12 มิ.ย. 2022 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
เปิดที่มาและความหมายของ “สีธง” ของกลุ่ม “LGBTQIA+” และเพศวิถีอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีเพียง “ธงสีรุ้ง” ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเท่านั้น
นอกจาก “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ “LGBTQIA+” ที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว ในแต่กลุ่มเพศวิถีนั้นก็มีธงสัญลักษณ์เป็นของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีสีสันและความหมายที่แตกต่างกันออกไป
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงได้รวบรวมที่มาและความหมายของธงกลุ่มเพศวิถีต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจในความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ธงสีรุ้ง (Rainbow Flag)
เริ่มต้นกันที่ “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) สัญลักษณ์หนึ่งที่เป็นที่นิยมและมักจะเห็นในการประดับประดาสถานที่ต่าง ๆ ตลอดเดือนมิ.ย. เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) ออกแบบโดย “กิลเบิร์ต เบเกอร์” (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาว LGBTQIA+
โดยเบเกอร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพลง “Over the Rainbow” เป็นประกอบภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่อง “The Wizard of Oz” ขับร้องโดย “จูดี การ์แลนด์” (Judy Garland) นักร้องและนักแสดง ผู้ถูกยกย่องให้เป็นเกย์ไอคอนคนแรก
รวมถึงเบเกอร์ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ธงห้าเชื้อชาติใต้หนึ่งสหภาพ” (Five Races Under One Union) ที่ใช้ในช่วงการการปฏิวัติซินไฮ่ เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน ที่เป็นธง 5 สีแนวนอน ประกอบไปด้วยสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ
นอกจากนี้ สายรุ้งยังเป็นสิ่งสวยงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แสดงถึงการรวมตัวกันของทุกเฉดสี ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นตัวแทนของมนุษย์ เพราะแต่ละบุคคลก็เปรียบเสมือนสีที่หลากหลาย แตกต่างกันด้วยทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ อายุ และศาสนา
ธงสีรุ้ง ถูกใช้ครั้งแรกในงานพาเหรด “San Francisco Gay Freedom Day” เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2521 ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 สี และแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันออกไปดังนี้
สีชมพูเฉดฮอตพิงก์ (Hot pink) เป็นตัวแทนของ เพศ (Sex)
สีแดง (Red) เป็นตัวแทนของ ชีวิต (Life)
สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของ การเยียวยา (Healing)
สีเหลือง (Yellow) เป็นตัวแทนของ แสงอาทิตย์ (Sunlight)
สีเขียว (Green) เป็นตัวแทนของ ธรรมชาติ (Nature)
สีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) เป็นตัวแทนของ เวทย์มนตร์ (Magic)
สีน้ำเงินคราม (Indigo) เป็นตัวแทนของ สันติสุข (Serenity)
สีม่วง (Violet) เป็นตัวแทนของ จิตวิญญาณ (Spirit)
หลังจากนั้น ในปี 2522 ธงสีรุ้งก็เหลือเพียง 6 สี ตามที่ใช้อยู่ปัจจุบัน สีชมพูแบบฮอตพิงก์ถูกตัดออก เพราะผ้าสีนี้หายากและมีราคาสูง ขณะที่สีน้ำเงินครามถูกปรับมาเป็นสีน้ำเงิน และสีเทอร์ควอยส์ถูกตัดออก เพื่อให้สามารถใช้ประดับสิ่งต่าง ๆ เช่น เสาไฟตามถนนได้อย่างสมดุล
(ด้านซ้าย) ธงสีรุ้งแบบเก่า, (ด้านขวา) ธงสีรุ้งที่ใช้ในปัจจุบัน
ธงเลสเบี้ยน (Lesbian Flag)
ธงเลสเบี้ยน (Lesbian Flag) แบบ 7 แถบสีที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 2561 โดย “เอมิลี เกว็น” (Emily Gwen) บล็อกเกอร์ชื่อดัง ซึ่งมีด้วยกัน 7 สี โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้
