Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Feel Good Studio
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2022 เวลา 12:24 • การเมือง
รู้จัก Façade democracy ประชาธิปไตยเทียมแห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง
ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี อารยธรรม และศาสนา เป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของโลกและอุดมไปด้วยทรัพยากรที่สำคัญ นั่นคือ “น้ำมัน” จนทำให้เกิดองค์การความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางอย่าง OPEC ซึ่งเปรียบได้กับเป็น Great Power ที่สามารถคานอำนาจกับสหรัฐฯ รัสเซีย จีน EU และประเทศเจ้าอำนาจอื่น ๆ ได้เลยทีเดียว
แม้จะเพียบพร้อมเสียขนาดนั้น แต่ภูมิภาคนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์ไปซักทีเดียว ซึ่งในบางประเทศในภูมิภาคนี้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็จริง แต่อยู่ในลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยเทียม หรือ Façade democracy” ซึ่งจะเรียกว่าเป็นปัญหาก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าดีก็ไม่เชิง
ดังนั้น การเป็นประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจึงเป็นภาวะยกเว้น (Exceptionalism) ซึ่งแสดงออกในรูปของประชาธิปไตยเทียม และปัญหาและอุปสรรคต่อการทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ เศรษฐกิจแบบเรนเทียร์ หรือ Rentier Economy” ของภูมิภาคนี้ ซึ่งจะขอยกตัวอย่าง จอร์แดนและ UAE เป็นกรณีศึกษา
ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (Hashemite Kingdom of Jordan) 🇯🇴
ในกรณีของจอร์แดน ที่จอร์แดนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในขึ้นปี 1991 เป็นผลมาจากการที่ IMF กดดันให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดรวมถึงเกิดการคอรัปชันขึ้นภายในประเทศ
ดังนั้นกษัตริย์ฮุสเซ็นต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้สามารถแก้ไขและตรวจสอบการคอรัปชั่นได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองของตน รวมถึงต้องการลดอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสลาม (Islamic movement) ในประเทศที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยกลุ่ม Muslim Brotherhood ซึ่งเป็น Islamic movement เป็นฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้ง
สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน
แต่ทว่าอำนาจยังคงอยู่ที่กษัตริย์ฮุสเซ็นเช่นเดิมแทนที่จะเป็นกลุ่มทางศาสนา ทั้งนี้เพราะกษัตริย์ฮุสเซ็นทรงให้การสนับสนุนความเป็นพหุนิยมทางการเมือง โดยพระองค์ทรงผลักดันกลุ่มทางการเมืองอื่นๆ ให้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับกลุ่มทางศาสนาที่พยายามพลักดันกฎหมายอิสลามให้ถูกบรรจุอยู่ในกฎบัตรแห่งชาติ (National Charter)
โดยตัวกษัตริย์ฮุสเซ็นมิได้ทรงคัดค้านแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นความตั้งใจของพระองค์เองที่ไม่ต้องการให้เกิดเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางสังคมอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีหน่วยงานความมั่นคงของรัฐที่สามารถตรวจการทำงานของพรรคการเมืองได้ และไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองรับเงินสนับสนุนจากชาติอื่นๆ ซึ่งในทางพฤตินัยนี้แสดงให้เห็นถึงการคงไว้ซึ่งอำนาจเดิม ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) 🇦🇪
การเป็นประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภาวะยกเว้น (Exceptionalism) สามารถแสดงออกได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ rentier economy และการพึ่งพารัฐของประชาชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ที่มีกลุ่มผู้ปกครองของแต่ละรัฐเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง รวมถึงเป็นผู้ควบคุมและจัดสรรทรัพยากรแก่ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ
นครดูไบ (Dubai) เมืองแห่งเศรษฐกิจที่สำคัญของ UAE
โดยกลุ่มผู้ปกครองนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.
กลุ่ม old rentiers ซึ่งต้องการคงไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจเดิมและพึ่งพารายได้จากน้ำมันเพียงอย่างเดียว
2.
กลุ่ม new rentiers ซึ่งต้องการแสวงหารายได้จากแหล่งอื่น เช่น การท่องเที่ยว และสนับสนุนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
แต่ในความเป็นจริงรัฐยังคงบทบาทสำคัญอย่างมาก ประกอบกับทัศนคติของประชาชนที่มองว่ารัฐยังคงเป็นที่พึ่งและเป็นที่ต้องการของประชาชน เนื่องจากเป็นทั้งแหล่งงาน แหล่งเงินทุน รวมถึงเป็นระบอบการปกครองที่ดีกว่าในอิรัก อิหร่าน หรือซีเรีย ซึ่งทัศนคติดังกล่าวทำให้ประชาชนขาดวัฒนธรรมทางการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น 1) รัฐบาลหรือเจ้าผู้ปกครองจึงมีอำนาจในการปกครองและบริหารประเทศ รวมถึง 2) มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ เช่น สื่อ โดยจะต้องได้รับการตรวจสอบและการอนุญาตจากรัฐ ว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ลบหลู่หรือขัดกับศาสนาอิสลามหรือไม่ หรือมีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือไม่ เป็นต้น
ซึ่งเงื่อนไขทั้ง 2 อย่างนี้จึงเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่เหล่าเจ้าผู้ปกครองให้คงไว้ซึ่งอำนาจเดิม ความั่นคง ความมั่งคั่ง และความชอบธรรมได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปิดเสรีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย
จะเห็นได้ว่าทั้ง Façade democracy ในจอร์แดน และ Rentier Economy และการพึ่งพารัฐของประชาชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย)
สาเหตุมาจากปัจจัยภายใน คือ กลุ่มผู้มีอำนาจเดิมต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองของตน อีกทั้งใช้ประโยชน์จากประชาชนหรือกลุ่มทางการเมืองอื่นๆ เพื่อทำให้ตนเองสามารถคงไว้ซึ่งอำนาจเดิมได้
หรืออาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยอาจขัดต่อศาสนาหรือวัฒนธรรมเผ่า (tribal culture) ที่ปฏิเสธเสียงข้างมาก ต้องการความเห็นพ้องต้องกัน แต่ประชาธิปไตยทำให้คนมีความเป็นปัจเจก มีความคิดเป็นของตนเอง ยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก
ดังนั้นจึงไม่สามารถดำเนินควบคู่ไปด้วยกันได้ หรือการมีเศรษฐกิจแบบ Rentier Economy หรือแม้กระทั่งอาจไม่สามารถกระทำในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริงเนื่องจากมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อผู้มีอำนาจ เป็นต้น
แม้จะมีปัจจัยภายนอกอย่างการขึ้นเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำของประเทศโลกเสรีที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรี เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำประเทศมีความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเหมือนโลกตะวันตก
แต่ถูกขัดขวางโดยผู้มีอำนาจในประเทศซึ่งต้องการคงไว้ซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนดังเดิม รวมถึงอาจขัดต่อวัฒนธรรมเผ่าหรือศาสนาอิสลาม จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง
เหตุการณ์ Arab Spring ช่วงต้นทศวรรษ 2010
แม้จะมีเหตุการณ์เรียกร้องขับไล่รัฐบาลในหลายประเทศ เช่น เหตุการณ์ Arab Spring ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนประชากร รวมไปถึงในเรื่องการศึกษาที่ครอบงำความคิดของประชาชนเป็นสาเหตุหลัก และมีประชาธิปไตยเทียมเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการเรียกร้องขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างภาวะยกเว้น (Exceptionalism) นี้ไปได้
ความรู้รอบตัว
เรื่องเล่า
ประวัติศาสตร์
4 บันทึก
1
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย