13 มิ.ย. 2022 เวลา 04:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ขนไดโนเสาร์ นับว่าเป็นส่วนของเนื้อเยื่ออ่อน ที่ง่ายต่อการสูญหายไปตามกาลเวลา แต่ยังสามารถพบได้จากหลายวิธี ซึ่งสามารถดูวิธีเหล่านั้นได้ในบทความก่อน (https://theprincipia.co/dinosaur-fossil/)
วิธีหนึ่งในการเก็บหลักฐานซากดึกดำบรรพ์คือ การเก็บรักษาไว้ในยางไม้ และกลายเป็นอำพัน คล้ายกับที่มาของการเริ่มต้นสร้างไดโนเสาร์ในภาพยนตร์ Jurassic Park
ส่วนในโลกแห่งความจริงนั้น ก็เคยมีการพบหางของไดโนเสาร์จำพวกเทอโรพ็อด ที่น่าจะมีขนาดตัวเล็กประมาณนกกระจอก ติดอยู่ภายในอำพันขนาด 37 มิลลิเมตรและมีอายุประมาณ 99 ล้านปี ถูกพบในตลาดขายของประเทศพม่า ซึ่งหางไดโนเสาร์ชิ้นนี้ทำให้เราได้เห็นลักษณะขนของไดโนเสาร์ที่คล้ายกับขนนกได้อย่างชัดเจน
ส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์มีขนที่พบเป็นครั้งแรกจริง ๆ เป็นของไดโนเสาร์ที่มีชื่อว่า Archaeopteryx หรือ อาร์คีออปเทอริกซ์ โดยที่ฟอสซิลของอาร์คีออปเทอริกซ์ที่พบเป็นตัวแรกนั้น มีอายุราว 150 ล้านปี พบในปี ค.ศ. 1860 ในประเทศเยอรมนี โดยถือว่าไดโนเสาร์ตัวนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรอยต่อระหว่างไดโนเสาร์กับนกพอดิบพอดี ถือเป็นบรรพบุรุษของนก และเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยในการศึกษาวิวัฒนาการ
แต่จากหลักฐานฟอสซิลไดโนเสาร์ 77 สายพันธุ์ที่พบหลักฐานของส่วนผิวหนังในปัจจุบัน พบว่าไดโนเสาร์ปากเป็ด ไดโนเสาร์มีเขา และไดโนเสาร์หุ้มเกราะ มีหลักฐานผิวหนังมากพอที่จะบอกได้ว่า ไม่พบการมีขนของไดโนเสาร์กลุ่มนี้เลย แสดงว่าพวกมันไม่น่าจะมีขน มีเพียงเกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังต่างหาก นอกจากนี้กลุ่มไดโนเสาร์คอยาวก็ไม่มีหลักฐานไหนที่พบขนของพวกมันเลย
หลักฐานการปรากฎของขนไดโนเสาร์ที่พบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเทอโรพ็อดที่มีความใกล้ชิดกับนกมากที่สุด เช่น ทีเร็กซ์ ซึ่งการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นก็บ่งบอกว่า สัตว์นักล่าที่ยิ่งใหญ่อย่างทีเร็กซ์ก็ไม่ได้มีขนปกคลุมทั่วลำตัว แต่มีผิวหนังที่ส่วนใหญ่เป็นเกล็ด แต่อาจจะมีขนขึ้นบ้างเล็กน้อย เช่น ตามลำคอ
จากงานวิจัยดังกล่าว ที่บอกว่าไดโนเสาร์บางกลุ่มเท่านั้นที่มีขน แสดงว่าการมีขนไม่ใช่สิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับไดโนเสาร์ชนิดอื่นเลย แม้ว่าในเวลาต่อมา ขนจะช่วยให้ความอบอุ่น และช่วยในการบิน สำหรับสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการถัด ๆ มาอย่างนกก็ตาม แต่ไดโนเสาร์ก็ไม่จำเป็นต้องมีขน และพวกมันก็ไม่ได้มีขนทุกตัว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://theprincipia.co/dinosaur-feather/
โฆษณา