15 มิ.ย. 2022 เวลา 05:10 • ความคิดเห็น
การชมดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ก็กลับไปเรื่องที่ยากสำหรับใครอีกหลายๆ คน
บางครั้งในขณะที่เรารู้สึกชื่นชม แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นพูดอย่างไรดี
บางครั้งเราอาจจะมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีอะไรที่น่าชื่นชม
สำหรับฝน คำชมเปรียบเสมือน ของขวัญ ที่สะท้อนให้ผู้รับได้เห็นสิ่งดีๆ ที่ตัวเองมีอยู่ เพื่อเติมกำลังใจ หรือ เพิ่มความมั่นใจ
วันนี้จึงอยากมาชวนทุกท่านมามอบของขวัญให้กับคนใกล้ตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ทีมงาน หรือ เพื่อนร่วมกันนะคะ
ระหว่างการชมว่า
"วันนี้ทำงานได้เยี่ยมมากเลยนะคะ" กับ
"วันนี้ชื่นชมในความพยายาม ความตั้งใจ จนทำให้งานออกมาดีมากๆ ค่ะ"
คำชมทั้ง 2 ประโยคดูแล้วก็ไม่แตกต่างใช่ไหมคะ
แต่มีงานวิจัยของ DR. แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ท่านเป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และยังเป็นผู้เขียนหนังสือ "The New Psychology of Success" เป็นหนังสือเกี่ยวกับ Mindset ซึ่งฝนว่าน่าใจสนใจมาก
ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยแบ่งเด็กประถมออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้เด็กแต่ละกลุ่มแก้ไขโจทย์คำปริศนา
กลุ่ม A ให้ครูชมว่า “หนูฉลาดมากเลยจ้ะ”
กลุ่ม B ให้ครูชมว่า “หนูพยายามดีมากเลยจ้ะ”
จากผลการวิจัยพบว่า
ทั้ง สองกลุ่มได้รับคำชมทั้งคู่ แต่ ทั้ง 2 คำชมกลับให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน มุมมองต่อการแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน
กลุ่มของเด็กที่ได้รับคำชมว่า เก่งหรือฉลาดจะเริ่มเกิด Fixed Mindset คือ เชื่อว่าความรู้ ความสามารถ ผลงานที่เกิดขึ้นมาจากความพิเศษเฉพาะตัว และเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็น คนเก่ง ในสายตาของคนรอบข้าง
เด็กกลุ่มนี้จึงเลือกทำเฉพาะสิ่งที่มั่นใจว่าทำได้สำเร็จเท่านั้น ไม่กล้าเสี่ยง หรือ ทำอะไรใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะเกิดความผิดพลาด สูญเสียความเก่ง ท้ายที่สุด คำว่า "เก่ง ฉลาด" ก็กลับกลายเป็นความกดด้น และความกังวลใจ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสวนทางกับความมั่นใจในตัวเอง แรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพที่ลดลง
ต่างจากเด็กอีกกลุ่มที่ได้รับคำชมที่พฤติกรรม ซึ่งเกิด Growth Mindset เด็กกลุ่มนี้จะเชื่อว่า ความฉลาด และความสามารถสร้างได้ด้วยการเรียนรู้ ให้ความสำคัญกับความพยายาม มองปัญหาและความท้าท้าย ว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนา
วันนี้ขอแบ่งปันวิธีชื่นชมอย่างง่ายๆ สำหรับนำไปเป็นของขวัญให้คนที่อยู่รอบตัวเรากันนะคะ
"ชื่นชมแบบเจาะจงไปที่พฤติกรรม ไม่พูดแบบกว้าง"
วิธีการนี้คล้ายกับตัวอย่างงานวิจัย
ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่า การชมแบบกว้าง ๆ เช่น "เก่ง" "เยี่ยม" "ดี" การชมแบบนี้จะไม่เกิดผลดี เพราะผู้ถูกชมไม่ทราบว่าชมอะไร ครั้งถัดไปหากต้องการรับชมอีกครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร
หรือผู้รับคำชม ตีความคำชมที่ได้รับไปที่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การยึดติดที่ผลลัพธ์ กลายเป็นคนที่กลัวว่าจะทำอะไรออกมาได้ไม่ดีพอ จนไม่กล้าทำสิ่งใหม่ๆ
ดังนั้น เราจึงควรชมแบบ เจาะจงไปที่พฤติกรรมที่ต้องการชื่นชม เช่น
"คุณทำรายงานวันนี้ได้ดีมาก เนื้อหากระฉับ และตรงประเด็น"
"ผมชอบรอยยิ้มของคุณ" เป็นต้น
เมื่อชมอย่างเฉพาะเจาะจงในพฤติกรรมที่ทำ ผู้ถูกชมจะรู้ว่าควรทำอะไรซ้ำถ้าต้องการถูกชมในครั้งถัดไป ผู้ถูกชมมีแนวโน้มทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ หรือรู้สึกดี
เมื่อรู้แล้วอย่าลืมสังเกต พฤติกรรมคนรอบข้าง และสะท้อนถึงพฤติกรรมที่เขาทำได้ดีนะคะ
"ชมในสิ่งที่ไม่มั่นใจ"
วิธีนี้จะยากขึ้นมาจากวิธีแรกเล็กน้อย วิธีแรกเป็นการชมในสิ่งดีๆ ที่เจ้าตัวแสดงออก ซึ่งทั้งเราและเขาเห็นตรงกันว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี
ส่วนการชมในวิธีนี้เป็นการชมในเรื่องที่เจ้าตัวไม่มั่นใจ รู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ
การชมวิธีนี้เป็นการ ช่วยสร้างความมั่นใจ และทำให้ก้าวข้ามความกลัว เช่น
มีน้องๆ ในทีมเดินมาคุยกับคุณด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองเมื่อต้องทำงานที่ท้าทายขึ้น
ลองดูประโยคตัวอย่าง คำชื่นชมสำหรับสร้างกำลังใจให้น้องๆ กันนะคะ
"ชื่นชมในความกล้าหาญของน้องมาจ๊ะ ที่กล้าเดินเข้ามาคุยกับพี่ตรงๆ ถึงความรู้สึกไม่มั่นใจ มีไม่กี่คนหรอกนะที่กล้ายอมรับในจุดนี้ พี่อยากให้น้องลองนำความกล้าหาญนี้มาลองทำสิ่งใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หากมีอะไรที่พี่สามารถช่วย หรือสนับสนุนได้เดินมาคุยกับพี่ได้เสมอเลยนะ"
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าความรู้สึกไม่มั่นใจเป็นสิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่น แต่ในขณะเดียวกันน้องเองก็กล้าที่จะยอมรับในข้อด้อยของตัวเอง ดังนั้นการสะท้อนให้น้องได้เห็นถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวที่เกิดขึ้น จะทำให้ตัวน้องได้เกิดความตระหนักรู้ในพลังของตัวเอง คุณค่าบางอย่างที่ซ่อนอยู่ แทนการโฟกัสไปที่ข้อด้อย
"การชื่นชมที่นอกเหนือจากคำพูด"
ที่ผ่านมา 2 ข้อ เป็นการใช้คำพูดสำหรับการชื่นชม
หากใครที่ไม่ถนัดการแสดงออกด้วยคำพูด สามารถเลือกใช้วิธีการนี้ ได้เลยค่ะ
สำหรับฝน การชื่นชมใครสักคนเพราะเราต้องการสะท้อนให้เขารับรู้ถึงความรู้สึกของเราที่มีต่อตัวเขา ด้วยความปราถนาดี ความจริงใจที่เราต้องการมอบให้กับผู้รับ ดังนั้น ความตั้งใจดีเหล่านี้สามารถไม่จำเป็นต้องสะท้อนด้วยคำพูดเท่านั้น รอยยิ้ม แววตา สีหน้า ท่าทางของเรา ก็สามารถส่งต่อความรู้สึกชื่นชมที่เรามีให้กับคนรอบข้างได้เช่นกัน ^^
การชมก็เปรียบเสมือนการให้ Feedback
ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ ระหว่าง หัวหน้า (A) และ ลูกน้อง (B)
A ซึ่งเป็นหัวหน้าได้มอบหมายให้ B นำเสนอโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น
B ทำการจัดเตรียมรายละเอียดทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ตกหล่นในประเด็นใด และนำมาเสนอหัวหน้า
กรณีที่ 1 เมื่อหัวหน้าได้เห็นรายงานของ B และพบว่ามีข้อมูลที่มีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก แสดงถึงความตั้งใจในการค้นหา จัดเตรียมข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน หัวหน้าเองก็มีงานที่ต้องดำเนินการอีกมาก ทำให้ไม่มีเวลามาอ่านข้อมูลทั้งหมด สิ่งที่หัวหน้าต้องการคือ ข้อมูลที่สรุปประเด็นสำคัญ
สุดท้ายเพื่อไม่ให้ B เสียกำลังใจในการทำงาน หัวหน้าจึงเลือกที่จะชื่นชม "รายงานของคุณละเอียดมาก ผมชื่นชมในความตั้งใจในการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ "
เหตุการณ์นี้เหมือนจะดีใช่ไหมคะ เป็นการชมที่พฤติกรรม
ในกรณีนี้ B ย่อมดีใจที่ได้รับคำชมจากหัวหน้า หัวหน้าเห็นถึงความตั้งใจในการทำงานและเตรียมข้อมูล
แต่ B จะไม่รู้ตัวเลยว่าหัวหน้าต้องการข้อมูลแบบสรุป หัวหน้าเลือกที่จะให้แต่คำชม ไม่พูดถึงสิ่งที่ปรับปรุงได้ เพราะกลัวลูกน้องหมดกำลังใจ
ในระยะยาวปัญหาที่เกิดขึ้น คือ B ไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นที่ชื่นชอบของหัวหน้า และก็ยังคงทำแบบนี้ในทุกๆ ครั้ง
นี้คือตัวอย่างของ "การเห็นอกเห็นใจ แต่พังพินาศ"
กรณีที่ 2 หัวหน้าเลือกใช้คำตำหนิ เพื่อหวังใน B ปรับปรุง
"ทำไมคุณไม่สรุปรายละเอียดเหล่านี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ผมมีเวลาให้คุณแค่ 10 นาที ถ้าต้องมานั่งอ่านรายละเอียดหมดนี้ ผมก็ไม่ต้องทำงานอย่างอื่นแล้ว"
กรณีนี้ B ย่อมรู้สึกไม่ดีที่ถูกตำหนิ B อาจจะปรับปรุงวิธีการนำเสนอ หรือ B อาจจะรู้สึกตนเองไม่มีความสามารถ ทำอะไรก็ถูกหัวหน้าตำหนิ ท้อแท หมดกำลังใจ สุดท้ายนำไปสู่การลาออก
กรณีที่ 3 หัวหน้าพูดกับ B ว่า
"ผมชื่นชมในความตั้งใจในการจัดเตรียมข้อมูลต่างๆ ของคุณมาก และผมอยากให้คุณช่วยสรุปรายละเอียดเหล่านี้ในหนึ่งหน้ากระดาษ แล้วกลับมานำเสนอผมใหม่ โดยผมมีเวลาให้นำเสนอ 10 นาที"
กรณีนี้มีทั้งการชื่นชมที่พฤติกรรม หัวหน้า ชื่อชมความตั้งใจในการจัดเตรียมข้อมูล และมีการบอกถึงสิ่งที่ B สามารถพัฒนาเพื่อให้การทำงานดีขึ้น
กรณีสุดท้าย B ย่อมรู้ว่าความตั้งใจในการทำงาน เป็นสิ่งหัวหน้ารับรู้ได้
และเริ่มสงเกตว่าหัวหน้ามีงานยุ่ง ดังนั้นเวลานำเสนองานควรนำเสนอข้อมูลที่สำคัญ และสรุปประเด็นต่างๆ โดยยังคงเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อ้างอิง
เห็นถึงความแตกต่างไหมค่ะ
นอกจากคำชม การเลือกคำติติง ก็เช่นกัน ควรเลือกคำชี้แนะอย่างสร้างสรรค์โดยการไม่สะกิดให้เกิดความรู้สึก ‘โง่’ ‘ผิด’ ‘ล้มเหลว’ แต่เน้นกระตุ้นให้เขาพยายามเปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีแก้ปัญหา
วันนี้คุณมอบของขวัญให้กับคนรอบข้างหรือยังคะ
โฆษณา