11 มิ.ย. 2022 เวลา 01:00 • หนังสือ
“The Power of Input” แค่เห็นชื่อก็สะดุดแล้ว
พอเห็นชื่อผู้เขียน “ชิออน คาบาซาวะ” ผมคว้าหนังสือไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์เลย
ผมเป็นแฟนานุแฟนของคุณหมอคาบาซาวะ ชอบผลงานทุกเล่ม โดยเฉพาะ The Power of Output ชอบมากจนเขียนรีวิว (และมีคนแชร์เยอะมาก)
“หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร?”
เกี่ยวกับการรับ Input ให้ถูกวิธี
[Input คืออะไร?]
ถ้าจะอธิบายคำว่า Input ต้องอธิบายควบคู่กับคำว่า Output
Input คือการรับข้อมูลเข้า หลัก ๆ มี 3 แบบคือ อ่าน ฟัง ดู
Output คือการส่งข้อมูลออก หลัก ๆ มี 4 แบบคือ เขียน พูด ลงมือทำ สอน
เพื่อให้อ่านได้ไหลลื่น จากนี้ไปขอเรียกว่า อินพุต และ เอาต์พุต นะครับ 😀
====================
โดยทั่วไปแล้วเรามักคิดว่าให้รับอินพุตเยอะ ๆ ยิ่งเยอะเท่าไรยิ่งดี
แต่ความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลที่รับอินพุต ถ้าไม่ทำเอาต์พุตเลย (เขียน พูด ลงมือทำ สอน) สิ่งเหล่านั้นจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์
หรือพูดง่าย ๆ คือ ถ้ารับเพียงอย่างเดียว รับมากเท่าไรก็ไม่มีประโยชน์ ซ้ำร้ายยังลดเวลาทำเอาต์พุตอีกต่างหาก
การที่เราจะจำหรือเข้าใจเรื่องใด ๆ ต้องทำทั้งอินพุตและเอาต์พุตควบคู่กัน คล้ายเหรียญที่มีสองหน้า จะทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ลองเดากันเล่น ๆ ไหมครับว่า อัตราส่วนที่ดีระหว่าง อินพุต:เอาต์พุต คือเท่าไร?
คำตอบคือ 3:7
อ่านถูกแล้วครับ ไม่ใช่ 7:3
ใช่, ควรทำเอาต์พุตมากกว่าอินพุต หรือควรทำเอาต์พุตเป็นสองเท่าของอินพุต
และถ้าให้ดี ควรทำเอาต์พุต 3 ครั้งภายในสองสัปดาห์ มิฉะนั้นสมองจะคิดว่าไม่สำคัญ และลบความจำส่วนนั้นทิ้งไป
====================
[ก่อนทำอินพุต ให้ตั้งเอาต์พุตไว้ล่วงหน้า]
พูดง่าย ๆ คือ ก่อนจะรับข้อมูลใด ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าต้องทำเอาต์พุต
เช่น ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มใด ให้ตั้งเอาต์พุตไว้เลยว่าต้องเขียนรีวิว
หรือถ้าจะดูหนัง ให้ตั้งเอาต์พุตไว้เลยว่าจะไปเล่าให้เพื่อนฟัง หรือเขียนความประทับใจลงในโซเชียลมีเดีย
การตั้งเอาต์พุตไว้ล่วงหน้า ทำให้สมองจำข้อมูลได้มากขึ้น เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะกดดัน สมองจะหลั่งสารนอร์อะดรีนาลินออกมา ทำให้จดจ่อ จดจำ และมีสมาธิมากขึ้น
ใช่ครับ, บทความนี้คือเอาต์พุตของผมนั่นเอง 😀
====================
[ก่อนทำอินพุต ให้หา Why]
พูดง่าย ๆ คือ ก่อนจะรับข้อมูลใด ให้ใช้เวลา 10 วินาทีคิดว่า จะทำไปเพื่ออะไร?
หรือ เป้าหมายของการทำอินพุตครั้งนี้คืออะไร?
“เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคต” นี่คือเป้าหมายที่แย่มาก ไม่ชัดเจนและไร้ทิศทาง
แต่ถ้าเป็น “เพราะจะนำไปใช้กับงานรีพอร์ตเดือนหน้า”
หรือ “เพราะจะช่วยลดเวลาตอนดึงข้อมูลจาก SQL Server”
แบบนี้จะทำให้สมองตั้ง “เสาอากาศ” และจดจ่อกับอินพุตได้มากขึ้น
====================
[Input ไม่ได้แปลว่าเรียน]
แต่รวมถึงการรับเข้าข้อมูลทุกอย่าง เช่น
อ่าน(หนังสือ) ฟัง(พอดแคสต์) ดู(หนัง) ดู(งานศิลปะ)
1
ใช่, หลังชมงานศิลปะ ควรทำเอาต์พุด
หลังการไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญ ก็ควรทำเอาต์พุต
หรือแม้กระทั่งหลังดูหนังจบ ก็ควรทำเอาต์พุด
“ไม่ทำได้ไหม?”
