12 มิ.ย. 2022 เวลา 09:02 • กีฬา
เมื่อก่อนนักเทนนิสหญิง เคยมีรายได้ห่างกับนักนักเทนนิสชาย 12 เท่า ทั้งๆ ที่แข่งรายการเดียวกันแท้ๆ แต่วันนี้ รายได้สองเพศกลับมาเท่ากัน ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างไร วิเคราะห์บอลจริงจังจะเล่าให้ฟัง
1
หากเกิดเรื่องไม่ยุติธรรมขึ้นกับชีวิต เรามีทางเลือกอยู่ 3 อย่าง
1- ยอมรับสภาพแล้วทำใจ
2- อยู่เฉยๆ อย่างอดทน สักวันสวรรค์อาจบันดาลความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
1
และ 3- ลุกขึ้นมาต่อสู้ กับความเชื่อว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนได้ ถ้าเราลงมือทำอะไรสักอย่าง
1
ในวงการเทนนิส ยุคเมื่อ 100 ปีก่อน การแข่งขันแกรนด์แสลม 4 รายการ ได้แก่ ออสเตรเลียน โอเพ่น, เฟรนช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน และ ยูเอสโอเพ่น จะเป็นการแข่งแบบ Amateur คือแข่งขันเพื่อเกียรติยศ แต่ไม่มีเงินรางวัลให้
3
นับจากปี 1968 เมื่อโลกเทนนิสเข้าสู่ยุค Open Era ผู้จัดแกรนด์แสลม จึงเริ่มมีการมอบเงินรางวัลให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
1
โดยแกรนด์แสลมแรกสุด ที่มีการมอบเงินให้ คือศึกวิมเบิลดัน ที่ประเทศอังกฤษ ในปี 1968 โดยผู้ชนะประเภทชายเดี่ยว ร็อด เลเวอร์ ได้เงินไป 2,000 ปอนด์ ส่วนผู้ชนะประเภทหญิงเดี่ยว บิลลี่ จีน คิง ได้เงินไป 750 ปอนด์
1
ขณะที่ Purse หรือเงินรางวัลรวมทั้งรายการ ฝ่ายชายมี Purse รวม 14,800 ปอนด์ ส่วนฝ่ายหญิงมี 5,680 ปอนด์
1
จากตัวเลขที่เห็น มันชัดเจนว่า เงินรางวัลของ ชาย-หญิง ไม่ได้ใกล้เคียงกันเลย นักเทนนิสชายได้เงินรางวัลมากกว่านักเทนนิสหญิง 2.5 เท่า
1
ในมุมของผู้จัดการแข่งขัน มองว่าเทนนิสชายใช้พลังมากกว่า อย่างแกรนด์แสลมก็ต้องได้ 3 เซ็ตถึงจะชนะ ตรงข้ามกับประเภทหญิงที่ชนะแค่ 2 เซ็ต ก็เข้ารอบแล้ว
เช่นเดียวกับเรื่องสไตล์การเล่น ที่เทนนิสชายเล่นด้วยพละกำลัง และมีความปราดเปรียวมากกว่า เทนนิสจึงดูเร้าใจกว่า ตื่นเต้นกว่า ดังนั้นรายได้ ก็ควรผันแปรไปตามความสนุกที่เกิดขึ้น
เมื่อจุดเริ่มต้นมันไม่เท่ากันแล้ว เวลาต่อมา ช่องว่างของรายได้ ก็ห่างกันไปเรื่อยๆ จากห่างกัน 2.5 เท่า เพิ่มเป็น 4 เท่า และฉีกออกไปไกลสุดเป็น 8 เท่า
1
นักเทนนิสชายบางคนบอกว่า ที่รายได้ต่างกันขนาดนี้ ก็สมเหตุสมผลดี มีการอธิบายว่า ถ้าจับเอาชาย-หญิงมาแข่งกัน นักเทนนิสชายทุกคนต่อให้เป็นมือวางอันดับ 100 ก็สามารถเอาชนะนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกได้สบายๆ แสดงให้เห็นว่านักเทนนิสชายมีคุณภาพสูงกว่า ดังนั้นก็ควรได้รับรายได้มากกว่า
