14 มิ.ย. 2022 เวลา 01:40 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมคนเชื่อเฟคนิวส์? (ตอน 1)
Photo by Markus Winkler on Unsplash
ยุคนี้คนใช้ชีวิตใน “โซเชียลมีเดีย” มากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าข่าวสร้าง ข่าวปล่อย หรือข่าวปลอมทั้งหลายที่เรียกรวมๆ ว่า “เฟคนิวส์ (fake news)” จึงส่งผ่านโลกเสมือน อันแสนจะน่าอัศจรรย์ใจได้เร็วและมากยิ่งกว่าไฟลามทุ่งเสียอีก
ที่ว่ามานี่ไม่ใช่เรื่องคิดเอาเองนะครับ
มีงานวิจัยของทีมที่เอ็มไอทีที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018 (DOI: 10.1126/science.aap9559) ระบุว่า การศึกษาโพสต์ในทวิตเตอร์ระหว่าง ค.ศ. 2006–2017 ทำให้ทราบว่า ข่าวลือที่ไม่ใช่เรื่องจริง 126,000 โพสต์ แพร่กระจายไปในวงกว้างถึงผู้คนราว 3 ล้านคน และรีทวีตไปรวมมากกว่า 4.5 ล้านครั้งเสียอีก
องค์กรเอ็นจีโอชื่อ Avaaz อ้างข้อมูลจากเฟซบุ๊คว่า เฟคนิวส์เกี่ยวกับการเมืองในปี ค.ศ. 2019 แชร์กันไปดูกันไปมากกว่า 150 ล้านครั้ง
เฉลี่ยแล้วเทียบโพสต์ต่อโพสต์ ข่าวลวงพวกนี้แพร่หลายไปในวงกว้างมากว่าข่าวจริงเสียอีก!
Photo by Nijwam Swargiary on Unsplash
ความน่าทึ่งยังไม่หมดแต่เท่านั้น งานวิจัยชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่า 1% บนสุดของเฟคนิวส์ยอดนิยมพวกนี้แพร่กระจายได้ในวงกว้างตั้งแต่ 1,000 ถึง 100,000 คนต่อหนึ่งข่าว (แล้วแต่ข่าว)
แต่ข้อสรุปที่น่าทึ่งที่สุดซึ่งช่วยยืนยันความเชื่อที่มีมานมนานว่าเป็นเรื่องจริงก็คือ ความเร็วของการแพร่กระจายข่าวปลอมพวกนี้รวดเร็วกว่าพวกเรื่องจริงมาก....ข่าวลือจึงไปได้ทั้งไวและไกล
คำถามสำคัญในวงวิชาการก็คือ ทำไมผู้คนจึงเชื่อเฟคนิวส์พวกนี้? ทำไมคนเราจึงถูกหลอกในเรื่องที่บางครั้งก็ดูไม่น่าเชื่อมากๆ?
Photo by Kajetan Sumila on Unsplash
"เฟคนิวส์เล่นกลกับจิตใจ"
มีคำอธิบายมากมายที่นักวิชาการคิดขึ้นมาและพยายามหาทางพิสูจน์ว่าถูกต้องหรือไม่
สมมุติฐานยอดนิยมที่ฟังดูสมเหตุสมผลและอ้างอิงกันมากก็คือ เฟคนิวส์ใช้จุดอ่อนทางจิตวิทยาที่มีประจำตัวเราทุกคนมาเล่นงานเราเอง เพราะทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า การรับรู้อย่างมีอคติ (cognitive bias) อยู่
คนปกติมักจะให้น้ำหนักกับสิ่งที่คนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือคนที่เราชื่นชม ชื่นชอบ เช่น ดารา นักร้อง เซเลบในดวงใจ ฯลฯ เชื่อถือ
เมื่อคนเหล่านี้แชร์โพสต์หรือเรื่องราวมาให้เราเห็นในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือไลน์ หรือแม้แต่ปรากฏในโฆษณาทางโทรทัศน์ เราก็จะหลงเชื่ออย่างง่ายดาย
เราจึงมีแนวโน้มจะกระโดดสู่ข้อสรุปว่า “น่าจะเป็นเรื่องจริง” อย่างง่ายๆ เลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น จะ “ด่วนสรุป” มากขึ้นไปอีก หากเรื่องดังกล่าวไปกันได้กับความคิดเห็นหรือความเชื่อที่เรามีอยู่แล้ว เช่น หากเราเชื่อว่าประธานาธิบดีทรัมป์ (หรือผู้นำบางคน) ชอบพูดอะไรที่ดูไม่เข้าท่าหรือไม่ฉลาด หากมีใครแชร์คำพูดประหลาดๆ เหลือเชื่อที่ระบุว่า ทรัมป์หรือผู้นำคนนั้นเป็นคนพูดไว้
เราก็จะเชื่อง่ายเป็นพิเศษและรีบแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว โดยฉุกใจคิดน้อยมากว่าอาจจะไม่จริงก็ได้
นอกจากจะเล่นกลกับความคิดอ่านและความเห็นของเราแล้ว เฟคนิวส์ยังเล่นกับอารมณ์ของเราอีกด้วย
มักพบกันว่าข่าวปลอมที่กระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะทำให้ประหลาดใจ ตื่นกลัว เกลียดชัง ขยะแขยง ดูถูกดูหมิ่น ฯลฯ จะชวนให้เชื่อได้ง่ายเป็นอย่างยิ่ง
คนจำนวนมากเลย “ตอบสนอง” ด้วยการส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้ผู้อื่นต่อไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ
Photo by Kayla Velasquez on Unsplash
"เรื่องมันซับซ้อนและเราก็ไม่รู้หรือขี้เกียจ"
