Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
16 มิ.ย. 2022 เวลา 00:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สู้ความอยุติธรรม
Photo by Tingey Injury Law Firm on Unsplash
รูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของความอยุติธรรมก็คือ
การเสแสร้งว่ายุติธรรม
- เพลโต
คุณเคยมีประสบการณ์พบเจอกับ “ความอยุติธรรม” บ้างไหมครับ
ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย เมื่ออายุมากขึ้น คุณก็จะต้องผ่านพบเรื่องที่รู้สึกได้ว่า “ไม่ยุติธรรม” อยู่บ้าง ซึ่งก็มีทั้งที่โจ่งแจ้งหรือมิดเม้น ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเองและที่เกิดกับคนรอบข้าง และได้ยินได้ฟังมาอีกที
ปกติเรารับมือหรือจัดการกับความอยุติธรรมพวกนี้อย่างไรกัน?
"เราเติบโตมากับความ(อ)ยุติธรรม"
นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์จนรู้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า การเรียนรู้เรื่องความยุติธรรม (หรือความไม่ยุติธรรม) สั่งสมจนฝังลึกลงในความรู้สึกและความจำตั้งแต่ตอนที่เรายังเป็นเด็ก
มีการวิจัยที่แสดงว่า เมื่อพบเจอเรื่องราวที่จบลงด้วยความยุติธรรม จะไปกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการได้รับ “รางวัล” ไม่ว่าเรื่องดังกล่าวเกิดกับคนอื่นหรือตัวเราเองก็ไม่ต่างกัน
ตรงกันข้าม ความไม่ยุติธรรมไปกระตุ้นสมองส่วน “อะมิกดาลา (amygdala)” ที่เป็นสมองส่วนที่โบราณมาก พัฒนามาตั้งแต่เกิดสัตว์เลื้อยคลานขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก ทำหน้าที่ควบคุมความโกรธกับความกลัว
พูดอีกอย่างก็คือ หากพบเจอเรื่องอยุติธรรม เราจะเข้าสู่โหมด “ลุยหรือหลบ” อย่างอัตโนมัติ
ผลรวมๆ ก็คือ เกิดความกระวนกระวายและความตึงเครียดในใจขึ้น หัวใจจะสูบฉีดเลือดรุนแรงขึ้น
การรับรู้เรื่องความอยุติธรรม จึงส่งผลกระทบอย่างฉับพลันทันทีทั้งทางชีวภาพและกายภาพ
อาจมีคนสงสัยว่าในกรณีที่เราทำสิ่งที่คล้ายกับเป็น “การแกว่งเท้าหาเสี้ยน” โดยการเสนอหน้าไปสู้เพื่อความยุติธรรมของคนอื่นนั้น เช่น การต่อสู้เพื่อคนที่โดนลักพาตัวหายไป การเรียกร้องแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเหมือง เขื่อน ฯลฯ จะมีประโยชน์อะไรกับตัวเราเอง?
ดูเผินๆ แล้ว ได้ก็ไม่น่าจะคุ้มกับเสียเท่าไหร่
แต่นักจิตวิทยาอธิบายว่าการทำดังว่านั้น แท้จริงแล้วเป็นการได้ประโยชน์ส่วนตัวทางอ้อมด้วย เราเองก็คาดหมายว่าจะได้ประโยชน์จากความยุติธรรมที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
Photo by Clay Banks on Unsplash
เรื่องที่ต้องรู้ก็คือ อารมณ์ความรู้สึกต่อความไม่ยุติธรรมมักจะรุนแรง จนไป “บดบัง” ความสามารถในการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล จนเกิดอาการหุนหันพลันแล่นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง เพราะสมองส่วนคิดหาเหตุผล (ซีรีบรัม) มาพัฒนาเอาตอนเกิดพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงอย่างไพรเมตแล้ว
ดังนั้น วิธีการจัดการกับความไม่ยุติธรรมคือ เราต้องดึงตัวเองให้กลับมาอยู่กับเหตุและผลก่อน จึงจะตัดสินใจตอบสนองได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
มากกว่าจะตอบสนองโดยการใช้กำลังหรืออารมณ์เท่านั้น
"สัญชาติญาณที่ฝังในดีเอ็นเอ"