1
แต่ฝ่ายนักเทนนิสหญิง นำโดย บิลลี่ จีน คิง ตอบโต้ว่ามันไร้สาระ เธอกล่าวว่า "คิดดูนะ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด เป็นแชมป์มวยโลกรุ่นเวลเตอร์เวท และผู้คนก็เข้ามาชมเขาในสังเวียนอย่างล้นหลาม แต่ถ้าคุณจับชูการ์ เรย์ ไปชกเฮฟวี่เวท เขาก็แพ้เหมือนกันนั่นแหละ"
3
คำอธิบายของเธอคือ ต่อให้เทนนิสหญิงจะไม่ได้มีพละกำลังเท่าเทนนิสชาย แต่มันก็ดูสนุกเหมือนกัน ผู้คนก็ชื่นชอบ ทำไมถึงไปตัดสินว่า พละกำลังน้อยกว่าแล้วคนจะไม่ดูล่ะ
ก็เหมือนมวยรุ่นเวลเตอร์เวทที่ไม่ได้มีพละกำลังเท่าเฮฟวี่เวท แต่ตั๋วก็ขาย Sold Out ได้ไม่ต่างกัน ดังนั้นอย่าเอาทฤษฎีเรื่องพละกำลัง เรื่องสรีระร่างกายใดๆ มาแบ่งแยกให้รายได้ต่างกันขนาดนั้น
1
การโต้เถียงเรื่องรายได้ ชาย-หญิง เกิดขึ้นติดต่อกันหลายเดือน แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น เพราะ ณ เวลานั้น คนที่ดูแลรับผิดชอบการแข่งขันเทนนิสทั้งชายและหญิง ที่อเมริกา คือ USLTA (สมาคมลอนเทนนิสอาชีพสหรัฐฯ) ออกตัวล้อฟรี
ฝั่ง USLTA ไม่เห็นว่า เรตรางวัล ชาย-หญิง ที่ต่างกันจะเป็นปัญหาตรงไหน คือถ้าผู้จัดการแข่ง คิดว่าฝ่ายชายควรได้รายได้มากกว่าก็เป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ ก็เงินเขานี่ แล้วถ้าฝ่ายหญิงคนไหนไม่พอใจกับรายได้ ก็ไม่ต้องเข้าร่วมแข่งแค่นั้น
เซซี่ มาร์ติเนซ นักเทนนิสอาชีพหญิงคนหนึ่งในยุคนั้น กล่าวว่า "ถ้าผู้จัดตั้งใจจะให้รางวัลฝ่ายชายมากกว่าขนาดนั้น เราก็คงทำได้แต่ยอมรับมัน แม้จะรู้สึกว่าอะไรๆ ฝ่ายชายก็ได้เปรียบไปหมดก็ตาม"
ขณะที่ แนนซี่ ริชี่ นักเทนนิส เจ้าของแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น ปี 1968 กล่าวว่า "ในทัวร์นาเมนต์นึง ถ้าหากมีเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์ ปกติฝ่ายชายจะได้ 8,500 ดอลลาร์ ส่วนฝ่ายหญิงจะได้ 1,500 ดอลลาร์ แม้จะต่างกันขนาดนั้น แต่นักเทนนิสชายบางคนก็บอกว่า 'หยุดมาแย่งเงินจากพวกเราเสียที' พวกเขาคิดว่า แฟนกีฬาที่มาดูเทนนิส ไม่มีใครสนใจประเภทหญิงหรอก มีแต่อยากดูเทนนิสชายเท่านั้น"
1
ความอึดอัดใจของนักกีฬาหญิง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 ปีเต็ม จนมาถึงจุดแตกหักสำคัญที่สุด เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1970 เมื่อผู้จัดรายการ แปซิฟิค เซาธ์เวสต์ ที่แคลิฟอร์เนีย ประกาศเงินรางวัลการแข่งขัน ผู้ชนะประเภทชายเดี่ยวจะได้เงิน 12,500 ดอลลาร์ ส่วนประเภทหญิงเดี่ยว จะได้เงิน 1,500 ดอลลาร์ ขณะที่ Purse รวมของชายหญิง มีส่วนต่างมากถึง 12 เท่า!
