13 มิ.ย. 2022 เวลา 02:34
วิชา"มาร"
"มาร"__ ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
= ผู้ฆ่า ผู้ทำลาย
= ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร
= โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง.
แต่สำหรับคนที่ผ่านโลกมาอย่างลุ่มๆดอนๆนี้ มีการนำคำว่า"มาร"ไปประสมกับคำว่า"วิชา" เป็น"วิชามาร" ซึ่งมีความหมายที่แหวกไปอีกทางหนึ่ง
"วิชามาร"__ในความหมายของ"วิกิพจนานุกรม"นั้นหมายถึง เล่ห์เหลี่ยม, กลอุบายที่ไร้ศีลธรรม
แต่ในความหมายของผมก็คือ การใช้กลยุทธ์หรือกลวิธีต่างๆเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของงานได้
สมัยที่เรียนอยู่นั้น การใช้วิชามารห็เริ่มจากอะไรที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนนัก เพื่อเป็นทางลัดให้งานที่เราทำนั้นสำเร็จโดยง่าย แบบที่ง่ายกว่าการใช้ความพากเพียรตามระบบ
ยกตัวอย่างง่ายๆที่เห็นได้ชัดก็คือ"การลอกการบ้าน" ที่เริ่มจากการที่เรามีข้ออ้างว่าเราจะต้องไปทำกิจอื่นเช่นการเล่น จนเราไม่มีเวลามาทำการบ้าน แล้วในที่สุดเราก็ต้องหาวิธ๊ที่จะทำการบ้านให้เสร็จ โดยไม่โดนครูตี(การทำโทษในสมัยก่อนที่คนสมัยนี้มองกันว่าเป็นการละเมิสิทธิมนุษยชน_แต่ได้ผลมากในคนรุ่นเก่าๆเพราะได้ดีไปหลายคนแล้ว) ในที่สุดก็หาวิธีจนได้ ก็คือ "การลอกการบ้าน"
ขยับขึ้นมาหน่อย ก็เห็นจะเป็น"การลอกการข้อสอบ" ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เทคนิคชั้นสูงกว่าขึ้นมาหน่อย เพราะเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีความจำกัด ทั้งเพื่อนไม่ให้ลอก ทั้งครูที่คอยจับตาในห้องสอบ ทั้งเวลาการทำข้อสอบของ"คนต้นฉบับที่ให้ลอก" คือเมื่อเขาทำเสร็จแล้วจะเหลือเวลาอีกกี่มากน้อยที่จะให้เราลอกได้?
วิชามารพื้นฐานแบบนี้ เราๆท่านๆกว่าร้อยละ ๙๐ ก็คงผ่านมาแล้วแน่ๆ
วิชามารที่ใช้ในขณะที่เรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เห็นจะเป็นวิชามารที่ใช้ในช่วงการทำLab เพราะว่าบางครั้งกลุ่มของเราจะทำLabได้ไม่ทันตามกำหนดเวลาที่อาจารย์ท่านสั่งไว้ ดังนั้นการลอกผลLab จึงเกิดขึ้นได้บ่อยๆ
สุภาษิตยังสอนไว้ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง”
ก็มีอยู่วันหนึ่งในการทำLabวิชา “การสั่นสะเทือน” (Vibration) ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีการทดลองในรูปแบบต่างๆมากมาย ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมวลและระยะห่างกับระดับการสั่นสะเทือน
แต่มีหัวข้อหัวข้อหนึ่งที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติซึ่งสามารถอธิบายได้โดยคณิตศาสตร์ชั้นสูง นั่นคือวัตถุหรือมวล จะมีความถี่จำเพาะที่เรียกว่า”ความถี่ธรรมชาติ” โดยที่เมื่อวัตถุหรือมวลนั้นได้รับความถี่จากภายนอก ซึ่งหากตรงกับความถี่ธรรมชาติก็จะเกิดปรากฏการณ์การสั่นสะเทือนอย่าง รุนแรง (resonance)
ทีนี้พวกที่ทำLabต่างคนต่างไม่เคยศึกษาเรื่องนี้กันมาก่อน พอเห็นผลLabเข้าก็วางตัวเป็นนักวิชาการที่มีความรู้กันเต็มประดา เห็นว่าความถี่ที่ใส่เข้าไป เพียงนิดเดียวนั้นจะไปก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงได้อย่างไร ทำให้เมื่อลอกมาถึงข้อมูลชุดนี้ คนที่ลอกก็จะทำการดัดแปลงข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลนั้นดูสมเหตุสมผล (พวกเราเรียกว่าการ “make ข้อมูล”)
ในท้ายที่สุดก็โดนอาจารย์ซึ่งคุมLabอยู่เรียกไปอบรมจนหูชา เพราะความที่เราใช้วิชามาร โดยมิได้มีความรู้จริงๆเลยโดนย้อนเกล็ดซะอ่วมไปเลย
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน วิชามารที่ผ่านๆมาก็มีการใช้อย่างลดน้อยถอยลง แต่เราก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ จากผู้คนที่เราร่วมงานด้วย และที่สำคัญคือ จากข้อจำกัดต่างๆที่คอยบีบคอยเค้นให้เกิดความจำเป็น
โฆษณา