อันที่จริงสัญชาตญาณแบบ “ต่างตอบแทน” ก็อาจจัดเป็นรูปแบบโบราณของความยุติธรรมแบบหนึ่งได้เช่นกัน ในสัตว์ที่มีวิวัฒนาการใกล้ชิดกับคนคือ ในพวกลิงนั้น ลิงที่หาเห็บหาหมัดให้ลิงตัวอื่น ก็หวังจะได้รับความช่วยเหลือกลับในแบบเดียวกัน
ลิงที่เอาแต่ได้ประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว จึงก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นในฝูง และลิงตัวอื่นๆ ก็จะไม่ยอมคบ ไม่ยอมทำให้อีกต่อไป เพราะไม่ต้องการโดนเอารัดเอาเปรียบ
การเปรียบเทียบแบบนี้ บางครั้งก็มีลักษณะสัมพัทธ์ด้วย เช่น ลิงที่เห็นลิงในกรงข้างๆ ได้กินของอย่างเดียวกับตน ก็จะไม่รู้สึกอะไร แต่หากทำตามคำสั่งอย่างเดียวกัน แต่ได้รับรางวัลที่ต่างกัน โดยอีกฝ่ายดูเหมือนจะดีกว่า
เช่น ได้แตงโมที่หวานกว่าแทนที่จะได้รับแตงกวาเหมือนกับตน ก็ถึงกับลงมือประท้วงเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าแม้แต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างลิง ก็มีความรู้สึกและรับรู้ได้ถึงความยุติธรรมแล้ว
ในสังคมสมัยใหม่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะประสบพบเจอความอยุติธรรมก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย บางคนถึงกับจำฝังใจเรื่องที่ถูกกระทำ โดยเฉพาะหากเป็นเหตุการณ์ในวัยเด็ก ก็อาจสร้างความขมขื่นและส่งผลกระทบต่อไปได้อย่างยาวนาน
การต้องปรับตัวกับความคิดที่ว่า เราไม่มีอำนาจ ไม่อาจทำอะไรได้ อาจส่งผลเสียรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละคน
"เริ่มจากหยุดโบยตีตัวเองซ้ำๆ"
มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่รับมือกับความไม่ยุติธรรมได้ดี มีนิสัยบางอย่างร่วมกัน อย่างน้อยก็ในสามเรื่องดังนี้
หนึ่งคือ สามารถรับรู้อารมณ์ตัวเองได้ไว ก่อนจะนำไปสู่การคิดจนเลยเถิดอย่างซ้ำๆ ที่ไม่มีประโยชน์
คนที่ต้องเผชิญกับความยุติธรรม แต่รู้สึกว่า “อยู่ในภาวะจำยอม” ไม่อาจทำอะไรได้เลยเพื่อแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว
จะส่งผลกระทบทางลบหลายอย่าง ที่พบได้บ่อยและบั่นทอนสุขภาพจิตมากคือ การเฝ้าคิดหมกมุ่น คลั่งแค้น เจ็บใจ เรื่องดังกล่าวอยู่อย่างซ้ำๆ
ฉะนั้น ต้องฝึกการรับรู้อารมณ์ตัวเอง โดยเฉพาะความโกรธแค้น และบอกกับตัวเองว่า การคิดซ้ำๆ วนเวียนไปมาแบบนี้ไม่ช่วยอะไร สิ่งที่ต้องทำจริงๆ ได้แก่ การมองให้เห็นสถานการณ์จริงๆ ว่าเป็นเช่นไรแน่ และคิดหาทางแก้ไข
บางคนใช้วิธีนึกภาพ “เครื่องหมายจราจรหยุด” ในหัว เมื่อเริ่มจะเกิดอาการย้ำคิดเรื่องแบบนี้
การฝึกความรู้สึกสงสารและเห็นใจตัวเองก็อาจช่วยได้สำหรับบางคน ให้ระลึกว่าเราทำดีที่สุดแล้วภายใต้สถานการณ์ตอนนั้น วิธีนี้จะช่วยทำให้เกิดความโกรธแค้นหรือเกลียดชังยากขึ้น
ความอยุติธรรมกับความโกรธเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ความโกรธทำให้ร่างกายตึงเครียด ซึ่งจะไปเพิ่มความเจ็บปวดในใจ ความโกรธยังส่งผลทางกาย โดยไปทำให้มีอาการอักเสบง่ายขึ้น สุขภาพโดยรวมจึงแย่ลง
การตัดวงจรความโกรธและการเก็บกดในใจ จึงส่งผลดีต่อสุขภาพ ทำให้เราหันมาใส่ใจกับวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ถูกต้องตามหลักการได้มากขึ้นอีกด้วย
Photo by Joel & Jasmin Førestbird on Unsplash
"หันมาคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล"
