15 มิ.ย. 2022 เวลา 02:18 • นิยาย เรื่องสั้น
EP. 10 : น้ำแรกที่ต้องสะพรึง [มีคลิป]
นาหนองขนาน
กลางเดือนกันยายน 2564 ที่ทุ่งนาเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวของพืช ฟ้าฝนเริ่มทำท่าเล่นหัวกับชาวนาอีกหน มีการคำรามและลงเม็ดให้เห็นเป็นระยะ หนักบ้าง บางบ้าง กระทั่งมีพายุลงมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันหลายวันติดต่อกัน ทำให้ความเขียวของเหล่าพืชจำนวนนั้นเพิ่มความชื่นใจขึ้นมาบ้าง ซึ่งในแปลงนาอาจจะเห็นสีเขียวด้วยต้นข้าวเป็นหลักที่แหว่งเว้าไปตามสภาพของความหนาของข้าวที่หว่านหรือเพาะปลูกไป
21 กันยายน 2564 ตรงกันวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 หากตามความเชื่อชาวกวยโพธิ์กระสังข์ คือวันสากกวย ที่เหล่าชาติพันธุ์ให้ความสำคัญในการทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับได้สังเวยดื่มกินจากอาหารที่เหล่าลูกหลานในภพภูมิคนนี้ทำบุญส่งไปให้ จะเรียกได้ว่า เป็นวันชาติของกวยเลยก็ว่าได้ หากมองในมุมของคนสำนึกรักษ์ชาติพันธุ์ เพราะเป็นเรื่องราวที่เน้นความกตัญญูให้รู้คุณบรรพชนนั่นเอง
สากกวย
  • โดยในเช้านี้ตระเตรียมสำรับมารวมหมู่ที่บ้านหลัก ลูกหลานที่แยกย้ายมีครอบครัวก็ต้องกลับมารวมกลุ่มกันกับสำรับอาหารคนละภาชน์มาพร้อมหน้าและทำพิธีการจุดธูปเทียนเรียกเหล่าบรรพบุรุษมาร่วมสังเวยที่บ้านหลักคือบ้านที่เป็นหลักในการรวมกลุ่มกันในอดีต เมื่อเสร็จพิธีกรรมที่นี่ ตัวแทนของครอบครัวก็จัดสำรับอีกภาชน์หนึ่งไปทำบุญที่วัดผ่านพิธีกรรมสงฆ์อีกหน
สากกวยประกอบพิธีกรรมที่วัดไตรราษฎร์สามัคคี
  • เราเองเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ก็สตาร์ตติดรถประจำเกษตรมุ่งสู่นาอีกหน เพราะน้ำที่หลากมาจากพายุที่กระหน่ำซ้ำมาหลายวันติด ๆ กัน แม้พื้นที่นาที่อยู่หนองแดง-หนองขนาน จะไม่ใช่เป็นพื้นที่คลองส่งน้ำชลประทานก็จริง แต่ก็อยู่ห่างจากเทือกเขาพนมดองเรกไม่ไกลพอสายตามองเห็นนี่เอง จึงไม่ต้องคิดมากว่านี่คือทางน้ำในอดีต จำต้องออกไปติดตามให้เห็นอีกหน
น้ำแรกแห่งฤดูกาลทำนา เหมือนฟ้าหรือเทวดาพิโรธอะไรกับนางเมฆขลาไม่อาจทราบได้ นาที่หนาทึบไปด้วยหญ้าและข้าวแทรกแซมกันอยู่กลับมีน้ำเต็มพื้นที่ท่วมเห็นปลายยอดข้าวไหว ๆ หรือหากมองมุมสูง อาจจะเห็นเป็นทะเลน้ำจืดก็ไม่ปาน
