10 มิ.ย. 2022 เวลา 02:56 • การเกษตร
07 : [ เปิดรับ เรียนรู้ แบ่งปัน ]
ความคิดและความฝันสำหรับชาวนานั้นกับคนที่มองย้อนมาดูชาวนาว่าต้องมีความสวยหรูและภาพงดงามอย่างในจินตนาการบนสเตตัสที่โพสต์ให้ได้เชยชมพร้อมป้ายบอกว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เหล่านั้น กับความจริงที่ความเป็นชาวนาทำนั้นเหมือนอยู่คนละมิติเห็นจะเป็นได้ หากคนที่เป็นลูกชาวนาแล้วเดินทางไปประกอบอาชีพยังเมืองหลวงหรือต่างถิ่นอาจจะพอมองออกได้บ้างว่า ชาวนานั้น งดงามได้เพียงใด
  • วันที่ 17 กรกฎาคมคือวันเริ่มต้นนำต้นกล้าเหล่านั้นออกจากถาดหลุมเพาะกล้าลงสู่โลกกว้างที่ยิ่งใหญ่บนผืนดินจริง แต่กว่าจะได้วางระบบทั้งเชือกที่ต้องขึงดึงให้ตึงจากฟากสู่อีกฟากเพื่อเป็นแนวทางในการปักกล้าให้ตรง ทั้งการจัดการนำถาดกล้าจากที่แปลงเพาะเอาไว้มายังแปลงที่จะปักดำก็ใช้เวลาพอสมควร แต่นั่นล่ะ คือสิ่งที่พาให้ทำไปเรื่อย ๆ ประสาของลูกชาวนาที่อยากเห็นต้นกล้ามันเติบใหญ่
  • 2 วันแรกของการปักดำ สภาพร่างกายเริ่มเปราะบาง กรอบ ประสาหนุ่มสำอวยเข้าให้ แต่ก็ยังมีหลานตัวน้อยมาคอยกวนอยู่บ้างในบางเวลา ทำให้รู้สึกว่ามีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คน” คอยเป็นเพื่อนข้าง ๆ คราวันที่สามถือว่าเป็นวันดี มีสมาชิกจากครอบครัวมาช่วยหลายแรงเลย ทำให้ความเหนื่อยเมื่อยล้าก็พอบรรเทาลงบ้าง
  • 21 กรกฎาคม 2564 วันที่ 5 ของการปักดำวันสุดท้ายกับแปลงนา 2 ไร่ 1 งานเศษ ๆ บนถาดเพาะกล้า 175 ถาด ซึ่งก็ยังมีเหลือประมาณ 35 ถาดที่ยังปรากฏอยู่บนถาดในแปลงเล็ก ๆ จึงได้ใช้พื้นที่บนโลกโซเชียลประกาศว่าเหลือเผื่อแบ่งปันจากกล้าไรซ์เบอร์รี่ที่เพาะไว้
  • 25 กรกฎาคม 2564 พี่น้องจากบ้านตาจวน อ.ไพรบึง เครือข่ายจอมพลังขุมกำลังทำนาอินทรีย์อาสามารับไปปักดำช่วย จึงได้แบ่งปันกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามประสาพอมีเหลือให้กัน
ทว่า กล้าข้าวเหล่านั้น ไม่เพียงข้ามคืนวันไม่นานนัก กลับยึดติดดินและฝังรากให้เราเห็นถึงความเข้มแข็งของมันเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันกับฟ้าฝนกลับไม่ได้เป็นใจชาวนาเราเลยแม้แต่สักฤดูกาลเดียว ไม่ฝนหนักจนท่วมขังเอ่อก็ห่างทิ้งช่วงจนดินแห้งแตกเขิบ ปีนี้ก็เช่นกัน
บันทึกลูกชาวนา
07 : [ เปิดรับ เรียนรู้ แบ่งปัน ]
บันทึกเมื่อ 1 มิ.ย. 65
โฆษณา