ได้อยู่แล้ว เพราะเรามีสิทธิ์เลือกที่จะทำได้ทุกอย่าง
เพียงแต่ ถ้าถามคำถามง่าย ๆ ว่า คุณจำหนังที่ดูเมื่อสามเดือนก่อนได้ไหม หนังเรื่องนั้นวางพล็อตเรื่องยังไง หรือหนังเรื่องนั้นสนุกตรงไหน
ถ้าเราดูหนังแล้วไม่ได้ถกกับเพื่อน หรือไม่ได้เขียนรีวิว ยากมากที่จะตอบคำถามนี้ได้
อันนี้ผมเห็นด้วยมาก ๆ นะ เพราะเจอกับตัวเองเลย
ผมอ่านหนังสือปีละหลายสิบเล่ม แต่มีแค่ไม่กี่เล่มที่จำเนื้อหาได้ และนั่นคือทุกเล่มที่เขียนรีวิว
ใช่, ถ้าไม่ได้เขียนรีวิว ผมจำเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นแทบไม่ได้เลย หรือถ้าให้พูดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น คงพูดได้ไม่เกิน 1 นาที
====================
[ควรทำอินพุตและเอาต์พุตพร้อมกัน]
ตอนแรกผมคิดว่า ต้องทำอินพุตให้เสร็จก่อน แล้วค่อยทำเอาต์พุต
นั่นคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง
เพราะเราสามารถทำอินพุตและเอาต์พุตไปพร้อมกันได้
เช่น ถ้าผมจะศึกษาเรื่อง M Code (ภาษาใน Power Query)
เมื่อศึกษาไปส่วนนึง ผมอาจจะหาโจทย์ในชีวิตจริงมาลองทำ
เมื่อศึกษาไปอีกส่วนนึง ผมอาจลองสรุปเนื้อหาออกมาเป็นบทความ
เมื่อศึกษาไปอีกขั้น ผมอาจเปลี่ยนงานที่เคยถึกทำแบบแมนวล มาทำด้วย M Code แทน
เมื่อศึกษาเชิงลึก ผมอาจเปิดคอร์สสอนเกี่ยวกับ M Code
ใช่, นี่คือชีวิตจริงของผมเลยนะ 😀
====================
[อย่าอ่านแค่ ระดับที่ตัวเองเข้าใจ]
ก่อนอ่านหนังสือ ถ้าตั้งเป้าแค่ว่า “อยากรู้ว่าเกี่ยวกับอะไร”
กับตั้งเป้าว่า “อ่านแล้วจะนำไปสอนคนอื่น”
ความตั้งใจและผลลัพธ์จะผิดกันคนละโลก
ผมนึกถึงตอนไปเทรนงานที่อเมริกาเมื่อปี 2013
ตอนนั้น บริษัทแม่กำลังทำโปรเจกต์ชื่อ BPC (Business Planning & Consolidation) ซึ่งทุกประเทศต้องส่งตัวแทนประเทศละหนึ่งคนไปเทรน หลังเทรนเสร็จต้องกลับมาที่ประเทศของตัวเอง และสอนคนอื่นในประเทศให้ทำโปรเจกต์นี้ให้สำเร็จ
คงไม่ต้องบอกว่าผมตั้งใจขนาดไหน
กดดันโคตร ๆ!
แต่ก็ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่เทรน กลับมาที่เมืองไทย และสอนคนอื่นต่อได้จริง ๆ
====================
[อ่าน 3 จุด]
คุณเคยได้ยินคำว่า Confirmation Bias ไหมครับ?
