10 มิ.ย. 2022 เวลา 10:05 • ธุรกิจ
ตลาดขนส่งพัสดุแข่งกันเลือดสาด และยังไม่มีทีท่าว่าจะทำกำไร
ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าตลาดขนส่งพัสดุ กำลังแข่งกันออกโปรโมชันตัดราคากันอย่างรุนแรง ทำให้สถานการณ์บริษัทขนส่งพัสดุไทยในตอนนี้ดูจะทำกำไรได้ยาก จนต้องหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้บริษัทยังเติบโตต่อได้
บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้พูดถึงสถานการณ์ตลาดขนส่งพัสดุปี 2022 ไว้ดังนี้
- สภาวะการแข่งขันและสงครามราคา (Price war) ยังมีแนวโน้มรุนแรงต่อไปในปี 2022
การเข้ามาให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งพัสดุรายใหญ่หลายรายตั้งแต่ปี 2019
ได้ส่งผลให้สภาวะการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุ ดุเดือดและรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านราคาเพื่อขยาย/แย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
และทำให้อัตราค่าจัดส่งพัสดุเริ่มต้น ลดลงจาก 35-40 บาทต่อชิ้น เหลือเพียง 15-20 บาทต่อชิ้น
อีกทั้งค่าขนส่งจะลดลงอีก หากจัดส่งในช่วงโปรโมชัน เช่น การจัดส่งในวันอาทิตย์ที่คิดค่าส่งเพียง 9 บาทต่อชิ้น
1
สำหรับในปี 2022 การแข่งขันด้านราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง จากที่ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา อีกทั้งยังมีผู้เล่นอีกหลายราย ที่เร่งขยายการให้บริการ
อีกทั้งแนวโน้มการลดลงของค่าจัดส่งพัสดุจากการแข่งขันอาจจะค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอัตราค่าจัดส่งพัสดุในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มให้บริการไม่คุ้มทุนแล้ว และมีบางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่องหลายปี หรือแม้กระทั่งปิดกิจการไป ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังให้บริการอยู่ ส่วนใหญ่มีอัตรากำไรสุทธิ ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง
1
ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าขนส่งพัสดุจากการแข่งขัน ยังถูกจำกัดจากแรงกดดันในด้านต้นทุนดำเนินการที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
- EIC ประเมินเทรนด์การให้บริการขนส่ง 4 เทรนด์ที่จะกลายเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุ
ที่ผ่านมาตลาดขนส่งพัสดุเรียกว่า ตลาด Red Ocean ทำให้เกิดสงครามราคาที่ดุเดือด
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ คือมองหาสิ่งที่เป็น Blue Ocean เช่น
1
1. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
เพื่อรองรับเทรนด์การซื้อสินค้า E-commerce ข้ามพรมแดนที่กำลังเติบโต และยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกค่อนข้างสูง
จากข้อมูล Priceza พบว่า สินค้าที่ขายใน e-marketplace 3 รายใหญ่ของไทยมีสัดส่วนของสินค้าจากต่างประเทศ ราว 63% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1
ดังนั้นการขนส่งสินค้าสำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มรายได้ เช่น J&T Express ประเทศไทย ได้เริ่มเปิดให้บริการขนส่งพัสดุจากไทยไปต่างประเทศแล้ว
2. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL)
ซึ่งเป็นการให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนักค่อนข้างมากแบบรายชิ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ของใช้สัตว์เลี้ยง, เฟอร์นิเจอร์, ต้นไม้
เพื่อรองรับเทรนด์การซื้อสินค้าในกลุ่มนี้ผ่าน Online Platform ที่กำลังเติบโต จากการที่คนปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านเต็มตัว (ซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น)
ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างก็เริ่มเปิดให้บริการ เพื่อรองรับการเติบโตของการซื้อขายสินค้าในกลุ่มนี้แล้ว เช่น Shopee Express Bulky, DHL Bulky, Best big parcel, Flash bulky, Kerry XL
1
3. เทรนด์การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
ตั้งแต่ขั้นตอนการบริการจัดเก็บสินค้าที่คลังสินค้า บริการแพ็กสินค้า จนถึงบริการขนส่งไปยังผู้บริโภค และจะกลายเป็นบริการพื้นฐานที่ผู้ประกอบการขนส่งทุกรายต้องมี เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขายออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ-ส่งถึง-บุคคล (B2C) ที่กำลังเติบโตสูง
1
อีกทั้งยังมีการเติบโตของเทรนด์การซื้อ-ขายสินค้าผ่าน Live ที่เป็นรูปแบบการขายที่กำลังเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น
4. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนทั้งสินค้าแบบแช่เย็นและแช่แข็ง
เช่น อาหารสด อาหารทะเล ผักและผลไม้ เพื่อรองรับเทรนด์การขายสินค้าเหล่านี้โดยตรงจากแหล่งผลิตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (social media) ที่เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนในปัจจุบันก็มีผู้ที่ให้บริการอยู่แล้ว เช่น SCG Express กับ Inter Express Logistics อีกทั้ง ผู้ให้บริการรายใหญ่หลายรายเพิ่งเปิดให้บริการในปี 2021 ได้แก่ Fuze delivery
1
โดยอยู่ภายใต้ความร่วมมือของบริษัทขนส่งรายใหญ่ 3 ราย ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย Flash express, JWD infologistics และ Kerry Cool ภายใต้ความร่วมมือของ Kerry Express กับเครือ Betagro
1
อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดในแต่ละเทรนด์ ได้ดึงดูดให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเข้าไปให้บริการในบางตลาดแล้ว
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปให้บริการใหม่ ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงข้อดี ข้อเสีย และการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
อีกทั้งควรเลือกเข้าไปให้บริการในตลาดที่สามารถอาศัยจุดแข็งของตน หรือจากพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ
ในอนาคต ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1. ต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลง
2. การแข่งขันจากธุรกิจแอปพลิเคชันบริการขนส่งดิลิเวอรี
3. การพัฒนาด้านโลจิสติกส์สีเขียวและความยั่งยืน
- และนี่คือ 3 กลยุทธ์ที่ EIC แนะนำเพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุสามารถนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมทั้งช่วยขยายสู่ตลาด Blue ocean ได้แก่
1. การพัฒนาความเร็วในการจัดส่งพัสดุอย่างต่อเนื่อง
2. การสร้าง Strategic Partnership หรือ M&A กับผู้ประกอบการต่าง ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ
3. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการมากยิ่งขึ้น
สรุปง่าย ๆ ก็คือ ในเมื่อบริษัทกำลังทำธุรกิจอยู่ใน Red Ocean ที่กำลังเป็นทะเลเดือด จนทำให้มีอัตรากำไรสุทธิที่ปรับลดลงต่อเนื่อง บริษัทก็ต้องมองหาทางเลือกใหม่ หรือ Blue Ocean เพื่อให้บริษัทยังเติบโตต่อไปได้ นั่นเอง..
Reference:
-บทวิเคราะห์จาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/8322
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
โฆษณา