Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
•
ติดตาม
14 มิ.ย. 2022 เวลา 06:20 • ความคิดเห็น
โรงงานที่ดีมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงเพราะผลิตผลงานได้มากเท่านั้น แต่จะต้องผลิตผลงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ด้วยเช่นกัน คนเราจะเจริญก้าวหน้า ทำประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้ ไม่ใช่เพียงเพราะทำงานได้มากเท่านั้น แต่จะต้องเลือกทำเฉพาะงานที่ไม่มีโทษด้วย
งานไม่มีโทษ คือ อะไร ?
งานไม่มีโทษ หมายถึง งานที่ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียนใคร แต่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น
ความสามารถในการทำงานของคนมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ขั้นทำได้ กับ ขั้นทำดี
ทำได้ หมายถึง การทำงานสักแต่ให้เสร็จๆ ไป จะเกิดประโยชน์หรือ ไม่เพียงใด ไม่ได้คำนึงถึง
ทำดี หมายถึง การเป็นผู้คิดให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสียทุกแง่มุม แล้วจึงเลือกทำเฉพาะแต่ที่เป็นประโยชน์จริงๆ สิ่งใดที่ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเพียงพอก็ไม่ทำสิ่งนั้น พูดสั้นๆ ก็คือ ถ้าทำต้องให้ดี ถ้า ไม่ดีต้องไม่ทำ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำได้ หมายถึง ทำสิ่งต่างๆ ได้ตามที่ตนอยากได้ อยากทำ เช่น ค้าขายหาผลประโยชน์เข้าตัวเป็น โดยไม่เลือกสิ่งของที่ค้าอาจขายสิ่งที่ไม่ควรขาย อย่างพวกเหล้า บุหรี่ ยาบ้า เป็นต้นก็ได้ หรืออยากได้ยศ
อยากได้ตำแหน่ง ก็มุ่งมั่นช่วงชิงเอาให้ได้ ผิดถูกชั่วดีอย่างไรไม่ได้คำนึง การทำได้จึงเป็นเพียงคุณสมบัติขั้นต้นของคนทำงานเท่านั้น ถ้าจะให้ดีจริงแล้ว ต้องถึงขั้น ทำดี คนทำดีนั้นมีคุณสมบัติในตัวถึง ๒ อย่าง คือนอกจากจะ ทำได้ แล้วยังสามารถเลือก ไม่ทำก็ได้ ถ้าเห็นว่าทำแล้วจะไม่ดี อย่างนี้จึงจะเก่งแท้
อาจจะเปรียบได้ว่า คนทำงานขั้นทำได้ ก็เหมือนกับ เด็กทารกที่เพิ่งรู้จักกิน ทำเป็นแต่เพียงหยิบอะไรใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้องไป กินขั้นนี้เรียกว่า กินได้ ยังไม่ใช่คนกินเป็น ยังไม่มีความดีวิเศษอะไรนัก
ถ้าพี่เลี้ยงเผลออาจหยิบสิ่งที่เป็นพิษใส่เข้าปากแล้วกลืนลงท้อง ให้ผู้ใหญ่ต้องเดือดร้อนวิ่งหาหมอก็ได้ แต่คน กินเป็น จะต้องรู้จักเลือกของกิน เห็นว่าควรกินจึงกิน ถ้าไม่ควรกินก็ไม่กิน เช่นเดียวกัน นักทำงานที่เก่งแท้ต้องถึงขั้น ทำดี คือไม่ใช่สักแต่ว่าทำงานได้ แต่ต้องเห็นว่างานที่จะทำเป็นงานที่ดีควรทำจึงลงมือทำ
วิธีพิจารณางานว่ามีโทษหรือไม่
ในการพิจารณางานที่ทำว่าเป็นงานมีโทษหรือไม่ ต้องไม่ถือเอาคำติชม ของคนพาลมาเป็นอารมณ์ เพราะคนพาลนั้น เป็นคนมีใจขุ่นมัวเป็นปกติ มีวินิจฉัยเสีย ความคิดความเห็นผิดเพี้ยนไปหมด สิ่งใดที่ถูกก็เห็นเป็นผิด ที่ผิดกลับเห็นเป็นถูก หรือเรื่องที่ดีคนพาลก็เห็นเป็นเรื่องที่ชั่ว แต่เรื่องที่ชั่วกลับเห็นเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้
ส่วนบัณฑิตนั้น เป็นคนมีความคิดเห็นถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ ทั้งเป็นคนมีศีลมีสัตย์ คนประเภทนี้ใจกับปากตรงกัน เราจึงควรรับฟังคำติชมของบัณฑิตด้วยความเคารพ