นั่นคือ เวลาเราไล่ดูคอมเมนต์ใต้โพสต์ เรามักมองหาคอมเมนต์ที่คิดเหมือนเรา
ถ้าคอมเมนต์ใดคิดตรงข้าม เรามักจะข้ามคอมเมนต์นั้นไป
นี่เป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นกับทุกคน (และแน่นอนว่าผมก็เป็น 😀)
แค่คุณหมอคาบาซาวะบอกว่าเราควรอ่าน 3 จุด
นั่นคือ จุดที่เห็นด้วย จุดที่เห็นตรงข้าม และจุดที่เป็นกลาง
ใช่, เวลาอ่าน ควรอ่านด้วยมุมที่เป็นกลาง อย่างเอนข้างนี้ หรือโอนข้างนั้น
ถ้าให้ดี ควรอ่านหนังสือ 3 เล่ม นั่นคือ เล่มที่คิดตรง คิดต่าง และเป็นกลาง
บางครั้งเราอ่าน 3 เล่มไม่ไหว งั้นอ่านเพียงสองเล่ม คือ เล่มที่คิดตรง และเล่มที่คิดต่าง แล้วจะเห็นมุมที่กว้างขึ้น
====================
[เรียนสด จดโน้ต นั่งหน้า]
ถ้าให้เลือกระหว่างการอ่านหนังสือ กับ เรียนสด
ควรเลือก เรียนสด
ซึ่งทุกคนก็มักจะเลือกเรียนสดอยู่แล้ว (เพราะอ่านหนังสือมันแห้ง ๆ) แต่เหตุผลที่เลือกเรียนสดคือ
การเรียนสดจะรับข้อมูลผ่านทาง non-verbal language เช่น สีหน้า แววตา การใช้เสียงของวิทยากร
สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับอารมณ์ ทำให้เกิดการหลั่งโดพามีน ส่งผลให้จำได้ดีขึ้น
เมื่อเรียนสดแล้ว ควรจดโน้ตด้วย แม้ว่าจดแล้วจะไม่ได้กลับมาอ่านโน้ตนั้นเลยก็ตาม
ทำไม?
เพราะการจดโน้ตเป็นการดึงสมาธิ เรียบเรียงเรื่องราวในหัว และทำให้จำแม่นขึ้น
การจดโน้ตที่ดี ไม่ใช่จดทุกตัวอักษร แต่จดสิ่งที่ค้นพบ คิดต่าง หรือเกิดคำถามระหว่างเรียน
โดยเฉพาะคำถาม เป็นสิ่งสำคัญมาก
ถ้าเรียนแล้วไม่เกิดคำถามในหัวเลย แสดงว่าเรายังไม่ตั้งใจพอ
เรียนสดแล้ว ควรนั่งหน้าด้วย
หลายคนมักเลี่ยงการนั่งหน้า เพราะกลัวโดนวิทยากรเรียกถาม หรือกลัวโดนวิทยากรเรียกให้แสดงความคิดเห็น ทำให้เกิดความเครียด
แต่นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ
การนั่งหน้าทำให้ตื่นตัว เกิดการหลั่งอะดรีนาลิน มีสมาธิมากขึ้น
แถมการนั่งหน้ายังเห็นผู้สอนชัดเจน ได้ non-verbal languageได้การรับรู้ที่ดีขึ้น
ในฐานะที่ผมเป็นวิทยากร ขอบอกเลยว่าสิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับวัฒนธรรมคนไทยมาก
เวลาผมไปสอน โดยเฉพาะการสอนแบบ in-house คนที่นั่งหน้าสุด คือคนที่มาสาย
คนที่นั่งหลังสุด คือคนที่มาคนแรก
เป็นเรื่องน่าเสียดาย…
====================
[หลับตา]
เวลาพักคุณชอบทำอะไรครับ?
คนส่วนใหญ่มักตอบว่าเล่นมือถือ
แต่ในทางประสาทวิทยาศาสตร์แล้ว นั่นคือการพักที่แย่ที่สุด
การพักที่ดีที่สุดคือ การหลับตา
เพราะทันทีที่เราหลับตา คลื่นอัลฟาซึ่งเป็นคลื่นแห่งการผ่อนคลายจะถูกปล่อยออกมา
แค่หลับตาไม่กี่นาที สมองจะคลายความอ่อนล้าลงได้
แค่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องคิดอะไร นี่คือการพักผ่อนที่ให้ผลดีและทำง่ายที่สุด
====================
[ข้อมูล vs ความรู้]
ข้อมูล กับ ความรู้ ต่างกันอย่างไร?
คุณหมอคาบาซาวะอธิบายไว้ว่า
ถ้าเรามีหนังสือพิมพ์เมื่อหนึ่งปีก่อนวางอยู่ตรงหน้า สิ่งที่ยังเป็นประโยชน์ในเวลานี้คือ ความรู้
แต่สิ่งที่แทบไม่เป็นประโยชน์ในเวลานี้คือ ข้อมูล
เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพมาก ๆ
ข้อมูล เปรียบเสมือนอาหารสด ยิ่งใหม่ก็ยิ่งมีค่า และจะลดคุณค่าไปตามกาลเวลา
ขณะที่ ความรู้ ซึ่งได้จากการวิเคราะห์และทำความเข้าใจข้อมูล จะไม่ลดคุณค่ามากนักเมื่อเวลาผ่านไป
สิ่งที่ได้จากอินเทอร์เน็ตหรือหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่คือ ข้อมูล
แต่สิ่งที่ได้จากหนังสือหรือบุคคล ส่วนใหญ่เป็น ความรู้
การปรับสมดุลระหว่างข้อมูลและความรู้เพื่อทำอินพุตเป็นสิ่งสำคัญ
ลองเดากันไหมครับว่า อัตราส่วนที่ดีระหว่าง ข้อมูล:ความรู้ คือเท่าใด?
