12 มิ.ย. 2022 เวลา 03:13 • ประวัติศาสตร์
นี่คือเรื่องราวของนักวิ่งชาวอาทิตย์อุทัย ผู้เข้าร่วมการแข่งวิ่งมาราธอนที่เมืองสตอคโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในปี 1912 แต่กว่าที่เขาจะเข้าสู่เส้นชัยก็คือในปี 1967 หรืออีก 54 ปีต่อมา
แล้วในระหว่างนั้นเขาหายไปไหน เกิดอะไรขึ้นกับชายผู้ที่ต่อมาได้รับการยกย่องในเวลาต่อมาว่าเป็น 'บิดาแห่งการวิ่งมาราธอนของญี่ปุ่น'
คานาคูริเกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1891 ที่เมืองคุมาโมโตะ เมื่อมีอายุได้ 10 ขวบ เขาต้องวิ่งไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียนเป็นระยะทาง 12 กิโลเมตรในทุกวัน เสมือนเป็นเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแกร่งเพื่อเตรียมพร้อมกับการแข่งวิ่งมาราธอนในอนาคตข้างหน้า
พฤศจิกายน ปี 1911 คานาคูริเข้าร่วมแข่งวิ่งมาราธอนในประเทศบ้านเกิด สมัยนั้นยังมีความเชื่อผิด ๆ ว่า ยิ่งเหงื่อออกมาก ร่างกายก็ยิ่งเหนื่อยง่าย นั่นทำให้ระหว่างแข่งขัน คานาคูริไม่ดื่มน้ำแม้แต่อึกเดียว อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมทั้งทำสถิติโลกด้วยเวลา 2:32:45 ชั่วโมง ในระยะทาง 40.225 กิโลเมตร (ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น 42.195 กิโลเมตรในเวลาต่อมา)
ในปี 1912 ประเทศสวีเดนได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน เป็นครั้งแรกที่เหล่าประเทศจาก 6 ทวีปได้เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก คานาคูริพร้อมด้วยโยชิโกะ มิชิมา ได้เป็นตัวแทนนักวิ่งจากญี่ปุ่น
ในสมัยนั้นประเทศญี่ปุ่นยังไม่เห็นความสำคัญของการแข่งกีฬาและไม่ได้ให้การสนับสนุนแก่นักวิ่งทั้ง 2 คน ทำให้พวกเขาต้องขวนขวายหาทุนกันเอง
การเดินทางไปแข่งขันก็ช่างยากลำบาก ต้องใช้เวลาถึง18 วันจากญี่ปุ่นไปถึงสวีเดน ทั้งทางเรือและรถไฟสายทราน - ไซบีเรีย ระหว่างเดินทาง คานาคูริและมิชิมาก็ฝึกซ้อมไปด้วย บนเรือ พวกเขาวิ่งไปรอบดาดฟ้า ตอนนั่งรถไฟ เมื่อใดที่รถหยุดที่สถานี พวกเขาใช้โอกาสนั้นวิ่งวนไปมา ก่อนจะกลับขึ้นรถไปอีกครั้ง
ระหว่างนั้นมิชิมาก็เกิดป่วยขึ้นมา คานาคูริต้องรับหน้าที่ดูแลเพื่อนอย่างเสียไม่ได้
เมื่อไปถึงสวีเดน คานาคูริก็เหนื่อยล้าจากการเดินทาง อาหารที่นั่นก็ไม่ถูกปาก รองเท้าที่เอาไปก็บอบบางเกินไปสำหรับทางวิ่งที่เป็นกรวดหิน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจเขาอย่างยิ่ง
แต่ถึงกระนั้นคานาคูริก็ยังคงมีความมุ่งมั่นจะสร้างชื่อเสียงในฐานะนักกีฬาชาวญี่ปุ่นคนแรกในการแข่งขันกีฬาระดับโลก
14 กรกฎาคม 1912 วันแข่งขันมาถึง อากาศในวีนนั้นร้อนระอุถึง 32 °C
มีนักวิ่งจากนานาชาติ 68 คนเข้าร่วมชิงชัย แต่ไปถึงเส้นชัยเพียงแค่ 34 คนในสภาพร่อแร่ นักวิ่งจากโปรตุเกสคนหนึ่งถูกพาตัวไปโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เป็นนักกีฬาคนแรกที่เสียชีวิตในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
คานาคูริเป็นอีกคนหนึ่งที่ไปไม่ถึงเส้นชัย...
แค่ใจสู้อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ระหว่างที่วิ่งไปได้ 2 ใน 3 ของระยะทางแข่งขัน คานาคูริได้เข้าไปในฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งมีตระกูลเพตราเป็นเจ้าของ ซึ่งพวกนั้นก็ต้อนรับเขาด้วยน้ำราสเบอร์รี ผลไม้และขนม เจ้าบ้านยังให้เสื้อผ้าใหม่แก่เขา รวมถึงเตรียมที่ให้เขานอนพักผ่อน
คาซูโอะ ซายามะ นักประวัติศาสตร์ด้านกีฬาและผู้เขียนชีวประวัติของคานาคูริกล่าวว่า
"เขาไม่เคยไปวิ่งต่างแดนมาก่อน จู่ ๆ ก็มาอยู่ในประเทศที่ไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เมื่อครอบครัวนั้นให้ความช่วยเหลือเขาก็รับไว้"
เมื่อตื่นขึ้นมา คานาคูริก็รู้สึกอับอายยิ่งนักที่ไม่อาจจบการแข่งขันและทำชื่อเสียงให้ประเทศได้ (คานาคูริไม่รู้เลยว่ายังมีนักกีฬาอีกหลายสิบคนต้องออกจากการแข่งขันไป) แทนที่จะไปแจ้งผู้จัดงานว่าเขาแข่งไม่จบ (DNF = Did Not Finish) คานาคูริเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิดไปแบบเงียบ ๆ
เมื่อไม่รู้ว่านักวิ่งจากญี่ปุ่นหายไปไหน ทางตำรวจก็ประกาศให้คานาคูริเป็นบุคคลหายสาบสูญ เรื่องของเขากลายเป็นตำนานเล่าขานทั่วประเทศในชื่อ 'นักวิ่งมาราธอนผู้สูญหาย' บ้างก็ว่าเขาวิ่งไปทั่วประเทศนานหลายปีเพื่อมองหาเส้นชัย...
เมื่อกลับไปญี่ปุ่น คานาคูริก็เอาประสบการณ์และข้อผิดพลาดไปพัฒนาวงการวิ่งและนักกีฬาในบ้านเกิด เขายังมีเครดิตว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการแข่งวิ่ง 'เอคิเด็น (Ekiden) ซึ่งเป็นการวิ่งผลัดระยะไกล ด้วยคุนูปการเหล่านี้ทำให้คานาคูริได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาแห่งการวิ่งมาราธอนของญี่ปุ่น'
เขายังเข้าร่วมแข่งวิ่งมาราธอนในโอลิมปิกอีก 2 ครั้ง คือที่เบลเยี่ยม ในปี 1920 ซึ่งเขาได้อันดับที่ 16 และโอลิมปิกที่ฝรั่งเศส ในปี 1924 ซึ่งเขาแข่งไม่จบ
อย่างไรก็ตาม ที่สวีเดน คานาคูริยังคงเป็นบุคคลสาบสูญ เรื่องของเขาเป็นตำนานพื้นบ้านของประเทศนานกว่า 50 ปี จนกระทั่งได้พบว่านักวิ่งชาวญี่ปุ่นผู้นี้ ยังคงมีชีวิตอยู่
ปี 1967 คานาคูริได้รับเชิญให้กลับไปที่สตอคโฮล์มเพื่อให้เขาได้วิ่งเข้าสู่เส้นชัยจากที่เคยทำไม่สำเร็จ คานาคูริตอบตกลง เขาได้ไปพบกับครอบครัวเพตราอีกครั้ง ที่น่าตลกคือเขามีชื่อเสียงมากกว่าในประเทศบ้านเกิดของตัวเองเสียอีก สื่อต่าง ๆ พากันประโคมข่าวของเขาไปทั่วประเทศ
แล้วในที่สุดคานาคูริในวัย 75 ปี ก็วิ่งเข้าสู่เส้นชัยจากจุดปล่อยตัว 100 เมตร กินเนสส์ เวิลด์ เร็คคอร์ด บันทึกไว้ว่า นี่คือการวิ่งมาราธอนเข้าสู่เส้นชัยที่ใช้เวลานานที่สุด คือ 54 ปี 8 เดือน 5 ชั่วโมง 32 นาที 20.3 วินาที
คานาคูริให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่างติดตลกว่า "นี่เป็นการวิ่งที่นานมาก ระหว่างนั้นผมก็แต่งงาน มีลูก 6 หลาน หลานอีก 10 คน"
ชิโซ คานาคูริ เสียชีวิตในปี 1983 ด้วยวัย 92 ปี
โฆษณา