สีส้มเข้ม (Dark Orange) เป็นตัวแทนของ ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Nonconformity)
สีส้ม (Orange) เป็นตัวแทนของ ความเป็นอิสระ (Independence)
สีส้มอ่อน (Light orange) เป็นตัวแทนของ ชุมชน (Community)
สีขาว (White) เป็นตัวแทนของ ความสัมพันธ์อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิง (Unique Relationships to Womanhood)
สีชมพู (Pink) เป็นตัวแทนของ ความสงบและความสงบสุข (Serenity and Peace)
สีชมพูเทา (Dusty Pink) เป็นตัวแทนของ ความรักและเพศ (Love and Sex)
สีดอกกุหลาบเข้ม (Dark Rose) เป็นตัวแทนของ ความเป็นผู้หญิง (Femininity)
หลังจากนั้นไม่นาน เกว็นออกแบบธงเลสเบี้ยนเวอร์ชัน 5 แถบสีขึ้นมาด้วย โดยตัดสีส้มเข้มและสีดอกกุหลาบเข้มออก
ธงเกย์ (Gay Flag)
ในปี 2562 ผู้ใช้งาน Tumblr ชื่อว่า @gayflagblog ได้ออกแบบธงเกย์ (Gay Flag) ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับธงเลสเบี้ยนที่มีทั้งแบบ 5 แถบ และ 7 แถบสี โดยธงเกย์นั้นใช้เฉดสีเทอร์ควอยส์ เขียว ขาว ฟ้า และม่วงเป็นหลัก โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้
เฉดสีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) จนถึงสีเขียว (Green) เป็นตัวแทนของ ชุมชน (Community), การเยียวยา (Healing) และความสุข (Joy)
สีขาว (White) เป็นตัวแทนของ ความไม่สอดคล้องทางเพศ (Gender Nonconformity), นอน ไบนารี (non-binary), และกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender Folks)
เฉดสีฟ้า (Blue) จนถึงสีม่วง (Purple) เป็นตัวแทนของ ความรักบริสุทธิ์ (Pure Love) ความแข็งแกร่ง (Fortitude) และความหลากหลาย (Diversity)
อย่างไรก็ตาม มีข่าวลือว่าแท้จริงแล้วผู้ที่ออกแบบธงเกย์นี้เป็น ผู้ที่เกลียดกลัวคนข้ามเพศ (Transphobic) รวมถึงเลียนแบบธงเลสเบี้ยน แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวก็ถูกลบล้างไป และธงเกย์นี้ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
(ซ้ายบน) ธงเลสเบี้ยน, (ขวาบน) ธงเกย์, (ซ้ายล่าง) ธงไบเซ็กชวล, (ขวาล่าง) ธงทรานส์เจนเดอร์
ธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag)
ไมเคิล เพจ (Michael Page) นักเคลื่อนไหวออกแบบธงไบเซ็กซวล (Bisexual Flag) ขึ้นเพื่อต้องการสร้างความตระหนักและเน้นย้ำว่ากลุ่มไบเซ็กซวลนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้การซ้อนกับกันของสีที่มักถูกใช้แทนเพศ
สีชมพู ที่ถูกมองว่าเป็นสีของเพศหญิง และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดเพศเดียวกัน ส่วนสีน้ำเงิน ที่ถูกมองเป็นสีของเพศชาย และยังเป็นตัวแทนของการดึงดูดคนต่างเพศ
เมื่อมาผสมกันก็จะได้เป็นสีลาเวนเดอร์ ที่อยู่ตรงกลางของทั้ง 2 สี แสดงถึงการดึงดูดทั้งสองเพศ
ธงนี้ถูกใช้ครั้งแรกในงานปาร์ตี้เฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีร้าน BiCafe เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2541
ธงทรานส์เจนเดอร์ (Transgender Flag)
ธงทรานส์เจนเดอร์ (Transgender Flag) ออกแบบโดย โมนิกา เฮมส์ (Monica Helms) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวข้ามเพศชาวอเมริกัน โดยธงนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกที่งานไพรด์พาเหรดในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐ
ธงทรานส์เจนเดอร์นี้ประกอบไปด้วย 3 สี คือ สีฟ้า ที่มีความหมายแทนเด็กผู้ชาย สีชมพูที่มีความหมายเป็นเด็กผู้หญิง และมีสีขาวอยู่ตรงกลางเป็นตัวแทนของผู้ที่กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ผู้ที่ไม่ระบุเพศ และอินเตอร์เซ็กซ์
ธงเควียร์ (Genderqueer Flag)