2
ลองคิดดูว่า การแข่งที่เกิดขึ้นในสนามเดียวกัน แข่งพร้อมๆ กัน แต่มีรายได้ต่างกันขนาดนั้น ใครมันจะไปยอมได้
นักเทนนิสหญิงก็ประท้วงแหลก แล้วจี้ถามองค์กรที่ควบคุมอย่าง USTLA จะไม่แทรกแซงอะไรหน่อยหรือ เพื่อให้รายได้มันเท่าเทียมกว่านี้ แต่ USLTA ไม่สนใจ บอกว่าสมาคมก็มีหน้าที่แค่จัดการแข่งให้ลุล่วงไป เรื่องเงินรางวัลจะไปยุ่งกับพวกเจ้าของอีเวนต์ได้ยังไง
ส่วนแจ๊ค เครเมอร์ ผู้จัดแข่งขันรายการแปซิฟิค เซาธ์เวสต์ ให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าพวกผู้หญิงไม่พอใจ งั้นไม่ต้องเอาไปสักดอลลาร์เลยละกัน"
1
เรื่องนี้สร้างความเจ็บช้ำให้นักเทนนิสหญิงอย่างมาก เพราะเหมือนถูกมองว่าไร้คุณค่า ใครจะทำอย่างไรก็ได้ โดยเศษเงินมาให้แล้วบอกว่า 'ถ้าไม่เอาก็ตามใจ' มันทำให้พวกเธอ รู้สึกโดนดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีอย่างแรง
ไม่ใช่แค่นักเทนนิสที่อึดอัดใจเท่านั้น แต่แกลดิส เฮลด์แมน หญิงสาววัย 48 ปี เจ้าของนิตยสาร World Tennis ก็โกรธแค้นเช่นกัน คือปกติตอนเธอทำนิตยสารเทนนิสวางขาย ก็เห็นชัดเจนว่า ผู้อ่านก็ชื่นชอบเทนนิสชาย-หญิงพอๆ กัน แต่ทำไมเป็นเรื่องเงินรางวัล ตัวเลขถึงได้เอาเปรียบกันขนาดนั้น
2
เอาเป็นว่า ถ้าหาก USTLA ให้ความยุติธรรมกันไม่ได้ งั้นเธอจะสร้างการแข่งขันใหม่ขึ้นมาเอง
แกลดิส ไปติดต่อฮุสตัน แร็คเกต คลับ ในรัฐเท็กซัส เพื่อขอจัดการแข่งขันเทนนิสหญิง รายการชื่อ "ฮุสตัน วีเมนส์ อินวิเตชันนอล" ขึ้น โดยความตั้งใจของเธอ คือดึงเอานักเทนนิสหญิงชื่อดังจำนวน 32 คน มาแข่งแบบทัวร์นาเมนต์
2
แกลดิสต้องการทำให้เห็นว่า เทนนิสหญิงไม่ต้องจัดร่วมกับเทนนิสชายก็สามารถขายตั๋วได้ และสามารถเรียกคนดูเต็มสนามได้เหมือนกัน และพวกผู้ชายอย่าไปคิดเองว่า โลกของเทนนิสเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเพศชายอย่างเดียวเท่านั้น
การแข่งขันที่ฮุสตันที่จะมีแต่ผู้หญิงแข่ง กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาทันที แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะ USTLA ที่ถือสิทธิ์ขาดในการจัดทัวร์นาเมนต์เทนนิสในสหรัฐฯ มองว่าการมีรายการใหม่งอกออกมาแบบนี้โดยไม่ผ่านสมาคมฯ ถือเป็นการจงใจก่อกบฎ
2
USTLA ไปขู่นักกีฬาหญิงว่า ถ้าใครเข้าร่วมทัวร์นาเมนต์ของแกลดิส จะโดนแบนจากรายการอื่นทั้งหมด รวมถึงแกรนด์แสลม ยูเอส โอเพ่นด้วย
นักเทนนิสหญิง ณ เวลานั้น กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือถ้าไปร่วมแข่งรายการของแกลดิส ก็อาจโดนแบนจากทัวร์นาเมนต์รายการอื่น แต่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องอยู่กับความไม่เท่าเทียมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ
จริงๆ ไอเดียของแกลดิสคือ ถ้ารายการนี้มันเวิร์ก อาจเป็นแรงผลักดัน ให้เกิดทัวร์นาเมนต์ "เฉพาะผู้หญิง" เกิดขึ้นได้ทั่วสหรัฐฯ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน นักเทนนิสหญิงก็จะไม่ต้องพึ่งพาเทนนิสชาย หรือ USTLA อีกต่อไป
1
แม้แผนจะดูเข้าท่า แต่ทว่าไม่ใช่นักเทนนิสทุกคนที่กล้าเสี่ยงกระโดดออกจากเซฟโซน สตาร์หลายๆ คน เช่นมาร์กาเร็ต คอร์ต หรือ อีวอนน์ กุลาแก็ง ก็ไม่ได้มาร่วมด้วย สุดท้ายมีนักกีฬาหญิงเพียง 9 คนเท่านั้น ที่ตัดสินใจจะร่วมทัวร์นาเมนต์ที่ฮุสตัน
1
9 คนดังกล่าว ประกอบด้วย
- บิลลี่ จีน คิง
- เคอร์รี่ เมลวิลล์
- คริสตี้ พิเจียน
- จูลี่ เฮลด์แมน
- โรซี่ คาซาลส์
- พีช บาร์ทโควิซ
- จูดี่ ดัลตัน
- แนนซี่ ริชี่
- วาเลรี่ ซีเก็นฟัส
4
พวกเธอ 9 คน ตอบตกลงมาร่วมแข่งขันในรายการของแกลดิสที่ฮุสตัน ซึ่งถามว่าเสี่ยงไหม ก็ถือว่าเสี่ยง เพราะไม่ต่างอะไรกับการวัดใจไปตายเอาดาบหน้า สมมุติรายการที่ฮุสตันมันเจ๊ง ล้มเหลว ไม่มีคนดู ไม่มีสปอนเซอร์จะผลักดันไปต่อ พวกเธอก็กลับไป USTLA ไม่ได้แล้ว ก็ต้องอำลาวงการไปทำมาหากินอย่างอื่นกันเลย
ก่อนแข่ง 2 วัน อแลสแตร์ มาร์ติน ประธาน USTLA โทรหา บิลลี่ จีน คิง นักเทนนิสหญิงที่ดังที่สุดในเวลานั้น แล้วถามด้วยความแปลกใจว่า บิลลี่ จีน จะเอาด้วยจริงหรือ? อยู่ไปเรื่อยๆ แบบเดิม เธอก็น่าจะสบายแล้ว รายได้จากโฆษณาก็เยอะมาก จะเปลืองตัวมายุ่งกับการแข่งของกบฏแบบนี้ทำไม ถ้าเธอตัดสินใจแล้ว เธอถอยหลังกลับไม่ได้แล้วนะ
บิลลี่ จีน คิง ตอบว่า "เราไม่อยากทำแบบนี้หรอก แต่คุณไม่ให้ทางเลือกอะไรเราเลย"
ก่อนแข่ง 1 วัน สแตน มัลเลส ผู้บริหาร USTLA อีกคน พยายามหาทางออกให้ โดยบอกว่า ถ้าปรับรูปแบบการแข่ง เอาเงินรางวัลออกไป ทาง USTLA จะยกโทษให้ เพราะถือว่าเป็นรายการแบบสมัครเล่น นักกีฬาจะไม่โดนแบน ส่วนเงินจะไปมอบใต้โต๊ะกันภายหลัง ก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าทัวร์นาเมนต์ยังดื้อดึงแข่ง พร้อมทั้งประกาศจ่ายเงินอย่างเปิดเผย ก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องแบนนักกีฬาทั้ง 9 คนนี้
2
แต่นักกีฬาก็ไม่ยอม จุดนี้พวกเธอไม่กลัวกับคำขู่ว่าจะโดนแบนแล้ว ถ้าเรื่องเงินต้องแอบมางุบงิบใต้โต๊ะ ความพยายามแตกหักครั้งนี้ จะมีความหมายอะไร คือมันต้องทำให้โลกได้เห็นสิ ว่านักกีฬาหญิง ก็สามารถหารายได้ ในระดับที่ทัดเทียมกับฝ่ายชายเหมือนกัน
1
สุดท้ายการแข่งขันที่ฮุสตันจึงมีขึ้น ในวันที่ 23-26 กันยายน ปี 1970 เป็นการแข่งแบบน็อกเอาต์ แพ้คัดออก ด้วยความที่มีคนร่วมแข่งแค่ 9 คน ทำให้สามารถจัดแข่งได้แค่รอบ 8 คนสุดท้ายเป็นต้นไปเท่านั้น (จูลี่ เฮลด์แมน นักเทนนิส ลูกสาวของแกลดิส เฮลด์แมน โปรโมเตอร์การแข่ง ตัดสินใจถอนตัวเพื่อให้คนอื่นลงแข่งกัน)
2
ปรากฏว่า การแข่งขันได้รับความนิยมสูงมาก ตั๋วขาย Sold Out และเมื่อจ่ายค่าเช่าให้ฮุสตัน แร็คเกต คลับ แล้ว ยังเหลืออีกถึง 5,000 ดอลลาร์ เอามาแบ่งให้นักกีฬาที่ลงแข่งขัน นอกจากนั้นบริษัทบุหรี่ ฟิลิป มอร์ริส ยังมาร่วมเป็นสปอนเซอร์โปะเพิ่มอีก 2,500 ดอลลาร์ อีกต่างหาก
1
นั่นทำให้ รายการฮุสตัน วีเมนส์ฯ ณ วันนั้น เป็นรายการที่มี Purse สูงสุดตลอดกาล ของเทนนิสหญิง ที่ตัวเลข 7,500 ดอลลาร์ มากกว่าแกรนด์แสลมทั้ง 4 รายการเสียอีก
2
แต่นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว สิ่งที่เกิดอิมแพ็กต์อย่างมากในสังคมอเมริกันก็คือ ผู้คนได้รับรู้ว่า เทนนิสหญิงก็มีคนสนใจเยอะ สามารถขายตั๋วได้ Sold Out และ มีพาวเวอร์พอจะดึงสปอนเซอร์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทนนิสฝั่งชายแต่อย่างใด
เมื่อการเริ่มต้นเป็นไปได้ด้วยดี จุดนั้นแกลดิสตัดสินใจว่า เทนนิสหญิงควรมีทัวร์เป็นของตัวเองแยกออกมาเลย เป็นทัวร์ที่ทำเพื่อนักกีฬาเพศหญิงอย่างแท้จริง
เธอจึงก่อตั้ง "เวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต" ขึ้นมา โดยเป็นรายการแข่งเทนนิสทั่วสหรัฐฯ ของนักกีฬาหญิงอย่างเดียว โดยมีบุหรี่ฟิลิป มอร์ริส เป็นเมนสปอนเซอร์ (Note : Virginia Slims คือบุหรี่ยี่ห้อนึงในเครือ)
2
นักกีฬา 9 คน ที่ถูกหาว่าเป็นกบฎ ตัดสินใจแยกทางจาก USTLA อย่างเป็นทางการ แล้วมาเซ็นสัญญากับเวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต โดยมูลค่าที่เซ็นสัญญากันวันนั้น อยู่ที่คนละ "1 ดอลลาร์" เท่านั้น ทั้ง 9 คนต้องการแสดงสัญลักษณ์เฉยๆ ว่า ที่แยกทางกับ USTLA มาเล่นในทัวร์ใหม่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินขนาดนั้น แต่เป็นเรื่องของความยุติธรรมต่างหาก
5
ความนิยมของ เวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต พุ่งสูงมากกว่าที่หลายคนคาด จากเดิมเงินรางวัลของประเภทหญิงเดี่ยว เคยอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อ 1 รายการ ก็พุ่งทะยานเป็น 15,000 ดอลลาร์ โอเคล่ะ ว่ายังน้อยกว่าฝ่ายชายอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
4
แปลว่าในปี 1971 วงการเทนนิสหญิง มีโปรโมเตอร์ 2 เจ้า ที่จัดแข่งขนานกันไป อันแรกคือของ USTLA ที่จัดแข่งร่วมกับนักเทนนิสชาย และอีกทัวร์คือ เวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต ที่มีผู้หญิงอย่างเดียว