นาหนองแดง-หนองขนาน
สัปดาห์แรกที่น้ำยังท่วมขังประกอบกับฝนยังมีอย่างต่อเนื่อง ต้นข้าวและพืชหญ้าก็ยังยืนเล่นอย่างท้าทายบนแปลงนาเช่นเคย ชาวนาที่มีคันแทนาใหญ่ ๆ ก็ถือโอกาสนำผ้าแยงเขียวมาดักปลาโดยต่อจากท่อน้ำแล้วปล่อยชายไปด้านหลังมัดปลายผ้าแยงนั้นติดกับหลักที่เสียบไม้ไว้ ภาษาถิ่นเรียกว่า “ต่ง”
  • ปลาที่มากับน้ำไหลเล่นมาตามกระแสผ่านเข้ามาทางปากท่อไหลลงในผ้าแยงนั้นติดกับดักต่งที่มัดไว้ มีทั้งปลาเล็กปลาน้อย ปลาข่อ ปลาเข็ง เอี่ยน หอย ปูนา รวมถึงเศษหญ้าเศษไม้ที่มากับน้ำ ชาวนาก็พอได้กินแบ่งปันกัน บางต่งที่ไว้เอาไว้ ต้องมายามเยือนดูวันละ 4-5 รอบ ๆ ละครุถังเลยทีเดียว บางคนก็กินและแบ่งปัน เรียกขานเพื่อนบ้านที่ผ่านไปมาให้บอกตักเอาได้เลย ตามประสาวิถีชาวนา โดยเฉพาะคุณพ่อเสถียร จันทเสน ชาวบ้านหนองขนาน
ผ่านมากะมายกเอาโลดเด้อ ปันกันกินเฮา เอาพอกินนี่ล่ะ หลายโพด ได้ซูมื้อ มื้อละหลายรอบ ๆ ละ เป็นครูพุ้นล่ะ
คุณพ่อเสถียร จันทเสน
ความเป็นนาที่ไหลบ่าอยากเมามัน ละแวกเขตโพธิ์กระสังข์อำเภอขุนหาญ และพื้นที่ใกล้เคียงก็ไม่แตกต่างกันนัก น้ำมาเป็นระลอกใหญ่ ๆ และยังมาแบบไม่ลดละทีเดียว เช่นที่ท้ายคุ้มหนองแคน-โพธิ์กระสังข์ก็หนักอย่างเมามันเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น ๆ หากพื้นที่ไหนอยู่ลุ่มหรือต่ำแล้วไซร้ พื้นที่นั้นย่อมเป็นพื้นที่รับน้ำอย่างหนักเลย
ภาพจากคุ้มหนองแคน-โพธิ์กระสังข์
ปลายเดือนอย่างวันที่ 28 กันยายน นี้ได้มานาเช่นเคย ขากลับเหลือบไปมองเห็นสัตว์ตัวต้วมเตี้ยมกำลังข้ามถนนแล้วชะงักหยุดกลางทาง จึงได้จอดรถแล้วหยิบจับเพื่อจะไปปล่อยข้างทาง ทันใดที่จับโดยจับกระดองของมัน ไม่คิดว่าคอมันจะยาวมาแว้งฉกนิ้วชี้ขวาจนทำให้เลือดทำหน้าที่อย่างรวดเร็ว โดยจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าได้สะบัดสัตว์ตัวนั้นหลุดมือไปยามใดด้วยความตกใจ
  • ตัวนี้เรียกว่า ตะพาบ ภาษาถิ่นเรียกว่า “ตะปา” คอจะยาวกว่าเต่ามาก และกระดงมันจะแบนราบกว่าเต่า นับว่าเป็นตัวที่3-4แล้วที่พบเห็น แสดงถึงว่าละแวกนานี้ยังน่าอยู่สำหรับสัตว์เหล่านี้ ก่อนจะรู้ว่ามันปลอดภัยทั้งที่เราเจ็บตัว จึงจากกันด้วยดี
“จูละวาย”
ขวัญชิต โพธิ์กระสังข์
[ บันทึกเมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ]
โฆษณา