มาริลิน ร็อกซี (Marilyn Roxie) ช่างภาพและตากล้อง ได้ออกแบบธงเควียร์ (Genderqueer Flag) รูปแบบที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในปี 2554 ก่อนที่จะมีการอัปเดตสีใหม่ในปี 2555 ซึ่ง ธงเควียร์นี้มีด้วยกัน 3 สี คือ
สีลาเวนเดอร์ เป็นสีที่ผสมมาจากสีฟ้าและสีชมพูที่ถูกมองว่าเป็นสีของเพศชายและเพศหญิง โดยเป็นตัวแทนของ เควียร์ ที่ในสมัยก่อนเป็นคำพูดในเชิงเหยียดหยามกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามความหมายดั้งเดิมที่แปลว่าแปลกประหลาด
สีขาว เป็นตัวแทนของ ความเป็นกลางทางเพศ และไม่มีเพศ เช่นเดียวกับในธงของทรานส์เจนเดอร์
สีเขียวเข้ม เป็นสีตรงข้ามกับสีลาเวนเดอร์ ตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ 2 เพศ (ไบนารี)
ธงเควสชันนิง (Questioning Flag)
ธงเควสชันนิง (Questioning Flag) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกเพศวิถีใด มีด้วยกันหลากหลายแบบ แต่แบบที่คนคุ้นชินและได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ธงที่มีเครื่องหมายคำถามสีขาวโดดเด่นอยู่กลาง ธงที่มี 4 แถบสี คือ ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน ซึ่งออกแบบโดย Swocks ผู้สร้างพื้นที่สำหรับพบปะกันของชาว LGBTQIA+ ในเกม Roblox และถูกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563
ธงอินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex Flag)
ธงของกลุ่ม อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หรือ ภาวะเพศกำกวม ออกแบบโดย มอร์แกน คาร์เพนเตอร์ แห่ง องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้ที่มีภาวะเพศกำกวมแห่งออสเตรเลีย (Intersex Human Rights Australia) ในปี 2556
ธงมีวงกลมสีม่วงอยู่ตรงกลางพื้นหลังที่เป็นสีเหลือง โดยสีเหลืองและสีม่วงนั้นเป็นสีที่ไม่ได้ถูกใช้แทนเพศต่าง ๆ อีกทั้งในอดีตยังเคยใช้เป็นสีของกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์อยู่แล้ว ส่วนวงกลมมีความหมายถึงความสมบูรณ์ ความเต็มเปี่ยม และศักยภาพของกลุ่มอินเตอร์เซ็กซ์
(ซ้ายบน) ธงเควียร์, (ขวาบน) ธงเควสชันนิง, (ล่าง) ธงอินเตอร์เซ็กซ์
ธงอะเซ็กซวล (Asexual Flag)
ในปี 2553 เครือข่ายการศึกษาและการรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มอะเซ็กซวล หรือ AVEN (Asexual Visibility and Education Network: AVEN) ได้จัดการประกวดออกแบบธงเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของกลุ่ม โดยแบบที่ชนะเลิศคือ ธง 4 แถบ ที่มีสีดำ เทา ขาว และม่วง โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้
สีดำ เป็นตัวแทนของ ความเป็นอะเซ็กซวล
สีเทา เป็นตัวแทนของ พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเพศและอะเซ็กซวล
สีขาว เป็นตัวแทนของ เพศ
สีม่วง เป็นตัวแทนของ ชุมชน
ธงอะโรแมนติก (Aromantic Flag)
สำหรับธงของกลุ่มอะโรแมนติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั้น ออกแบบโดย “คาเมรอน วิมซี” นักวาดรูปและนักแต่งเพลง ในปี 2557 ซึ่งธงมีด้วยกัน 5 สี โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้
สีเขียวอ่อนและสีเขียว แสดงถึงสเปคตรัมของกลุ่มอะโรแมนติก
สีขาว (ก่อนหน้านี้เป็นสีเขียว) เป็นตัวแทนของความรักแบบที่ไม่มีความใคร่ (Plantonic Love) และ ความสัมพันธ์
สีเทาและสีดำ แสดงถึงสเปคตรัมทางเพศที่มีหลากหลายภายใต้ร่มของอะโรแมนติก
ธงอะเจนเดอร์ (Agender Flag)
ในปี 2557 Salam X หนึ่งในผู้ใช้งาน tumblr ได้ออกแบบธงอะเจนเดอร์ (Agender Flag) ซึ่งมีลักษณะเป็นธง 7 แถบที่มีขนาดเท่ากัน ประกอบไปด้วย 4 สี ดังนี้
สีดำและสีเทา เป็นตัวแทนของ กลุ่มไร้เพศ (Lack of Gender)
สีขาว เป็นตัวแทนของ กลุ่มกึ่งไร้เพศ (semi-genderless)
สีเขียวอ่อน เป็นตัวแทนของ กลุ่มนอนไบนารี
