Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2022 เวลา 13:30 • ธุรกิจ
รู้หรือไม่ ? ภาวะโลกร้อน ทำให้สินค้านำเข้า แพงขึ้น
เมื่อกล่าวถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่เกี่ยวข้องกับท้องทะเล หลาย ๆ คนอาจนึกถึงการลดลงของจำนวนปลา จากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น หรือฝนฟ้าที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาล
1
แต่ที่จริงแล้ว ภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมง หรือการเกษตรเท่านั้น ทว่ายังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าขายสำคัญของมนุษย์ที่มีมาช้านานอย่าง ธุรกิจการขนส่งทางทะเลอีกด้วย
โดยจากรายงานของ UNCTAD ได้ระบุไว้ว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางทะเลนั้น คิดเป็น 80% ของปริมาณการค้าขายสินค้าทั่วโลก หรือถ้าหากคิดเป็นตัวเงิน ก็พบว่าการขนส่งทางทะเล มีมูลค่ามากกว่า 480 ล้านล้านบาท ในปี 2019
ซึ่งตัวชี้วัดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการขนส่งทางทะเลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังทำให้การเดินเรือประสบกับความยากลำบากขึ้นมาก เนื่องจากการระเหยอย่างรวดเร็วของน้ำทะเล ได้ทำให้เกิดพายุหมุนบ่อย และรุนแรงมากขึ้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการขนส่งทางทะเล อย่างแรกคือทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างล่าช้า
1
ถึงแม้ว่าเรือขนส่งในปัจจุบัน จะสามารถทนทานต่อพายุได้มากขึ้น แต่การเดินเรือท่ามกลางพายุก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตัวเรือและสินค้า ทำให้หลายครั้งท่าเรือต้องปิดทำการเมื่อพายุเข้า
ตัวอย่างเช่น ท่าเรือลอสแอนเจลิสและลองบีช ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา ต้องหยุดทำการเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากพายุเข้า เป็นเหตุให้เรือสินค้ากว่า 160 ลำ ต้องจอดรอเข้าท่าอยู่นานกว่าสองสัปดาห์
ซึ่งในโลกที่เศรษฐกิจต่างเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานนี้เอง การขนส่งที่ล่าช้าขนาดนี้ ถือว่าเป็นฝันร้ายของธุรกิจเลยทีเดียว เพราะเมื่อการผลิตของธุรกิจหนึ่งเกิดหยุดชะงัก ก็จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปเป็นลูกโซ่ด้วย
แต่ถ้าหากจะเสี่ยงเดินเรือท่ามกลางพายุ เพื่อให้ส่งสินค้าได้ทันเวลา ก็มีโอกาสสูงที่จะประสบกับปัญหาสินค้าหล่นหายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
เช่น บริษัท Maersk ที่ทำตู้ขนสินค้าหล่นหายไปถึง 962 ตู้ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังของบริษัทที่ 30 ตู้ต่อปี คิดเป็นกว่า 30 เท่า
และนอกจากพายุจะทำให้ท่าเรือหยุดทำการแล้ว ในบางครั้งก็ยังสามารถสร้างความเสียหายต่อท่าเรือได้อีกด้วย อย่างในกรณีของท่าเรือเดอร์บันเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา
1
โดยท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปแอฟริกาแห่งนี้ ได้ถูกพายุฝนกระหน่ำ จนทำให้เส้นทางการขนส่งถูกตัดขาด และตู้ขนสินค้าพังเสียหาย ซึ่งความเสียหายครั้งนี้มีมูลค่ามากถึง 23,000 ล้านบาท
แล้วเหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างไร ?
จะเห็นได้ว่า การขนส่งทางทะเลล่าช้าขึ้นมาก รวมถึงการเดินทางทางทะเลที่เสี่ยงอันตรายยิ่งกว่าเดิม จากพายุที่ก่อตัวขึ้นบ่อยและรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะเป็นตัวผลักดันให้ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มมากขึ้น
ทั้งจากการที่เรือต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันเพิ่มเติมเพื่อเดินทางฝ่าพายุ และท่าเรือที่ต้องปรับปรุงท่าเรือให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น รวมไปถึงค่าเบี้ยประกันภัยทางทะเลที่จะสูงขึ้นตามอุบัติเหตุที่เกิดบ่อยขึ้น
ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ ก็จะถูกผนวกเพิ่มเข้าไปกับราคาสินค้านำเข้านั่นเอง
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ถ้าหากเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต หลาย ๆ บริษัทในประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า ทั้งในด้านของการสั่งสินค้ามาเพื่อขาย และนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตนั้น อาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการทำกำไรด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
ซึ่งผู้ที่ต้องรับผลกระทบจากต้นทุนเหล่านี้อีกต่อหนึ่ง ก็คือผู้บริโภคอย่างพวกเรา ที่ยังไม่รู้ตัวว่าภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราอีกหนึ่งก้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
References
-
https://unctad.org/webflyer/review-maritime-transport-2021
-
https://www.ics-shipping.org/shipping-fact/shipping-and-world-trade-driving-prosperity/
-
https://www.edf.org/climate/how-climate-change-makes-hurricanes-more-destructive
-
https://www.straitstimes.com/business/economy/latest-threat-in-supply-chain-nightmares-is-storm-season-at-sea
-
https://shippingwatch.com/carriers/Container/article13753622.ece
-
https://www.porttechnology.org/news/port-of-durban-faces-backlog-after-flood-devastation/
ธุรกิจขนส่ง
สินค้านำเข้า
ภาวะโลกร้อน
7 บันทึก
8
1
6
7
8
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย