14 มิ.ย. 2022 เวลา 11:10 • ธุรกิจ
🏳️‍🌈 Rainbow Economy คืออะไร แล้วเราจะหนีจากกับดัก Rainbow Washing ได้อย่างไร
ผ่านไปแล้วครึ่งทางสำหรับเดือนแห่งไพรด์ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในปี 2565 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ผู้คนได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่สังคมกำลังดำเนินไป เป็นสังคมที่คนทุกช่วงวัย เปิดใจ และโอบกอดความรักที่หลากหลายอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ภาพในสื่อบันเทิง ทั้งยังเป็นสังคมที่มีความพยายามที่จะผลักดันให้ความรักได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างแท้จริง
เราได้เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่กำลังทลายขีดจำกัดกรอบของเพศสรีระ เพื่อให้คู่รักทุกคู่สามารถเลือกที่จะมีครอบครัวที่อบอุ่นและปลอดภัยได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเป็นปีที่มีบทวิเคราะห์มากมายออกมาชี้ให้เห็นว่าการยอมรับความหลากหลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติสังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎหมายเหล่านี้ ยังร้อยเรียงเรื่องราวไปถึงมิติทางเศรษฐกิจ เพราะลูกค้ากลุ่ม LGBTQIA2S+ ถือเป็นกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูงและยังเติบโตขึ้นทุกปี จนมีคำเรียกเฉพาะว่า เศรษฐกิจสีรุ้ง (Rainbow Economy) และนับวันก็จะยิ่งเห็นได้ว่ามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเศรษฐกิจโลก
ผลสำรวจในปี 2021 ระบุว่าทั่วโลกมีผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า 371 ล้านคน หรือกว่า 5% ของประชากรโลก พร้อมด้วยกำลังซื้อเฉลี่ยกว่า 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ในขณะที่ประเทศไทยเองมีประชากรที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ราว ๆ 3.6 ล้านคนและมีกำลังซื้อในประเทศสูงถึง 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว ๆ 8 แสนล้านบาท)
โดยอีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจก็คือรายได้กว่า 1% GDP ประเทศไทยเองก็มาจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA2S+ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมในเดือนมิถุนายนของทุกปีจึงมีการออกผลิตภัณฑ์ สื่อโฆษณา แคมเปญ และบริการเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเพื่อดึงความสนใจและการใช้จ่ายจากลูกค้ากลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม การใช้ธงสีรุ้งหรือสัญญะต่าง ๆ ที่อ้างไปถึงความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือที่เรียกว่า Rainbow Washing กลับเป็นหนึ่งในกับดักที่นักการตลาดและแบรนด์มักถูกกระแสสังคมตีกลับในเชิงลบได้โดยง่ายและรุนแรง
โดยสาเหตุอาจเกิดมาจากการที่ผู้ออกแบบแผนการตลาดไม่ได้ทำความเข้าใจ และไม่ได้มีความคิดยอมรับในความรักของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง ทำให้ถึงแม้แคมเปญ สินค้า และบริการที่ออกมาจะมีความทันกระแส ได้รับความสนใจ แต่ก็เป็นการแสดงออกถึงแนวคิดที่ฉาบฉวย หรือกระทั่งอาจออกมาในรูปแบบของการสื่อสารที่กดทับ ดูถูก หรือด้อยค่าความรักในกลุ่ม LGBTQIA2S+
ในยุคที่ผู้คนต่างเรียกร้องให้แบรนด์ออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมเคียงข้างลูกค้า ความคาดหวังต่อการแสดงออกเรื่องความหลากหลายทางเพศของแบรนด์จึงไม่ใช่แค่การเกณฑ์พนักงานมาถือป้ายเดินขบวนเพื่อเอาภาพสื่อ หรือการออกสินค้าที่มีลวดลายธงสีรุ้งอีกต่อไป
หากภาคธุรกิจ นักการตลาด หรือแม้กระทั่งองค์กรต้องการจะออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ก็ควรเริ่มจากการให้ความสำคัญกับการการยอมรับและเคารพในความหลากหลายอย่างแท้จริง ก่อนที่จะขยายผลไปสู่การปฏิบัติที่จริงใจ หนักแน่น และสร้างผลลัพธ์ได้จริง ควบคู่ไปกับวัตถุประสงค์ในการทำให้แบรนด์ได้ความสนใจและเม็ดเงินจากผู้บริโภค
ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคนิคการตลาดเชิงประสบการณ์ (Experiential Marketing) ที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคและแบรนด์ได้มีการทำกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นสังคมร่วมกัน หรือหากผลิตภัณฑ์และบริการของแบรนด์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นทางเพศ ก็อาจออกมาเคลื่อนไหวผ่านนโยบายบริษัท สวัสดิการพนักงาน หรือการร่วมสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมอย่างเป็นรูปธรรม
หากมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR ก็ควรทำอย่างจริงจัง ก่อให้เกิดชุมชนหรือกลุ่มคนที่มีความรู้สึกร่วมกันอย่างแท้จริง มากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้พื้นที่สื่อปีละครั้งแค่ในเดือนมิถุนายน
ท้ายที่สุดแล้ว หากแบรนด์หรือภาคธุรกิจในฐานะองค์กรที่ก็มีเสียงและเสียภาษีออกมาร่วมเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมมากยิ่งขึ้น เสียงเรียกร้องต่อประเด็นทางสังคมดังกล่าวก็จะยิ่งทรงพลัง มีคนรับฟังมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสในการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและกฎหมายอย่างแท้จริง
╔═══════════╗
ท่านที่สนใจรับการอัปเดตเทรนด์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขอเชิญชวนเข้าร่วม Facebook Group: Trends Community เพื่อร่วมแบ่งปันเทรนด์ใหม่ๆ ในแต่ละอุตสาหกรรม ร่วมออกไอเดีย และแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าเทรนด์ใดที่เหมาะกับลูกค้าคนไทย และเทรนด์ใดจะเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในอนาคต?
╚═══════════╝
Trendmizi คลังเทรนด์ออนไลน์เพื่อการพัฒนาแบรนด์และธุรกิจ โดยศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab
#Trendmizi
#คลังเทรนด์ออนไลน์
#trend
#Pride #PrideMonth #Queer #RainbowEconomy #RainbowWashing
เรื่อง: ณัฐวุฒิ กุลแก้ว - Content Creator
ที่มา:
โฆษณา