13 ก.ค. 2022 เวลา 03:32 • สุขภาพ
ลดเค็ม...พฤติกรรมสำคัญช่วยลดโรคร้ายอย่างได้ผล
Volume: ฉบับที่ 31 เดือน มกราคม 2561
Column: Health Station
Writer Name: ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ลดเค็ม...พฤติกรรมสำคัญช่วยลดโรคร้ายอย่างได้ผล
พฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยอย่างหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย คือการรับประทานรสเค็มที่มากเกินความจำเป็น ส่งผลให้มีสถิติของผู้ป่วยโรคต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการรับประทานรสเค็มจัด ทำให้ปัจจุบันมีการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยการลดเค็มเพื่อป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลดเค็ม...เป็นพฤติกรรมสำคัญที่ควรปฏิบัติอย่างจริงจัง สามารถทำได้ง่ายแต่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้หลายโรคด้วยกัน เนื่องจากปกติอาหารทั่วไปมักมีรสเค็มตั้งต้นอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมคนไทยชอบเพิ่มรสเค็มเข้าไปอีก
เช่น การเติมพริกน้ำปลา การจิ้มซอสหรือน้ำจิ้มที่มีส่วนประกอบของเกลือเป็นต้น ทำให้ร่างกายได้รับรสเค็มเป็นส่วนเกินและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมีการทานรสเค็มเกินความต้องการสูงถึง 2 เท่า
สำหรับพฤติกรรมการลดเค็มสามารถทำได้โดยลดการปรุงรสเค็มลงทีละน้อย เพราะถ้าหากลดทีละมาก ๆ จะทำให้รู้สึกไม่อร่อยและไม่อยากรับประทาน
สุดท้ายการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะไม่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งโดยปกติลิ้นของคนเราจะมีการปรับตัว หากลดความเค็มลง 10% จะทำให้ลิ้นไม่สามารถจับรสชาติได้ จึงต้องค่อย ๆ รสความเค็มลงทีละน้อย เพื่อให้มีความสุขกับการบริโภคเหมือนเดิมและดีต่อสุขภาพ เริ่มต้นที่การไม่ปรุงเพิ่มหรือปรุงในปริมาณที่ลดลงก่อน
สำหรับเกลือซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญที่ให้ความเค็มและก่อให้เกิดโรคโดยเฉพาะโรคไต แต่ถึงอย่างนั้นในเกลือก็ยังมีโซเดียมซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยโซเดียมเป็นแร่ธาตุสำคัญที่เกี่ยวกับสมดุลน้ำของร่างกาย
ซึ่งจะได้รับจากการรับประทานอาหารเป็นหลัก ร่างกายไม่สามารถขาดโซเดียมได้ จึงยังต้องบริโภคเกลืออยู่ภายใต้การจำกัดในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่ควรทานเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 1 ช้อนชา และถ้าหากเปลี่ยนเกลือเป็นน้ำปลา ร่างกายก็ไม่ควรได้รับน้ำปลาเกิน 4 ช้อนชาต่อวัน
นอกจากการลดปริมาณการปรุงเพิ่ม สิ่งที่ตามมาคือการเลือกรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณเกลือโซเดียมมากเกินไป หรือรับประทานในปริมาณที่พอดี เพื่อไม่ให้เกิดความเค็มส่วนเกินในร่างกาย โรคที่สำคัญซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารรสเค็มจัดคือโรคไต
แต่นอกจากนี้ก็ยังมีโรคอื่น ๆ ด้วยที่เกิดจากการรับประทานรสเค็มจัด อย่างเช่น โรคความดันโลหิต กลไกการเกิดโรคคือเมื่อร่างกายได้รับเกลือจะเกิดการดึงน้ำเข้ามาในกระแสเลือดทำให้ขาบวม ตาบวม
หากรับประทานติดต่อกันในระยะยาวจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น จึงเกิดโรคความดันโลหิตสูงในที่สุด และถ้าหากสูงมาก ๆ จะทำให้เป็นโรคหัวใจตามมา นอกจากนี้ก็ยังมีโรคอัมพาตที่มีการรับประทานรสเค็มจัดเป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงโรคกระดูกพรุน เพราะการรับประทานเค็มจะทำให้แคลเซียมมาปนอยู่ในปัสสาวะมากขึ้น ส่งผลให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม และเกิดการเปราะบาง
โฆษณา