คำตอบคือ 3:7 (อัตราส่วนเดียวกับ อินพุต:เอาต์พุต)
หรือถ้าอัตราส่วนลดลงเป็น 2:8 หรือ 1:9 ยิ่งดี
(อัตราส่วนของคุณหมอคาบาซาวะคือ 1:9)
การรวบรวมข้อมูลให้ได้มาก ๆ ส่งผลให้ความรู้ที่ควรได้รับกลับลดลง
“เราจึงควรเก็บข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแค่พอประมาณ แล้วเพิ่มความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ และเพิ่มปัญญาด้วยการทำเอาต์พุต อินพุตที่มีความสมดุลจะช่วยพัฒนาตนเองอย่างมาก”
1
ประโยคนี้ขีดไฮไลต์ไว้ได้เลย 😀
====================
[Findings : Feeling : Questioning : To-Do]
การทำอินพุตที่ดี ควรทำแล้วได้ 1 ใน 4 หรือมีทั้ง 4 ข้อนี้
1. Findings: เราค้นพบอะไรจากหนังสือเล่มนี้ เราได้อะไรจากการทำอินพุตครั้งนี้
2. Feeling: ตอนทำอินพุตเรารู้สึกอย่างไร เราประทับใจอะไร หรือมีอะไรที่ทำให้เราสะเทือนอารมณ์ การเชื่อมโยงกับความรู้สึกจะทำให้จดจำได้ดีขึ้น
3. Questioning: สิ่งนี้ต่างกับสิ่งที่เราเคยรู้อย่างไร สิ่งนี้คล้ายกับสิ่งที่เราเคยรู้มาก่อนหรือไม่ เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร
4. To-Do: การทำอินพุตครั้งนี้จะก่อให้เกิดการกระทำ (Action) อะไรบ้าง หรืออินพุตนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเราได้ไหม
คุณหมอคาบาซาวะไม่ได้เขียนตามนี้เป๊ะ ๆ แต่ผมอ่านแล้วสรุปเป็นแบบนี้ครับ 😀
====================
[สรุป]
เนื้อหาบางส่วนคล้ายกับ The Power of Output ถ้าใครเคยอ่าน The Power of Output มาแล้ว อาจไม่ค่อยรู้สึกว้าวเท่าไร
แต่หนังสือของคุณหมอคาบาซาวะ ก็ยังคงความเป็นคาบาซาวะ
ผมไม่สามารถนั่งอ่านชิล ๆ ได้เลย อ่านไปสักพักก็จะแวบขึ้นมาว่า
“ตรงนี้ เจ๋งว่ะ”
แล้วก็เอื้อมมือไปหยิบไฮไลต์มาขีด หรือไม่ก็หยิบปากกามาเขียนความคิดที่นึกออกตอนนั้นลงไปในหนังสือ ซึ่งอากัปกิริยานี้ไม่ได้เกิดกับหนังสือทุกเล่ม แต่เกิดขึ้นกับหนังสือของคุณหมอคาบาซาวะทุกเล่ม
โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเขียนรีวิวหนังสือทุกครั้ง เพราะการเขียนรีวิวแต่ละครั้งไม่เคยใช้เวลาน้อยกว่า 3 ชั่วโมง
ช่วงนึงผมตั้งเป้าว่าจะเขียนรีวิวทุกเล่มที่อ่าน แต่พอนึกว่าต้องเขียนรีวิว ก็เกิดอาการเกร็งและลดความสนุก ทำให้อ่านหนังสือไม่จบสักเล่มเป็นเวลาติดต่อกันหลายเดือน
คงเพราะใช้เวลาเขียนรีวิวนานเกินไป สมองเลยขยาด
อีกส่วนคือ ผมมองว่าการอ่านหนังสือเป็นการพักผ่อนแบบนึง ถ้าอ่านแล้วต้องเขียนรีวิวทุกครั้ง สุดท้ายจะพาลไม่อยากอ่าน และสูญเสียนิสัยนี้ไป
เอาเป็นว่า เลือกเขียนรีวิวเฉพาะเล่มที่ประทับใจละกัน และผมก็ไม่ลังเลเลยที่จะเขียนรีวิวหนังสือเล่มนี้ เพราะประทับใจมากครับ
ใครอ่านถึงบรรทัดนี้แล้ว อย่าลืมทำเอาต์พุตนะครับ 😀
โฆษณา