หลักที่บัณฑิตใช้พิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่นั้น มีอยู่ 4 ประการ ด้วยกัน แบ่งเป็นหลักทางโลก 2 ประการ และหลักทางธรรม 2 ประการ
องค์ประกอบของงานไม่มีโทษ
งานไม่มีโทษจะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ ดังนี้
1.ไม่ผิดกฎหมาย
2. ไม่ผิดประเพณี
3.ไม่ผิดศีล
4.ไม่ผิดธรรม
1.ไม่ผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นระเบียบข้อบังคับซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม การทำผิดกฎหมายทุกอย่างจัดเป็นงานมีโทษทั้งสิ้น แม้บางอย่างจะไม่ผิดศีลธรรมข้อใดเลย เช่น การปลูกบ้านในเขตเทศบาล
ต้องขออนุญาตตามเทศบัญญัติ ถ้าไม่ขอผิด การทำอย่างนี้ดูเผินๆ ทางธรรมเหมือนไม่ผิด เพราะ ปลูกในที่ของเราเอง และด้วยเงินทองของเรา แต่การกระทำดังกล่าวก็เป็นงานมีโทษคือมีตำหนิ และโปรดทราบด้วยว่า เมื่อใครทำงานมีโทษก็ย่อมผิดหลักธรรมอยู่นั่นเอง อย่างน้อยก็ผิดมงคล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเป็นหนักหนา ทั้งพระทั้งชาวบ้าน ให้เคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองโดยเคร่งครัด ไม่เคยปรากฏในที่ใดเลยว่าพระบรมศาสดาของเราสอนพุทธศาสนิกชนให้แข็งข้อต่อกฎหมาย แม้จะเอาการประพฤติธรรมหรือความเป็นพระเป็นสงฆ์ เป็นข้ออ้าง แล้วทำการดื้อแพ่ง ก็หาชอบด้วยพุทธประสงค์ไม่
ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาต้องการให้ศาสนิกชนเป็นคนรักสงบและให้เคารพในกฎหมาย ชาวพุทธต้องไม่ทำตัว “ดื้อแพ่ง” ต่อกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าในกรณีใดๆ
ถ้าเราพิจารณาในแง่มงคลแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าการทำผิดกฎหมายนั้นเป็นอัปมงคลแน่ เพราะเป็นการสร้างความผิดคล้องคอตัวเอง
2.ไม่ผิดประเพณี ประเพณีหมายถึง จารีต ขนบธรรมเนียมของ มหาชนในถิ่นหนึ่งๆ หรือสังคมหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อคนทั้งหลายเขาถือกันเป็นส่วนมากและนิยมว่าดี ก็กลายเป็นกฎของสังคม ใครทำผิดประเพณีถือว่าผิดต่อมหาชน เช่น ประเพณีแต่งงาน ประเพณีต้อนรับแขก ประเพณีรับประทานอาหาร ประเพณีทำความเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ จึงต้องศึกษาให้ดี
เราชาวพุทธเมื่อจะเข้าไปสู่ชุมชนใด ก็ต้องถามไถ่ดูก่อนว่าเขามีประเพณีอย่างไรบ้าง อะไรที่พอจะโอนอ่อนผ่อนตามได้ก็ทำตามเขา แต่ถ้าเห็นว่า ทำไปแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวเรา เสียหายแก่ภูมิธรรม และศักดิ์ศรีของชาวพุทธ ก็ควรงดเสียอย่าเข้าไปเกี่ยวข้อง
เช่น ประเพณีไม่ให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ ดูถูกผู้หญิง ของคนบางเหล่า ประเพณีถือฤกษ์ยามจนแทบไม่มีโอกาสทำมาหากิน ประเพณีห้ามถ่ายอุจจาระปัสสาวะซ้ำที่ของชาวอินเดียบางกลุ่ม จน กระทั่งไม่สามารถทำส้วมใช้ได้
3.ไม่ผิดศีล ศีลเป็นพื้นฐานของการทำความดีทุกอย่าง แม้ในไตรสิกขา ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาก็กล่าวไว้ว่า
ศีล เป็นพื้นฐานของสมาธิ
สมาธิ ทำให้เกิดปัญญา
ปัญญา เป็นเครื่องบรรลุนิพพาน