(บน) ธงอะเซ็กชวล, (ซ้ายล่าง) ธงอะโรแมนติก, (ขวาล่าง) ธงอะเจนเดอร์
ธงนอนไบนารี (Non - Binary Flag)
คาย โรแวน (Kye Rowan) ผู้ใช้งาน Tumblr ได้ออกแบบธงนอนไบนารี (Non - Binary Flag) เมื่อปี 2557 โดยเป็นธง 4 สี ประกอบไปด้วย สีเหลือง สีขาว สีม่วง และ สีดำ ซึ่งมีความหมายดังนี้
สีเหลือง เป็นตัวแทนของ กลุ่มเพศวิถีที่อยู่นอกเหนือจากความเชื่อว่าโลกมีเพียงแค่ 2 เพศ (Binary)
สีขาว เป็นตัวแทนของ ทุกเพศ
สีม่วง เป็นตัวแทนของ กลุ่มคนที่มีเพศแบบผสมผสานระหว่างชายกับหญิง (a male and female mix)
สีดำ เป็นตัวแทนของ กลุ่มคนไม่ระบุเพศ หรือ ไม่มีเพศ
ธงทูสปิริต (Two-spirit Flag)
ธงทูสปิริต (Two-spirit Flag) แบบที่เห็นบ่อยที่สุดและรู้จักกันในวงกว้างคือ รูปแบบของธงสีรุ้ง ที่มีวงกลมและขนนก 2 เส้นพาดอยู่ ซึ่งออกแบบโดยผู้ใช้งาน Tumblr ที่ชื่อว่า 2Sanon เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2559 โดยวงกลมหมายถึงความสามัคคีและรวมกันเป็นหนึ่ง ส่วนขนนกหมายถึงเพศชายและหญิง ซึ่งอาจจะนำสัญลักษณ์นี้ไปแปะบนธงของทรานส์เจนเดอร์ หรือ นอนไบนารีก็ได้เช่นกัน
ธงแพนเซ็กชวล (Pansexual Flag)
แจสเปอร์ วี. (Jasper V.) ผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นเควียร์ นอนไบนารี่ ออกแบบธงแพนเซ็กซวล (Pansexual Flag) ในปี 2553 เป็นช่วงที่แพนเซ็กซวลกำลังเป็นที่พูดถึงในอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะใน Tumblr และในกลุ่มคนรุ่นใหม่ สำหรับธงของแพนเซ็กซวลนั้นเป็นธง 3 แถบ ประกอบด้วยสีม่วงแดง (Magenta) สีเหลือง (Yellow) และ สีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyan) โดยมีความหมายดังนี้
สีม่วงแดง (Magenta) เป็นตัวแทนของ ผู้ที่ระบุว่าตนเองอยู่ในสเปคตรัมของเพศหญิง โดยไม่คำนึงถึงสรีระทางเพศ
สีเหลือง (Yellow) เป็นตัวแทนของ กลุ่มที่ระบุตนเป็นเพศวิถีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง
สีเขียวแกมน้ำเงิน (Cyan) เป็นตัวแทนของ ผู้ที่ระบุว่าตนเองอยู่ในสเปคตรัมของเพศชาย โดยไม่คำนึงถึงสรีระทางเพศ
ธงเดมิเซ็กชวล (Demisexual Flag)
ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ออกแบบธงเดมิเซ็กซวล (Demisexual Flag) แต่เว็บไซต์ Queer in the World ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเพศวิถีต่าง ๆ สันนิษฐานว่าธงนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 2010 ไล่เลี่ยกับธงของอะเซ็กชวล เนื่องจากสีธงเดมิเซ็กชวลนั้นเป็นสีเดียวกับธงอะเซ็กชวล
ลักษณะของธงเดมิเซ็กชวลแตกต่างจากธงอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ที่เป็นเพียงธงแถบสีแนวนอน แต่ธงเดมิเซ็กชวลนั้นมีรูปสามเหลี่ยมสีดำยื่นออกมาทางด้านซ้าย มีเส้นหนาสีขาวด้านบน ตามด้วยเส้นสีม่วงบาง ๆ ตรงกลาง จากนั้นเส้นสีเทาหนาที่ด้านล่าง โดยความหมายของแต่ละสีมีดังนี้
สีดำ แสดงถึง อะเซ็กชวล
สีเทา แสดงถึง เดมิเซ็กชวล
สีขาว แสดงถึง เรื่องเพศ
สีม่วง แสดงถึง ชุมชน
(ซ้ายบน) ธงนอนไบนารี, (ขวาบน) ธงทูสปิริต, (ซ้ายล่าง) ธงแพนเซ็กชวล, (ขวาล่าง) ธงเดมิเซ็กชวล
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธงที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเพศวิถีและความหลากหลายทางเพศเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วยังมีธงและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงความหลากหลายทางเพศอีกมากมาย ธงเหล่านี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแสดงความภาคภูมิใจในตัวตนของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และพร้อมประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาคือใครอย่างเต็มภาคภูมิ
#กรุงเทพธุรกิจ #กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ #PrideAndProud
โฆษณา