1
เรื่องความนิยมนั้น แค่ปีเดียวก็รู้ผล นักกีฬาหญิงแห่ลาออกจาก USTLA มาอยู่กับเวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต โดยปลายปี 1971 เวอร์จิเนีย สลิมส์ฯ มีสมาชิกมากถึง 40 คน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะใครๆ ก็อยากอยู่กับทัวร์ที่ได้รับเงินมากกว่า และถูกให้เกียรติมากกว่าเป็นธรรมดา
1
สุดท้ายในปี 1973 เวอร์จิเนีย สลิมส์ เซอร์กิต ได้รีแบรนด์ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น WTA หรือย่อจาก Women's Tennis Association โดยนักเทนนิสชื่อดังทั้งหมด ลาออกจาก USTLA มาอยู่กับ WTA เรียบร้อย
4
สุดท้ายอำนาจของเทนนิสหญิง จึงถูกเปลี่ยนมาอยู่ที่ WTA โดยสมบูรณ์จนถึงวันนี้ และเทนนิสหญิง ก็สามารถยืนได้ด้วยขาของตัวเองอย่างแท้จริง
1
สำหรับนักกีฬาหญิง 9 คน ที่เป็นกลุ่มกบฏ ถูกยกย่องในภายหลังว่า เป็น "Original 9" ถ้าพวกเธอไม่กล้ากระโดดออกจากกรอบในวันนั้น เทนนิสหญิงก็คงไม่ถูกปลดแอกเหมือนทุกวันนี้
4
จากจุดเริ่มต้น คือแข่งขันที่เท็กซัส มีเงินรางวัล 7,500 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน WTA จัดแข่งขันใน 33 ประเทศ มีเงินรางวัลรวม 139 ล้านดอลลาร์
1
จากที่เคยได้เงินน้อยนิด เหมือนไปเกาะส่วนบุญฝ่ายชาย ทุกวันนี้ นักกีฬาอย่างเซเรน่า วิลเลียมส์, มาเรีย ชาราโปว่า, นาโอมิ โอซากะ ทำเงินมหาศาลเป็นเศรษฐีระดับโลก
ขณะที่ความเท่าเทียมกันในแง่เงินรางวัลนั้น ในอดีตฝ่ายชายเคยมากกว่าหลายเท่าก็จริง แต่ทุกวันนี้ชาย-หญิง ก็ได้เงินรางวัลเท่ากันแล้ว อย่างเช่น ในวิมเบิลดันปีที่แล้ว แชมป์ชายเดี่ยว โนวัค ยอโควิช ได้เงิน 1.75 ล้านปอนด์ ซึ่งแชมป์หญิงเดี่ยวแอชลีย์ บาร์ตี้ ก็ได้ 1.75 ล้านปอนด์เท่ากัน
ในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเธอคาดหวัง สุดท้ายมันก็เกิดขึ้นได้จริง
จะว่าไปแล้วก็น่าคิดเหมือนกันว่า ถ้าหากในปี 1970 ไม่มี Original 9 ที่กล้าขึ้นมาต่อสู้ ป่านนี้โลกเทนนิสจะเป็นอย่างไร และความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
1
โลกก็เป็นแบบนี้ เมื่อเห็นบางอย่างผิดเพี้ยน เราก็มีหลายทางเลือก จะยอมรับสภาพก็ได้ หรือจะอดทนเพื่อรอคอยโอกาสก็ได้
1
แต่ใช่ การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเองก็เป็นอีกหนทางหนึ่งเช่นกัน
เพราะขอเพียงแค่ลงมือทำอะไรสักอย่างซะตั้งแต่วันนี้ รู้ตัวอีกที โลกอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ในทิศทางที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
1
#ORIGINAL9
โฆษณา