ดังนั้นผู้ที่คิดจะสร้างความดีโดยไม่นำพาในการรักษาศีลเลย จึงเป็นการคิดสร้างวิมานในอากาศ
เราชาวพุทธทั้งหลายควรพิจารณาทุกครั้งก่อนทำงาน งานที่เราจะทำนั้นขัดต่อศีล 5 หรือไม่ ถ้าผิดศีลก็ไม่ควร ให้งดเว้นจากการล่วงละเมิดศีล และงดเว้นจากการสนับสนุนผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษ แต่ไม่มีศีลด้วยเช่นกัน
4. ไม่ผิดธรรม ธรรมคือความถูกความดี ในการปฏิบัติงานทุกครั้ง ต้องคำนึงถึงข้อธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ถี่ถ้วน เพราะงานบางอย่างแม้จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี และไม่ผิดศีล แต่อาจผิดหลักธรรมได้ ดังเช่น
การผูกโกรธคิดพยาบาท ผิดหลักกุศลกรรมบถ
การเกียจคร้าน ผิดหลักอิทธิบาท
การเป็นนักเลงการพนัน เจ้าชู้ ผิดหลักการละอบายมุข
ดังนั้นเมื่อเราทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานทางกาย ทางวาจา หรือทางใจก็ตาม เราต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประเพณี ศีล และธรรม จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนทำงานไม่มีโทษ
คนบางคนมีปัญหาว่า ใจก็ต้องการทำงานไม่มีโทษ แต่ทำงานครั้งใดกว่าจะรู้ว่างานที่ตัวทำเป็นงานมีโทษ ก็สายไปเสียแล้ว ทำไปแล้ว จึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนที่รู้ก่อนทำ
วิธีรู้ก่อนทำ
ทางพระพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำงานไว้ว่า “นิสฺสมฺมกรณํ เสยฺ-โย” คือ “ใคร่ครวญดูก่อน แล้วจึงลงมือทำดีกว่า
“ นักทำงานสมัยนี้ก็มีคติว่า “อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นก่อนอ่าน” ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมนั่นเอง
แต่การทำงานแบบนี้คนหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยชอบเพราะใจร้อน เวลา เสนองานให้ผู้ใหญ่ พอท่านบอกว่า “ขอคิดดูก่อน” เด็กก็มักจะขัดใจหาว่าคนแก่ขี้ขลาดทำอะไรไม่เด็ดขาด ความจริงไม่ใช่เรื่องกล้าหรือขลาด แต่เป็นเรื่องการใช้ความคิด ท่านต้องการรู้ก่อนทำไม่ใช่ทำก่อนรู้ แล้วทำอย่างไรเราจึงจะรู้ก่อนทำ
ข้อสำคัญคือ ต้องทำใจเราให้คลายความอวดดื้อถือทิฏฐิมานะ ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนเก่งที่สุด เราไม่ใช่คนฉลาดที่สุด ยังมีผู้ที่เกิดก่อนเรารู้เห็นมามากกว่าเรา ใครลดความลำพองลงเสียได้ดังนี้
คนนั้นจะมีหวังเป็นคน รู้ก่อนทำ ถ้าปรับปรุงตัวอย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่มีหวัง จะต้องเป็นคนทำก่อนรู้อยู่ร่ำไป สอบตกแล้วจึงรู้ว่าเกโรงเรียนไม่ดี ตับแข็งแล้วจึงรู้ตัวว่ากินเหล้ามากไป หมดตัวแล้วจึงรู้ว่าไม่ควรเล่นการพนัน หนักเข้าก็ต้องเข้าคุก แล้วจึงรู้ว่าบ้านเมืองมีขื่อ มีแป กรรมแท้ๆ
ประเภทของงานไม่มีโทษ
งานที่เราทำนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประการ คือ
1.งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
2.งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ผู้ที่ทำงานไม่มีโทษก็หมายถึง ผู้ที่ทำงานทั้ง 2 ประการนี้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ตามองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ดังได้กล่าวมาแล้ว
งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง
คือการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ เช่น ทำนา ทำสวน ค้าขาย เป็นครู เป็นช่างไม้ ช่างยนต์ ฯลฯ ซึ่งในเรื่องการประกอบอาชีพนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า อาชีพต้องห้ามต่อไปนี้ พุทธศาสนิกชนไม่ควรทำ ได้แก่
1.การค้าอาวุธ
2. การค้ามนุษย์
3.การค้ายาพิษ
4.การค้ายาเสพย์ติด
5.การค้าสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
ใครก็ตามที่ประกอบอาชีพ 5 ประการข้างต้นนี้ ได้ชื่อว่าทำงานมีโทษ และก่อให้เกิดโทษแก่ตนเองมากมายสุดประมาณ แม้จะร่ำรวยเร็วก็ไม่คุ้มกับบาปกรรมที่ก่อไว้
งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
คือการทำงานสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือคนข้างเคียง และช่วยเหลืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เช่น สร้างสะพาน ทำถนน สร้างศาลา ที่พักอาศัยข้างทาง ฯลฯ
ข้อเตือนใจนักทำงานเพื่อส่วนรวม
ในการทำงาน ให้ทำเต็มที่ตามกำลัง แต่อย่าทำจนล้นมือ และก่อนจะทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น เราจะต้องฝึกฝนตัวเราเองให้ดีก่อน ฝึกแก้นิสัยที่ไม่ดีๆ ในตัวด้วยการประพฤติธรรมดังมงคลที่ 16 เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกระทั่งกับ ผู้อื่นเวลาทำงาน
และเพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย ว่าเพื่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียง เพื่อความมีหน้ามีตาของเราเอง และให้รับรู้ว่าการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น แท้จริงผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดก็คือ ตัวเราเอง
คือได้ทั้งบุญกุศลและอุปนิสัยที่ดีติดตัวไปเบื้องหน้า และเป็นการสร้าง สิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ตัวเองอีกด้วย ส่วนประโยชน์ที่ผู้อื่นจะได้รับถือเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ถ้าคิดได้อย่างนี้จะทำให้ใจสบาย มีกำลังใจในการทำงาน และไม่คิดทวงบุญทวงคุณเอากับใคร
นอกจากนั้น ผู้ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมจะต้องหัดรักษาศีล 8 รักษาอุโบสถศีล เพื่อเป็นการฝึกควบคุมอารมณ์ให้ดี เพราะการทำงานเพื่อส่วนรวมนั้น จะต้องคลุกคลีกับคนจำนวนมาก
มีโอกาสที่จะกระทบกระทั่งเกินเลยกันได้ง่าย ทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ทั้งๆ ที่ทำด้วยความหวังดี ตนเองก็มีกรรมติดตัวไป และก่อนที่จะทำงานเพื่อสังคม ให้ปรับปรุงสภาพในครอบครัวของตนให้ดี ต้องมีเวลาให้ลูกให้ครอบครัวให้พอ ครอบครัวจะได้มั่นคงเป็นสุข ส่งผลให้เราทำงานได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
“ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น
มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม ไม่ประมาท”
ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘
บันทึก
3
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มงคลชีวิต 38 ประการ
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย