13 มิ.ย. 2022 เวลา 15:58 • การศึกษา
10 เรื่องเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน!!!
หากมองตามภูมิศาสตร์แล้วทวีปแอฟริกาถือว่าเป็นเพื่อนบ้านของทวีปเอเชีย เช่นเดียวกับทวีปยุโรป เนื่องจากจากมีอาณาเขตหรือดินแดนที่เชื่อมต่อกันเป็นผืนแผ่นดินใหญ่ ที่เชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคแอฟริกาเหนือและภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยทวีปแอฟริกานั้นมักถูกมองในแง่ลบอยู่เสมอ เช่น
  • 1.
    เป็นทวีปที่ยากจน
  • 2.
    มีความล้าหลัง ขาดความเจริญ
  • 3.
    ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ในลักษณะแบบชนเผ่า
  • 4.
    ถูกเรียกว่าเป็น “กาฬทวีป”
  • 5.
    ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
เหตุผลอาจเป็นเพราะจากสื่อและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็นมาตลอด แต่ความคิดความเข้าใจเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งหากจะบรรยายถึงทวีปแอฟริกา เพราะแท้จริงแล้วแอฟริกานั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คนทั่วไปมักคาดไม่ถึง ในมุมมองของนักวิชาการและนักการทูตมองว่าทวีปแอฟริกานั้นคือ “ทวีปแห่งอนาคต”
เนื่องจากอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามทวีปอย่างแอฟริกาเป็นอย่างยิ่ง
และในวันนี้ผมจึงขอถือโอกาสแชร์ความรู้ 10 เรื่องเกี่ยวกับทวีปแอฟริกาในมุมมองที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน หากพร้อมแล้วเราไปดูกันเลย..!!!
1. ทวีปแอฟริกาไม่ใช่ทวีปที่ยากจนหรือล้าสมัย
โดยส่วนมากนั้นคนทั่วไปมักคิดว่าทวีปแอฟริกานั้นขาดความเจริญและยากจนเป็นอย่างมาก เนื่องจากคนทั่วไปมักมองจาก Stereotype หรือการมองแบบเหมารวม โดยสิ่งที่เข้าใจไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจริงเท่านั้น แต่อาจเป็นเรื่องที่ถูดนำเสนอหรือได้รับความนิยมจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของทวีปนี้ไป
ซึ่งความจริงแล้วทวีปแอฟริกามีความเจริญและร่ำรวยทัดเทียมกับเมืองใหญ่ของประเทศอื่นทั่วโลก เช่น เมือง Johannesburg ประเทศแอฟริกาใต้, เมือง Luanda ประเทศแองโกลา, เมือง Abuja ประเทศไนจีเรีย และเมือง Windhoek ประเทศนามิเบีย ซึ่งกล่าวได้ว่าทั้ง 4 เมืองใหญ่นี้ต่างมีความเจริญและเทคโนโลยีเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ อย่างนิวยอร์ก โตเกียว ดูไบ ฯลฯ
Johannesburg, South Africa
ดังนั้นหากเราจะเหมารวมว่าทวีปแอฟริกานั้นยากจนและล้าสมัยขาดความเจริญถือว่าไม่เป็นความจริง เพราะนั่นเป็นเพียงบางพื้นที่หรือบางบริเวณในทวีปเท่านั้น เช่นเดียวกับในบาทประเทศของทวีปอื่นๆ
2. ทวีปแอฟริกามีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่หลากหลาย
ทวีปแอฟริกาถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย ประกอบไปด้วย 54 ประเทศ และ 5 อนุภูมิภาค ได้แก่ แอฟริกาเหนือ แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก แอฟริกากลาง และแอฟริกาใต้ ดังนั้นจึงมีความหลากหลายทางสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
โดยทางตอนเหนือของทวีปจะมีลักษณะเป็นทะเลทราย อากาศร้อนและแห้งแล้ง มีทะเลทรายขนาดใหญ่ถึง 2 ทะเลทราย ได้แก่ 1) ทะเลทรายซาฮาราทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของทวีป และ 2) ทะเลทรายซาราฮารีทางตอนใต้ของทวีป ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับรองลงมา
ทะเลทรายซาฮาร่า (Sahara Desert)
นอกจากนี้ยังมีแม่น้ำที่สำคัญ ที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมและแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของคนในปัจจุบัน อย่างแม่น้ำไนล์ ที่ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์หรืออารยธรรมอียิปต์โบราณ
แม่น้ำไนล์ (Nile River)
ส่วนทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีปจะมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาและป่าดิบชื้น อากาศร้อนชื้นและฝนตกชุก มีแม่น้ำที่สำคัญหลายสายเช่น แม่น้ำคองโก แม่น้ำแซมเบซี แม่น้ำไนเจอร์ เป็นต้น และทางตอนใต้สุดอย่างประเทศแอฟริกาใต้มีบางพื้นที่ลักษณะเป็นน้ำแข็ง ซึ่งสภาพภูมิประเทศเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นในบางบริเวณสลับกับสังคมเมืองที่มีความเจริญไม่ต่างกับเมืองใหญ่ของโลก
3. ทวีปแอฟริกามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา
เนื่องจากทวีปแอฟริกามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย จึงไม่แปลกที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา หากแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ชาวแอฟริกันซับซาฮาร่า
  • 1.
    ชาวอาหรับ (Arabian) ที่นับถือศาสนาอิสลามและใช้ภาษาอาราบิก
  • 2.
    ชาวแอฟริกันซับซาฮาร่า (Sub-Saharan African) หรือชาวแอฟริกันที่พบเห็นทางตอนกลางและตอนใต้ของทวีป
ซึ่งหากจำแนกอย่างละเอียดจะพบว่ามีมากกว่า 3,000 ชาติพันธุ์ และไม่ได้มีแค่คนผิวสีที่เป็นชนพื้นเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังมีชนผิวขาวอย่างอเมริกันอยู่ด้วย ตัวอย่างชาติพันธุ์ที่รู้จักแพร่หลาย เช่น Oromo, Tuareg, Hulu, Akan, Zulu เป็นต้น
นอกจากนี้ ทวีปแอฟริกายังมีความหลากหลายทางด้านภาษาอีกด้วย โดยในทวีปแอฟริกามีภาษาที่ใช้ประมาณ 1,500 - 3,000 ภาษา ในบางประเทศมีการใช้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ ซึ่งแสดงถึงการเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม จึงทำให้ประชาชนในบางประเทศสามารถพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว
4. ทวีปแอฟริกาคือแหล่งทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต
จากการคาดการณ์สถิติประชากรในทวีปแอฟริกาของ World Bank พบว่า ในปี 2050 จะมีจำนวนชาวแอฟริกันซับซาฮาร่า (Sub-Saharan African) ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี มากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งคิดได้เป็นมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในทวีปแอฟริกา
ดังนั้นจึงถือได้ว่าทวีปแอฟริกาจะเป็นแหล่งทรัพยากรมนุษย์ทั้งในด้านของแรงงาน การค้าและการลงทุน ที่สำคัญของโลก
African Population in 2050
เนื่องจากว่าในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า สังคมโลกจะเข้าสู่ช่วงสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งเป็นภาวะที่มีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากและจำนวนประชากรวัยทำงานมีจำนวนน้อยลง แต่ทวีปแอฟริกากลับมีจำนวนประชากรวัยทำงานมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในทวีป จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมถึงเป็นแหล่งตลาดแรงงานชั้นดีแก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
5. ทวีปแอฟริกาอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทวีปแอฟริกาถือเป็นทวีปที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศทั่วโลกต้องการ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ถ่านหิน ทองคำ อัญมณีต่างๆ ผลผลิตจากเกษตรกรรมและป่าไม้ งาช้าง หนังสัตว์ แก๊สธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันและอนาคตจะสามารถดึงดูดเงินทุนจากนานาประเทศให้เข้าลงทุนและจัดสรรทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของทวีปนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Mapping of African Natural Resources
ในปัจจุบันประเทศทวีปแอฟริกาให้ความสำคัญกับ Africa Union Agenda 2063 คือ การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความยั่งยืน ด้วยความพยายามที่จะพึ่งพาตนเอง และประเทศไทยเองได้เผยแพร่แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการประมงให้กับเหล่าประเทศในทวีปแอฟริกา เพื่อพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงทางด้านอาหาร
6. ทวีปแอฟริกามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขนส่งโลจิสติกส์
หากกล่าวถึงการขนส่งและลำเลียงสินค้าทางเรือจากทวีปยุโรปไปยังทวีปเอเชีย จำเป็นต้องใช้เส้นทางเดินเรือจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านคลองสุเอซที่อยู่บริเวณบริเทศอียิปต์ สู่ทะเลแดงและออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
Logistic on Suez Canal
ดังนั้นคลองสุเอซจึงมีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใกล้ สะดวก และประหยัดทรัพยากร มากกว่าการเดินเรืออ้อมทวีปแอฟริกา ผ่านแหลมกู้ดโฮปที่ประเทศแอฟริกาใต้ อีกทั้งยังปลอดภัยจากการดักปล้นสินค้าและจับตัวประกันมาเรียกค่าไถ่จากกลุ่มโจรสลัดบริเวณอ่าวกีนีอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ทวีปนี้มีความร่ำรวยจากการค้าและเก็บค่าผ่านทาง รวมถึงเป็นแหล่งลงทุนและแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอีกด้วย
7. ทวีปแอฟริกามีกรอบความร่วมมือกับทวีปเอเชีย
ภายใต้กรอบความร่วมมือ South-South Cooperation ทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียได้มีการประชุมความร่วมมือระหว่างกัน ที่เรียกว่า “การประชุมเอเชีย-แอฟริกา” (Asian-African Conference) หรือที่รู้จักกันในนาม “Bandung Conference” ในปี ค.ศ.1955
ซึ่งเป็นการประชุมระหว่าง 29 ประเทศกำลังพัฒนาทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา เพื่อหารือกันในเรื่องเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน การต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม รวมไปถึงปัญหาการแบ่งแยกสีผิวและเชื้อชาติ
Spirit of Bandung
ซึ่งต่อมาได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Spirit of Bandung” ทำให้เกิดขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement; NAM) เพื่อปกป้องประเทศของตนเองจากการเลือกข้างจาก 2 มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น และเพื่อแสดงจุดยืนว่าเป็นกลางทางความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในครั้งนั้น
ต่อมาในปี ค.ศ.1970 ได้มีการจัดตั้ง The New International Economic Order (NIEO) ขึ้น เพื่อรับมือกับระเบียบเศรษฐกิจโลกที่สหรัฐอเมริกาสร้างขึ้น ด้วยความพยายามที่จะร่างระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ขึ้นมา เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อประเทศโลกที่ 3 มากยิ่งขึ้น แต่ได้มีการล้มเลิกไปในทศวรรษ 1980 เนื่องจากวิกฤติหนี้ที่ประเทศโลกที่ 3 ต้องรับมือภายในประเทศของตน
8. ทวีปแอฟริกามีภูมิหลังและปัญหาที่คล้ายคลึงกับทวีปเอเชีย
จากการศึกษาอาณาบริเวณศึกษาเปรียบเทียบ (Comparative Area Studies) พบว่าทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น ในอดีตต้องประสบกับการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ และตกเป็นอาณานิคม ต้องสูญเสียทรัพยากรและแรงงานมนุษย์ให้กับชาติเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น
Colonization in Africa
ในปัจจุบันทั้ง 2 ทวีปก็ต่างประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน อย่างในกรณีของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ความขัดแย้งทางศาสนา ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาอาชญากรรมต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย
9. ทวีปแอฟริกามีการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ
หลังจากที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส Ebola ในทวีปแอฟริกาในปี ค.ศ.2014-2015 แสดงให้ถึงความบกพร่องและขาดประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
แต่ในต้นปี ค.ศ.2021 ประเทศในทวีปแอฟริกาได้มีการระบาดของเชื้อไวรัส Ebola แต่ทางรัฐบาลและสาธารณสุขของประเทศสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้นจากประสบการณ์การระบาดครั้งก่อน จึงทำให้สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายได้ภายในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2021
10. ทวีปแอฟริกามีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
สมาคมความสัมพันธ์ไทย-แอฟริกา
