21 ก.ค. 2022 เวลา 03:10 • สุขภาพ
ยาหยอดหู (Ear drops)
Volume: ฉบับที่ 31 เดือน มกราคม 2561
Column: Rama RDU
Writer Name:
ภก. คุณาวุธ จิรัฐติกร งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาหยอดหู (Ear drops) เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องหูรักษาการอักเสบภายในหูชั้นนอก หูชั้นกลางและใช้รักษาการอุดตันของขี้หู
ประเภทของยาหยอดหู (จำแนกตามชนิดของตัวยา)
1. ยาต้านจุลชีพ เช่น neomycin, gentamicin, polymyxin B เพื่อลดการอักเสบของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หากมีหนองหรือเนื้อเยื่อที่ตายอยู่ในหูชั้นนอก ควรทำความสะอาดก่อน เพื่อให้ยาสัมผัสและออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ยาระงับปวดมักเป็นยาชาเฉพาะที่ เช่น lidocaine หรือ benzocaine มักผสมยาต้านจุลชีพ เพื่อลดอาการปวดจากการอักเสบติดเชื้อและลดการระคายเคืองจากยาต้านจุลชีพ
3. ยาต้านการอักเสบเป็นยาสเตียรอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ บวม เช่น prednisolone, dexamethasone, hydrocortisone หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดหูที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม ในผู้ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อรา วัณโรค หรืองูสวัด ในช่องหู
4. ยาต้านเชื้อราสำหรับการติดเชื้อราในช่องหูเช่น clotrimazole
5. ยาละลายขี้หูใช้ในผู้ป่วยที่มีขี้หูอุดตัน ยาละลายขี้หูจะทำให้ขี้หูอ่อนนุ่ม จนสามารถเอาออกได้โดยง่าย
วิธีการใช้ยาหยอดหู
1. ล้างมือให้สะอาดและควรปรับอุณหภูมิของยาให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย หากเก็บยาไว้ในตู้เย็น ควรนำมาตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง หรือกำยาไว้ในอุ้งมือจนได้อุณหภูมิพอเหมาะ
2. เอียงศีรษะให้หูข้างที่จะหยอดยาอยู่ด้านบน หยอดยาเข้าไปในหูตามที่กำหนด ระวังไม่ให้นำหลอดหยดสอดเข้าไปในรูหู
3. เอียงตะแคงหูอยู่ในท่าเดิมอย่างน้อย 5-10 นาที
4. ก่อนลุกขึ้นหรือหยอดหูอีกข้าง ควรนำสำลีอุดที่ช่องหูชั้นนอกข้างที่หยอดหู เพื่อให้ยาค้างและสัมผัสอยู่ในช่องหูนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และสามารถนำสำลีนี้ออกได้หลังจากผ่านไป 20–30 นาทีหากมียาในช่องหูไหลออกมาให้เช็ดทำความสะอาดเฉพาะบริเวณรอบหู
โฆษณา