการเก็บตุนในคลังสินค้า
ทั้งนี้ ในปี 2564 สิงคโปร์นำเข้าไก่ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 470 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่านำเข้าสูงสุดจากมาเลเซีย ตามด้วยบราซิลและสหรัฐฯ ในขณะที่สิงคโปร์นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับสี่ ด้วยมูลค่ากว่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
1
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 มูลค่าการนำเข้าและส่วนแบ่งทางการตลาดของไก่ไทยไปยังสิงคโปร์สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโตขึ้นแบบก้าวกระโดดในปี 2563 และ 2564 ทำให้ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกไก่ไทยมาสิงคโปร์อยู่ที่ 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโต 76.57%
3
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไก่ไทยสามารถเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกไก่มายังสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์นำเข้าไก่จากมาเลเซียสูงถึงหนึ่งในสามของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ ไทยได้เปรียบในทำเลที่ตั้ง เพราะหากสิงคโปร์สั่งสินค้าจากบราซิลหรือสหรัฐฯ สินค้าอาจใช้เวลาขนส่ง 1-2 เดือน ในขณะที่ไทยอาจจะใช้เวลาเพียง 3-5 วัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ SFA พบว่า สิงคโปร์อนุญาตให้นำเข้าไก่ได้ทั้งหมด 29 ประเทศ โดยสิงคโปร์อนุญาตให้นำเข้าทั้งไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง ไก่แปรรูป และอาหารกระป๋องที่มีเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบจากประเทศไทยได้
โดยบริษัทส่งออกไก่ไทยที่ได้รับอนุญาตมีจำนวนทั้งสิ้น 90 แห่ง ประกอบไปด้วยบริษัทส่งออกไก่สดและแช่แข็ง 39 บริษัท ไก่แปรรูปและอาหารกระป๋องที่มีเนื้อไก่เป็นส่วนประกอบ 51 บริษัท
โฆษณา