11 มิ.ย. 2022 เวลา 10:24 • การศึกษา
วิธีการคำนวณภาษีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ >>>
ในบทความนี้จะนำเสนอวิธีการคำนวณภาษีของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับเนื่องจากการลาออกจากงานและมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยวิธีการคำนวณจะเป็นแบบผู้มีเงินได้เลือกคำนวณภาษีแบบแยกคำนวณภาษีจากภาษีเงินได้ประจำปี
หลักการคำนวณภาษี
1. รายได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องนำมารวมคำนวณมี 3 ส่วน คือ
(1) เงินผลประโยชน์ส่วนของผู้มีเงินได้
(2) เงินสมทบส่วนของนายจ้าง
(3) เงินผลประโยชน์ส่วนของนายจ้าง
2. ค่าใช้จ่ายหักได้ 2 ส่วน คือ
(1) ส่วนแรก 7,000 บาท คูณ จำนวนปีที่ทำงาน (เศษของปี ถ้าถึง 183 วันให้ถือเป็น 1 ปี ถ้าไม่ถึง 183 วัน ให้ปัดทิ้ง) ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกินเงินได้
(2) นำเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนแรกเหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 ได้อีก 50% ของเงินที่เหลือ
3. นำเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 มาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้
(อ้างอิง มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร)
ตัวอย่างการคำนวณ
นาย ก ทำงานอยู่ในบริษัท A ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 และได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2560 โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 นาย ก.ได้ลาออกจากงานและได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมไว้คืนประกอบด้วย
1. เงินสะสมส่วนของนาย ก 100,000 บาท
2. เงินผลประโยชน์ส่วนของนาย ก. 10,000 บาท
3. เงินสมทบส่วนของนายจ้าง (บริษัท A) 80,000 บาท
4. เงินผลประโยชน์ส่วนของนายจ้าง (บริษัท A) 8,000 บาท
วิธีการคำนวณภาษี
1.เงินได้ 98,000 บาท (10,000+80,000+8,000)
2. ค่าใช้จ่ายส่วนแรก 35,000 บาท (7,000*5ปี) (เศษของปีไม่ถึง 183 วันปัดทิ้ง)
3. ค่าใช้จ่ายส่วนที่ 2 31,500 บาท (98,000-35,000)*50%
4. เงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย 2 ส่วน 31,500 บาท (98,000-35,000-31,500)
5. ภาษี 1,575 บาท (31,500*5%)
สรุป นาย ก มีภาษีจากการได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืน จำนวน 1,575 บาท
ขอบคุณรูปภาพประกอบบทความจาก PAXIBAY
#duangnapapremyothin #ที่ปรึกษาภาษี #taxadvisor #taxauditor #สยามลอว์ #siamlaw #สำนักงานกฎหมายภาษีสยามลอว์ #การคำนวณภาษีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เพจ VI Style by MooDuang
โฆษณา