14 มิ.ย. 2022 เวลา 15:02
นโยบาย Thailand 4.0 คืออะไร? และมาจากไหน?
ก่อนจะเกิดและพัฒนามาสู่ นโยบาย Thailand 4.0 ได้นั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีโมเดล Thailand 1.0 ถึง Thailand 3.0 มาก่อน โดยโมเดลเหล่านี้เป็นโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย ซึ่งแต่ละรัฐบาบก็จะให้ความสนใจและส่งเสริมเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน
Thailand 1.0 เป็นยุคที่รัฐบาลเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นหลัก เช่น ผลิตและขายพืชไร่ พืชสวน หมู ไก่ เป็นต้น
Thailand 2.0 รัฐบาลในยุคนี้เริ่มเข้ามาเน้นที่อุตสาหกรรมมากขึ้น แต่จะเป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น การผลิตและขายรองเท้า เครื่องหนัง เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม กระเป๋า เครื่องประดับ เป็นต้น
Thailand 3.0 ยุคนี้เป็นยุคที่เน้นไปทางอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น ผลิตและขาย ส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ปูนซีเมนต์ กลั่นน้ำมัน เป็นต้น
ที่ผ่านมาจากโมเดลหารพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 1.0 ถึง 3.0 รายได้ของประเทศยังติดกับดักอยู่ในระดับปานกลาง ไม่สามารถเติบโตต่อมากกว่านี้ได้ อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จึฃจำเป็นต้องพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ให้เข้าสู่ยุค Thailand 4.0
Thailand 4.0 เป็นนโยบายที่เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ Value-based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หากจะให้พูดง่ายๆคือ เปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ "ทำมาก ได้น้อย" มาเป็น "ทำน้อย ได้มาก" ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
ภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
การเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ
เปลี่ยนจาก SMEs แบบเดิมไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง
เปลี่ยนจากรูปแบบบริการแบบเดิมซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่บริการที่มีมูลค่าสูง
เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง
ปัจจุบัน นโยบาย Thailand 4.0 ยังคงใช้เป็นฐานในการพัฒนาของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การปรับใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ให้เข้ามาสนับสนุนการทำงานของรัฐ โดยตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัด อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม ID4 Connect เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านบริการดิจิทัลเข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล (Provider) โดยจะจับคู่กับผู้ใช้งานที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เหลือ อาทิ อาหาร รถยนต์ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นตลาดกลางการบริการดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้นโยบายนี้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จำเป็นต้องดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามาร่วมผลักดันด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ประชาชน ธนาคาร และสถาบันวิจัยต่างๆ รวมถึงส่งเสริม SMEs และ Startup ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เกิดนวัตกรรม เทคโนโลยี และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆไปด้วยกัน
โฆษณา