10 มิ.ย. 2022 เวลา 08:17 • ธุรกิจ
คุณบริหารคนแบบหลักการบวกหรือหลักการคูณ
สำหรับคนที่เรียนคณิตศาสตร์มา (เชื่อว่าก็ทุกคนที่อ่านบทความนี้อยู่แหละนะ) จะรู้ว่าหากเรามีจำนวนติดลบ แล้วอยากทำให้จำนวนนั้นกลายเป็นจำนวนบวก จะมีวิธีการทำได้อยู่หลัก ๆ 2 วิธี คือ
1. การนำค่าบวกที่มีค่ามากกว่ามาบวกเข้าไป เช่น -5 + 7 = +2 อันนี้คือหลักการบวก
2. การนำจำนวนที่ติดลบเช่นเดียวกันมาคูณเข้าไป เช่น -5 x -2 = +10 อันนี้คือหลักการคูณ
ในเชิงการบริหารจัดการคนก็เช่นเดียวกัน เพราะในแต่ละองค์กรย่อมมีคนหลากหลายประเภท ซึ่งย่อมมีทั้งคนที่ถูกจัดให้อยู่ในด้านบวก (มีผลงาน สร้างชื่อเสียง หรือประโยชน์ให้กับองค์กร) และคนที่ถูกจัดให้อยู่ในด้านลบ (สร้างภาระ หรือปัญหาให้กับองค์กร)
ทีนี้คำถามสำคัญก็คือเมื่อคุณพบว่าในทีมของคุณมีคนที่ถูกจัดให้อยู่ในด้านลบอยู่ คุณจัดการกับคนเหล่านี้อย่างไรครับ?
จากประสบการณ์การเป็นวิทยากรให้กับหลายหน่วยงาน ผมพบบางที่มีการตอบในเชิงเหมือนจะทีเล่นทีจริงว่า "คนพวกนี้บางทีต้องใช้ไม้แข็งครับ ใจดีกลับไปยิ่งได้ใจ" หรือ
"พวกที่ติดลบ เราต้องติดลบกลับไป มันจะได้กลายเป็นบวกไงครับอาจารย์"
ประโยคด้านบนคือที่มาของบทความชิ้นนี้ครับ ผมซึ่งจบ ป.ตรี ทางด้านวิศวะ และมีความชอบทางด้านคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ ได้ยินประโยคนี้ออกมา ก็คิดว่า จริง ๆ มันก็แอบฟังดูสมเหตุสมผลนะ "ลบคูณลบได้บวก"
แต่ความคิดที่แวบเข้ามาในหัวผมถัดมาคือ แต่คณิตศาสตร์มันไม่ได้มีแค่การคูณซักหน่อย การบวกมันก็ทำให้เป็นบวกได้นะ แถมการใส่พลังบวกเข้าไปให้มากกว่า แล้วทำให้คนที่เป็นลบกลายเป็นบวกดูจะยั่งยืนกว่าด้วยซ้ำ
ทำไมผมถึงพูดแบบนั้นหรอครับ เพราะถ้าเราอิงตามคณิตศาสตร์แล้ว ถ้าเราใช้วิธีแรก (การคูณ) เกิดวันหนึ่งที่บุคคลเหล่านั้นกลายเป็นบวกขึ้นมาแล้ว แต่คุณอาจจะไม่รู้ หรือเกิดอคติไปแล้ว คุณก็จะยังคงใช้การจัดการแบบลบเข้าไปด้วย คราวนี้จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ
สมการจะเปลี่ยนเป็น "บวกคูณลบได้ลบ" น่ะสิ
และผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ความรู้สึกของคนที่อุตส่าห์เปลี่ยนตัวเองได้ แต่กลับถูกปฏิบัติในแง่ลบอีก ย่อมรู้สึกไม่ดี อย่างดีก็คือปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัว อย่างแย่ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ของทีมไปเลย
แต่กลับกันถ้าคุณใช้วิธีการบวกล่ะ ต่อให้คน ๆ นั้นกลายเป็นบวกแล้วก็ย่อมไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเขาก็ยังคงได้รับค่าบวกเพิ่มขึ้น ทำให้ความรู้สึกยิ่งทวีความสุขสูงขึ้นไป
คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการคำนวณ บางครั้งคิดต่างกันอาจจะได้คำตอบเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ใช่ ผลลัพธ์ แต่เป็นวิธีคิดครับ
และนี่คือสิ่งที่คนฉลาดเขาคิดกันครับ
โฆษณา