สำหรับประเทศไทยทวีปแอฟริกาถือเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากไทยส่งออกข้าวไปยังประเทศแอฟริกาและยังเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของกันและกันอีกด้วย ทวีปแอฟริกายังเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจต้องการครอบครอง ทั้งนี้เพราะมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์บางจุดที่มีความสำคัญ เช่น ช่องแคบบริเวณคลองสุเอซและช่องแคบเอลมันเดบ
1
ซึ่งทั้ง 2 ช่องแคบนี้มีไว้สำหรับขนส่งสินค้าจากทวีปเอเชียไปสู่ทวีปยุโรป โดยในปัจจุบันมีการขนส่งลำเลียงน้ำมันผ่าน 2 ช่องแคบนี้ไปยังทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ประมาณ 40 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือบริเวณจงอยแหลมทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น
ทวีปแอฟริกาถือเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญ สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการค้าขายได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ หนังสัตว์ อัญมณี เป็นต้น โดยมีบริษัทเอกชนของไทยเข้าไปทำการลงทุนในทวีปแอฟริกาอยู่หลายแห่ง อีกทั้งยังมีการลงทุนในรูปของการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม เป็นต้น
นอกจากนี้ไทยและประเทศในแอฟริกาต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน หลายประเทศในทวีปแอฟริกามองประเทศไทยเป็นต้นแบบในการพัฒนาและการลงทุน รวมถึงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศและพยายามแสวงหาโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
นอกจากนี้ประเทศในทวีปแอฟริกายังให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในด้านของทรัพยากร เพื่อช่วยในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น มีการนำอัญมณีมาป้อนให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทย และในอนาคตไทยอาจนำเทคนิค วิธีการ และภูมิปัญญาทางเกษตรกรรม มาถ่ายทอดและส่งเสริมการพัฒนาให้แก่เหล่าประเทศในทวีปแอฟริกา
ดังนั้นนักวิชาการและนักการทูตไทยจึงมองว่าประเทศในทวีปแอฟริกาเป็น “Friends of Thailand” เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันและมีการช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนา
ขอสรุปสั้นๆ นะครับ 📝
จากที่ผมได้เล่าไปจะเห็นได้ว่า ทวีปแอฟริกานั้นไม่ได้เป็นประเทศที่ยากจนหรือด้อยพัฒนาอย่างที่คนไทยส่วนมากเข้าใจ แต่กลับกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในอัตราที่สูง พร้อมทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์
อีกทั้งประเทศในทวีปแอฟริกามีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยในฐานะ Friends of Thailand เป็นคู่ค้าที่สำคัญซึ่งกันและกัน ทำให้เศรษฐกิจการส่งออกและการนำเข้าเจริญเติบโตขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันดีงามซึ่งกันและกัน รวมถึงการร่วมมือกันในการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ซึ่งหากคนไทยส่วนใหญ่จะมองทวีปแอฟริกาไปในทางลบ เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจ เพราะด้วยสื่อต่างๆ ที่นำเสนอสถาณการณ์ต่างๆ ที่ประเทศในทวีปแอฟริกาได้ประสบ ทั้งภัยธรรมชาติและความยากจนข้นแค้นของบางพื้นที่ในทวีป
ประกอบกับหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ของประเทศไทยไม่ได้สอนเกี่ยวกับแอฟริกาในยุคก่อนจะถูกล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก จึงทำให้คนทั่วไปไม่รู้ว่าแอฟริกาเคยเป็นคู่ค้าสำคัญกับเอเชียมานานและเป็นประเทศที่ร่ำรวยจากการค้าขายเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้คนไทยรู้สึกห่างเหินกับประเทศในทวีปแอฟริกาอีกด้วย ทั้งที่ประเทศไทยกับทวีปแอฟริกามีเพียงมหาสมุทรอินเดียกั้นเท่านั้น ซึ่งอยู่ใกล้กว่าทวีปอเมริกาเสียอีก
South Africa
โฆษณา