เดิมนั้นผู้อ่านจะรู้ว่า สื่อต้นตอข่าวที่ตัวเองรับข่าวสารมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ไหน มีระดับความน่าเชื่อถือมากเพียงใด เวลาอ่านนิตยสารซุบซิบดาราก็พอจะรู้ว่า จะไปเชื่อถืออะไรมากนักคงเป็นเรื่องยาก
ผู้ผลิตเนื้อหาแต่ละรายก็รับรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะจากสำนึกในจรรยาบรรณหรือความกังวลต่อกฎหมายก็ตาม
ข่าวปลอมจึงเป็นผลงานของคนจำนวนน้อยที่มุ่งร้ายด้วยจุดประสงค์หรือผลประโยชน์บางอย่าง
แต่เมื่อมาถึงยุคที่เราได้ข่าวสารจากโซเชียลมีเดียบนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก (จากการสำรวจของ Pew Research คนอเมริกัน 60% ทุกวันนี้ได้รับข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียวเป็นหลัก ของไทยยังไม่เห็นข้อมูลนะครับ)
ขอบเขตความชัดเจนตรงนี้ก็พร่ามัวลงมาก ใครก็เป็นคนสร้างเนื้อหาและเผยแพร่ได้
แม้แต่รายการโทรทัศน์ที่ควรจะต้องระมัดระวังและรับผิดชอบมากๆ ก็ยังเอาเรื่องที่ใครก็ไม่รู้โพสต์ลงเฟซบุ๊คมาอ่านออกอากาศกันอย่างหน้าตาเฉย ราวกับอยากจะช่วยรับประกันว่า ข่าวพวกนั้นเชื่อถือได้
เรื่องจริง เรื่องปลอม จึงปะปนกันมั่วซั่วไปหมด การใช้แหล่งข่าวหรือแหล่งที่มาในการการันตีเนื้อหา เริ่มขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ
อันที่จริงลองถามตัวเองกันดูก็ได้ว่า เวลาอ่านแล้วเราเคยสงสัยและลงมือเช็คความถูกต้องของข้อมูลสักกี่ครั้งหรือกี่เปอร์เซ็นต์กัน
สำหรับหลายๆ คนแล้ว เรื่องบางเรื่องก็ซับซ้อนเกินเข้าใจได้ง่ายๆ และกับอีกหลายๆ คน ก็ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างไร
ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแทบทั้งหมด ไม่เคยสอนวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้วิธีการตรวจสอบ หรือต่อให้รู้ก็ยุ่งหรือขี้เกียจเกินกว่าจะลงมือตรวจสอบ...อยู่นั่นเอง
"การเสริมแรงทางสังคม"
การมองว่าคนเราเป็นแค่เครื่องประมวลผลข้อมูลแบบคอมพิวเตอร์นั้นน่าจะไม่ถูกต้อง อิทธิพลทางสังคมน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบราวน์ที่ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง The Science of Fake News ลงในวารสาร Science (vol. 358, no.6380, 2018, DOI: 10.1126/science.aao2998) ระบุว่า การที่เราเป็นสัตว์สังคมนั้น เราใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่ตรงไปตรงมานัก เพราะมันสะท้อนถึงอิทธิพลทางสังคมของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราด้วย
เราเห็นว่าคนรอบตัวคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากเราอย่างไร เมื่อพวกเขาแชร์ข้อมูลข่าวสารให้เห็น จึงมีส่วนเสริมความเชื่อเหล่านี้ ผลลัพธ์จึงเป็นว่าความเชื่อเหล่านี้เป็น “ความเชื่อของกลุ่ม” และด้วยเหตุนี้เอง
แม้จะเห็นอยู่ รู้สึกอยู่อย่างเต็มอกว่า ที่แชร์มานั้นผิด ก็เป็นเรื่องยากที่จะเอ่ยปากโต้แย้ง จนทำให้คนจำนวนมาก ปกป้องตัวเองด้วยการ “ยอมตามน้ำ” สมองของคนเหล่านี้มีความสุขกับ “ทางลัด” ในการวางตัวและดำรงความเชื่อ
นี่เองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดของเฟคนิวส์
Photo by Bank Phrom on Unsplash
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ งานวิจัยของเอ็มไอที (กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น) ยังพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าโปรแกรมสำเร็จรูปหรือที่ในวงการเรียกว่า “โรบ็อต” หรือ “บ็อต” ที่ทำงานบนอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ช่วยให้เฟคนิวส์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง “มากกว่า” หากเทียบกับคนจริงๆ เพราะพวกมันแชร์ข่าวจริงและข่าวปลอมในสัดส่วนเท่าๆ กัน
ในทางตรงกันข้าม ผลการทดลองชี้ว่าคนเรานี่แหละครับ ตัวดีเลยในการแชร์เฟคนิวส์ โดยเฉพาะเรื่องที่แปลกใหม่ เพิ่งสร้างกันขึ้นมา และยังไม่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเฟคนิวส์
ตอน 2 มาดูกันว่า ทำไมคนยิ่งฉลาดยิ่งเป็นเหยื่อเฟคนิวส์ง่าย
โฆษณา