นิสัยที่สองคือ เมื่อหยุดคิดฟุ้งซ่านได้แล้ว ก็ต้องฝึกคิดหาทางรับมือในแบบเป็นเหตุเป็นผล ก่อนจะทำอะไรต่อไป
บางครั้งการได้หยุดเพื่อคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล จะทำให้เราตอบสนองแตกต่างออกไปเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นตอนมีคนแซงคิว หรือตอนมีคนวิ่งตัดหน้ารถ ฯลฯ เพราะบางเรื่องอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือให้อภัยได้ไม่ยากนัก
หากเรามาพิจารณาอย่างจริงๆ จัง โดยไม่มีอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจมาเกี่ยวข้อง
การโดนให้ออกจากงาน ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจและขุ่นเคืองใจ
แต่หากเราแบกอารมณ์ดังกล่าวติดตัวไปตลอดเวลา ก็ย่อมไม่ดีแน่
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรทำลายความสุขในเรื่องอื่นๆ ในชีวิต
แน่นอนว่าต้องปรับตัวหางานใหม่ แต่การต่อสู้เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเหมาะสมต่อการให้ออกจากงาน ก็จะทำได้ดีขึ้น
โดยไม่ไปทำลายความสุขทั้งหมดของชีวิตลง
มีงานวิจัย (Intl J Business Mgt Stud 2018, 10 (1), 30-43) ที่แสดงว่า การรับรู้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความซึมเศร้าและความเคืองใจจากงานได้ และยังส่งผลทำให้ลูกจ้างต้องการลาออกจากงาน
แต่การฝึกใจให้อ่อนโยนลง โกรธยากขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราจำเป็นต้องมีความอดทนกับตัวเองไม่น้อย แต่หากทำบ่อยๆ ก็จะเกิดความก้าวหน้ามาขึ้นทีละน้อยแบบรู้สึกได้
"แยกแยะสิ่งที่ควบคุมได้"
ลักษณะนิสัยสุดท้ายที่พบได้บ่อยในคนที่รับมือปัญหาความอยุติธรรมได้ดีก็คือ ความสามารถในการะแยกแยะว่า อะไรที่เราเองควบคุมได้และสามารถทำบางอย่างได้ และอะไรที่ทำเช่นนั้นไม่ได้
การถูกเอารัดเอาเปรียบในอดีตนั้น เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่เราสามารถจัดการกับความอยุติธรรมที่กำลังเกิดขึ้นได้
สำหรับคนบางคนแล้ว ไม่ว่าจะนิสัยใจคอหรือการตัดสินใจ ก็ยากเกินจะไปเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ ในหลายๆ กรณีต้องถามตัวเองว่า เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการตอบสนองต่อคนพวกนี้ “ของเราเอง” ได้ไหม และได้มากน้อยเพียงใด
เราอาจเปลี่ยนแปลงโศกนาฏกรรมในอดีตไม่ได้ แต่เราสามารถต่อสู้เพื่อแก้ไข “สาเหตุ” ของเรื่องเหล่านั้นที่ยังดำรงอยู่ได้ และแน่นอนว่าหากเราทำด้วยความอดทนมุ่งมั่น ก็ย่อมจะช่วยป้องกันโศกนาฏกรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
เราอาจจะต้องระลึกตนอยู่เสมอว่า เราก็ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งบางครั้งก็ยังตอบสนองโดยใช้อารมณ์ต่างๆ อยู่นั่นเอง
แต่เรื่องสำคัญก็คือ หากเราสามารถก้าวข้ามอารมณ์โกรธและอารมณ์อื่นๆ ที่จะบดบังไม่ให้เรามองเห็นวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องได้เสียแล้ว
เราก็มีโอกาสจะควบคุมปัจจัยต่างๆ โดยเริ่มจากการควบคุมตัวเอง และทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงความอยุติธรรมในสังคม ให้สิ่งเหล่านั้นเหลือน้อยลงหรือแม้แต่จะหมดไปในที่สุด
ความยุติธรรม
ความอยุติธรรม
การรับมือ
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
จิตวิทยาการเมือง
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย